[p]ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ต่อต้านไวรัสสัญชาติโรมาเนีย ตรวจพบไวรัสวินโดว์ส ซีอีตัวแรก ระบุพัฒนาขึ้นโดยกลุ่มผู้สร้างเวิร์มคาร์บีที่โจมตีอุปกรณ์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการซิมเบียนก่อนหน้านี้ แต่ชี้ยังไม่มีอันตรายร้ายแรง เหตุยังไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว [p]สำนักข่าวซีเน็ต รายงานว่า บริษัทบิทดีเฟนเดอร์ ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ต่อต้านไวรัสในประเทศโรมาเนีย ได้รับตัวอย่างไวรัสที่มีเป้าหมายโจมตีระบบปฏิบัติการสำหรับสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์พกพาประเภทอื่นๆ ของไมโครซอฟท์ จากผู้เขียนที่ใช้นามแฝงว่า แรทเตอร์ ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่ม 29เอ วีเอ็กซ์ ซึ่งพัฒนาไวรัสโจมตีระบบปฏิบัติการซิมเบียนไปแล้วก่อนหน้านี้[p]นายไวโอเรล คันจา เจ้าหน้าที่บริษัท บิทดีเฟนเดอร์ เปิดเผยว่า ไวรัสที่ว่านี้ เป็นไวรัสตัวแรกที่โจมตีระบบปฏิบัติการวินโดว์ส ซีอี ((Windows CE)) ของไมโครซอฟท์ [p]"สำหรับผู้สร้างไวรัสตัวนี้ เป็นกลุ่มเดียวกับที่สร้างคาร์บี (ไวรัสโจมตีระบบปฏิบัติการซิมเบียน) เพียงแต่ยังไม่ได้ออกแบบให้แพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี เป็นการสื่อให้เห็นว่า อุปกรณ์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการวินโดว์ส ซีอี ก็อาจจะถูกโจมตีจากรหัสประสงค์ร้ายได้เช่นเดียวกัน" นายคันจา กล่าว พร้อมเสริมว่า รหัสดังกล่าวถูกส่งให้กับผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันไวรัสแทนที่จะปล่อยเข้าสู่เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในทันที[p]นักวิเคราะห์หลายคน พากันคาดการณ์กันว่า อุปกรณ์พกพา รวมถึงโทรศัพท์ระบบวอยซ์ โอเวอร์ ไอพี จะกลายเป็นเป้าหมายใหญ่ของนักเขียนไวรัสในอนาคต แต่ยังไม่เกิดเหตุการณ์ร้ายขึ้นในขณะนี้[p]นายคันจา อธิบายด้วยว่า ไวรัสวินโดว์ส ซีอี จะแสดงกล่องรับข้อความ เพื่อถามว่า ผู้ใช้จะยอมให้แพร่ระบาดไปยังไฟล์อื่นหรือไม่[p]อย่างไรก็ดี แม้ว่าในปัจจุบัน ไวรัสอุปกรณ์พกพา จะมีอยู่เพียงไม่กี่สายพันธุ์ แต่บริษัทซอฟต์แวร์ต่อต้านไวรัส และผู้ผลิตฮาร์ดแวร์หลายแห่ง ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้อุปกรณ์พกพาสามารถป้องกันการโจมตีที่อาจจะเพิ่มขึ้นในอนาคตได้แล้ว[p]ก่อนหน้านี้ บริษัทไมโครซอฟท์ คอร์ป. ได้ออกมาระบุว่า ทีมวิจัยของทางบริษัท ได้ติดตั้งระบบความปลอดภัยที่มีคุณสมบัติหลากหลาย ลงในระบบปฏิบัติการสมาร์ทโฟน (Smartphone operating system) ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้ในอุปกรณ์ลูกผสมที่ผนวกรวมเอาคุณสมบัติของพีดีเอ และโทรศัพท์เคลื่อนที่ไว้ด้วยกัน เพื่อป้องกันการโจมตีจากไวรัสสายพันธุ์ต่างๆ [p]และหากเวิร์มอันตราย สามารถทะลุผ่านระบบป้องกันในตัวเครื่องเข้ามาได้ ทางบริษัท จะพัฒนาซอฟต์แวร์ซ่อมแซม หรือแพทช์ (Patches) ที่ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดลงเครื่องได้ทันที ผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือเครือข่ายมือถือ[img]http://www.online-station.net/news/files/0407/649_windows-ce-net.jpg[/img]