เปิดประวัติ Nintendo จากบริษัทผลิตไพ่ สู่เจ้าแห่งวงการเกม | คอเกมติดเล่า EP.2

หนึ่งในบริษัทเกมที่มีชีวิตยืนยาวมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่มของวิดีโอเกมจนถึงยุคปัจจุบันก็คือ นินเท็นโด (Nintendo) นั่นเอง ความอยู่ยงคงกระพันนี้ทำให้เกมเมอร์ชาวไทยอย่างเรา ๆ ตั้งสมญานามให้กับนินเท็นโดว่า “ปู่นิน” นอกจากบริษัทเกมเจ้านี้จะคร่ำหวอดอยู่ในวงการเกมมาอย่างยาวนานแล้ว ชื่อเสียงและตำนานของนินเท็นโดก็มีแต่จะเพิ่มพูนสูงขึ้น อ้างอิงจากการสำรวจข้อมูลของ Statista

นินเท็นโดเป็นบริษัทเกมที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดและมีฐานแฟนใหญ่ที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกา เรียกได้ว่ามีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จมากกว่าบริษัทเกมสัญชาติอเมริกาเองเสียอีก แต่หารู้ไหมว่า ก่อนที่นินเท็นโดจะกลายเป็นยักษ์ใหญ่แห่งวงการเกมเฉกเช่นในปัจจุบัน ตัวตนแรกเริ่มของนินเท็นโดไม่ใช่ผู้ผลิตเครื่องเกม แต่เป็นผู้ผลิตไพ่ฮานาฟูดะ วันนี้เราจึงขออาสาพาทุกคนไปย้อนดูประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการของบริษัทเกมที่มีชื่อว่า “นินเท็นโด” กับสกู๊ปคอมเกมติดเล่า EP.2

จุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์นินเท็นโด (1889-1956)

ถ้าให้พูดถึงประวัติของ Nintendo คงต้องย้อนไปในปี 1889 ผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่นชื่อ ฟูซาจิโร ยามาอุจิ ตัดสินใจเปิดบริษัทผลิตไพ่ฮานาฟูดะภายใต้ชื่อ Nintendo Koppai ซึ่งไพ่ที่ทำการผลิตออกมานั้นก็จะมีดีไซน์และภาพประกอบที่หลากหลาย หลังจากวันเวลาผ่านไป บริษัทไพ่แห่งนี้ก็มีชื่อเสียงมากขึ้นและทะยอยทำเกมการ์ดชนิดอื่นๆ นอกเหนือจากไพ่ฮานาฟูดะออกมาขาย

ภาพถ่ายของบริษัท Nintendo Koppai ในช่วงฤดูหนาวปี 1889 ณ กรุงเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น

ในปี 1929 ฟูซาจิโรในอายุ 70 ก็ตัดสินใจเกษียณและส่งไม้ต่อตำแหน่งประธานบริษัทให้กับลูกเขยของตนชื่อ เซคิเรียว คาเนดะ ตลอดช่วงเวลาที่เซคิเรียวดำรงตำแหน่ง เขาได้ช่วยพัฒนาให้บริษัทมีความเจริญก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด วางโครงสร้างภายในขององค์กรให้มีระบบระเบียบมากยิ่งขึ้น สร้างอาคารสำนักงานใหญ่ใหม่ และก่อตั้งบริษัท Marufuku Company Limited ขึ้นเป็นธุรกิจแยกที่โฟกัสเกี่ยวกับการผลิตไพ่ของทางฝั่งตะวันตกโดยเฉพาะ

หลังจากที่เซคิเรียวดำรงตำแหน่งประธานไปได้เกือบ 20 ปี เขาต้องเผชิญกับปัญหาโรคหลอดเลือดสมองจนสภาพร่างกายทรุดลงอย่างหนัก ทำให้เขาต้องวางมือจากตำแหน่งและเสียชีวิตลงในปี 1949 แต่ก่อนที่เขาจะจากไป เขาได้ติดต่อหลานชายของตนชื่อ ฮิโรชิ ยามาอุจิ ให้มาเป็นประธานคนต่อไปของบริษัท ฮิโรชิ ซึ่งตอนนั้นอายุเพียง 21 ปี ต้องลาออกจากมหาลัยกลางคลันเพื่อมารับช่วงต่อ และเขาคนนี้นี่แหละ จะกลายเป็นผู้ที่เปลี่ยนนินเท็นโดไปตลอดกาล

ประธานบริษัททั้ง 3 คน ผู้วางรากฐานให้กับนินเท็นโด

ฟูซาจิโร ยามาอุจิ
(ประธานคนที่ 1)
เซคิเรียว คาเนดะ
(ประธานคนที่ 2)
ฮิโรชิ ยามาอุจิ
(ประธานคนที่ 3)

เส้นทางสู่ธุรกิจที่หลากหลายของนินเท็นโด (1956-1974)

ในปี 1956 ฮิโรชิ ยามาอุจิมีแผนที่จะกระตุ้นยอดขายของไพ่และการ์ดเกมต่างๆ ของนินเท็นโด สามปีต่อมมา เขาจึงได้ทำข้อตกลงกับดิสนีย์ (Disney) ในการนำตัวละครทั้งหลายมาใส่บนการ์ดและไพ่ที่อยู่ในเครือบริษัทนินเท็นโด ดีลนี้ถือเป็นดีลที่วินวินกันทั้งสองฝ่าย ทางฝั่งนินเท็นโด้สามารถใช้ตัวละครดิสนีย์บนไพ่เพื่อดึงดูดลูกค้าจำนวนมากเข้ามาได้ ส่วนทางฝั่งของดิสนีย์เองก็เหมือนได้เปิดตลาดแนะนำตัวละครและเรื่องราวต่างๆ ของโลกดิสนีย์ให้ชาวญี่ปุ่นได้รู้จัก การประสบความสำเร็จของดีลนี้ ทำให้นินเท็นโดสามารถพาตัวเองไปสู่ยุคสมัยใหม่ของตนได้อย่างเต็มตัว

Disney’s Mickey Mouse Card ผลิตโดย Nintendo
ภายใต้ชื่อ Nippon Card

นินเท็นโดได้เม็ดเงินจำนวนมากจากดีลที่ตกลงกับดิสนีย์ และเนื่องจากฮิโรชิรู้ดีว่าธุรกิจไพ่และการ์ดเกมมันค่อนข้างจำกัดและยากที่จะเติบโตไปได้ไกลกว่านี้ เขาจึงมีแผนที่จะนำเงินที่ได้มา ไปลงทุนกับการทำธุรกิจด้านใหม่ๆ ของนินเท็นโด ซึ่งก่อนที่จะดำเนินแผนการตามนั้น ในปี 1963 ฮิโรชิก็ได้เปลี่ยนชื่อบริษัทจาก “Nintendo Playing Card Co., Ltd” เป็น “Nintendo” แทนเพื่อเป็นการส่งสัญญาณว่านินเท็นโดจะไม่ได้ทำแค่ธุรกิจเกมการ์ดเพียงอย่างเดียวแล้ว

ระหว่างช่วงปี 1963 ถึง 1968 นินเท็นโดได้ลองผิดลองถูกลงทุนกับธุรกิจหลายอย่างมาก เช่น โรงแรม เครื่องดูดฝุ่น บริษัทแท็กซี่ และบริษัทผลิตข้าวกึ่งสำเร็จรูป ต่อมาในช่วงปลายยุค 60s นินเท็นโดก็ได้เข้าไปประเดิมสนามธุรกิจของเล่น ซึ่ง ณ ตอนนั้นบริษัทอย่าง Bandai และ Tomy เริ่มประสบความสำเร็จและยืนอยู่แนวหน้าในวงการของเล่นแล้ว ในช่วงที่เริ่มกระบวนการการผลิตของเล่น ฮิโรชิได้พบกับวิศวกรซ่อมบำรุงในโรงงานผลิตไพ่ฮานาฟูดะของนินเท็นโดคนหนึ่งชื่อกุนเป โยโคอิ และเขาสังเกตเห็นว่ากุนเปชอบเล่น “แขนยืด” (extending arm) ที่กุนเปออกแบบเอง ฮิโรชิเห็นสิ่งประดิษฐ์นี้เข้าก็ถูกอกถูกใจเป็นอย่างมากและเกิดไอเดียบรรเจิดที่จะนำสิ่งนี้ไปทำเป็นของเล่น เขาจ้างวานให้กุนเปขัดเกลาเจ้าของเล่นแขนยืดนี้ให้ออกมาดูดีที่สุดเพื่อเตรียมวางขายในช่วงคริสต์มาส ท้ายที่สุดก็เกิดเป็นของเล่นที่มีชื่อว่า “Ultra Hand” ขึ้นมาในปี 1966

ภาพของเล่น Ultra Hand ของนินเท็นโด

แขนยืด Ultra Hand กลายเป็นหนึ่งในของเล่นที่โด่งดังมากที่สุดในช่วงเริ่มต้นการทำธุรกิจของเล่นของนินเท็นโด ยอดขายทะลุมากกว่าหนึ่งล้านชิ้น การประสบความสำเร็จของ Ultra Hand ทำให้ฮิโรชิเล็งเห็นคุณค่าในตัวของกุนเป เขาจึงตัดสินใจดึงตัวกุนเปออกมาจากตำแหน่งวิศวรกร ให้มาทำหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบด้านการพัฒนาและออกแบบของเล่นแทน ความรู้ด้านวิศวกรรมไฟฟ้าของกุนเปได้ช่วยยกระดับทีมพัฒนาของเล่นให้ดีขึ้นไปหลายขั้น กุนเปมีความเชี่ยวชาญในการสร้างของเล่นที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นอย่างมาก ผลงานทั้งหมดที่กุนเปสร้างตั้งแต่เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้คือ Ten Billion Barrel, Ultra Machine, Love Tester และปืนไลท์กันซีรี่ส์ Kousenjuu อย่างไรก็ตาม ถึงผลงานหลายชิ้นจะมีไอเดียที่สร้างสรรค์ แต่ก็ไม่ใช่ทุกอันจะประสบความสำเร็จ นินเท็นโดยังไม่สามารถเติบโตไปสู่จุดที่คาดหวังในตลาดของเล่นได้ สุดท้ายก็เลยเดินตามหลังบริษัทคุณภาพเยี่ยมอย่าง Bandai และ Tomy

ในปี 1973 นินเท็นโดตัดสินใจหันไปโฟกัสกับการทำธุรกิจด้านอื่นแทน ซึ่งธุรกิจที่ว่าก็คือการสร้าง “Laser Clay Shooting System” เป็นศูนย์รวมความบันเทิงสำหรับครอบครัว (Family entertainment center)

Laser Clay Shooting System (1973)

Laser Clay Shooting System จะใช้ระบบเดียวกับปืนไลท์กันซีรี่ส์ Kousenjuu และนินเท็นโดได้ตระเวนซื้อโรงโบว์ลิ่งร้างมาปรับปรุงเป็นสถานที่สำหรับตั้ง Laser Clay Shooting System ถึงแม้ศูนย์รวมความบันเทิงนี้จะพอประสบความสำเร็จอยู่บ้างในช่วงแรกของการเปิดทำการ แต่เมื่อเวลาผ่านไป นินเท็นโดก็จำใจต้องปิดตัว Laser Clay Shooting System ลง เพราะมันใช้ต้นทุนที่สูงมากและไม่สามารถทำเงินได้ตามที่ควรจนขาดทุนไปมหาศาล นินเท็นโดก็เลยต้องเล็งหาตลาดใหม่ๆ ที่จะเข้าไปลงทุน และเนื่องจากในช่วงเวลานั้นกระแสของวิดีโอเกมเริ่มจะมาแรง ฮิโรชิจึงนำทัพนินเท็นโดมุ่งหน้าสู่ตลาดวิดีโอเกม และนี่ก็คือคลื่นน้ำลูกเล็กๆ ที่จะเปลี่ยนนินเท็นโดไปตลอดกาล

ก้าวแรกสู่อุตสาหกรรมวิดีโอเกมของนินเท็นโด (1974-1978)

ในปี 1975 นินเท็นโดเดินหมากตัวแรกด้วยการทำข้อตกลงรับสิทธิในการจัดจำหน่ายเครื่องเกม Magnavox Odyssey หลังจากนั้น นินเท็นโดก็เริ่มพัฒนาเครื่องเกมของตนเอง จนได้เครื่องเกมแรกของบริษัทออกมาคือ “Color TV-Game” ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการจับมือกับมิตซูบิชิ อีเล็คทริค (Mitsubishi Electric)

Color TV-Game
คอนโซลเครื่องแรกของนินเท็นโด

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง ชิเงรุ มิยาโมโตะ ชายผู้ที่จะอยู่เบื้องหลังความสำเร็จต่างๆ ของนินเท็นโดในอนาคต ได้เข้ามาทำงานกับนินเท็นโดเป็นครั้งแรก หน้าที่หลักของเขาในช่วงแรกคือ การออกแบบเคสของตัวเครื่อง Color TV Game (คอนโซลเครื่องแรกของนินเท็นโด) รุ่นต่างๆ

หลังจากเริ่มมีประสบการณ์ในตลาดวิดีโอเกมอยู่บ้าง นินเท็นโดตัดสินใจเข้าไปบุกตลาดตู้เกม ด้วยการเปิดตัวเกมเดิมพันม้าแข่ง EVR Race สร้างโดยนักออกแบบเกมคนแรกของนินเท็นโดชื่อเก็นโยะ ทาเคดะ จากนั้นก็ทะยอยปล่อยตู้เกมอื่นๆ ออกมาอยู่เป็นระยะ แต่ก็ยังไม่สามารถทำกำไรหรือสร้างชื่อเสียงอะไรให้กับนินเท็นโดได้มากสักเท่าไหร่ จนกระทั่งในปี 1981 ในที่สุดเกมตู้ที่มีชื่อว่า Donkey Kong สร้างโดยชิเงรุ มิยาโมโตะ ก็ได้ทำเงินจำนวนมหาศาลให้กับนินเท็นโดได้ การประสบความสำเร็จของ Donkey Kong และการพอร์ตเกมไปลงคอนโซลเจ้าอื่นๆ (เช่น Atari2600, Intellivision และ ColecoVision) ได้สร้างกำไรมหาศาลให้กับนินเท็นโดอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้นินเท็นโดเริ่มมีชื่อเสียงในอุตสาหกรรมวิดีโอเกม

ชิเงรุ มิยาโมโตะ
(ผู้ให้กำเนิกตู้เกม Donkey Kong)

ยุครุ่งโรจน์ของนินเท็นโดในตลาดวิดีโอเกม (1979-ปัจจุบัน)

ระหว่างที่กำลังพัฒนาเกมตู้ทั้งหลายออกมา นินเท็นโดเองก็ได้เริ่มมีความคิดที่จะสร้างเครื่องเกมพกพาของตัวเองขึ้นมา ซึ่งความคิดดังกล่าวเกิดจากการที่กุนเป โยโคอิสังเกตเห็นผู้โดยสารบนรถไฟฟ้าคนหนึ่งกำลังนั่งกดเครื่องคิดเลขเล่นฆ่าเวลาอยู่ กุนเปจึงเกิดไอเดียในการสร้างเครื่องเกมพกพาคุณภาพที่สามารถเล่นนอกบ้านได้ จนในปี 1980 Game & Watch เครื่องเกมพกพาของนินเท็นโดก็ได้ปล่อยออกมา และตลอดระยะ 10 ปี เครื่องเกมรุ่นนี้สามารถขายได้มากถึง 43 ล้านเครื่อง

เครื่องเกมพกพา Game & Watch (1980)

จากนั้น ในปี 1983 นินเท็นโดก็ได้วางขายเครื่องเกม Famicom ในประเทศญี่ปุ่น และในปีเดียวกันนั้นเอง อุตสาหกรรมเกมก็เกิดล่มสลายขึ้นเนื่องจากเครื่องเกมของบริษัทแต่ละเจ้าล้นตลาดถึงขีดสุด (เจาะลึกเหตุการณ์นี้ได้ที่ เปิดประวัติวิดีโอเกม คอเกมติดเล่า EP.1) แถมเกมที่ปล่อยมาส่วนใหญ่ก็เน้นปริมาณเข้าว่า ไม่มีการสนใจใยดีอะไรเกี่ยวกับคุณภาพของตัวเกมเลย (อ่านข้อมูลของเหตุการณ์นี้เพิ่มเติมที่ ประวัติศาสตร์วิดีโอเกม) การล่มสลายของตลาดเกมครั้งนี้ ได้กำจัดคู่แข่งของนินเท็นโดไปเกือบหมด หลังจากวิกฤตการณ์นี้ผ่านพ้นไป นินเท็นโดได้ให้คำมั่นสัญญากับตัวเองว่า บริษัทตนจะไม่มีวันทำพลาดเฉกเช่นกับบริษัทเกมเจ้าอื่นๆ อย่างที่ผ่านมาเด็ดขาด ด้วยเหตุนี้ นินเท็นโดจึงผลิตแต่วิดีโอเกมที่มีคุณภาพ ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจว่า เครื่องคอนโซลและวิดีโอเกมของนินเท็นโดจะมีคุณภาพได้มาตรฐานอย่างแน่นอน

หลังจากนั้น นินเท็นโดก็ได้วางแผนเจาะตลาดเกมในอเมริกา และทำการเปลี่ยนชื่อเครื่อง Famicom เป็น NES (Nintendo Entertainment System) แทน และเพื่อทำให้มั่นใจว่าเกมของบริษัทตนจะมีออกมามีคุณภาพเยี่ยม นินเท็นโดได้กำหนดนโยบายให้การพัฒนาเกมมาลงเครื่อง NES ต้องผ่านมาตรฐานของนินเทนโด้ก่อนทุกครั้ง และยังกำหนดให้ผู้พัฒนาแต่ละเจ้า สามารถสร้างเกมมาลงเครื่อง NES ได้ 5 เกมต่อปีเท่านั้น

เครื่อง Famicom (ซ้ายมือ)
เครื่อง NES (ขวามือ)

นับแต่นั้นเป็นต้นมา นินเท็นโดก็ยืนอยู่บนแนวหน้าของวงการเกมมาโดยตลอด มีเครื่องเกมระดับตำนานมากมายที่ช่วยยกระดับสื่อบันเทิงอย่างวิดีโอเกมให้เติบโตขึ้นไปอีกขั้น ยกตัวอย่างเช่นเครื่อง Nintendo Wii ที่ใช้ระบบโมชั่นคอนโทรล เปลี่ยนวิดีโอเกมให้เป็นการออกกำลังหรือกิจกรรมยามว่างที่คนทุกเพศทุกวัยสามารถทำร่วมกันได้ หรือเครื่อง Nintendo Switch ในปัจจุบัน เครื่องเกมพกคุณภาพเยี่ยมที่เป็นการผสมรวมกันระหว่าง Gameboy และ Nintendo Wii กลายเป็นสุดยอดเกมพกพาขวัญใจแฟนเกมในยุคนี้

การประสบความสำเร็จอันยาวนานของนินเท็นโดทำให้เราจินตนาการไม่ออกเลยว่า พัฒนาการของบริษัทเกมยักษ์ใหญ่นี้จะไม่สิ้นสุดอยู่ตรงจุดไหน แน่นอนว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีจุดจบเมื่อวันเวลาผ่านไป แต่สำหรับบริษัทอย่างนินเท็นโดแล้ว มันคงไม่ใช่เร็วๆ นี้อย่างแน่นอน

แหล่งที่มา:

https://history-computer.com/nintendo-history/

https://www.companieshistory.com/nintendo/


ผู้เขียน: kiwi (กวีกร กังกเวคิน) “เด็กฝึกงานติดเกมท่านหนึ่ง”

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้