'กสทฯ' ยอมหั่นค่าเช่าวงจรตปท.อีก50% ผนึกทรู-ทีทีแอนด์ทีลุยธุรกิจบรอดแบนด์

แชร์เรื่องนี้:
'กสทฯ' ยอมหั่นค่าเช่าวงจรตปท.อีก50% ผนึกทรู-ทีทีแอนด์ทีลุยธุรกิจบรอดแบนด์

"กสทฯ"ยอมหั่นค่าเช่าวงจรตปท.อีก50% ผนึกทรู-ทีทีแอนด์ทีลุยธุรกิจบรอดแบนด์

"กสทฯ" ลดค่าเชื่อมวงจรต่างประเทศอีก 50% สนองนโยบายรัฐปั้นบรอดแบนด์ราคาถูก ทั้งจับมือ "ทีทีแอนด์ที-ทรู" ปูพรมขยายพื้นที่บริการทั่วประเทศ พร้อมแบ่งพื้นที่ทำตลาด หวังอาศัยรายได้จากบรอดแบนด์ทดแทนโทร.ตปท.ในอนาคต มั่นใจถึงสิ้นปีมีลูกค้ากว่า 30,000 ราย ทั้งเปิดเกมบุกธุรกิจ "ดาต้า เซ็นเตอร์" เต็มตัว

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมาได้มีมติให้ปรับลดอัตราค่าใช้บริการศูนย์แลกเปลี่ยนอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ (IIG) รายเดือนที่ความเร็ว 64 Kbps - 155 Mbps ลงประมาณ 46-52 % พร้อมทั้งปรับปรุงอัตราค่าใช้บริการศูนย์บริการแลกเปลี่ยนอินเทอร์เน็ตในประเทศ (NIX) และให้กำหนดอัตราที่ความ เร็วสูงขึ้น เพื่อให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) สามารถเชื่อมต่อกับโครงข่ายอินเทอร์เน็ตในต่างประเทศ และแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันภายในประเทศได้ ทั้งยังเป็นการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมให้ผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นในอัตราค่าใช้บริการที่ถูกลงด้วย

โดยนายสมพล จันทร์ประเสริฐ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า อัตราค่าเชื่อมวงจรต่างประเทศที่ความเร็ว 64 Kbps-155 Mbps จะปรับลดลงประมาณ 50% ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นไป เชื่อว่าจะช่วยลดภาระด้านต้นทุนการให้บริการอินเทอร์เน็ตของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต(ISP) ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว และทำให้ราคาค่าบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในตลาดปรับลดราคาลงได้ด้วย เนื่องจากทันทีที่ต้นทุนถูกลงผู้ให้บริการก็มีโอกาสที่จะปรับราคาลงเพื่อแข่งขันได้ ขณะเดียวกัน กสทฯยังมีแผนที่จะรุกธุรกิจบรอดแบนด์อย่างจริงจังด้วย โดยร่วมมือกับบริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด(มหาชน) ขยายพื้นที่การให้บริการเพิ่มเติมใน 17 จังหวัด คาดว่าภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้จะเปิดให้บริการได้ครอบคลุมทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ยังกำลังเจรจากับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เกี่ยวกับการซินเนอร์ยี่ โครงข่ายหลักของ กสทฯ และ ทรูฯซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว่า 2.6 ล้านหลังคาเรือน โดย กสทฯจะเน้นทำตลาดในพื้นที่ธุรกิจเช่น สีลม, ชิดลม และนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ หากจะให้บริการกับลูกค้าทั่วไปกสทฯจะไปเชื่อมต่อโครงข่ายของทรูฯแทน ตนคาดว่า กสทฯจะมีลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 30,000 ราย แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 40% และต่างจังหวัดอีก 60%

"อีกไม่นานธุรกิจบรอดแบนด์จะเป็นธุรกิจหลักที่เข้ามาชดเชยรายได้จากบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศซึ่งถือว่าอยู่ในช่วงขาลง เพราะแม้บริการโทรฯระหว่างประเทศจะมีผู้ใช้บริการเยอะ มีทราฟิกในการใช้งานมากขึ้น แต่อัตราค่าบริการก็ลดลงโดยตลอดทำให้รายได้ของ กสทฯลดตามไปด้วย ขณะที่แนวโน้มการใช้งานบรอดแบนด์มีโอกาสเติบโตมากกว่าเพราะคนจำเป็นต้องใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้นทุกวัน" นายสมพลกล่าว

นายสมพลกล่าวถึงธุรกิจศูนย์บริการรับฝากข้อมูล (IDC) ที่เปิดให้บริการเมื่อต้นปีนี้ว่ามีลูกค้าแล้ว 10 ราย เช่น สำนักงานกองสลากฯ และมีแผนที่จะลงทุนขยายพื้นที่จัดเก็บข้อมูลอีก 200 ล้านบาท โดยเน้นไปที่ลูกค้าภาครัฐเป็นหลัก เนื่องจากต้องนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลตามนโยบาย E-government อยู่แล้ว

ล่าสุด กสทฯได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมทุนในเบื้องต้นกับบริษัท ดาต้าแมท จำกัด (มหาชน) และเอสเอ็มอีแบงก์ จัดตั้งบริษัท SME Thai Solution and Services ทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท มี กสทฯถือหุ้น 30%, ดาต้าแมท 55% และเอสเอ็มอีแบงก์ 15% ้เพื่อให้บริการเช่าซอฟต์แวร์ราคาประหยัดแก่ธุรกิจเอสเอ็มอีผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

ข่าว: ประชาชาติธุรกิจ

แชร์เรื่องนี้:

เรื่องที่คุณอาจสนใจ