รีวิว PlayStation VR2 ดีไซน์ล้ำ คุณภาพเข้าตา แต่ราคาน่าเป็นห่วง

PlayStation VR2

ในที่สุดเทคโนโลยี VR กับแบรนด์ PlayStation ก็เดินเคียงคู่กันมา จนเข้าสู่เจนที่ 2 ด้วยชื่อผลิตภัณฑ์ว่า PlayStation VR2 แล้วนะครับ และความพยายามในครั้งนี้ของทาง Sony ก็มีการปรับปรุงอะไรหลาย ๆ อย่างกับเจ้าอุปกรณ์เสริมตัวนี้ด้วย แต่จะคุ้มค่ากับการหาซื้อมาลองหรือไม่ ทาง Online Station ขอนำเสนอรีวิวนี้หลังผ่านการทดลองใช้งาน รวมถึงทดสอบเกมต่าง ๆ มาพอสมควร มาชมกันเลยครับ


รายละเอียด PlayStation VR2 ที่ควรรู้

  • วางจำหน่าย 22 กุมภาพันธ์ 2023
  • ราคาขายในประเทศไทย 22,190 บาท (เครื่องเปล่า) และ 23,890 บาท (เครื่องบันเดิล พ่วงเกม Horizon Call of the Mountain)
  • ต้องเชื่อมต่อกับเครื่อง PS5 ในการเล่นเท่านั้น
  • จอแสดงผล OLED รองรับระบบภาพ HDR และมีขอบเขตการมองเห็นที่ 110 องศา
  • ความคมชัดระดับ 4K (แบ่งเป็น 2000 x 2040 ต่อดวงตา 1 ข้าง) และรีเฟรชเรตอยู่ในช่วง 90-120 Hz
  • น้ำหนัก 560 กรัม

ใครที่ยังเคยจำได้กับความเทอะทะของ PlayStation VR เจนแรกที่มาพร้อมกับกล่องแปลงสัญญาณ รวมทั้งสายเชื่อมต่อหลายเส้นที่พะรุงพะรัง และน้ำหนักของ Headset ที่มากกว่า ปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดได้ถูกแก้ไขจนเรียบครับ

Headset

เริ่มจากตัว Headset นั้นจะมีเพียงสาย USB-C เส้นเดียวที่เชื่อมต่อตรง ๆ เข้าพอร์ตที่อยู่ด้านหน้าเครื่อง PS5 ได้เลย แน่นอนว่ามันลดขั้นตอนของการติดตั้งฮาร์ดแวร์ข้างนอกลงไปมาก จากเดิมที่ต้องมาปวดหัวกับการเชื่อมต่อสายต่าง ๆ เข้ากับกล่องแปลงสัญญาณ ทีวี และเครื่อง PS4 แถมไม่ต้องมีกล้อง PlayStation Camera ด้วย เนื่องจากฟีเจอร์เรื่องกล้องจับการเคลื่อนไหวของเราจะไปอยู่บน Headset หมดแล้ว แต่ถึงกระนั้น การที่มันยังต้องเสียบสาย USB-C อย่างน้อย 1 เส้นก็กลายเป็นข้อเปรียบเทียบกับ Meta Quest 2 ที่เป็น VR แบบสแตนด์อโลน ไม่ต้องอาศัยการเสียบสายเชื่อมต่อกับฮาร์ดแวร์ใด ๆ เลยอย่างเลี่ยงไม่ได้

จุดแรกที่เซอร์ไพรส์ทีมงานมากก็คือเรายังสามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้ผ่านกล้องหน้าที่ติดอยู่กับตัว Headset ได้ ซึ่งตรงตัว Headset จะมีปุ่มที่เรากดเปิด-ปิดกล้องหน้าได้อิสระ ทำให้เราสวม Headset ก่อนได้เลย แล้วค่อยมองหาจอย Sense ผ่านกล้องหน้าเอาได้โดยไม่จำเป็นต้องถอด Headset เพื่อหาจอยก่อน หรือคล้องจอย PS Move ก่อนแล้วค่อยสวม Headset เหมือนสมัย PlayStation VR รุ่นแรก

PlayStation VR2 จะมีระบบที่สามารถกำหนดขอบเขตของพื้นที่ในการเล่นให้กับเรา ตรงนี้สามารถเลือกได้ว่าจะเล่นแบบนั่งอยู่กับที่ แล้วขยับเฉพาะช่วงท่อนบนของเรา หรือจะเล่นในท่ายืนก็ได้ โดยการเล่นในท่านั่งจะไม่กินพื้นที่มากนัก แค่เผื่อรัศมีรอบตัวเราสัก 1.5-2 เมตรให้พอเหวี่ยงแขนไปมาแล้วไม่ชนอะไรก็พอ อีกทั้งยังปรับไปมาระหว่างโหมดนั่งและโหมดยืนได้ทุกเมื่อตามที่ต้องการ ซึ่งเหมาะมากหากใครเล่นโหมดยืนแล้วรู้สึกเหนื่อยหรือเวียนหัวแล้วอยากจะเปลี่ยนมานั่งเล่นดูบ้าง

แม้ว่าตัว Headset จะมีน้ำหนักเบากว่ารุ่นแรก แต่วัสดุที่ใช้ประกอบดูมีความคงทนกว่า สวมแล้วไม่หลุดง่าย สามารถปรับการเลื่อนแว่น ปรับระดับการรัดศีรษะ หรือแม้แต่ปรับโฟกัสของเลนส์ด้านในได้หมด ซึ่งการจัดวางปุ่มต่าง ๆ บน Headset ทำออกมาได้ดี จำง่าย เป็นมิตรกับการใช้งานพอสมควร

หูฟังด้านหลัง Headset

นอกจากนี้หูฟังที่แถมมากับ VR2 จะเป็นแบบอนาล็อกที่ต้องติดด้านหลังของ Headset เอาเอง และสายของหูฟังดังกล่าวจะมีความยาวค่อนข้างพอดี ไม่เกะกะ ตลอดระยะเวลาที่ได้ทดลองเล่นเกมก็พอเข้าใจได้เลยว่าตัวอุปกรณ์เสริมชิ้นนี้มีการออกแบบมาอย่างพิถีพิถัน และคำนึงถึงผู้ใช้งานเป็นหลักมาก่อนจริง ๆ

สมัย PS VR รุ่นแรกนั้น หลายเกมมีการพัฒนามาเพื่อเล่นร่วมกับจอย PlayStation Move ได้ ขณะที่อีกหลายเกมต้องเล่นด้วยจอย DualShock 4 ตามปกติถึงจะสะดวกกว่า (อย่าง Resident Evil 7 โหมด VR ก็เป็นหนึ่งในนั้น)

จอย Sense Controller

สำหรับ VR2 จะมาพร้อมกับจอย Sense Controller (ขอเรียกสั้น ๆ ว่าจอย Sense นะครับ) ที่แบ่งแยกเป็นจอยมือซ้าย-ขวา รวมถึงปุ่มสัญลักษณ์ที่เป็นโลโก้ของ PlayStation ก็แบ่งกันข้างละ 2 ปุ่มอีกด้วย เช่นเดียวกับปุ่ม L1 และ R1 ที่ย้ายไปอยู่ตำแหน่งของนิ้วกลางทั้งสองมือ ซึ่งทั้งจอย Sense และตัว Headset ต่างก็มีระบบ Haptic Feedback ที่แสดงผลการสั่นได้รูปแบบเดียวกับจอย DualSense ของ PS5 แต่กรณีของ PS VR2 จะได้ฟีลที่ละเอียดกว่าหน่อย เนื่องจากแยกการสั่นทั้งส่วนจอยและ Headset นั่นเอง

กล้อง

จากที่เกริ่นไปก่อนหน้าว่า PS VR2 ไม่ต้องพึ่งกล้อง PlayStation Camera อีกต่อไป นั่นก็เพราะว่าภายในตัวแว่นจะมีกล้องที่ตรวจจับการเคลื่อนไหวของลูกตาเรา (Eye Tracking) โดยบางเกมเราสามารถเลื่อนเคอร์เซอร์หรือเลือกเมนูที่ปรากฏบนหน้าจอได้ง่ายมากเพียงแค่เรากลอกตาไปมองเมนูนั้น ๆ เท่านั้น หรือ NPC บางตัวในบางเกมก็จะให้ผู้เล่นสบตาด้วยเพื่อเข้าสู่การพูดคุย ซึ่งฟีเจอร์นี้เป็นอะไรที่ดูล้ำและสมกับความเป็นเน็กซ์เจนของ VR เลยก็ว่าได้ และคิดว่าในอนาคตเราคงได้เห็นการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้มากขึ้นเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันถ้านับเฉพาะราคาของ VR แบรนด์ต่าง ๆ ที่มีระบบตรวจจับการเคลื่อนไหวของลูกตา ต้องบอกเลยว่า PS VR2 เป็นหนึ่งใน VR กลุ่มนี้ที่มีราคาถูกมาก หากเทียบกับ Vive Pro Eye หรือ Meta Quest Pro ที่มีราคาขายในไทยสูงลิ่วในตอนนี้ครับ

การแสดงผล

การแสดงผลของภาพในแว่น PS VR2 จะมีความละเอียดระดับ 4K หรือ 2000 x 2040 ต่อตาหนึ่งข้าง ผ่านจอ OLED ภาพที่ออกมามีความคมชัดสูง ตลอดจนรองรับรีเฟรชเรตได้ที่ 90-120 Hz และด้วยความที่ภาพชัดขึ้นกว่ารุ่นก่อนหน้า และจับการเคลื่อนไหวได้ดีกว่า โอกาสที่จะเกิดอาการเวียนศีรษะหรือ Motion Sickness ขณะเล่นเลยน้อยลงตามไปด้วย รวมถึงขอบเขตการมองเห็นที่เพิ่มมาเป็น 110 องศา (ใน PS VR รุ่นแรกมีขอบเขตการมองเห็น 100 องศา) ทำให้มาช่วยเติมเต็มประสบการณ์ในโลกเสมือนได้ดียิ่งขึ้น

ทดสอบเล่นเกมจริง

บรรดาเกมที่เราได้ลองกับ VR2 จะมีอยู่ 3 เกมด้วยกัน เริ่มจาก Moss: Book II ที่เป็นแนวแอ๊กชั่นกึ่งแพลตฟอร์ม ซึ่งมีการใช้ลูกเล่นของ VR ในการผจญภัยได้หลากหลาย และ Star Wars: Tales from the Galaxy’s Edge เกมแนวแอ๊กชั่นกึ่งชู้ตติ้งที่เอาใจแฟนสตาร์วอร์สโดยเฉพาะ ทว่าทั้งสองเกมนี้เป็นเพียงเวอร์ชั่นพอร์ตมาจาก Meta Quest 2 ครับ และที่น่าเสียดายคือ VR2 ไม่มีระบบ Backward Compatibility ทำให้ไม่สามารถเล่นเกมของ VR รุ่นแรกได้ ใครจะเล่น VR2 ก็ต้องมูฟออน เริ่มต้นชีวิตใหม่กับเกมในคลังใหม่สถานเดียว

ขณะเดียวกัน Horizon Call of the Mountain กลับให้ความรู้สึกได้ว่านี่แหละเกมเรือธงของ VR2 ที่แท้ทรู เพราะมันคือภาคสปินออฟที่มีเนื้อเรื่องที่ยาว เกมเพลย์อัดแน่นไม่แพ้ภาคหลัก และงัดเอาฟีเจอร์ทุกอย่างที่ VR2 มีมานำเสนอและประยุกต์ใช้ผ่านเกมเพลย์และการดำเนินเรื่องได้แบบทุกอณู โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปีนป่ายและการใช้อาวุธในเกมที่ใช้งานจอย Sense กันคุ้มเลย แถมได้อารมณ์ความเป็นนักรบในโลกของเกมราวกับเป็นเอลอยด้วย (แม้ว่าในภาค Call of the Mountain เราจะได้เล่นเป็นไรอาส ซึ่งเป็นตัวละครหน้าใหม่ก็ตาม)

เมื่อพิจารณาจากไลน์อัปเกมต่าง ๆ ของ PS VR2 ที่จะออกมาพร้อมกับตัวอุปกรณ์ในวันแรกของการวางจำหน่าย เราคงยังหวังอะไร ณ ตอนนี้ไม่ได้มากครับ ซึ่งอาจต้องดูกันยาว ๆ ว่าจะมีเกม 1st Party จากทาง PlayStation Studios ออกตามมามากกว่านี้แค่ไหน เพราะรายชื่อเกมเท่าที่มีประกาศว่าจะวางขายในช่วงไล่เลี่ยกับอุปกรณ์นี้ ต้องยอมรับว่ามีเตะตาอยู่ไม่กี่เกมจริง ๆ

สารภาพกันตามตรงว่า ทีมงานเองยังไม่ค่อยมีความมั่นใจว่า Sony จะทุ่มสรรพกำลังของตัวเองในการพัฒนาเกม 1st Party ป้อนลง PS VR2 มากแค่ไหน เพราะที่ผ่านมาในเจนของ PS VR รุ่นแรกนั้นมีเกมระดับแม่เหล็กที่ดึงดูดให้คนสนใจไม่มากเท่าไหร่ มันคงจะดีกว่านี้ถ้า PS VR2 มีเกมภาคสปินออฟของ God of War, The Last of Us หรือ Ghost of Tsushima ฯลฯ ออกมาดึงความสนใจผู้คนในภายหลัง

โดยรวมแล้ว PlayStation VR2 เป็นอุปกรณ์ที่ให้ประสบการณ์การเล่นที่ดีเยี่ยม เล่นแล้วสนุก เซนเซอร์ตอบสนองกับการกลอกลูกตาของเราได้ไวมาก ภาพความคมชัดสูง เซ็ตอัปก็ง่าย ทว่าจุดด้อยหลัก ๆ คือไม่สามารถเคลื่อนที่ห่างจากเครื่อง PS5 ได้แบบอิสระ เนื่องจากยังต้องเสียบสายระหว่าง PlayStation VR2 กับ PS5 อยู่ กับเรื่องราคาที่แพงกว่าเครื่อง PS5 อีกทั้งไม่มีระบบ Backward Compatibility ด้วย

ข้อแนะนำ

ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจซื้อ PlayStation VR2 มาเล่น ลองสำรวจตัวเองดูครับว่า

  1. คุณอยากสัมผัสประสบการณ์การเล่นเกมใหม่ ๆ กับเทคโนโลยี VR ระดับสูงขึ้นหรือเปล่า?
  2. งบของคุณมีมากพอที่จะหาอุปกรณ์แนวนี้มาเล่นได้แบบไม่ระคายผิวหรือเปล่า?

ถ้าโอเคกับสองข้อข้างต้น PlayStation VR2 ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ แต่หากใครจะรอจนกว่าจะมีเกมโดน ๆ ออกมามากกว่านี้ หรือรอจนเกมดังต่าง ๆ ออกโหมด VR มารองรับเพิ่มเติม น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดครับ

คะแนน 8


**ขอขอบคุณบริษัท Sony Interactive Entertainment สาขาประเทศสิงคโปร์ที่เอื้อเฟื้ออุปกรณ์ PlayStation VR2 พร้อมกับเกม Horizon Call of the Mountain, Moss Book II และ Star Wars: Tales from the Galaxy’s Edge – Enhanced Edition มา ณ ที่นี้ด้วยครับ**


ติดตามข่าวเกมพีซี/คอนโซลอื่น ๆ ได้ที่ https://www.online-station.net

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้