14 ปราณทั้งหมดในดาบพิฆาตอสูร Kimetsu no Yaiba

ในผลงานมังงะและอนิเมะดาบพิฆาตอสูร “ปราณ” คือสิ่งที่เหล่านักล่าอสูรใช้พิฆาตพวกอสูรมานักต่อนัก แต่แท้จริงแล้วปราณนั้นเป็นสิ่งที่เพิ่งกำเนิดขึ้นมาไม่กี่ร้อยปีก่อนยุคไทโช ว่าง่าย ๆ คือปราณถือกำเนิดขึ้นมาในยุคเซนโกคุนั่นเอง หลาย ๆ คนจึงมีข้อสงสัยว่าหน่วยพิฆาตอสูรก่อนหน้านั้นสู้กับเหล่าอสูรของมุซันอย่างไร คำตอบก็คือกระบวนท่าเพียวๆ เลยนั่นเอง

ทั้งนี้ปราณทั้งหมดในดาบพิฆาตอสูรจึงเป็นสิ่งที่เข้ามาช่วยเสริมคมเพิ่มพลังบัฟให้กับกระบวนท่าต่างๆ ให้รุนแรงขึ้นและสังหารอสูรได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงช่วยเสริมกำลังกายให้ผู้ใช้ตายยากขึ้น มีสมรรถภาพร่างกายที่ยอดเยี่ยมยิ่งขึ้น บรรเทาอากาศบาดเจ็บลงได้ โดยผู้ที่คิดค้นปราณมาใช้คนแรกก็คือ “โยริอิจิ” ผู้ใช้ปราณตะวันนั่นเอง

ดาบพิฆาตอสูร

ทีนี้ปราณที่หน่วยพิฆาตอสูรใช้มีอะไรบ้าง เราไปดูกันเลยครับ

ปราณที่ 1 – ปราณตะวัน

ดาบพิฆาตอสูร

เป็นปราณต้นกำเนิดและแข็งแกร่งที่สุดในเรื่อง (ในกรณีที่สู้กับมุซัน) ความโดดเด่นคือเป็นปราณที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ทุกกระบวนท่าใช้ต่อกันได้อย่างอิสระ โดยไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับกระบวนท่า เรียกได้ว่าจะเริ่มที่กระบวนท่าใดก็ไปต่อได้ และนี่คือปราณซึ่งถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อฆ่ามุซันโดยเฉพาะ

ปราณที่ 2 – ปราณจันทรา

ดาบพิฆาตอสูร

ผู้คิดค้นคือ “มิจิคาซึ” พี่ชายของ “โยรุอิจิ” ที่ได้กลายมาเป็นอสูรข้างขึ้นลำดับ 1 “โคคุชิโบ” เป็นปราณที่ใช้สำหรับโจมตีวงกว้าง ใช้คลื่นดาบโจมตีเพื่อเพิ่มระยะให้ผู้ใช้ ระหว่างที่ใช้ปราณนี้ผู้ใช้จะเห็นจันทร์เสี้ยวจำนวนมากเข้ามาผสมการโจมตีของตน ดุจใบมีดที่นับไม่ถ้วนนั่นเอง

ปราณที่ 3 – ปราณวารี

ดาบพิฆาตอสูร

1 ใน 5 ปราณที่มีมาตั้งแต่แรกเริ่มก่อนจะมีการบัญญัติคำว่า “ปราณ” โดยในสมัยก่อนมันถูกเรียกว่ากระบวนท่า โดดเด่นในแง่ของท่าทางที่ลื่นไหลดุจสายน้ำ ปรับตัวได้ตามสถานการณ์ เมื่อนำมารวมกับการกำหนดลมหายใจจึงกลายเป็นปราณวารีในปัจจุบัน ถือว่าเป็นปราณพื้นฐานที่เรียนได้ง่าย มีประสิทธิภาพ ไม่แปลกที่จะเป็นปราณซึ่งมีคนใช้มากที่สุดในเรื่อง

ปราณที่ 4 – ปราณอสรพิษ

ดาบพิฆาตอสูร

ปราณที่ถูกพัฒนาต่อยอดมาจากปราณวารี เน้นความพลิ้วไหวคล้ายกัน แต่ผู้ใช้ปราณอสรพิษจะจินตนาการตัวเองในการเคลื่อนไหวคดเคี้ยวราวกับงู จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมปราณอสรพิษจึงไม่มีการโจมตีที่เป็นเส้นตรง แถมทั้งอาวุธที่ใช้ควบคู่กับกระบวนท่าก็ยังเป็นกริชที่มีลักษณะโค้งงอไปมาคล้ายงูอีกด้วย

ปราณที่ 5 – ปราณบุปผา

ดาบพิฆาตอสูร

ยังไม่แน่ชัดในเรื่องของที่มา แต่เวลาจะใช้ปราณบุปผา ผู้ใช้จะจินตนาการถึงการเคลื่อนไหวของดอกไม้ที่แม้จะอ่อนไหวแต่ก็มีรากที่ยึดเหนี่ยวแข็งแกร่ง กระบวนท่ามีความงดงามจนแม้แต่คู่ต่อสู้ยังอาจตกตะลึง

ปราณที่ 6 – ปราณแมลง

ดาบพิฆาตอสูร

ถูกพัฒนาขึ้นมาจากปราณบุปผาและเกิดขึ้นในยุคไทโชนี่เอง ผู้คิดค้นคือสาว “ชิโนบุ” นั่นเอง ลักษณะเป็นการจำลองการโจมตีของเหล่าแมลง เน้นการกระหน่ำแทงเป็นหลักและนำพาพิษจากดอกฟูจิเข้าสู่ร่างอสูรเพื่อปลิดชีพนั่นเอง จัดเป็นปราณที่ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อเหล่านักล่าอสูรบางคนที่อาจจะด้อยด้านการใช้พละกำลัง ปิดจุดอ่อนได้อย่างดี

ปราณที่ 7 – ปราณเพลิง

ดาบพิฆาตอสูร

1 ใน 5 ปราณที่มีมาตั้งแต่แรกเริ่มก่อนจะมีการบัญญัติคำว่า “ปราณ” มันคือสิ่งที่ถูกสืบทอดมาเรื่อยๆ ในตระกูลเรนโกคุ เป็นปราณที่เน้นการโจมตีที่ทั้งหนักหน่วงและรุนแรง ไม่จำเป็นต้องต่อท่า ปิดบัญชีได้คือปิดเลย เรียกได้ว่าลงดาบแต่ละครั้งหนักหน่วงถึงตาย

ปราณที่ 8 – ปราณความรัก

ดาบพิฆาตอสูร

อีกหนึ่งปราณที่ถูกพัฒนาขึ้นในยุคไทโชโดย “มิซึริ” ผู้ซึ่งมีความยืนหยุ่นทางร่างกายค่อนข้างสูง จึงสามารถคิดค้นปราณที่มีความเฉพาะตัวนี้ออกมาได้ คือมันเป็นปราณที่ใช้ยากและอันตรายต่อตัวผู้ใช้เอง เหตุเพราะอาวุธที่ต้องใช้ควบคู่คือดาบแส้ที่ต้องอาศัยความชำนาญและสมรรถภาพร่างกายที่ยอดเยี่ยมในการควบคุมมันอีกที เพื่อแลกกับการโจมตีในระดับโคตรโหดโคตรอันตราย

ปราณที่ 9 – ปราณอัสนี

ดาบพิฆาตอสูร

1 ใน 5 ปราณที่มีมาตั้งแต่แรกเริ่มก่อนจะมีการบัญญัติคำว่า “ปราณ” เป็นการโจมตีที่จำลองรูปแบบของสายฟ้าฟาด เน้นความเร็วและแรงเป็นหลัก ไม่ใช่ปราณที่ถูกออกแบบมาเพื่อการต่อสู้ที่ยืดเยื้อ ผู้ใช้จะต้องฝึกกำลังขาอย่างหนักเพื่อบีบอัดแรงการดีดตัว และส่งร่างกายไปถึงเป้าหมายในชั่วพริบตา เป็นปราณที่ไม่ยืดหยุ่นใดๆ หากพลาดเป้าหมาย ต้องใช้เทคนิคอื่นมาผสมเพื่อเคลื่อนที่เป็นมุมเหลี่ยมในการกลับมาโขมตีศัตรูอีกครั้ง ซึ่งต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในระดับหนึ่งเลยทีเดียว

ปราณที่ 10 – ปราณเสียง

ดาบพิฆาตอสูร

มีความคล้ายกับปราณอัสนี ตรงที่เน้นความรวดเร็วของกระบวนท่าของผู้ใช้เป็นหลัก นั่นทำให้ผู้ใช้อย่าง “อุซุย” ที่เป็นนินจามาก่อน สามารถใช้ปราณนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปราณเสียงก็ถือว่าเป็นสายย่อยของปราณอัสนีอีกด้วย

ปราณที่ 11 – ปราณหินผา

ดาบพิฆาตอสูร

1 ใน 5 ปราณที่มีมาตั้งแต่แรกเริ่มก่อนจะมีการบัญญัติคำว่า “ปราณ” เน้นการโจมตีหนักหน่วงที่สุด โดย “เกียวเม” ผู้ใช้ปราณหินผาคนปัจจุบันนั้น ก็มีอาวุธประจำกายเป็นโซ่ลูกตุ้มที่นำขวานมาคล้องอีกที การโจมตีที่เขาใช้จะไม่เน้นการฟันและใช้การทุบการตบเป็นหลัก ทั้งนี้ปราณหินผมเป็นปราณเดียวจาก 5 ปราณโบราณที่ไม่กำเนิดสายแยกใดๆ ทั้งสิ้น

ปราณที่ 12 – ปราณวายุ

ดาบพิฆาตอสูร

1 ใน 5 ปราณที่มีมาตั้งแต่แรกเริ่มก่อนจะมีการบัญญัติคำว่า “ปราณ” เน้นการเคลื่อนตัวที่พลิ้วไหว และโจมตีแบบเชือดเฉือนราวกับทอร์นาโด เรียกได้ว่านำจุดเด่นของปราณวารีและปราณเพลิงมาผสมกัน จัดว่าเป็นปราณที่มีความสมดุลย์อย่างมาก

ปราณที่ 13 – ปราณสายหมอก

ดาบพิฆาตอสูร

สายแยกของปราณวายุ เน้นการโจมตีจากการพรางกายผู้ใช้เป็นหลักเพื่อล่อหลอกให้ศัตรูสับสน โดยในสมัยก่อนมันแทบไม่ต่างจากปราณวายุเลยแค่คนละชื่อเท่านั้น เพียงแต่ในยุคปัจจุบัน ผู้ใช้ปราณหมอกดันเป็นเด็กอัจฉริยะอย่าง “มุอิจิโร่” ตัวละครสุดเทพที่จัดการพัฒนาต่อยอดจนสามารถให้กำเนิดกระบวนท่าที่ 7 “หมอกลวง” ขึ้นมาได้หลังฝึกใช้ได้ไม่นาน ส่งผลให้ปราณหมอกมีประสิทธิภาพขึ้นโขเลยทีเดียว

ปราณที่ 14 – ปราณสัตว์ป่า

ดาบพิฆาตอสูร

แม้จะมีความคล้ายปราณวายุ แต่ผู้คิดค้นอย่าง “อิโนะสึเกะ” นั้นกลับไม่เคยเรียนวิชาเกี่ยวกับปราณวายุเลยแม้แต่น้อย ลักษณะการโจมตีจะเน้นความต่อเนื่องดุดัน ไม่มีความสวยงาม แม้แต่ดาบที่เขาใช้ก็ยังเป็นดาบเลื่อย หากโดนฟันเข้ายังไงก็เป็นแผลเหวอะแน่นอน

นี่คือ 14 ปราณที่เหล่านักล่าอสูร ใน Kimetsu no Yaiba ที่ใช้ในการต่อสู้กับลูกสมุนของมุซัน ทั้งนี้เพื่อน ๆ สามารถติดตามดูลีลาของหน่วยพิฆาตอสูรได้ในอนิเมะตัวเต็มในช่องทางลิขสิทธิ์ต่าง ๆ หรือนั่งฟังสรุปเรื่องราวน่าสนใจต่างๆ ได้จากช่อง Dice Destiny ได้เลยครับ

สำหรับใครที่ยังไม่ได้ดูอนิเมะเรื่องนี้ สามารถดูได้ที่นี่ ดาบพิฆาตอสูร ภาค 3 หมู่บ้านช่างตีดาบ กับลิงก์ดูแบบถูกลิขสิทธิ์


ติดตามดูอนิเมะถูกลิขสิทธิ์ ได้ที่นี่ Online Station

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้