เจอจนเบื่อ! ผู้พัฒนาเกมญี่ปุ่นแบ่งประเภท “มิจฉาชีพที่ชอบมาขอคีย์เกมฟรี”

ปัจจุบันผู้พัฒนาเกมอินดี้นั้นมีโอกาสได้วางจำหน่ายเกมบนแพลตฟอร์ม Steam กันอย่างค่อนข้างเสรี แต่ก็ต้องแข่งขันกับเกมอื่น ๆ โดยเฉพาะในเรื่องของการเป็นที่สนใจและสะดุดตาผู้ซื้อ ทำให้มิจฉาชีพบางคนสบโอกาส เข้าหาผู้พัฒนาเกมอิสระเพื่อขอคีย์เกมแบบฟรี ๆ แลกกับคำสัญญาว่าจะโปรโมทและประชาสัมพันธ์เกมให้ในฐานะอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยมากจนทำให้ผู้พัฒนาบางคนถึงกับต้องไล่เลยว่า “ไปซื้อเกมด้วยตัวเองซะไอ้…!”

วันนี้มีผู้พัฒนาเกมอินดี้ชาวญี่ปุ่นอีกคนหนึ่งได้ออกมาเผยเรื่องราวเกี่ยวกับพวก “คนช่างขอคีย์เกม” ดังกล่าว ซึ่งดูเหมือนจะประสบมาบ่อยมากจนเขาสามารถรวบรวมข้อมูลแล้ววิเคราะห์แบ่งประเภทได้เลยว่ามีคนแบบไหนบ้าง!

Steam

โดยคุณ Eiki ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้พัฒนาเกมอินดี้ค่าย illuCalab ได้เขียนบทความเผยว่าเกมใหม่ล่าสุดของค่ายอย่าง Heart of Crown Online ที่เพิ่งวางขายในแบบ Early Access ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้กลับมีเหล่ามิจฉาชีพมารุมขอคีย์เกมฟรี ๆ กันอย่างเอิกเริก ซึ่งเขาขอกล่าวเปิดก่อนเลยว่า “อย่าให้คีย์เกมกับพวกคนเหล่านี้ไปเป็นอันขาดแม้แต่คีย์เดียว เพราะคีย์เหล่านั้นจะโดนเอาไปขายต่ออย่างแน่นอน” แล้วแนบภาพ Inbox ที่เต็มไปด้วยอีเมลจากผู้คนนับไม่ถ้วนที่ติดต่อเข้ามาให้ เพื่อให้เห็นว่ามีเยอะจริง ๆ

Steam

มิจฉาชีพสายพันธุ์ที่ 1: อ้างว่าเป็น Curator

คุณ Eiki ได้แบ่งนักขอคีย์เหล่านี้เป็นสามสปีชีส์หลัก ๆ ได้แก่ ประเภทแรกคือ “ผมเป็น Curator” ที่มักอ้างตัวว่าเป็นผู้แนะนำเกมบน Steam ที่มียอดติดตามหลักพันหลักหมื่น แต่ดันมาขอคีย์เกมทางอีเมลแทนที่จะใช้ระบบ Curator Connect ที่ทำให้ผู้ขายเกมสามารถแชร์เกมกับ Curator เพื่อรีวิวได้ทันที (โดยไม่ต้องกังวลว่าจะโดนเอาไปขายต่อ) ของ Steam โดยอ้างว่าระบบดังกล่าว “มีบั๊กเยอะเกินไป”

Steam

โดยคนจำพวกนี้จะจ้องหาผู้พัฒนาที่ไม่รู้รายละเอียดเกี่ยวกับ Curator Connect แล้วหลอกล่อด้วยการให้ลิงก์ไปยังเพจ Curator ที่ตัวเองไม่ได้เป็นเจ้าของหรือกระทั่งเพจ Curator หลอก ๆ ที่ทำขึ้นมาแล้วมีบัญชีผีกดติดตามไว้จำนวนมาก บางคนอาจยอมใช้ระบบ Curator Connect ก่อนจะอ้างว่า “ใช้ไม่ได้” แล้วให้ส่งคีย์มาทางอีเมลแทน แถมบางทียังทำตัวหน้าไม่อาย บอกว่าเกมเล่นได้ปกติดี แต่ขอคีย์เพิ่มอีกเพื่อ “เอาไปให้เพื่อน” อีกด้วย

Steam

มิจฉาชีพสายพันธุ์ที่ 2: อ้างว่าเป็น Influencer

ประเภทที่สองคือคนจำพวก “ผมเป็น Influencer” ที่อ้างว่าเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์มีผู้ติดตามหลักแสน ซึ่งจะส่งลิงก์ไปยังหน้าโปรไฟล์ที่อาจจะไม่เกี่ยวข้องหรือเป็นของปลอม ซึ่งบางทีก็มีรีวิวจริง แต่คอมเมนต์ในคลิปชัดเจนว่าเป็นบอททั้งนั้น ดังนั้นต่อให้นำเกมไปทำคลิปรีวิวจริง ๆ ก็คงแทบจะไม่ได้ประโยชน์ หนำซ้ำบางทียังส่งลิงก์หลายแพลตฟอร์ม ทั้ง Steam, TikTok และ Instagram แต่เจ้าของดันไม่ใช่คนเดียวเสียอีก

Steam

มิจฉาชีพสายพันธุ์ที่ 3: อ้างว่าเป็นนักข่าวเกม

สุดท้ายคือมิจฉาชีพที่แอบอ้างว่า “ผมเป็นนักข่าว” ซึ่งคุณ Eiki บอกว่าหายากที่สุดเพราะแอบอ้างไม่ได้ง่าย ๆ โดยคนพวกนี้มักจะขอคีย์เกมหลายคีย์ฟรี ๆ และให้ลิงก์บัญชีโซเชียลมีเดียที่อ้างว่า “มีคนติดตามเยอะ” หรือเว็บไซต์ของตนที่บางทีก็จัดทำขึ้นมาแบบไม่ค่อยแนบเนียน

ทว่าคนที่อ้างตัวด้วยวิธีนี้ บางทีก็ลงทุนถึงขั้นจัดทำเว็บไซต์ข่าวที่มีการอัปเดตเป็นรายวันอย่างต่อเนื่องเป็นจริงเป็นจัง ซึ่งดูเผิน ๆ เหมือนจะเป็นเว็บไซต์ข่าวจริง ๆ แต่ถ้าเข้าไปจะรู้สึกได้ว่าเป็นเว็บไซต์หลอกลวง ซึ่งบางคนอาจสงสัยว่าลงทุนขนาดนี้จะคุ้มค่าแน่หรือ ตรงนี้คุณ Eiki ขอบอกว่าถ้าคนพวกนี้สามารถหลอกและนำคีย์ไปขายต่อได้สำเร็จ ก็จะสามารถทำกำไรได้เหนาะ ๆ หลายพันเยนต่อวันเลยทีเดียว

Steam

ด้วยเหตุนี้คุณ Eiki จึงแนะนำให้ผู้พัฒนาเกมนั้นติดต่อหาครีเอเตอร์ที่ต้องการร่วมงานด้วยโดยตรง ดีกว่าจะมาข้องแวะกับพวกที่ติดต่อเข้ามาโดยที่ตัวเองไม่ได้ขอ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าอาจเป็นมิจฉาชีพ

ทั้งนี้เกม HEART of CROWN Online ของคุณ Eiki และ IlluCalab ปัจจุบันวางขายบน Steam ในรูปแบบ Early Access แล้ว ใครที่สนใจไปดูกันได้

แปลและเรียบเรียงจาก
Automaton Media


ติดตามข่าวเกมพีซี/คอนโซลอื่น ๆ ได้ที่ Online Station

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้