โรค NCDs ภัยเงียบที่หลายคนอาจไม่รู้ตัว

แชร์เรื่องนี้:
โรค NCDs ภัยเงียบที่หลายคนอาจไม่รู้ตัว

ปัจจุบันนี้การใช้ชีวิตของผู้คนอาจจะไม่เหมือนกัน บางคนนอนแต่หัวค่ำตื่นแต่เช้า บางคนนอนดึกตื่นสาย บางคนอาจไม่หลับไม่นอน หรือหลับๆ ตื่นๆ ก็มี บางครั้งพฤติกรรมบางอย่างก็ก่อให้เกิดโรคร้ายได้อย่างง่ายดาย และรวดเร็ว เพราะการดำเนินชีวิตประจำวันที่ผิดแปลกไปจากปกตินั่นเอง การพักผ่อนไม่เพียงพอ การกินอาหาร หรือการอดหลับอดนอน และอีกหลายๆ สิ่งล้วนส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่สมดุล รวมไปถึงเรื่องการกินอีกด้วย

โรคกลุ่ม NCDs คืออะไร
โรคกลุ่ม NCDs ย่อมาจาก Non-communicable diseases คือโรคกลุ่มที่ไม่ติดต่อ เป็นโรคที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค ไม่ติดต่อแม้มีการสัมผัส คลุกคลี หรือมีการสัมผัสกับสารคัดหลั่งต่างๆ ฟังแล้วเหมือนไม่มีทางที่โรคนี้จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับเราได้ง่ายๆ แต่ความจริง

“โรค NCDs จัดเป็นฆาตกรอันดับหนึ่ง ที่คร่าชีวิตประชากรโลกมากกว่าสาเหตุการตายอื่นๆ ทุกสาเหตุรวมกัน มากถึง 36.2 ล้านคนต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 66% ของการเสียชีวิตของประชากรโลกทั้งหมดในปี 2554 ขณะที่ในประเทศไทย กลุ่มโรค NCDs เป็นสาเหตุการเสียชีวิตถึงประมาณ 3.1 แสนคน หรือ ร้อยละ 73 ของการเสียชีวิตของประชากรไทยทั้งหมดในปี 2552”

โรคกลุ่ม NCDs มีโรคอะไรบ้าง
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าโรคในกลุ่ม NCDs เป็นโรคที่เกิดจากนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิต การกิน การนอน การพักผ่อน การออกกำลังกาย และการทำงานต่างๆ ดังนั้นโรคในกลุ่มนี้จึงได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตเรื้อรัง โรคไขมันในเลือดสูง โรคมะเร็ง โรคทางพันธุกรรม โรคตับแข็ง และโรคสมองเสื่อม (อัลไซเมอร์) เป็นต้น

โรคกลุ่ม NCDs บางครั้งเรียกว่า โรคที่เราสร้างขึ้นมาเอง เนื่องจากโรคในกลุ่มนี้เกิดจากการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้อง เช่น การไม่ออกกำลังกาย การรับประทานอาหารรสจัดเกินไป เช่น เค็มจัด หวานจัด มันจัด เป็นต้น รับประทานอาหารไขมันสูง การสะสมความเครียด การรับสารพิษอย่างสม่ำเสมอ เช่นการดื่มสุราและการสูบบุหรี่ กินอาหารปิ้งย่างบ่อยเกินไป เป็นต้น

ตัวอย่างของพฤติกรรมและการเกิดโรค NCDs
1. โรคไต : เกิดจากการกินอาหารรสเค็มจัดต่อเนื่องเป็นเวลานานหรือการกินยาพร่ำเพรื่อโดยไม่จำเป็น หรือการกินอาหารที่โซเดียมสูงเป็นเวลานานๆ
2. โรคเบาหวาน : โรคเบาหวานประเภท 2 เกิดจากการกินหวานจัด หรือกินน้ำตาลมากเกินไปจนร่างกายเผาผลาญไม่หมด
3. โรคไขมันอุดตันเส้นเลือด : เกิดจากการกินอาหารมันมากเกินไป เกินความต้องการของร่างกายและเกิดการสะสมของไขมันในเส้นเลือด
4. โรคมะเร็งปอด/ถุงลมโป่งพอง : เกิดจากการสูบบุหรี่เป็นระยะเวลานานๆ
5. โรคความดันโลหิตสูง : เกิดได้ทั้งจากความเครียด การไม่ออกกำลังกาย การรับประทานอาหารไขมันสูง เป็นต้น
6. โรคตับแข็ง : เกิดจากการดื่มสุราอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จนเซลล์ของตับไม่สามารถทำงานล้างพิษต่อไปได้อีก
7. โรคหลอดเลือดสมองตีบ : เกิดจากไขมันอุดตันด้านในของผนังหลอดเลือดหรือมีลิ่มเลือดไปอุดตันทางเดินของเลือด
8. โรคสมองเสื่อม : สาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคสมองเสื่อมคือการอุดตันของเส้นเลือดสมองและการดื่มสุรา
9. โรคหลอดเลือดหัวใจ : สาเหตุส่วนหนึ่งของการเกิดโรคคือการอุดตันของไขมันในเส้นเลือด

จะเห็นว่ากลุ่มโรค NCDs เหล่านี้เกิดจากพฤติกรรมการกินและการดำรงชีวิตทั้งสิ้น

กลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการเป็นโรค NCDs
โรคกลุ่ม NCDs นั้นเกิดจากพฤติกรรมการกินการอยู่หรือการดำเนินชีวิต ดังนั้นกลุ่มคนที่มีวิถีการดำเนินชีวิตที่ผิดๆ ย่อมมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้มากกว่าคนอื่นๆ เช่น การนอนดึก ไม่ออกกำลังกาย มีความเครียดสูง การกินยาพร่ำเพรื่อหรือกินยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์ รับประทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะและไม่ครบ 5 หมู่ กลุ่มคนที่สูบบุหรี่หรือดื่มสุราเป็นประจำ เป็นต้น

ช่วงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกลุ่ม NCDs
เนื่องจากโรค NCDs เกิดจากการสะสมของโรคต่างๆอันเนื่องมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นโรคนี้จึงมักไม่เกิดในเด็ก แต่จะเกิดกับคนที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป แต่แนวโน้มของการเกิดโรคกับคนที่มีอายุน้อยเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

การป้องกันตัวเองจากโรคกลุ่ม NCDs
โรคกลุ่ม NCDs สามารถป้องกันได้โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตเสียใหม่ เช่น การออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที/ครั้ง 5ครั้ง/สัปดาห์ งดดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงอาหารรสหวาน มัน และเค็มจัด หลีกเลี่ยงอาหารปิ้งย่าง ไม่รับประทานอาหารหรือเนื้อสัตว์แบบสุกๆดิบๆ รับประทานผักและผลไม้มากๆ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่นอนดึกเกินไป ไม่เครียด ไม่ซื้อยากินเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เป็นต้น

การรักษาโรค NCDs
การรักษาโรคกลุ่ม NCDs จำเป็นต้องรักษาตามอาการของโรคที่เกิดขึ้นและควรได้รับการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทาง เช่น โรคเบาหวาน ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ที่เชี่ยวชาญโรคเบาหวาน หรือ โรคหลอดเลือดหัวใจ ก็ควรได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์ที่เชี่ยวชาญโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจโดยเฉพาะ แต่วิธีที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เกิดโรคเหล่านี้ ซึ่งง่ายกว่าการรักษามาก ซึ่งทำได้โดยการลด ละ เลิก พฤติกรรมเสี่ยงต่างๆที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

ที่มา :
http://www.thaihealth.or.th/Content/23880-NCDs%20:%20%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%87%20.html
http://www.xn--12cg1cxchd0a2gzc1c5d5a.net/ncds/
http://www.zcooby.com/ncd-ncds-non-communicable-diseases/
http://www.myhappyoffice.com/index.php/2014/06/ncds/

แชร์เรื่องนี้:

เรื่องที่คุณอาจสนใจ