รีวิวเกม Apollo Justice: Ace Attorney Trilogy ความยุติธรรมย่อมเจิดจรัสเสมอ

AJ

หากถามเกมเมอร์ว่าแต่ละคนมีภาพจำของค่าย Capcom อย่างไรกันบ้าง เชื่อว่าหลายคนน่าจะนึกถึงเกมแอ๊กชั่นหรือไฟท์ติ้งสุดระห่ำอย่าง Resident Evil, Street Fighter, Monster Hunter หรือ Devil May Cry กันเป็นอันดับต้น ๆ แน่นอน ขณะที่ซีรีส์ระดับรอง ๆ อย่าง Ace Attorney หรือที่บ้านเรานิยมเรียกติดปากว่า “เกมทนาย” อาจจะไม่ได้ผุดขึ้นมาอยู่ในลิสต์เหล่านั้นสักเท่าไหร่ ล่าสุดตัวเกมได้มีออกเวอร์ชั่นรีมาสเตอร์ของไตรภาค 4-6 ที่มีชื่อเต็ม ๆ ว่า Apollo Justice: Ace Attorney Trilogy ไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และทีมงาน Online Station ก็เจียดเวลาทยอยเล่นอยู่นานสองนาน นานจนได้แพลตินัมโทรฟี่ไปแล้วเรียบร้อย เลยจะมารีวิวให้เพื่อน ๆ ได้ประกอบการตัดสินใจกันในบทความนี้ครับ

แพลตฟอร์ม: PS4, Xbox One, Switch, PC
แนวเกม: วิชวลโนเวล, พอยต์แอนด์คลิก
ผู้พัฒนา: Capcom
วางจำหน่าย: 25 มกราคม 2024

ในไตรภาคนี้จะประกอบไปด้วย 3 เกม ได้แก่ Apollo Justice: Ace Attorney, Phoenix Wright: Ace Attorney – Dual Destinies และ Phoenix Wright: Ace Attorney – Spirit of Justice ซึ่งหากเรียงตามไทม์ไลน์ของเกมก็คือภาค 4-6 นั่นเอง ทว่าในส่วนของ Apollo Justice: Ace Attorney นั้นจะเป็นเกมที่เคยลงตั้งแต่บนแพลตฟอร์ม Nintendo DS มาก่อน ดังนั้นงานภาพส่วนใหญ่จะเป็นสไตล์ 2D แต่ขณะที่พิสูจน์หลักฐานหรือตอนจำลองสถานการณ์ในคดีจึงจะเป็นการนำเสนอด้วยกราฟิก 3D แทนบางช่วง ส่วนภาค 5 กับ 6 ที่วางจำหน่ายครั้งแรกในยุค Nintendo 3DS แล้วจะเป็นงานภาพแบบ 3D แทบจะทั้งเกม ยกเว้นเพียงบางฉากหลังที่ไม่มีวัตถุประกอบฉากที่เคลื่อนไหวได้เท่านั้น

หมายเหตุ – จากนี้จะขอเรียกย่อเป็นเลขภาคแทน เพื่อความง่ายต่อการอธิบายยิ่งขึ้นนะครับ

อนึ่ง เนื้อเรื่องของไตรภาค 4-6 จะโฟกัสมาที่ตัวละครหลักคนใหม่อย่าง อพอลโล่ จัสติซ (Apollo Justice) ทนายหนุ่มไฟแรงที่โชคชะตานำพามาให้เขาได้รู้จักกับฟีนิกซ์ ไรท์ (Phoenix Wright) ตัวเอกจากไตรภาค 1-3 ผู้สร้างตำนานเลื่องชื่อไว้มากมายในวงการยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา ซึ่งตลอดระยะเวลาของภาค 4-6 นี้ อพอลโล่จะได้เรียนรู้ทักษะและแนวทางการเป็นทนายที่ดีจากฟีนิกซ์ในฐานะอาจารย์และผู้บังคับบัญชาในตัว โดยนอกเหนือไปจากคดีความยาก ๆ ที่อพอลโล่จะต้องเผชิญแล้ว ตัวเขาเองก็ยังมีประเด็นเบื้องลึกเกี่ยวกับชาติกำเนิดเป็นอีกพล็อตที่ผู้เล่นจะได้รับรู้ระหว่างที่ผ่านไปแต่ละคดีด้วย

รูปแบบและเป้าหมายของเกมเพลย์จะยังคงเหมือนกับไตรภาค 1-3 ที่เป็นยุคของฟีนิกซ์ กล่าวคือผู้เล่นมีหน้าที่ช่วยลูกความของตัวเองให้พ้นผิดจากข้อกล่าวหาตามหน้าที่ทนาย โดยแต่ละคดีจะมีการแบ่งเกมเพลย์เป็น 2 ช่วงใหญ่ ๆ คือช่วงสืบสวนที่เกิดเหตุเพื่อรวมรวบหลักฐานหรือสอบถามพยานที่เกี่ยวข้อง และอีกช่วงคือการงัดหลักฐานมาสู้กับอัยการในชั้นศาล รวมถึงมีช่วงซักค้านพยานที่ขึ้นให้การ ซึ่งผู้เล่นสามารถถามจี้หรือโชว์หลักฐานแย้งพยานได้หากสามารถสังเกตหรือจับผิดได้ว่าคำให้การนั้นไม่สมเหตุสมผลหรือขัดแย้งกับพยานวัตถุหรือคำให้การของพยานคนอื่นที่เรามีครับ

ระหว่างการสืบหาหลักฐานในบางคดี ผู้เล่นจะได้รับอุปกรณ์ทางนิติวิทยาศาสตร์บางอย่าง อาทิ ผงแป้งตรวจหารอยนิ้วมือ หรือน้ำยาลูมินอลเพื่อตรวจหาคราบเลือดที่หลงเหลือในที่เกิดเหตุ โดยการใช้อุปกรณ์เหล่านี้จะเป็นมินิเกมย่อย ๆ ให้ผู้เล่นได้ลองกันเพลิน ๆ เสมือนเราเป็นเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานยังไงยังงั้นเลย

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ตัวเกมเต็มไปด้วยบทสนทนาและไม่ได้รองรับซับไตเติ้ลภาษาไทย ผู้เล่นที่จะสนุกไปกับเกมนี้ได้จึงควรมีทักษะภาษาอังกฤษในระดับที่พอจะเข้าใจศัพท์กฎหมายบางคำ (โชคดีที่เกมมีการย่อยคำกฎหมายหลายอย่างเป็นภาษาแบบชาวบ้านให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย ขอแค่ผู้เล่นอ่านอังกฤษรู้เรื่องพอ) ตลอดจนระดับที่ผู้เล่นพอจะเก็ตมุกที่ตัวละครชงกันไปมาด้วย เพราะฟีนิกซ์กับอพอลโล่จะชอบยิงมุกตลกร้ายบ่อยมาก และมีการโต้คารมระหว่างทีมฟีนิกซ์กับฝั่งอัยการในศาลอยู่ตลอดเช่นกัน

ขณะเดียวกัน ฟีนิกซ์กับอพอลโล่จะมีสกิลพิเศษในการค้นหาความจริงจากพยานหรือคนร้ายที่ปิดบังความจริงหรือกำลังโกหกเรื่องบางเรื่องอยู่ โดยทั้งคู่จะมีอุปกรณ์ช่วยเหลือที่ค่อนข้างจะแฟนตาซีเหนือธรรมชาติสักหน่อย และถ้าเล่นไปถึงภาค 5 หรือ Dual Destinies เกมจะแนะนำให้เรารู้จักกับทนายสาวคนใหม่ที่มีชื่อว่า อาธีน่า ไซคส์ (Athena Cykes) ซึ่งเธอจะมีอุปกรณ์ตรวจจับอารมณ์ความรู้สึกของพยานหรือคนร้ายได้ว่าขณะที่ให้การแต่ละประโยคนั้น เจ้าตัวมีอารมณ์ความรู้สึกอย่างไร จากนั้นผู้เล่นก็ต้องมาจับพิรุธว่าความรู้สึกไหนที่ไม่สัมพันธ์กับคำให้การอีกที เรียกได้ว่าทนายทั้ง 3 ในทีมของฟีนิกซ์ล้วนมีเกมเพลย์ปลีกย่อยที่แตกต่างกัน แม้จะดูเวอร์วังไปสักหน่อยแต่ก็ช่วยให้โทนของเกมดูไม่น่าเบื่อและซีเรียสเกินไปเหมือนเวลาขึ้นศาลในโลกความเป็นจริงนั่นเอง

หากให้เปรียบเทียบไตรภาค 4-6 กับไตรภาค 1-3 คงต้องบอกว่าไตรภาค 4-6 จะมีพัฒนาการของตัวละครให้ผู้เล่นได้เห็นมากกว่าอย่างชัดเจน ผ่านประสบการณ์และทักษะที่ฟีนิกซ์สั่งสมตั้งแต่ไตรภาค 1-3 ได้ถูกถ่ายทอดไปยังลูกศิษย์ (และลูกน้อง) อย่างอพอลโล่และอาธีน่าจากการไขคดีร่วมกัน บวกกับดราม่าอันเข้มข้นในช่วงท้ายของแต่ละภาค

ในไตรภาค 4-6 นี้จะเหมือนกับไตรภาค 1-3 ตรงของแถมเพิ่มมา นั่นคือส่วนของ Museum ที่ประกอบไปด้วยภาพอาร์ตเวิร์คสวย ๆ ของแต่ละภาค รวมถึงเพลงซาวด์แทร็คเพราะ ๆ ให้ฟังเกือบร้อยเพลง และหัวข้อ Accolades ที่ผู้เล่นสามารถเข้าไปเช็คโทรฟี่หรือ Achievement ได้ว่าตนเองผ่านเงื่อนไขอะไรไปบ้างแล้ว สำหรับคนที่เป็นสายนักล่าโทรฟี่หรือสายเก็บ 100% โดยเฉพาะ

ที่พิเศษไปกว่านั้นคือ ทั้งภาค 4-6 จะมีหัวข้อ Episodes ให้ผู้เล่นสามารถเลือกเข้าไปเล่นในแต่ละคดีตรงจุดไหนก็ได้ ไม่จำเป็นว่าต้องเล่นตั้งแต่ต้นเสมอไป ซึ่งตอบโจทย์คนที่อาจจะพลาดอะไรไปในบางช่วงของคดีที่เกี่ยวกับโทรฟี่หรือ Achievement หรืออยากจะเข้าไปดูโมเมนต์สำคัญของคดีนั้น ๆ เป็นต้น โดยในภาค 5 กับ 6 จะมีคดีพิเศษที่เคยเป็น DLC สมัยลงเครื่อง Nintendo 3DS แถมมาให้ครบเลย ดังนั้นเวอร์ชั่นรีมาสเตอร์ตัวนี้คือครบจบในเกมเดียวของไตรภาคอพอลโล่แล้ว

จุดด้อยของไตรภาค 4-6 นี้ หลัก ๆ เลยจะเป็นภาค 5 ที่เนื้อเรื่องดูเนิบนาบที่สุดแล้วในไตรภาค 4-6 อีกทั้งมีปัญหาเรื่องการเกลี่ยบทตัวละครในบางภาค ซึ่งเกมเลือกที่จะเพิ่มมาให้ 1 คดีที่แทบไม่มีความเกี่ยวข้องกับพล็อตหลักเพื่อให้ตัวละครที่จมหายไปได้มีแอร์ไทม์กับเขาบ้าง และถ้าวัดกันระหว่างอุปกรณ์ช่วยเฉพาะของทนายทั้ง 3 ก็ต้องบอกว่ามีช่วงให้ใช้งานน้อยเกินไป เฉลี่ยใช้แค่คดีละครั้งเท่านั้นด้วยซ้ำ

ภาพรวมของไตรภาค 4-6 ก็ยังคงความเข้มข้นของเนื้อเรื่องที่เป็นจุดขายและจุดแข็งของเกมแนววิชวลโนเวลไว้ได้ดี ตัวเกมทั้งสามภาคใช้เวลาเล่นรวมกันนานอย่างต่ำ 80-90 ชั่วโมง แม้ว่านี่จะเป็นอีกหนึ่งซีรีส์ของ Capcom ที่ไม่ใช่เกมแนวแอ๊กชั่นแต่ก็มีแฟน ๆ ติดตามกันเหนียวแน่นเฉพาะกลุ่ม แต่นับจากภาค 6 จนถึงตอนนี้ก็ล่วงเลยมานานถึง 8 ปีแล้ว อย่างน้อยก็ควรได้เวลาที่ภาค 7 จะเปิดตัวให้แฟนเกมหายคิดถึงกันเสียทีละครับ (ถ้าทีมงานไม่ติดปัญหาภายในหรือแอบอู้เสียก่อนนะ)

คะแนน 8.5


ติดตามข่าวเกมพีซี/คอนโซลอื่น ๆ ได้ที่ Online Station

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้