[รีวิวเกม] Remnant II เกมภาคต่อในแนว Souls-like ที่ใช้ปืนได้

Souls-like ที่ใช้ปืนได้ คือหนึ่งในคำนิยามที่หลายคนมักกล่าวขึ้นมาเมื่อพูดถึง Remnant: From the Ashes ที่วางจำหน่ายไปเมื่อราวสี่ปีก่อน พร้อมกับเสียงตอบรับที่ดีทั้งจากนักวิจารณ์และผู้เล่น แต่กับภาคต่อที่มีชื่อสั้น ๆ แค่ว่า Remnant II นี้ ทีมงาน Gunfire Games เจ้าเก่าจะสามารถรักษาหรือก้าวผ่านมาตรฐานของตนเองได้หรือไม่ บทความรีวิวชิ้นนี้จะเป็นตัวช่วยในการจัดสินใจให้กับคุณครับ

เนื้อเรื่อง

เรื่องราวของ Remnant II เกิดขึ้นบนโลกหลังยุคล่มสลาย มนุษยชาติจำนวนมากล้มตายไปเนื่องจาก The Root หรือรากมรณะที่บ่อนทำลายทั้งสิ่งมีชีวิตและสภาพแวดล้อมที่พวกมันแพร่พันธุ์ไปถึง ผู้เล่นในฐานะนักเดินทาง ผู้ที่ได้ร่อนเร่จนมาถึง Ward 13 หนึ่งในที่พักพิงแหล่งสุดท้ายของมนุษยชาติ ที่นั่นเราจะได้พบกับ Wotld Stone ผลึกสีแดงขนาดยักษ์ที่มีอำนาจในการพาเราไปยังโลกต่าง ๆ และเป็นตัวการที่จะพาเราไปสู่หนทางในการกำจัด The Root ให้สิ้นซาก

ผู้เล่นที่เคยเล่น Remnant: From the Ashes มาก่อนจะได้พบกับสภาพแวดล้อมและบางตัวละครที่คุ้นเคย เพราะยังไง Remnant 2 ก็ถือว่าเป็นภาคต่อของ From the Ashes เพียงแต่การดำเนินเรื่องของภาคนี้จะคลี่คลายไปตามประเด็นใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นพร้อมกับตัวละครหลักที่เราสร้างขึ้นในตอนเริ่มเกมของภาคนี้ เมื่อรวมกับเนื้อเรื่องที่ไม่ซับซ้อน ผู้เล่นที่ไม่เคยเล่นภาคแรกมาก่อนจึงไม่น่าจะมีปัญหาอะไรกับการเริ่มต้นในภาคนี้

ด้วยพลังของ World Stone ผู้เล่นจะได้เดินทางไปยังหลาย ๆ โลกที่ระบบนิเวศแตกต่างกัน ซึ่งแต่ละโลกก็จะมีทั้งตัวละครและปัญหาที่เราต้องมีส่วนร่วมในการหาทางแก้อยู่เสมอ โดยที่แต่ละโลกจะมี Lore หรือเรื่องราวเบื้องหลังรองรับเหตุการณ์ในปัจจุบันอยู่ตลอด แต่แย่หน่อยก็คือตัวเกมไม่พยายามที่จะนำเสนอจุดนี้สักเท่าไหร่ ส่วนใหญ่เราจะรู้ได้จากการคุยกับ NPC ผ่านบทสนทนาที่ยาวเหมือนนั่งฟังนิทาน หรืออ่านเอาตามเอกสารรูปแบบต่าง ๆ ตามฉากเท่านั้น แต่ถึงอย่างนั้น ตัวเกมก็มีข้อดีในแง่ของการดำเนินเรื่องที่เกื้อหนุนกับเกมเพลย์อยู่บ้าง นั่นคือเราสามารถเลือกได้ว่าจะมีปฏิสัมพันธ์กับ NPC ที่พบเจอระหว่างทางยังไง จะเลือกคำถามคำตอบเพื่อผูกมิตรเก็บข้อมูลถ้าคุณเป็นผู้เล่นสายละเมียด หรือตัดปัญหาด้วยการสู้กันตรงนั้นเลยก็ได้ถ้าคุณเป็นผู้เล่นสายใจร้อน

แต่ด้วยความที่ตัวเกมด้อยการการนำเสนอเนื้อเรื่อง โหมดแคมเปญของเกมจึงขาดความน่าดึงดูดให้เล่นเพื่อหาบทสรุปของเรื่องราว แต่เล่นเพื่อให้ได้เดินยิงเก็บค่าประสบการณ์และวัตถุดิบมาพัฒนาตัวละครของเราให้เก่งขึ้นเท่านั้น นั่นจึงยิ่งทำให้เกมเพลย์ของ Remnant II กลายเป็นสิ่งที่ดูเหมือนได้รับความใส่ใจมากที่สุดไปโดยปริยาย

เกมเพลย์

เรายังคงพูดได้ว่า Remnant II เป็นเกม Souls-like ที่ใช้ปืนได้เหมือนกับภาคแรก แต่อินเทอร์เฟซและคำอธิบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบการเล่นนั้นเป็นมิตรกับผู้เล่นกว่ามาก ทำให้เราสามารถตัดสินใจเลือก Architype หรือคลาสที่จะเล่นตามความถนัดได้ง่ายตั้งแต่ต้นเกม และที่สำคัญคือเราสามารถเก็บเลเวลและใช้ความสามารถของสองคลาสได้พร้อมกันในตัวละครเดียว เช่นเป็นสายทำ Damage ที่ Heal ได้ หรือสายยิงไกลที่ไม่ต้องดิ้นรนมากนักเมื่อต้องสู้ระยะประชิด ทำให้เกมมีความยืดหยุ่นในการพัฒนาตัวละครแม้เล่นคนเดียว และถึงจะเล่นกับเพื่อนก็ไม่จำเป็นต้องให้ใครคนใดคนหนึ่งเป็นสาย Heal เพียว ๆ ก็ได้

นอกเหนือจากสกิลที่แตกต่างกันไปในแต่ละ Architype แล้ว ผู้เล่นจะสลับอาวุธไปมาได้สามชนิด คือปืนยาว ปืนสั้น และอาวุธระยะประชิด และด้วยความที่กระสุนค่อนข้างจำกัด จะเก็บเพิ่มก็ได้จากการซื้อกระสุนสำรองหรือหาเก็บเอาจากการฆ่าศัตรูเท่านั้น มันจึงเป็นการบังคับทางอ้อมให้เราต้องใช้ความคิดกับการต่อสู้มากขึ้น ว่าศัตรูแบบนี้ สภาพแวดล้อมแบบนี้ ควรสู้ด้วยปืนกระบอกไหน หรือวิธีไหน ยิ่งไปกว่านั้น วัตถุดิบที่เก็บได้ตามฉากหรือจากการฆ่าศัตรูก็จำเป็นต่อการนำไปใช้อัปเกรดอาวุธทุกชิ้น ประกอบกับการที่ตัวเกมไม่ใช่ Looter ที่เราจะเก็บอาวุธใหม่ได้ตลอดเวลา มันจึงยิ่งเกื้อหนุนให้เราอยากอัปเกรดและติดม็อดให้กับอาวุธที่ใช้แล้วถนัดมือหรือตรงกับสายที่เลือกเล่นตั้งแต่แรก ๆ ได้ไม่ยาก

ตัวเกมจะมีสองโหมดให้เล่นคือ Campaign Mode หรือโหมดเนื้อเรื่องที่จะพาเราไปยังโลกต่าง ๆ เพื่อทำเควสต์หลักของโลกนั้น ๆ ที่มีจุดเชื่อมโยงกันคือกำจัด The Root ที่เป็นเหมือนเป้าหมายสุดท้ายของเกม ส่วนอีกโหมดก็คือ Adventure Mode ที่เราสามารถเลือกได้ทันทีว่าจะไปลุยเพื่อหาของหรือฟาร์มวัตถุดิบในโลกไหน และที่ดีก็คือ เราสามารถใช้ตัวละครตัวเดียวสลับไปมาระหว่างสองโหมดนี้เมื่อไหร่ก็ได้ ดังนั้นการเล่นโหมด Campaign เพื่อดำเนินเรื่องในโลกนึงไปเรื่อย ๆ แล้วค่อยสลับมาฟาร์มอีกโลกนึง หรือจะเล่นโลกเดิมแต่ลองเลือกเส้นเรื่องที่ต่างออกไปก็ได้ การมีทางเลือกให้ผู้เล่นแบบนี้จึงช่วยลดความน่าเบื่อให้กับการทำอะไรซ้ำ ๆ ได้พอสมควร

จริงอยู่ที่เกมมีความยาก แต่มันก็เป็นความยากที่บังคับให้ผู้เล่นต้องเรียนรู้รูปแบบของศัตรู ไม่ใช่ยากเพราะการบังคับตอบสนองไม่ดี หรือมุมกล้องแย่ เพราะการเจอกับศัตรูส่วนใหญ่จจะเกิดขึ้นไปบริเวณที่ค่อนข้างกว้าง ทำให้ผู้เล่นมีพื้นที่ในการลองผิดลองถูก มันจึงเป็นการเรียนรู้ที่มีความสนุก หรือถ้าเมื่อไหร่คิดว่ามันยากเกินไป ตัวเกมก็มีระดับความยากให้เราเลือกปรับลดหรือเพิ่มที่ World Stone ได้ตลอดเวลา

การสู้กับบอสก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่เกมทำได้ค่อนข้างดี คือนอกจากที่บอสแต่ละตัวจะมีรูปแบบการโจมตีและจุดอ่อนที่แตกต่างกันแล้ว บอสบางตัวยังถูกออกแบบมาให้อยู่กับฉากที่มีการเปลี่ยนแปลงระหว่างสู้ หรือบอสบางตัวก็ต้องสู้ไปแก้ปริศนาไปด้วยก็มี สิ่งเหล่านี้ทำให้การสู้กับบอสของเกมมีความน่าตื่นเต้น และแตกต่างจากการสู้กับศัตรูทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด ไหนจะดนตรีที่เร้าอารมณ์ระหว่างการสู้ขึ้นไปได้อย่างดีอีก

ระบบเสียง

ไม่ว่าจะเป็นปืนชนิดที่เราคุ้นเคยกันดี หรือปืนต่างโลกที่ได้มาจากการเอาชิ้นสิ่วนบอสที่ปราบได้มาคราฟต์ อาวุธทุกชิ้นในเกมล้วนมีเสียงเอกเฟกต์ที่หนักแน่น ช่วยเสริมอรรถรสในการเล่นได้เป็นอย่างมาก ในขณะที่เสียงของศัตรูก็มีผลต่อการเล่นไม่แพ้กัน เพราะไม่ว่าจะเป็นศัตรูรูปแบบไหน บนโลกอะไร มันก็มักจะมีเสียงเฉพาะตัวที่ดังออกมาก่อนที่จะโจมตีเราอยู่เสมอ มันจึงเป็นประโยชน์ต่อการเล่นได้โดยที่ไม่ทำให้รู้สึกว่าเกมกำลังอ่อนข้อให้เราสักเท่าไหร่

ดนตรีประกอบเองก็เช่นกัน การเดินทางไปยังโลกแต่ละใบจะมีเสียงดนตรีประกอบที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะโลกที่เหมือนหลุดมาจากภาพยนตร์ไซไฟ หรือโลกที่ปกคลุมด้วยป่าไม้ ทุกสภาพแวดล้อมมันถูกประกอบด้วยดนตรีที่เข้ากับภาพลักษณ์ของมันอยู่เสมอ แม้ท่วงทำนองของมันจะไม่โดดเด่นมากนัก แต่มันก็ช่วยให้การเดินทางมีความรื่นรมย์อยู่ไม่น้อย

ระบบกราฟิก

จริงอยู่ที่เกมดูสวยงามขึ้นในเชิงของกราฟิกเมื่อเทียบกับภาคแรก เพราะไหน ๆ ทีมงาน Gunfire Games ก็ย้ายจาก Unreal Engine 4 มาใช้ Unreal Engine 5 ในภาคนี้ แต่สิ่งที่ตัวเกมทำได้ดีกว่าแค่สวยขึ้นตามประสิทธิภาพของเครื่องมือและฮาร์ดแวร์ก็คือ การออกแบบฉากและสภาพแวดล้อม แต่ละโลกของเกมในภาคนี้มีการใช้สีที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง มากกว่าที่จะอยู่กับโทนหม่น ๆ เป็นส่วนใหญ่เหมือนภาคแรก และถึงแม้สีและสภาพแวดล้อมจะแตกต่างกัน แต่การออกแบบลักษณะของฉากในโลกต่าง ๆ ก็ยังให้ความรู้สึกเหมือนว่ามันอยู่ในเกมเดียวกันอยู่ ถ้าสมาชิกวง Getsunova มาเล่นก็คงจะบอกว่ามัน “แตกต่างเหมือนกัน” ไม่ว่าจะด้วยโครงสร้างของฉาก หรือเส้นทางในการเล่น ที่เราสามารถใช้ประสบการณ์ที่เรียนรู้จากโลกนึงมาใช้กับอีกโลกนึงได้

อย่างเช่นหนึ่งใน DNA ของการออกแบบฉากในเกมที่รับรู้ได้ง่าย ๆ ก็คือ แม้เราจะเดินไปยังเส้นทางที่ไม่ได้ทำให้เนื้อเรื่องดำเนินต่อ แต่มันก็มักจะมีหีบสมบัติ บอสลับ หรือวัตถุดิบมาเป็นรางวัลให้กับผู้เล่นอยู่เสมอ ทำให้ลบความรู้สึกเสียเวลาไปได้พอสมควร หรือถ้าคุณเป็นหนึ่งในคนที่มีอาการ OCD อยู่กับตัว การเดินเพื่อเคีลยร์หมอกสีแดงบนมินิแมปไปทั่วฉากก็อาจเป็นความบันเทิงสำหรับคุณก็ได้

บทสรุปส่งท้าย

โดยรวมแล้ว Remnant II อาจไม่ใช่ภาคต่อที่มอบชีวิตใหม่ให้กับซีรีส์ แต่ก็ใช่ว่ามันจะไม่มีพัฒนาการที่ดีให้เห็น ลูปของเกมเพลย์ในโลกต่าง ๆ ที่มี Ward 13 เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาตัวละครทำให้การทำอะไรซ้ำ ๆ ในเกมสนุกเป็นส่วนใหญ่ และไม่น่าเบื่อจนเกินไปในบางครั้ง ถึงอย่างนั้น ส่วนของเนื้อเรื่องและการดำเนินเรื่องของเกมกลับดูไม่ได้รับความใส่ใจเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับด้านอื่น ๆ แต่มันก็คงจะส่งผลกับผู้เล่นแต่ละคนแตกต่างกันไปว่าใครจะคาดหวังอะไรจากตัวเกมที่เล่นจบได้ในเวลาประมาณ 20 ชั่วโมง หรือมากกว่านี้อีกราวสามหรือสี่เท่าถ้าจะเก็บทุกอย่างที่เกมมีมาให้ และด้วยเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมานี้ Remnant II จึงได้คะแนนจากพวกเรา Online Station ไปที่ 7.5 คะแนน

คะแนน 7.5/10

อ้างอิงข้อมูลจาก
Online Station


ติดตามข่าวเกมพีซี/คอนโซลอื่น ๆ ได้ที่ Online Station

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้