เปิดปูมผ่าแดนกรีก! รู้จักกับโลกที่คุณต้องถีบศัตรูให้กระเด็นใน Assassins Creed Odyssey!

แชร์เรื่องนี้:
เปิดปูมผ่าแดนกรีก! รู้จักกับโลกที่คุณต้องถีบศัตรูให้กระเด็นใน Assassins Creed Odyssey!

     อีกหนึ่งปีที่เกมระดับบิ๊กเบิ้มที่สุดจากค่าย Ubisoft คือ Assassin's Creed ที่ดูเหมือนหลังจากได้สูตรของเกมเพลย์ที่ลงตัวอีกรอบแล้ว ก็ได้กลับมาเป็นเกมรายปีอีกคำรบ (ซึ่งในความคิดผมถือว่าดี) โดยคราวนี้จะย้อนยุคสมัยกลับไปก่อนอิยิปต์ในภาค Origins ก็คือกรีกโบราณครับ และแน่นอนว่าพอมันเกิดก่อนภาคที่แปลชื่อได้ว่า "รากเหง้าก่อกำเนิด" ดังนั้นภาค Odyssey จึงเป็นยุคที่ยังไม่มีภราดรนักฆ่าครับ

     และจากปากคำของ Ubisoft ในงาน E3 ที่ผ่านมาก็ได้เปิดเผยออกมาว่ายุคสมัยในเกมจะเป็นกรีกในช่วงสงครามเพโลปอนนิเซียน ซึ่งเป็นการวอร์โถมแคลนกันเองของชนชาติกรีกภายหลังจบศึกกับเปอร์เซียไปไม่นานครับ งานนี้ยามศึกเรารบ ยามสงบก็รบกันเองของแท้ ซึ่งผมจะมาเขียนเล่าให้ฟังคร่าวๆ ว่ามันเป็นช่วงที่เกิดอะไรขึ้นบ้าง และอาจไกด์ได้พอเล็กน้อยว่าเมื่อเกมออกตุณจะได้เจอกับอะไรบ้างครับ

สงครามเพโลปอนนิเซียน - เหตุเริ่มแห่งการสิ้นชาติ

     ก่อนจะเข้าเรื่องสงครามอันเป็นแก่นหลักของบทความนี้ต้องเท้าความไปถึงช่วงการรบกับจักรวรรดิ์เปอร์เซียทั้ง 2 ครั้งสักเล็กน้อย แต่เดิมนั้นชนชาติกรีกมักจะอยู่กันแบบนครรัฐซึ่งปกครองตัวเอง ค่อนข้างจะเอกเทศ แต่พอโดนมหาอำนาจแห่งยุคโบราณอย่างจักรวรรดิ์เปอร์เซียกรีฑาทัพบุกบ่อยครั้ง พวกเขาต้องขอความช่วยเหลือกันบ่อยขึ้นรวมถึงผนึกกำลังต้านทานฝ่ายศัตรูซึ่งมีขนาดกองทัพที่ใหญ่กว่ามาก หลังจากผ่านเหตุการณ์สำคัญหลายต่อหลายอย่าง ไม่ว่าจะการรบที่ทุ่งมาราธอน, แผนรถบัสอุดช่องแคบของลิโอไนดัสที่เธอร์โมไพลีอันนำมาซึ่งเหตุการณ์ในภาพยนตร์ 300 (ซึ่งเอาเข้าจริงมันมีพวกกองทัพพื้นเมืองยิบย่อยอีกราวๆ 7-8,000 คนคอยหนุนสปาร์ตัน 300 คนอยู่), ก่อกำเนิดสมาพันธรัฐเดลอสซึ่งมีเอเธนส์เป็นแกนนำ ไปจนถึงการยุทธเผด็จศึก ณ ทุ่งพลาเธ และยุทธนาวีมิเคลิกำราบ God King เซอร์เซสอย่างหมดจดจนต้องกลับบ้าน

     เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นอาจจะรบกวนหาภาพยนตร์ 300 และ 300: Rise of an Empire มาดูครับ เพราะเล่าเรื่องในส่วนนี้ไว้เกือบหมดแล้วซึ่ง ตัวเอกทั้ง 2 ภาคอย่าง ลิโอไนดัส และ ธิมิสโตคลิส ต่างก็มีบทบาทสำคัญในสงครามนี้กันทั้งคู่ ซึ่งในแง่หนึ่งพวกเขาต่างสะท้อนคาแรคเตอร์นครรัฐที่ตัวเองสังกัดอยู่อย่างชัดเจน

     ลิโอไนดัส แห่ง สปาร์ตา ดุดัน เด็ดเดี่ยว แข็งแกร่ง ไม่ยอมโอนอ่อน ธิมิสโตคลิส แห่ง เอเธนส์ เจ้าแผนการ ฉลาดพูด การฑูตเป็นเลิศ เจิดจรัสการโล้สำเภา... ในแง่นี้คือเรือธรีมละกัน

     หลังขับไล่เปอร์เซียกลับไปได้ สมาพันธรัฐเดลอสยังคงดำรงอยู่เพื่อต่อต้านการรุกรานจากเปอร์เซียโดยมีเอเธนส์เป็นแกนนำ ซึ่งในช่วงแรกๆ สปาร์ตายังไม่ได้เคืองอะไรนักแต่ก๊แอบรำคาญอยู่ในใจ จากการที่พวกเขาเป็น 2 นครรัฐกรีกซึ่งขับเคี่ยวกันมาตลอด อย่างไรก็ดีพอนานปีเข้าสมาพันธรัฐเดลอสกลับมีความรุ่งเรืองและมั่งคั่งขึ้นอย่างออกหน้าออกตา ทั้งยังพยายามเผยแพร่ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยไปทั่ว นั่นทำให้รัฐทหารที่ปกครองแบบเผด็จการอย่างสปาร์ตาเกิดไม่พอใจอย่างแรง และแสดงความเป็นปฏิปักษ์ชัดเจนด้วยการรวบรวมพันธมิตรทางใต้ก่อตั้งสันนิบาตเพโลปอนนิเซียนขึ้นมาบ้าง

     แรกๆ ก็เหมือนจะไม่มีอะไรมากคล้ายรอคนเปิด กระทั่งเกิดความบาดหมางระหว่างนครรัฐโครินธ์แห่งเพโลปอนนิเซียน และนครรัฐคอซิร่าแห่งเดลอส ที่เปิดวอร์กันแล้วสุดท้ายแจ้นไปขอความช่วยเหลือจากนครรัฐลูกพี่ทั้งคู่ สงครามเพโลปอนนิเซียนจึงปะทุขึ้นอย่างเป็นทางการ

     แต่ถึงจะบอกว่าปะทุขึ้น ช่วงแรกๆ ของมันก็เหมือนกับบอลดูเชิง สปาร์ตาที่มหากาฬทางบกก็ปิดล้อมเอเธนส์ไป ส่วนเอเธนส์ที่เป็นจ้าวสมุทร ก็นำกองเรือข้ามทะเลอีเจี้ยนไปปิดปากอ่าวสปาร์ตา เรียกว่าทั้งคู่ต่างใช้จุดเด่นของตัวเองที่เคยผสานกันกำราบเปอร์เซียมาบดขยี้กันเองก็คงไม่ผิดนัก แต่ก็ดูเหมือนว่าการปิดล้อมของฝั่งสปาร์ตาจะได้ผลก่อน เมื่อเกิดโรคระบาดในเอเธนส์ คร่าชีวิตผู้คนไปนับหมื่นและ 1 ในนั้นคือผู้นำคนสำคัญอย่าง เพริคลิส ซึ่งการตายของเขาทำให้เอเธนส์แตกเป็น 2 ฝ่ายและอ่อนแอลงอย่างชัดเจน

     ในช่วงนี้โมเมนตั้มเริ่มเหวี่ยงไปทางสปาร์ตา กระทั่งเอเธนส์ได้ อัสสิไบเดียส เป็นผู้นำคนใหม่นั่นแหละครับ คือจบเห่ที่แท้ทรู เพราะพี่แกแม้จะมีกึ๋นอยู่บ้างแต่กลับเล่นใหญ่เกินตัว พาทัพใหญ่เอเธนส์ไปเจ๊งชัยที่เกาะซิซิลีโดนไซราคิวส์และสปาร์ตากินรวบอยู่หมัด แม้กระนั้นอัสสิไบเดียสก็ยังไม่ละความพยายามในการขยายอำนาจ เขาส่งกองทัพไปโจมตีลาโคเนียแต่ก็แพ้อีก ทำให้ต้องหมดอำนาจทางการเมืองไปโดยปริยาย

     ถึงแม้จะปลดพี่แกพ้นตำแหน่งไปแล้ว แต่ความเสียหายจากทั้ง 2 ศึกนั้นมากมายมหาศาล นอกจากนี้หลังผ่านการรบกันมาหลายครั้งสปาร์ตาก็ปิดจุดอ่อนทางนํ้าของตัวเองได้สำเร็จด้วยการอัพเกรดกองเรือขึ้นมาพอฟัดพอเหวี่ยงกับเอเธนส์เรียบร้อย ดังนั้นเมื่อเกิดการศึกที่เอกอสโปตาไม สปาร์ตาจึงจัดการจบซิวิลวอร์อันไร้ความหมายของชาวกรีกได้สำเร็จด้วยการกำราบเอเธนส์ลงแบบราบคาบ และผงาดขึ้นเป็นผู้นำเพียงหนึ่งเดียว พร้อมลดระดับเอเธนส์ให้กลายเป็นเพียงนครรัฐชั้น 2 เท่านั้น

     กระนั้นเพราะสงครามอันยาวนาน ทำให้กรีกทั้งชนชาติเริ่มเข้าสู่สภาวะเสื่อมอำนาจและยากจนลง แม้กระทั่งผู้นำใหม่อย่างสปาร์ตาก็อ่อนล้าชัดเจน ถึงจะยึดธีปส์ได้แต่ก็เจอการต่อต้าน พอส่งกองทัพไปรบก็แพ้ 2 ครั้งซ้อน แถมยังต้องลงไปรบกับเปอร์เซียเพื่อช่วยนครรัฐกรีกอื่นๆ แถวเอเชียร์ไมเนอร์อีก เมื่อถูกทอนกำลังเรื่อยๆ อดีตชนชาติที่เคยยิ่งยงก็มีแต่ทรงกับทรุด สบโอกาสให้พระเจ้าฟิลิปส์แห่งมาซิโดเนียกรีฑาทัพเข้าเก็บกวาดรวดเดียวจนชาวกรีกสิ้นชาติ ก่อนจะส่งต่อความเกรียงไกรให้กับพระโอรสอย่าง "อเล็กซานเดอร์" เพื่อควบม้าออกพิชิตสุดขอบโลกต่อไป

     ก็ประมาณนี้ครับสำหรับเรื่องราวโดยสังเขปของสงครามเพโลปอนนิเซียนอันเป็นยุคสมัยภายในเกม ไม่รู้ว่าเกมจะดำเนินไปถึงจุดไหน แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่อาจจะถึงจุดล่มสลายของชาวกรีก และได้เห็นพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชในฐานะผู้ถือครองไอเทม P.O.E. ก็ได้ครับ (ตรงนี้เรื่องเล่าในเกมมีระบุชัด) สิ่งที่น่าสนใจนอกจากนี้ก็คือบทบาทของตัวเอกที่เป็นทั้งหลานและผู้ถือครอง "ใบดาบ" แห่งลิโอไนดัส อีกหนึ่งไอเทมระดับ P.O.E. ว่าชะตากรรมของพี่แกท้ายที่สุดแล้วจะมาเชื่อมโยงกับภราดรมือสังหารที่ยังไม่เกิดขึ้นได้อย่างไร 

     เตรียมหาคำตอบได้ใน Assassin's Creed Odyssey 5 ตุลาคมนี้ครับ

แชร์เรื่องนี้:

เรื่องที่คุณอาจสนใจ