กลุ่มตัวแทนค่ายเกมใหญ่ ประกาศจุดยืน ต้านแคมเปญ Stop Killing Games ชี้อาจทำต้นทุนพัฒนาเกม "สูงลิ่ว"

แชร์เรื่องนี้:
กลุ่มตัวแทนค่ายเกมใหญ่ ประกาศจุดยืน ต้านแคมเปญ Stop Killing Games ชี้อาจทำต้นทุนพัฒนาเกม "สูงลิ่ว"

แม้ว่า "Stop Killing Games" หรือ SKG ซึ่งเป็นแคมเปญผลักดันการคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ให้ผู้พัฒนาและผู้จัดจำหน่ายเกมหยุดการให้บริการเกมไปแบบเฉย ๆ สามารถรวบรวมลายเซ็นได้ทะลุ 1 ล้านรายชื่อ จนทำให้ถึงเกณฑ์ที่ทางฝ่ายการเมืองของสหภาพยุโรปต้องรับพิจารณาไปได้ แต่ดูเหมือนว่าจะเริ่มมีการต่อต้านจากฝั่งวงการเกมแล้ว เมื่อ Video Games Europe องค์กรลอบบี้รายใหญ่ที่สุดในวงการเกมยุโรปออกมาแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจน พร้อมให้เหตุผลว่าอาจทำให้ต้นทุนการพัฒนาเกมสูงขึ้นอีก!

Stop Killing Games

 

โดยแคมเปญ Stop Killing Games คือการรณรงค์เรียกร้องให้บริษัทเกมต้องมีทางเลือกเมื่อจะยุติให้บริการเกม ไม่ว่าจะเป็นเกมผู้เล่นคนเดียวที่บังคับให้มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อเล่น เกมที่มีระบบออนไลน์มัลติเพลเยอร์ หรือเกมออนไลน์ล้วน ๆ ไม่มีองค์ประกอบสำหรับการเล่นแบบผู้เล่นคนเดียวเลยก็ตาม เช่น ต้องมีทางเลือกในการให้เข้าเล่นเกมผู้เล่นคนเดียวที่บังคับต่ออินเทอร์เน็ต แต่ถูกหยุดให้บริการไปแล้ว ต้องมีเวอร์ชันออฟไลน์ หรือเปิดให้ชุมชนสามารถดูแลเกมต่อได้เอง เพื่อไม่ให้เกมที่ผู้เล่นซื้อไปต้องกลายเป็น "ขยะดิจิทัล" ที่ไม่มีทางเล่นอีกเลยหลังจากที่ค่ายเกมตัดสินใจลอยแพแล้ว

แต่ Video Games Europe ซึ่งเป็นกลุ่มล็อบบี้มีสมาชิกเป็นค่ายยักษ์อย่าง Ubisoft, EA, Activision, Warner Bros., Microsoft และ Square Enix กลับออกแถลงการณ์ที่ฟังดูเหมือนให้กำลังใจตอนต้น แต่ตามมาด้วยการปัดตกข้อเรียกร้องแทบทั้งหมด โดยชี้ว่าหากข้อเสนอนี้กลายเป็นกฎหมายจริง "ต้นทุนการพัฒนาเกมจะพุ่งสูงจนไม่คุ้มทุน"

Stop Killing Games

"การตัดสินใจหยุดให้บริการเกมออนไลน์ไม่ได้ทำกันง่าย ๆ และเป็นเรื่องซับซ้อนหลายปัจจัย" Video Games Europe ระบุ พร้อมชี้ว่าบริษัทต่าง ๆ ต้องมีสิทธิในการตัดสินใจยกเลิกการให้บริการเมื่อไม่คุ้มค่าทางธุรกิจ

แถลงการณ์ยังระบุว่า การเปิดให้มีเซิร์ฟเวอร์ส่วนตัวหรือปล่อยเกมให้ชุมชนดูแลเองก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ดี เพราะอาจมีปัญหาเรื่องข้อมูลผู้เล่น เนื้อหาผิดกฎหมาย หรือการควบคุมชุมชนที่ไม่ปลอดภัย รวมถึงความเสี่ยงทางกฎหมายต่อเจ้าของลิขสิทธิ์

Video Games Europe ยังย้ำว่า เกมจำนวนมากถูกออกแบบมาให้เป็น "ออนไลน์เท่านั้น" การบังคับให้ต้องทำเวอร์ชันออฟไลน์หรือเปิดให้แฟนเกมดูแลต่อ จะเป็นการ "ลดทางเลือกของนักพัฒนา" และทำให้ "ต้นทุนสูงเกินไป"

ท่าทีนี้สอดคล้องกับความเห็นของ Pirate Software นักพัฒนาอิสระที่เคยออกมาวิพากษ์วิจารณ์ Stop Killing Games และสนับสนุนจุดยืนของค่ายใหญ่ในการไม่รองรับข้อเสนอเรื่องการรักษาเกมหลังปิดบริการ แสดงท่าทีต่อต้านแคมเปญนี้อย่างชัดเจนจนทำให้เกิดกระแสวิพากย์วิจารณ์จนมีอินฟลูเอนเซอร์และผู้คนจำนวนมากหันมาให้การสนับสนุนแทน

Stop Killing Games

ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า Video Games Europe นั้นเป็นกลุ่มที่ประกอบด้วยตัวแทนจากผู้จัดจำหน่ายและผู้พัฒนาเกมยักษ์ใหญ่หลายแห่งซึ่งเคยมีประวัติหยุดการพัฒนา ลอยแพเกม หรือแม้กระทั่งตามลบเกมที่ขายให้ผู้เล่นแล้ว ออกจากไลบรารีของผู้ซื้อ โดยเฉพาะ Ubisoft ซึ่งกลายเป็นประเด็นเพราะปรับเปลี่ยนข้อตกลง ให้สามารถยุติการให้บริการด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ได้ และระบุในสัญญาด้วยว่าเจ้าของเกมจะต้อง "ทำลายสำเนาเกมดังกล่าวที่มีอยู่ในครอบครองทุกสำเนา"

ด้วยเหตุนี้การที่ Video Games Europe ซึ่งเป็นตัวแทนของทางค่ายเกมต่าง ๆ ต้องการสงวนสิทธิ์ในการปิดให้บริการเกมตามวิจารณญาณของตนจึงไม่น่าแปลกใจ เพราะเป็นการรักษาผลประโยชน์ของทางค่ายเกมไม่ให้ถูกฟ้องร้องหรือต้องรับผิดชอบใด ๆ ต่อผู้เล่น ดังเช่นกรณีของเกม The Crew ของ Ubisoft และ Anthem ของ EA ที่ยุติการให้บริการไปอย่างถาวร แต่ก็ทำให้เกิดคำถามตามมาว่ายุติธรรมหรือไม่สำหรับผู้เล่นที่จ่ายเงินซื้อเกมต่าง ๆ เหล่านี้ และหลายครั้งไม่สามารถขอเงินคืนได้เลย ไม่ว่าจะเป็นค่าเกมหรือค่าไอเทมในเกมก็ตาม ดังนั้นหากมีกฏหมายใหม่ออกมาควบคุ้ม ค่ายเกมก็อาจจะไม่สามารถลอยแพผู้เล่นได้ง่าย ๆ เหมือนในอดีต

Stop Killing Games

แม้จะบอกว่า "เข้าใจความผิดหวังของผู้เล่น" แต่ Video Games Europe ก็ประกาศจุดยืนชัดเจนว่าจะไม่สนับสนุนหลักการของ Stop Killing Games แต่อย่างใด และพร้อมจะคัดค้านหากมีความพยายามผลักดันให้ข้อเสนอเหล่านี้กลายเป็นกฎหมายในยุโรป

แปลและเรียบเรียงจาก
Dexerto


ติดตามข่าวเกมพีซี/คอนโซลอื่นๆ ได้ที่ Online Station

แชร์เรื่องนี้:
Shirosaki-han
About the Author

Shirosaki-han

นักเขียนอิสระผู้ชื่นชอบเกมและอนิเมะ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ