บิ๊ก‘เอเอ็มดี’สุดทน คอมพ์เอื้อให้อินเทล รมว.โต้ลั่นไม่มีพิเศษ
โพสต์ทูเดย์ (สิงคโปร์) — “เอเอ็มดี” โวย “ไอซีที”ข้ามประเทศ กล่าวหาล็อกสเปกคอมพิวเตอร์ให้อินเทล
นายแซม โรแกน ผู้อำนวยการฝ่ายการ ตลาดประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก บริษัท เอเอ็มดี จำกัด ผู้ผลิตชิปเซ็ทรายใหญ่ กล่าวว่า บริษัท ไม่ค่อยได้รับความเป็นธรรมในการนำเสนอผลิตภัณฑ์เพื่อเข้าร่วมโครงการคอมพิวเตอร์เอื้ออาทรของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์สำหรับผู้ใช้ในระดับเริ่มต้น โน้ตบุ๊กสำหรับข้าราชการและประชาชน รวมไปถึงโครงการคอมพิวเตอร์เครื่องเก่าแลกเครื่องใหม่ หรือคอมพิวเตอร์เพื่อน้องเล็ก เพราะสเปกที่กระทรวงไอซีทีต้องการเป็นสเปกที่ถูกกำหนดขึ้นเฉพาะเจาะจง เพื่อให้ตรงกับสเปกของอินเทล ซึ่งทำให้บริษัทไม่ได้รับการพิจารณาเลยแม้แต่น้อย ทั้งที่กระทรวงไอซีทีน่าจะเปิดกว้างเพื่อให้แต่ละบริษัทนำเสนอ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้งานมากกว่า ทั้งนี้ บริษัทมีความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการของกระทรวงไอซีทีมาโดยตลอด เพราะเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จสูง เห็นได้ชัดจากการที่ประเทศมาเลเซียนำโมเดลโครงการของกระทรวงไอซีทีไปใช้เพื่อกระจายคอมพิวเตอร์ให้กับ ประชาชนในระดับรากหญ้าด้วยเช่นกัน แต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้บริษัทไม่ได้รับสิทธิมากเท่าที่ควร อาจมาจากการที่บริษัทไม่มีสำนักงานสาขาในประเทศไทย ทำให้ไม่มีตัวแทนที่จะติดต่อกับทางภาครัฐโดยตรง บริษัทจึงมีแผนที่จะจัดตั้งสำนักงานสาขาใน ประเทศไทย เพื่อจะสามารถเข้าถึงองค์กรภาครัฐได้มากขึ้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการในเรื่องของรายละเอียดต่างๆ แต่ยังไม่สามารถระบุเวลาที่ชัดเจนได้ว่าจะเป็นเมื่อใด
ด้าน น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที กล่าวว่า การจะใช้ชิ้นส่วนของ ซัพพลายเออร์รายใดก็ตาม จะมีการสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้บริการก่อนว่าต้องการแบบใด แล้วจึงเลือกตามที่คนส่วนใหญ่ต้องการ จึงไม่จำเป็นว่าจะต้องมีตัวเลือกหลายแบรนด์ เพราะจะทำให้ผู้ใช้เกิดความสับสน เนื่องจากผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ไม่ได้มีความรู้เรื่องเทคโนโลยีมากนัก และย้ำว่าไม่ได้เป็นการให้น้ำหนักรายใดรายหนึ่งแต่อย่างใด
สำหรับทิศทางธุรกิจอื่นๆ ของเอเอ็มดีใน ประเทศไทยนั้น นายแซม กล่าวว่า จะเน้นหนักในเรื่องของการทำตลาดเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับผู้ใช้บริการมากขึ้น โดยอาศัยความได้เปรียบในเรื่องของเทคโนโลยี 64 บิต ซึ่งสามารถรองรับการใช้งานได้ เพราะที่ผ่านมายอมรับว่าผู้ใช้ส่วนใหญ่ยังคงติดแบรนด์อินเทลอยู่มาก จึงทำให้ไม่ค่อยได้รับการยอมรับในวงกว้างเท่าที่ควร และจะร่วมมือกับพันธมิตรในแต่ละประเทศที่รับจ้างผลิต (OEM) คอมพิวเตอร์ เช่น บริษัท เอเทค คอมพิวเตอร์ จำกัด ที่ปัจจุบันมีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่สามารถรองรับการทำงานบนชิปเซ็ทดังกล่าวแล้ว เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้ใช้งานในระดับทั่วไป หรือแมสได้เร็วขึ้น จากเดิมที่เน้นกลุ่มเป้าหมายระดับองค์กรเป็นหลัก
นายแซม กล่าวว่า แนวโน้มการใช้งานเทคโน โลยี 64 บิต นั้นมีอัตราการใช้งานเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการที่มีบริษัทผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่หลายราย เช่น บริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด (เอชพี) บริษัท ไอบีเอ็ม บริษัท ฟูจิตสึ ผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ออกมารองรับกับเทคโนโลยีดังกล่าวมากขึ้น รวมทั้งยังสามารถทำงานร่วมกับระบบปฏิบัติการวินโดว์สได้ด้วย ส่งผลให้บริษัทมีรายได้รวม 5 พันล้านเหรียญสหรัฐเมื่อปีที่ผ่านมา
--------------------------------------------------------------------------------
ข่าวจาก นสพ. ผู้จัดการออนไลน์
แซม โรแกน ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เอเอ็มดี เอเอ็มดีวางแผนตั้งสำนักงานสาขาในประเทศไทย หลังพบจุดอ่อนกว่าคู่แข่งอย่างอินเทลที่สามารถสร้างสายสัมพันธ์กับภาครัฐ จนทำให้เอเอ็มดีวืดเข้าร่วมโครงการคอมพิวเตอร์เอื้ออาทรของไอซีที พร้อมเตรียมแผนอัดกิจกรรมสร้างแบรนด์วงกว้าง
นายแซม โรแกน ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก บริษัท เอเอ็มดี จำกัด ผู้ผลิตชิปเซ็ทรายใหญ่ของโลกกล่าวถึงทิศทางธุรกิจของเอเอ็มดีในประเทศไทยว่า จะเน้นหนักในเรื่องของการทำตลาดเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับผู้ใช้บริการมากขึ้น โดยอาศัยความได้เปรียบในเรื่องของเทคโนโลยี 64 บิตที่มีประสิทธิภาพในการทำงานที่สูงซึ่งมีประสิทธิภาพที่เหนือกว่าของคู่แข่ง
ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า ผู้ใช้ส่วนใหญ่ยังคงติดแบรนด์อินเทลอยู่มาก อินเทลมีความแข็งแกร่งในเรื่องกิจกรรมการตลาด ซึ่งยอมรับว่า เอเอ็มดีค่อนข้างจะด้อยในเรื่องนี้จึงทำให้ไม่ค่อยได้รับการยอมรับในวงกว้างเท่าที่ควร แต่หลังจากนี้ไปทางเอเอ็มดีจะมีกิจกรรมเพื่อสื่อสารถึงผู้บริโภคให้มีการรับรู้ในตัวแบรนด์ของเอเอ็มดีมากขึ้น
เอเอ็มดีจะร่วมมือกับพันธมิตรในแต่ละประเทศผลิตที่รับจ้างผลิต (OEM) คอมพิวเตอร์ เช่น บริษัท เอเทค คอมพิวเตอร์ ที่ปัจจุบันมีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่สามารถรองรับการทำงานบนชิปเซ็ทดังกล่าวแล้ว รวมไปถึงดิสทริบิวเตอร์อย่างบริษัท ดี คอมพิวเตอร์ และบริษัท คอมเซเว่น เพื่อผลักดันผลิตภัณฑ์ของเอเอ็มดีให้เข้าถึงกลุ่มผู้ใช้งานในระดับแมสได้เร็วขึ้น จากเดิมที่เน้นกลุ่มเป้าหมายระดับองค์กรเป็นหลัก
ในส่วนของความร่วมมือระดับองค์กรขนาดใหญ่นั้น แนวโน้มการใช้งานเทคโนโลยี 64 บิตมีอัตราการใช้งานเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการที่มีบริษัทผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่หลายราย เช่น ฮิวเลตต์-แพคการ์ด (เอชพี) ไอบีเอ็ม ฟูจิตสึได้ผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ระดับเซิร์ฟเวอร์ออกมารองรับกับเทคโนโลยีดังกล่าวมากขึ้น 5-6 รุ่นในตลาดแล้ว และยังสามารถทำงานร่วมกับระบบปฏิบัติการวินโดวส์ได้ดี ส่งผลให้บริษัทมีรายได้รวม 5 พันล้านเหรียญสหรัฐเมื่อปีที่ผ่านมา
ปีนี้เป็นปีที่ดีของเอเอ็มดีในแง่ของผลประกอบการ เพราะในสองไตรมาสที่ผ่านมาสามารถทำกำไรได้มาก โดยที่ก่อนหน้านี้เน้นไม่ได้กำไรเลย"
จากที่เอเอ็มดีทำตลาดซีพียู 64 บิตมาเป็นเวลา 1 ปีสามารถสร้างยอดขายได้เท่ากับซีพียู "ไอทาเนียม" ของอินเทลที่ทำตลาดมาถึง 3 ปี แสดงให้เห็นว่าตลาดยอมรับซีพียูของเอเอ็มดี หากคู่แข่งจะเข้ามาในตลาดนี้เอเอ็มดีก็พร้อมสู้เต็มที่เพราะถือว่าล้ำหน้ากว่าคู่แข่ง 1 ปี ซึ่งเอเอ็มดีจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งต่อไปจะมีทั้งเชิร์ฟเวอร์ โน้ตบุ้คคอมพิวเตอร์และเซิร์ฟเวอร์ เดสก์ท็อปที่จะมีออกมาตาม
เขากล่าวถึงโครงการคอมพิวเตอร์ไอซีที ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะสเปกที่ไอซีทีกำหนดมักตรงกับสเปกของอินเทล ซึ่งทำให้เอเอ็มดีไม่ได้รับการพิจารณา ทั้งที่ไอซีทีน่าจะเปิดกว้างเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้งาน และเอเอ็มดีก็มีความสนใจโครงการของกระทรวงไอซีทีมาตลอด เพราะเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จสูง เห็นได้ชัดเจนจากการที่ประเทศมาเลเซียนำโมเดลนี้ไปใช้เพื่อกระจายคอมพิวเตอร์ให้กับประชาชนในระดับรากหญ้า แต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้เอเอ็มดี ไม่ได้รับสิทธิ์มากเท่าที่ควร อาจมาจากการทีไม่มีสำนักงานสาขาในประเทศไทยทำให้ไม่มีตัวแทนที่จะติดต่อกับทางภาครัฐโดยตรง
"ตลาดเมืองไทยเป็นตลาดที่ใหญ่ จึงทำให้บริษัทมีแผนที่จะจัดตั้งสำนักงานสาขาในประเทศไทยเพื่อจะสามารถเข้าถึงองค์กรภาครัฐได้มากขึ้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการในเรื่องของรายละเอียดต่างๆ แต่ยังไม่สามารถระบุเวลาที่ชัดเจนได้ว่าจะเป็นเมื่อใด"
ด้านน.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที (ICT) กล่าวว่า การจะใช้ชิ้นส่วนของซัปพลายเออร์รายใดก็ตาม จะมีการสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้บริการก่อนว่าต้องการแบบใดแล้วจึงเลือกตามที่ประชาชนส่วใหญ่ต้องการจึงไม่จำเป็นว่าจะต้องมีตัวเลือกหลายแบรนด์ เพราะจะทำให้ผู้ใช้เกิดความสับสนได้เนื่องจากผู้ใชบริการส่วนใหญ่ไม่ได้มีความรู้เรื่องเทคโนโลยีมากนัก และไม่ได้เป็นการให้น้ำหนักรายใดรายหนึ่งแต่อย่างใด
[วันที่แก้ไขล่าสุด Monday May,10 2004 (02:04)]