5 เรื่องสุดมึนเกี่ยวกับเครื่อง Famicom ที่ชาวญี่ปุ่นรุ่นลุงทุกคนเคยเจอ

5 เรื่องสุดมึนเกี่ยวกับเครื่อง Famicom ที่ชาวญี่ปุ่นรุ่นลุงทุกคนต้องเคยเจอ

    ถ้าพูดถึงเครื่องเล่นเกมที่ฮิตที่สุดในยุค 80-90 ต้น ๆ แล้ว ก็คงจะหนีไม่พ้นเครื่องเล่นเกม Famicom ของค่าย Nintendo แน่นอน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นเครื่องเล่นเกมที่ทำให้คนรุ่นเซียนหลายคนกลายมาเป็นเกมเมอร์ในทุกวันนี้ รวมถึงได้สัมผัสประสบการณ์กับความ “ติดงอมแงม” กับบางสิ่งบางอย่างเป็นครั้งแรกด้วย ซึ่งตั้งแต่วางจำหน่ายเมื่อปี 1983 ปัจจุบันเครื่องเกม Famicom ก็มีอายุ 37 ปีแล้ว!

    แน่นอนว่าผู้ที่เคยเล่นเครื่องเกม Famicom นั้นต่างก็ต้องเจอเรื่องแปลก ๆ หรือเรื่องที่ทำเหมือนกันทั่วโลกที่เครื่องเกมปัจจุบันแทบจะไม่มีเรื่องแบบยุคนั้นเท่าไร และวันนี้เรามาดูกันดีกว่าว่า “5 เรื่องสุดมึน” ที่เกมเมอร์รุ่นลุงชาวญี่ปุ่นเคยพบประสบเจอสมัย Famicom ที่คนรุ่นใหม่ไม่มีโอกาสสัมผัสนั้นมีจะอะไรบ้าง

Nintendo - Famicom - 1
    
เรื่องที่ 1 ทำไมต้องมีไมค์ติดอยู่ที่จอยด้วย!?

Nintendo - Famicom - 2

    อืม…นั่นน่ะสิ! ถ้าหากรุ่นเก๋าแถวนี้จำได้ ตัวจอยคอนโทรลเลอร์ II ของเครื่อง Famicom จะมีช่อง Mic (ไมค์) ติดอยู่ที่จอยด้วย ถ้าเป็นยุคปัจจุบันก็คงจะไม่มีปัญหาเพราะเกมส่วนใหญ่ก็สามารถแชทคุยกับผู้เล่นคนอื่นได้ แต่ยุคนั้นการคุยกับผู้เล่นคนอื่นแค่หันหน้าไปข้าง ๆ ก็คุยกันได้แล้ว อีกอย่างระบบตอบสนองเสียงในยุคนั้นยังไม่แม่นยำเท่าปัจจุบันด้วย สรุปแล้วช่อง Mic มีเอาไว้ทำไมล่ะเนี่ย? เพราะเกมที่ใช้ไมค์ก็ไม่ค่อยมีด้วยสิ…

Nintendo - Famicom - 3 Nintendo - Famicom - 4

     แต่ว่าทางรุ่นลุงชาวญี่ปุ่นเนี่ยก็มีการใช้ไมค์ให้เกิดประโยชน์อย่างการร้องคาราโอเกะในเกม Takeshi no Chosenjo หรือเกม Bungling Bay ที่มีทริคลับอย่างการตะโกนคำว่า “Hudson” ด้วย (สำเนียงญี่ปุ่นคือ ฮะโดซง!) แต่ใช้ตอนไหนแล้วเกิดอะไรขึ้นนั้นก็ไม่รู้เหมือนกันนะ ใครรู้ก็บอกกันด้วยล่ะ!

เรื่องที่ 2 พาสเวิร์ดที่อ่านแล้วเหมือนบทสวดมนต์

Nintendo - Famicom - 5

    ในปัจจุบันนี้การเซฟเกมส่วนใหญ่แทบจะเป็นระบบเซฟอัตโนมัติกันหมดแล้ว และเกม RPG ยุคก่อนหน้านี้ก็จะเป็นระบบเซฟตามจุดเซฟต่าง ๆ หรือตามแผนที่โลก แต่ว่าในยุคเครื่อง Famicom นั้นยังไม่มีอุปกรณ์สำหรับเซฟหรือระบบเซฟจริงจัง ดังนั้นการเซฟเกมส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบ “จดพาสเวิร์ด”

Nintendo - Famicom - 6

    ตัวอย่างเช่น ระบบเซฟของเกม Dragon Quest II ที่ใช้พาสเวิร์ดเป็นตัวอักษรฮิรากานะ แน่นอนว่าพาสเวิร์ดเกมนั้นเป็นคำที่ไม่มีความหมายเลยจำยาก เด็กหลายคนในสมัยนั้นตั้งใจจดพาสเวิร์ดกันสุด ๆ เรียกได้ว่าตั้งใจเขียนมากกว่าสอบคัดลายมือกันเลยทีเดียว และก็มีบางคนที่เล่นบ่อยมากจนสามารถจำพาสเวิร์ดได้เป๊ะ แต่พอนำพาสเวิร์ดนั้นไปบอกเพื่อน คนที่ไม่รู้ว่ามันคืออะไรก็อดขำไม่ได้ เพราะฟังแล้วมันเหมือนบทสวดมนต์ยังไงยังงั้น (ถ้าตามรูปอ่านได้ว่า ยูอุเต อิมิยะ โอวคิมิ โคว…) บางทีคนไทยบางคนอาจจะเคยเจอพาสเวิร์ดที่ขึ้นต้นด้วย いまに (อิมานิ…) ก็เป็นได้!

เรื่องที่ 3 เนื่องจากเป็นระบบอนาล็อกเลยสามารถสนุกกับบั๊กเกมได้

Nintendo - Famicom - 7

    Famicom เป็นเครื่องเล่นที่ใช้ระบบตลับเกม ทำให้ผู้เล่นสามารถทดลองอะไรแปลก ๆ กับตลับเกมเพื่อหาวิธีเล่นใหม่ได้ ซึ่งสิ่งที่ผู้คนยุคนั้นชื่นชอบก็คือการทำให้เกิดบั๊กบนจอแล้วเล่นทั้งภาพแปลก ๆ อย่างนั้นนั่นเอง

    ตัวอย่างเช่นบั๊กโลกมายาในเกม Super Mario Brothers ที่มีวิธีการทำคือเปิดเกม Super Mario Brothers แล้วดึงตลับออกทั้ง ๆ ที่ยังไม่ปิดเครื่องและเสียบตลับเกม Tennis จากนั้นเซ็ตเครื่องเล่นเกม Tennis ไปสักนิด ทีนี้ก็ใส่ตลับ Super Mario Brothers ใหม่ พอเปิดเกมอีกครั้งก็จะสามารถเข้าไปเล่นด่านโลกมายาของเกม Super Mario Brothers ได้ แต่ความจริงแล้วด่านนั้นก็คือ World 9 ไม่ใช่ด่านลับอะไร จะบอกว่าวิธีนี้เป็นทางลัดเพื่อไปเล่นด่านนั้นโดยที่ไม่ต้องเล่นเองให้เมื่อยตุ้มก็ว่าได้ ถึงจะเป็นวิธีที่น่าสนใจแต่ถ้าเครื่องพังตลับเจ๊งก็ช่วยไม่ได้น่อว์

เรื่องที่ 4 มัดรวมขายเกมฮิตกับเกมที่ขายไม่ออก

Nintendo - Famicom - 10

    เป็นวิธีขายของของยุค Famicom ที่เรียกว่า “การขายแบบมัดรวม” ซึ่งร้านขายของเล่น/เกมในยุคนั้นของญี่ปุ่นจะมีการขายเกมยอดฮิตเป็นเซ็ตคู่กับเกมที่ขายไม่ออก และจะซื้อแยกก็ไม่ได้ด้วย หากจะซื้อเกม A ก็ต้องซื้อเกม B พ่วงไปด้วย แถมราคาก็เป็นราคา 2 ตลับด้วยนะไม่ได้มีส่วนลดโปรโมชั่นอะไรเลย (จากรูปข้างบนคือเกม Ikki ที่ขายไม่ออก และมักจะถูกนำไปมัดขายรวมกับ Super Mario Brothers)

Nintendo - Famicom - 11

    หลังจากนั้นในปี 1992 ที่เกม Dragon Quest IV วางจำหน่าย แน่นอนว่าทางร้านค้าก็มีการมัดรวมขายกับเกมอื่นเช่นเคย แต่ในฝั่งเกมเมอร์นั้นถือว่าเป็นเรื่องที่เกินจะรับได้ ก็เลยมีการร้องเรียนว่าการตลาดแบบขายมัดรวมเป็นการละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาด และจากนั้นการมัดรวมขายก็ค่อย ๆ หายไป นอกจากนี้การที่ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าเริ่มขายทีวีเกมมากขึ้นก็เป็นหนึ่งในตัวแปรที่ทำให้การตลาดแบบนี้หายไปด้วยเช่นกัน

เรื่องที่ 5 นิตยสารเกมตีพิมพ์ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง

Nintendo - Famicom - 12

    แม้ว่าจะช่วงนี้จะเป็นข่าวปลอมระบาดมากมาย แน่นอนว่าช่วงนั้นก็มีข่าวปลอมเยอะไม่แพ้กัน โดยเฉพาะในนิตยสารเกมยอดฮิต “Family Computer Magazine” ที่คอลัมน์ Super Ultra Tecniques 50+1 นั้นตีพิมพ์แต่สูตรลับที่ทำแล้วก็ไม่เป็นอย่างว่าสักที ซึ่งปัจจุบันก็มีคนที่ทดลองทำตามอยู่บ้าง แต่สรุปแล้วก็เป็นเรื่องโกหกอยู่ดี

Nintendo - Famicom - 13

    และยุคข้อมูลสูตรลับสุดโกหกนั้นก็ยังคงมีต่อเนื่องมาถึงยุค PlayStation เลยทีเดียว ถ้าพูดถึงสูตรลับสุดโกหกยุค PlayStation ที่ฮือฮากันทั่วโลกก็คงจะหนีไม่พ้นสูตรการชุบชีวิตให้ตัวละครหญิงจากเกม RPG ยอดฮิตแน่นอน

Nintendo - Famicom - 14

* รูปข้างบนไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา

5 เรื่องสุดมึนเกี่ยวกับเครื่อง Famicom ที่ชาวญี่ปุ่นรุ่นลุงทุกคนต้องเคยเจอ

ที่มา: https://nikkan-spa.jp/
TrunksTH

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้