สตาร์ตอัปญี่ปุ่นพัฒนา AI วาดรูปที่ช่วยเปลี่ยนภาพร่างเป็นภาพมังงะได้

มีเจ้าของสตาร์ตอัปญี่ปุ่นคนหนึ่งชื่อว่าคุณทาคาฮิโระ อันโนะ เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ออกไปออกโทรทัศน์ นำเสนอเทคโนโลยีที่ช่วยในการวาดรูปและลดภาระให้แก่นักวาดมังงะ แต่ก็กลายเป็นที่วิพากย์วิจารณ์เหมือนกันว่า AI ดังกล่าวอาจทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาได้ รวมถึงทำให้ผู้ที่ประกอบอาชีพเป็นผู้ช่วยหรือลูกศิษย์นักวาดต้องตกงานกันเป็นแถบ ๆ!

โดยคุณอันโนะได้นำเสนอเทคโนโลยี AI นี้ว่ามีขั้นตอนที่มนุษย์ต้องลงมือวาดเองเพียงแค่ขั้นตอนแรกเท่านั้น คือตอนที่วาดเนม หรือสตอรี่บอร์ดของมังงะหน้าที่ต้องการจะวาดแบบหยาบ ๆ วาดสีหน้าท่าทางตัวละครแบบพอประมาณและใส่กรอบคำพูดลงไป

หลังจากนั้นผู้ใช้ก็จะต้องให้คำสั่ง Prompt เป็นคีย์เวิร์ดให้แก่ AI ไปเป็นจุด ๆ เช่น “เด็กสาว 1 คน ผมบ็อบ หน้ายิ้ม ท่าทางกระฉับกระเฉง” เป็นต้น แล้ว AI ก็จะสร้างงานออกมาให้เลือก หากมีอันที่ชอบแต่ยังไม่ใช่เสียทีเดียว (เช่นมือหรือนิ้วเบี้ยว) ก็สามารถลบแล้วสั่งให้ AI วาดใหม่เฉพาะตรงนั้นได้จนกว่าจะพอใจ แล้วจึงปิดท้ายด้วยขั้นตอน “ตัดเส้น” และลงรายละเอียดโทนสีต่าง ๆ เป็นอันเสร็จพิธีแบบอัตโนมัติ

คุณอันโนะบอกว่าวิธีนี้ทำให้สามารถวาดมังงะยาว 16 หน้าเต็ม ๆ ได้ภายในเวลา 1 สัปดาห์ อุปสรรคส่วนใหญ่คือการสั่งให้ AI นั้นเข้าใจสตอรี่บอร์ดที่วาดอย่างถูกต้อง ไม่เข้าใจและวาดออกมาผิด แต่ก็เชื่อว่าสามารถปรับจูนและพัฒนาจนทำให้มังงะที่สร้างด้วย AI ออกมาดีขึ้นยิ่งกว่านี้ได้

หลังจากที่เผยแพร่ออกไปก็สร้างความกังวลให้กับหลายคน บางคนกังวลว่าผู้ช่วยของนักเขียนมังงะอาจจะโดนลดจำนวน หรือไม่ก็ตกงานกันเป็นแถบ ๆ อาจทำให้ประเพณีในการรับลูกศิษย์และถ่ายทอดวิชาหมดสิ้นลงไปด้วย บ้างก็ว่านักเขียนมังงะอาจจะตกงานเสียเองเพราะสำนักพิมพ์อาจจะหาแค่คนออกไอเดีย และใช้คนวาดสตอรี่บอร์ดแบบราคาถูกก่อนป้อนให้ AI วาดแทน และอาจเกิดปัญหาทางกฎหมายด้วย เพราะ AI นั้นต้องเรียนรู้จากงานที่มีอยู่ อาจละเมิดลิขสิทธิ์ของใครบางคนได้

แต่ในทางกลับกันก็มีบางคนมองว่า AI นี้อาจช่วยแบ่งเบาภาระให้นักวาดมังงะที่ต้องปั่นงานปริมาณมาก ๆ ให้ทันเดดไลน์ได้มาก และอาจเปิดโอกาสให้มือสมัครเล่นที่มีไอเดียดี แต่วาดไม่เก่งสามารถถ่ายทอดไอเดียออกมาเป็นมังงะได้ แต่ก็ต้องเรียนรู้ทักษะอื่น ๆ เพิ่มเติมเช่นการจัดท่าทาง องค์ประกอบ การออกแบบตัวละคร จัดช่อง และการเล่าเรื่อง เพิ่มเติมอีก

ทั้งนี้แม้ว่างานจะออกมาดูสมบูรณ์ แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นมืออาชีพ และยิ่งอ่านไปนาน ๆ ก็จะเห็นว่ามีจุดที่ “ไม่สัมพันธ์” กับหน้าอื่น ๆ ซึ่งเป็นจุดอ่อนของงานที่สร้างด้วย AI อีกด้วย เห็นแล้วหากเทคโนโลยีนี้เป็นที่แพร่หลาย นักวาดหรือผู้ช่วยอาจจะไม่ตกงานหมดเสียทีเดียว แต่อาจทำให้มังงะคุณภาพต่ำที่อ่านแล้วรู้สึกประหลาดออกมาแบบทะลักทลายแทน

แปลและเรียบเรียงจาก
Automaton Media


ติดตามข่าวสารวงการบันเทิง ได้ที่ Online Station

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้