ผู้ผลิตไต้หวันแห่บุกตลาดเน็กเวิร์กไทย จุดพลุสงครามราคาชิงเค้ก4,000ล้านบาท

แชร์เรื่องนี้:
ผู้ผลิตไต้หวันแห่บุกตลาดเน็กเวิร์กไทย จุดพลุสงครามราคาชิงเค้ก4,000ล้านบาท
ผู้ผลิตไต้หวันแห่บุกตลาดเน็กเวิร์กไทย จุดพลุสงครามราคาชิงเค้ก4,000ล้านบาท

ตลาดอุปกรณ์เน็ตเวิร์กปี 2547 รุ่งโรจน์มูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท ล่อใจผู้ผลิตไต้หวันแห่เข้ามาบุกตลาดกว่า 10 ราย สร้างสงครามราคาทำตลาดป่วนกระทบรายใหญ่ต้องปรับตัวโฟกัสตลาดระดับบน ด้าน "อัลไลด์ เทเลซินฯ" จากสหรัฐประกาศลดบทบาทการทำตลาดล่างเหลือแค่ 25%

นายธีรยุทธ หงษ์คณานุเคราะห์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท อัลไลด์ เทเลซิน อินเตอร์เนชั่นแนล (เอเชีย) จำกัด ผู้ทำตลาดอุปกรณ์เครือข่ายจากอเมริกา เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดอุปกรณ์เน็ตเวิร์กมีแนวโน้มการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องตามความต้องการของตลาด เนื่องจากมีผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ เพิ่มการลงทุนในประเทศมากขึ้น อาทิ สถาบันการเงิน อุตสาหกรรมการผลิต และธุรกิจบริการ คาดว่าจะส่งผลให้ตลาดเน็ตเวิร์กในปีนี้มีมูลค่า 4,000 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมามูลค่าประมาณ 3,700 ล้านบาท

ตัวเลขดังกล่าวเป็นแรงกระตุ้นให้มีผู้ประกอบการอุปกรณ์เน็ตเวิร์กรายใหม่ๆ เข้ามาในตลาด มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ผลิตจากประเทศไต้หวันที่นำอุปกรณ์เครือข่ายขนาดเล็กเข้าทำตลาด โดยใช้กลยุทธ์ราคาเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อในกลุ่มลูกค้าระดับกลางและล่าง ซึ่งกำลังส่งผลกระทบต่อมาตรฐานด้านราคาในตลาดดังกล่าว จนผู้เล่นรายใหญ่ต้องปรับตัวไปโฟกัสตลาดระดับกลางและบนเป็นหลัก รวมทั้งในส่วนของอัลไลด์ฯ ก็เน้นการนำเสนอโซลูชั่นเครือข่ายในกลุ่มธุรกิจระดับเอ็นเตอร์ ไพรซ์ และหน่วยงานภาครัฐมากขึ้น โดยที่จะลดบทบาทในส่วนของตลาดล่างเหลือ+++ส่วนเพียง 25-30%

"คาดว่าผู้ผลิตไต้หวันเข้ามาเปิดตลาดในเมืองไทยขณะนี้มีประมาณ 10 ราย ซึ่งกลุ่มนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก เพราะเป็นการตั้งบริษัทตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย ช่วง 1-2 ปีถ้าไม่ประสบผลสำเร็จก็จะออกจากตลาดไป แล้วก็จะมีแบรนด์ใหม่ที่เห็นโอกาสสับเปลี่ยนกันไปเรื่อยๆ ซึ่งทำให้การแข่งขันสูงและมีผลกระทบต่อมาตรฐานด้านราคาของตลาดระดับล่าง"

โดยบริษัทจะมุ่งสนับสนุนกิจกรรมการตลาดผ่านตัวแทนจำหน่ายหลัก 3 ราย ประกอบด้วยบริษัททีดี, บริษัทเอ็มวีที และบริษัทเอเอ็นที ซึ่งเป็นตัวกลางกระจายสินค้าให้กับตัวแทนจำหน่ายรายย่อยและเอสไอทั่วประเทศ โดยได้จัดโปรแกรม "อัลไลด์แอนเซส โกลด์ พาร์ตเนอร์" (Alliances Gold partner) เพื่อจัดกิจกรรมเพิ่มศักยภาพตัวแทนจำหน่าย ทั้งในรูปแบบสนับสนุนด้านการตลาด และการอบรมสัมมนา ทั้งสินค้าหลักของบริษัท ได้แก่ สวิตช์, เราเตอร์, ฮับ และเน็ตเวิร์กการ์ด เป็นต้น

ด้านนายพุฒิพันธ์ เตยะราชกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์ไอทีเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การเข้ามาทำตลาดเครือข่ายรายย่อยจากประเทศไต้หวันมีมาระยะหนึ่งแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเกิดปีนี้โดยเฉลี่ยมีผู้เล่นในตลาดเกือบ 30 ราย เนื่องจากเห็นโอกาสในตลาดเครือข่ายรายย่อยที่มีมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท หรือประมาณ 25% ของตลาดเครือข่ายรวม

โดยล่าสุดบริษัทก็ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์เน็ตเวิร์กของบริษัทแพลนเน็ต เทคโนโลยี คอร์ปอเรชั่น จากไต้หวัน เพื่อนำสินค้าเข้ามาเจาะกลุ่มองค์กรขนาดกลางจากเดิมที่มี "คอมแพ็กเน็ตเวิร์ก" ทำตลาดอยู่ในระดับกลางถึงล่างในปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์ใหม่จะสร้างยอดขายภายในสิ้นปีนี้ประมาณ 60 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 120 ล้านบาท ในปีหน้า

ขณะที่นายกฤชวัฒน์ วรวานิช ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท คอมเซเว่น จำกัด ผู้จำหน่ายคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการอุปกรณ์ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ อาทิ เมนบอร์ด ในประเทศไต้หวันกำลังเพิ่มไลน์ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มระบบเครือข่าย (เน็ตเวิร์ก) ระดับกลางถึงล่าง เพื่อทำตลาดผ่านช่องทางจัดจำหน่ายเดิมที่มีอยู่ โดยเพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจเครือข่ายที่มีการเติบโตในปัจจุบัน ดังนั้นจะส่งผลให้จำนวนผู้ประกอบการอุปกรณ์เครือข่ายในตลาดมีเพิ่มมากขึ้น

นายทวีสิทธิ์ กุลองคณานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส ด้านโทรคมนาคม บริษัทไอดีซี ประเทศไทยเปิดเผยว่า แม้ว่าอุปกรณ์เครือข่ายจากประเทศไต้หวันจะเข้ามาทำตลาดในไทยมากขึ้น แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่เฉพาะในตลาดระดับกลางและล่าง ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี และคอนซูเมอร์ เพราะมีข้อจำกัดในการความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ การบริการหลังการขาย และการยอมรับในแบรนด์ ดังนั้นจึงไม่น่าจะกระทบต่อผู้นำตลาดที่โฟกัสตลาดลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ หรือหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งยังให้ความสำคัญกับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และการบริการหลังการขายเป็นหลัก

ข่าว: ประชาชาติธุรกิจ
แชร์เรื่องนี้:

เรื่องที่คุณอาจสนใจ