วันที่ 15 กรกฎาคม 1983 หรือวันนี้เมื่อ 42 ปีที่แล้ว เป็นวันวางจำหน่ายวันแรกของเครื่องเกม Famicom ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยเป็นเครื่องเกมเจเนอเรชั่นที่ 3 ของวงการเกมคอนโซลที่พัฒนาโดย Nintendo ซึ่งคุณฮิโรชิ ยามาอุจิ (Hiroshi Yamauchi) ประธานของปู่นิน ณ เวลานั้นต้องการให้เจ้าเครื่องนี้มีคอนเซปต์ที่เรียบง่าย ราคาถูก และสามารถนำเกมตู้อาร์เคดมาลงตลับเกมได้ กระทั่งต่อมา Famicom ก็กลายเป็นหนึ่งในเครื่องเกมที่ทรงอิทธิพลที่สุดในวงการเกมคอนโซล อีกทั้งสร้างมาตรฐานของโมเดลธุรกิจใหม่ด้วยการเซ็นสัญญากับบรรดาค่ายเกม 3rd Party เพื่อให้ค่ายเหล่านั้นทำเกมป้อนลงเครื่อง และจัดจำหน่ายเกมของพวกเขาได้เอง ยิ่งไปกว่านั้น เกมปู่นินหลายแฟรนไชส์ที่มาปังเป็นพลุแตกในเจเนอเรชั่นนี้ก็ได้แก่ Super Mario Bros. (1985), The Legend of Zelda (1986) และ Metroid (1986) หรืออย่างเกม 3rd Party ที่กำเนิดในเจนนี้และมียอดขายแตะหลักล้านชุดก็เช่น Dragon Quest หรือ Rockman เป็นต้น

ตอนที่เริ่มวางขายเครื่อง Famicom เมื่อปี 1983 นั้น ทาง Nintendo ได้ตั้งราคาเปิดตัวไว้ที่ 14,800 เยน หากคำนวณตามอัตราเงินเฟ้อของปี 2025 ก็จะอยู่ที่ประมาณ 20,700 เยน หรือราว 4,600 บาทไทยครับ โดยเกมที่วางจำหน่ายพร้อมกับเครื่อง (Launch Title) จะเป็นเกมของปู่นินที่พอร์ตจากตู้อาร์เคดมาลงซะส่วนใหญ่ อาทิ Donkey Kong, Donkey Kong Jr. และ Popeye อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเครื่อง Famicom จะมีราคาที่ถูกก็จริง แต่กว่าเครื่องนี้จะทำยอดขายแตะ 1 ล้านเครื่องแรกได้สำเร็จก็ต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปีเศษ เนื่องจากตัวเครื่องล็อตแรกถูกตรวจพบปัญหาที่เมนบอร์ด ทำให้หลายเกมเจออาการแครชจนปู่นินต้องเรียกคืนเครื่องที่เจอปัญหาทุกล็อตเพื่อนำไปแก้ไข ก่อนจะวางจำหน่ายเครื่องล็อตใหม่ที่แก้ไขเมนบอร์ดแล้วอีกรอบ
การกลับมาในรอบนี้ Famicom ก็สามารถครองตลาดเกมคอนโซลเจเนอเรชั่นที่ 3 แบบม้วนเดียวจบ พร้อมกับเกิดปรากฏการณ์ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนในญี่ปุ่น นั่นคือเด็กและผู้ใหญ่ไปยืนต่อคิวรอซื้อเครื่องยาวถึงหลายช่วงตึก ทำให้เครื่องขาดตลาดอย่างรวดเร็ว ซึ่งในญี่ปุ่นมีการเรียกปรากฏการณ์ที่ว่านี้ว่า Famicom Boom เช่นเดียวกับฝั่งตะวันตกที่ปู่นินนำเจ้าเครื่องนี้ไปรีโมเดลและจำหน่ายในอีกชื่อว่า NES ที่ย่อมาจาก Nintendo Entertainment System และก็เกิดปรากฏการณ์ลักษณะนี้เหมือนกัน จนสื่อเกมในตะวันตกเรียกปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า Nintendomania ครับ

อย่างที่เกริ่นไปตอนแรกว่าเครื่อง Famicom ได้สร้างมาตรฐานโมเดลธุรกิจใหม่ระหว่างค่ายผู้ผลิตเครื่องอย่าง Nintendo กับค่าย 3rd Party เพื่อทำเกมมาลงให้ เริ่มมาจากในช่วงแรกที่ Famicom มีจำหน่ายแค่เกม 1st Party ของปู่นินเอง จนเมื่อปี 1984 ทาง Namco กับ Hudson Soft ได้เข้ามาติดต่อกับปู่นิน และได้เกิดการทำข้อตกลงในการทำเกม 3rd Party ขึ้น นั่นก็คือผู้พัฒนาเกม 3rd Party จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 30% ให้กับ Nintendo เพื่อครอบคลุมค่าลิขสิทธิ์และค่าการผลิต ก่อนที่โมเดลธุรกิจนี้ถูกใช้ต่อเนื่องในวงการเกมคอนโซลมาอีกหลายสิบปี
เชื่อหรือไม่ครับว่า แม้เครื่อง Super Famicom ที่เป็นเครื่องเกมเจเนอเรชั่นถัดมาจะวางขายในปี 1990 ทว่าปู่นินก็ยังคงผลิตเครื่อง Famicom มาจำหน่ายในญี่ปุ่นอยู่เรื่อย ๆ และไปยุติสายการผลิตจริง ๆ ในวันที่ 25 กันยายน 2003 หรือราว 20 ปีเต็มหลังวางจำหน่ายครั้งแรก โดยทำยอดขายไปได้ทั้งสิ้น 61.91 ล้านเครื่อง (ซึ่งเป็นยอดที่นับรวมทั้ง Famicom และ NES แล้ว) ส่วนเกมที่ทำยอดขายดีที่สุดบนเครื่องนี้ก็คือ Super Mario Bros. ภาคแรกที่ขายไปได้ 40.2 ล้านชุด แต่สาเหตุที่เกมดังกล่าวมียอดขายสูงขนาดนั้นส่วนหนึ่งก็เพราะว่า Super Mario Bros. เป็นเกมที่ถูกนำมาพ่วงขายพร้อมกับเครื่องด้วยนั่นเอง ขณะที่เกมที่ทำยอดขายดีที่สุดในฐานะเกมแยกขายแบบ Standalone คือ Super Mario Bros. 3 ที่ขายไปได้ทั้งสิ้น 18 ล้านชุดครับ
(ล่าง) เครื่อง NES หรือเครื่อง Famicom ที่วางจำหน่ายในตลาดตะวันตก เริ่มวางขายครั้งแรกวันที่ 18 ตุลาคม 1985

ติดตามข่าวเกมพีซี/คอนโซลอื่นๆ ได้ที่ Online Station