ด้วยความสัตย์จริง ถ้านับเฉพาะช่วงครึ่งปีแรก ห้าวเป้งจ๋าอย่าแกงน้อง คือหนังที่ผมอยากดูมากที่สุดในเลเวลเดียวกับ Godzilla VS Kong เลยล่ะ ถึงแม้ผมอาจจะไม่ได้เป็นแฟนหนังซีรีส์แกล้งอำที่เคยฉายๆ กันในยุคก่อน แต่ก็อายุมากพอที่จะเห็นหนังแนวนี้ผ่านตามาอยู่บ้าง ดังนั้นก็ใช่ครับผมอยากดูน้องๆ CGM48 เพราะกำลังอินวงเชียงใหม่พอสมควร กอปรกับช่วงเวลาบ้านเมืองตึงๆ แบบนี้ อะไรที่น่าจะมอบความสนุกสนานเฮฮาให้เราได้ ก็อยากจะตั้งความหวังกับมันมากหน่อย
แน่ล่ะว่าผมเข้าโรงไปในฐานะแฟนคลับของวง (เอสสเปเชี่ยลลี่น้องสิตา) แต่อีกพาร์ทนึงก็ต้องกระเถิบออกมาเพื่อมองหนังอย่างกลางๆ ด้วยเช่นกัน และต้องห้ามใจไม่ให้ตัวเองบวกคะแนนหนังทุกๆ ครั้งที่น้องสิตาออกจอหรือเข้ามาในเฟรม ซึ่งอาจจะลำบากหน่อยแต่ก็คิดว่าไม่เหนือบ่ากว่าแรงอะไร …ผมว่าผมพร้อมดูหนังแล้ว
ด้วยความที่ก่อนเข้าไปดู ตัวผมที่ทั้งไปทำข่าวงานเปิดตัว ทั้งหาข้อมูลเองก็พอจะรู้ว่าตัวหนังเริ่มโปรเจ็กต์ตั้งแต่วงยังแค่ตั้งไข่ และการถ่ายทำก็เป็นไปแบบ “กองซ้อนกอง” เพราะตามปกติของ 48 Group ไทย ก็จะมีการถ่ายทำสารคดีที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “Senpai” ฉายตามช่องทางออนไลน์อยู่แล้ว ดังนั้นน้องๆ ก็จะเข้าใจในหลายๆ จุดว่าตัวเองกำลังถ่ายทำรายการดังกล่าวอยู่ โดยที่ไม่รู้ว่าตัวเองกลายเป็นตัวละครในหนังควบคู่กันไปแล้ว ซึ่งในทางผลลัพท์ผมว่ามันเป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่เดี๋ยวเราค่อยมาพูดถึงกัน
ส่วนที่น่าเบื่อที่สุด แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่รู้สึกว่าเข้าใจได้ในบริบท คือพาร์ทที่ยํ้าเรื่องรูปแบบวง ซึ่งเราผ่านตามาทั้ง Girls don’t Cry, One Take รวมไปถึงสารคดีของวงเองอีกหลายๆ ตัว ด้วยอายุอานามวงพี่อย่าง BNK48 ที่ก้าวสู่ปีที่ 4 แล้ว ในฐานะแฟนคลับ มันคือเรื่องยํ้าคิดยํ้าทำที่ชวนหลับจังๆ แต่ด้วยบริบทการถ่ายทำ และชี้ถึงเป้าหมายแรกของเป้าแกงในหนังก็ยังเป็นเรื่องที่ยอมรับได้อยู่ เพราะอีกใจหนึ่งเราก็ยังรับรู้ว่ามีผู้คนอีกมากที่ยังคงงงๆ กับรูปแบบของวงนี้อยู่ดี
ตัวหนังดำเนินเรื่องในรูปแบบของสารดีและแบ่งเป็นพาร์ทๆ ตามแขกรับเชิญแต่ละคน ซึ่งล้อไปกับไทม์ไลน์น้องๆ ตั้งแต่การฟอร์มวงจนไปจบที่ งาน Cat Expo เมื่อปลายปี 2020 ที่ผ่านมา ทว่าเป้าหมายการแกงที่มีถึง 25 คน ก็ทำให้ตัวหนังไม่สามารถลงลึกถึงน้องๆ แต่ละคนได้มากนัก ความเป็นสารดีเลยจางไปหน่อย แถมการแกล้งก็ยังไม่ค่อยสุดในทุกๆ พาร์ท มันเลยแอบออกมาเป็นงานที่ครึ่งๆ กลางๆ อย่างช่วยไม่ได้
อย่างไรก็ดี ในการแกล้งที่ไม่สุด ก็อาจเพราะคอนเซ็ปต์มันเป็นการสอนน้องๆ ให้เติบโตขึ้นไปในตัว รวมถึงบางพาร์ทยังโชว์ศักยภาพของแขกรับเชิญได้อย่างน่าสนใจ เช่นในพาร์ทของคุณกันต์ที่โชว์การแก้ปัญหาหน้างานได้อย่างน่าทึ่ง หรือในพาร์ทของยังโอมที่อาจยังนำเสนอได้ไม่สุดแต่บทสรุปก็ไม่เลว นอกจากนี้ถ้าจะเอาฮาอย่างเดียวก็ยังมีพาร์ทของหมอปลา ที่น่าจะเป็นจุดพีคของเสียงหัวเราะในภาพยนตร์เรื่องนี้
ในส่วนของน้องๆ CGM48 ความที่ผมดู Senpai ของน้องๆ มาก่อนแล้ว ทำให้ตัวเองพอคาดเดาไทม์ไลน์ต่างๆ ได้ แถมฟุตเทจบางตัวก็มาจาก Senpai ทำให้แอบรู้สึกเหมือนกดปุ่ม New Game+ เพื่อดูเบื้องหลังของเบื้องหลังอีกที หรือถ้าจะให้นิยามก็จะเป็นอารมณ์ CGM48 Senpai: Nakorn’s Cut อะไรแบบนี้ เหมือนเป็น “เหล้ารสใหม่ในขวดเก่า” ที่แม้แต่แฟนๆ ก็ยังรู้สึกพูดยากว่าชอบมันทั้งหมด เพราะมันก็มีทั้งส่วนที่เคยเห็นแล้ว หรือส่วนใหม่ๆ ที่เซอร์ไพรส์ก็มีไม่น้อย กลายเป็นคำพูดที่ออกมาจากปากว่าา “ไม่ดีไม่แย่” “ไม่เสียดายตัง แต่ไม่รู้จะเชียร์ให้คนอื่นไปดูยังไงดี” นั่นแหล่ะ
ในข้อสรุปผมรู้สึกว่าคนที่จะดูเรื่องนี้สนุกที่สุด ต้องเป็นคนที่ตามวงแต่ไม่เคยดู Senpai เพราะในหนังจะเป็นอะไรที่เฟรชใหม่ทั้งหมด และปริศนาหรือ Lore ประจำวงบางเรื่องที่อยู่คู่วงมาเป็นปีๆ ก็จะถูกเฉลยในหนังเรื่องนี้ คนกลุ่มนี้น่าจะเอนจอยที่สุด รองลงมาคือแฟนคลับที่เป็นพวกดู Senpai แล้ว จะรู้สึกเหมือนมาอ่านเฉลยเกมอีกที นอกเหนือจากนี้ผมรู้สึกว่าน่าจะไปทางกลางๆ เสียส่วนใหญ่ ซึ่งหากใครบอกว่าแย่ก็อาจจะไม่แปลกใจนัก เพราะหนังค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม จะหวังให้ถูกชอบในวงกว้างคงเป็นเรื่องไกลเกินตัวไปหน่อย
สำหรับตัวผมเองถ้าเทียบงานนี้กับงานก่อนหน้าของคุณเป้ ผู้กำกับ ก็คงพูดได้อย่างรวดเร็วว่าชอบ Low Season มากกว่า แต่ก็พอเข้าใจได้ว่าเรื่องนี้ทำยากกว่ามากในทุกๆ เลเวล โดยเฉพาะในแง่ของโปรดักชั่นทั้งระหว่างถ่ายและหลังถ่าย (อีกหนึ่งความสนุกของหนังคือการจินตนาการสถานที่ที่ตากล้างต้องไปแฝงตัวถ่าย) แต่ก็นั่นแหละ มันเป็นเรื่องที่ต้องแยกกัน ส่วนตัวแล้วยังค่อนไปทางชอบ เพราะบทสรุปของการแกล้งมันใสๆ ละมุนละม่อม สามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับน้องๆ ได้มาก แม้การแกล้งจะยังไม่สุดก็ตาม และที่สำคัญคือสิตาน่ารักไม่ไหวแล้วครับ เจอกันเชียงใหม่น้อง!