รีวิว Detroit: Become Human แรกเริ่มเป็นหุ่นยนต์ ก่อเกิดเหตุผลกลายเป็นมนุษย์

แพลตฟอร์ม: PS4
ผู้พัฒนา: Quantic Dream
ระยะเวลาที่ใช้ในการเล่นจนจบเกม: ประมาณ 10-12 ชั่วโมง 
ระยะเวลาที่ใช้ในการเล่นสำหรับคนที่ต้องการเก็บทุกทางเลือกจนครบ: ประมาณ 30 ชั่วโมงขึ้นไป

ทีมงาน OS ต้องขอขอบคุณทาง Sony Interactive Entertainment สาขาประเทศสิงคโปร์ ที่เอื้อเฟื้อโค้ดเกม Detroit: Become Human เพื่อใช้ในการรีวิวมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ


หากใครยังจำกันได้ เมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ ทาง Quantic Dream เคยได้ปล่อย Tech Demo ตัวหนึ่งที่กล่าวถึงหุ่นยนต์นามว่า คาร่า (Kara) ออกมาให้แฟนๆ ได้ชมกัน ซึ่งถึงแม้ในตอนนั้น เดโมตัวนี้จะยังเป็นได้แต่คลิปโชว์เทคโนโลยีบนเครื่อง PS3 แต่มาบัดนี้ มันกลับกลายเป็นเกมแนว Interactive Drama ที่สานต่อเรื่องราวเกี่ยวกับเหล่าแอนดรอยด์ที่มีความรู้สึกราวกับมนุษย์ โดยที่ตัวเกมจะนำเราไปยังเมือง Detroit เมืองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในรัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 2038 โลกอนาคตที่มนุษย์ได้พัฒนาเหล่าแอนดรอยด์หรือหุ่นยนต์เสมือนคนขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ช่วยแบ่งเบาภาระต่างๆ รวมถึงเป็นตัวแทนของมนุษย์ในหลายๆ ด้าน แต่แล้วก็เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อแอนดรอยด์หลายตัวกลับเริ่มมีความรู้สึกนึกคิดเหมือนมนุษย์จริงๆ และเริ่มทำการต่อต้านมนุษย์ผู้เป็นนาย รวมไปถึงเรียกร้องหาอิสรภาพให้แก่เหล่าเครื่องจักรมีชีวิต ก่อกำเนิดเป็นเรื่องราวในเกมที่มีชื่อว่า Detroit: Become Human นั่นเอง ซึ่งบทความรีวิวในวันนี้ ทีมงาน OS จะขอรับหน้าที่พาเพื่อนๆ ไปรู้จักกับตัวเกมดังกล่าวค่ะ


เนื้อเรื่อง

เรื่องราวในภาคนี้จะพาคุณไปพบกับแอนดรอยด์ทั้งหมด 3 ตัวด้วยกัน โดยตัวเนื้อเรื่องเองก็จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน และมาขมวดปมเข้าหากันในตอนท้ายอีกที ดังนั้นจะขอพูดถึงแยกออกเป็นสามส่วนก็แล้วกันนะคะ

ตัวละครตัวแรกที่เราจะได้พบก็คือคอนเนอร์ (Connor) แอนดรอยด์หนุ่มจากตัว Demo ที่เปิดให้ผู้เล่นได้ลองโหลดไปชิมลางกันจาก PlayStation Store คอนเนอร์นั้นเป็นหุ่นรุ่นต้นแบบที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยไซเบอร์ไลฟ์เพื่อตามสืบและไขคดีเกี่ยวกับดีเวียนต์ (Deviant) หรือแอนดรอยด์ที่มีพฤติกรรมผิดปกติ (อธิบายง่ายๆ ก็คือแอนดรอยด์ที่มีความรู้สึกนึกคิดเหมือนคนจริงๆ) ซึ่งคอนเนอร์ถูกส่งมาร่วมงานกับผู้หมวดแฮงค์ แอนเดอร์สัน ลุงตำรวจผมฟูติดเหล้าที่เกลียดแอนดรอยด์เสียยิ่งกว่าอะไร โดยมีเป้าหมายใหญ่ๆ ก็คือการหาสาเหตุของพฤติกรรมผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเหล่าแอนดรอยด์และจัดการยุติปัญหานั้นให้ได้ ดังนั้นเขาจึงต้องอาศัยทั้งความร่วมมือจากคู่หู และใช้ความสามารถของตัวเองเพื่อไขความจริงให้กระจ่างก่อนที่เรื่องจะเลยเถิดไปมากกว่านี้

ต่อมาก็คือคาร่า (Kara) แอนดรอยด์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้คอยอำนวยความสะดวกให้แก่มนุษย์ในด้านงานบ้านงานเรือนต่างๆ รวมถึงทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงเด็กด้วย โดยคาร่านั้นมีเจ้าของเป็นคนขับแท็กซี่นามว่า ท็อดด์ ความกดดันจากการตกงานและการหย่าร้างกับภรรยา ทำให้เขาเริ่มที่จะหันไปใช้ความรุนแรงกับลูกสาวเพียงคนเดียวของเขาที่ชื่อว่า อลิซ จนกระทั่งถึงจุดที่คาร่าทนไม่ไหวในที่สุด เธอจึงตัดสินใจแหกกฎความเป็นแอนดรอยด์ออก และเลือกที่จะพาอลิซหนีออกไปมีชีวิตอิสระพร้อมกับตัวเอง

ตัวละครสุดท้ายที่ผู้เล่นจะได้พบก็คือมาร์คัส (Markus) แอนดรอยด์รุ่นพิเศษที่ถูกออกแบบมาให้คอยดูแล คาร์ล แมนเฟรด จิตรกรชื่อดังที่สังขารโรยราเต็มที่จนไม่สามารถเดินเหินได้เหมือนคนปกติอีกต่อไป ความใกล้ชิดของทั้งสองทำให้คาร์ลนั้นรักมาร์คัสเหมือนลูกแท้ๆ โดยไม่สนใจว่าอีกฝ่ายเป็นเพียงแค่แอนดรอยด์เท่านั้น ทำให้ ลีโอ ลูกชายแท้ๆ ที่แสนจะไม่เอาถ่านของคาร์ลเกิดความรู้สึกอิจฉาขึ้น จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์บางอย่างที่จะเปลี่ยนแปลงวงจรชีวิตของมาร์คัสจากแอนดรอยด์ธรรมดา ไปเป็นผู้นำกลุ่มปฏิวัติของเหล่าแอนดรอยด์แทน

ถ้าจะพูดกันตามตรงถึงเนื้อเรื่องของเกมนี้ จริงๆ ต้องบอกว่ามันเป็นอะไรที่ตามสูตรเอามากๆ เลยล่ะค่ะ แก่นเรื่องหลักๆ นั้นถูกออกแบบมาตามแพทเทิร์นหนังหุ่นยนต์แบบเป๊ะๆ นั่นก็คือการพัฒนาตัวเองของเหล่าหุ่นยนต์ จากเครื่องจักรที่ไม่มีความรู้สึกไปเป็นมนุษย์ที่ไม่มีลมหายใจ แต่ในความเดิมๆ ที่ดูเหมือนจะจืดนี้ ตัวเกมดันสามารถดึงดูดผู้เล่นให้อินไปกับเนื้อเรื่องได้เสียอย่างนั้น จนคุณแทบละสายตาจากหน้าจอไม่ได้เลยทีเดียว จังหวะการดำเนินเรื่องถูกจัดเรียงมาได้อย่างลงตัว มีทั้งตื่นเต้น กดดัน ดราม่าน้ำตาซึม ไปจนถึงฉากที่มีพลังจนคนเล่นขนลุกซู่ ถึงแม้ในบางครั้งอาจจะแอบรู้สึกขัดๆ นิดหน่อยด้วยความที่เนื้อเรื่องจะตัดสลับไปมาระหว่างตัวละครทั้งสาม แต่ก็ไม่ถึงกับกระชากอารมณ์เหมือนอย่าง Beyond: Two Souls แถมในบางตอนก็ชวนให้รู้สึกอยากติดตามต่อมากกว่าเดิมอีกค่ะ

สิ่งหนึ่งที่ต้องขอชมมือเขียนบทของเกมนี้เลยก็คือความกล้าที่จะนำประเด็นละเอียดอ่อนต่างๆ มานำเสนอในรูปแบบของแอนดรอยด์ เพราะการนำเสนอในรูปแบบนี้จะทำให้ผู้เล่นรับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นได้ง่าย และที่สำคัญคือได้ขบคิดร่วมไปกับตัวเกม ทั้งในเรื่องของปัญหาการกระทำรุนแรงต่อเด็ก หรือปัญหาการแบ่งแยกชนชั้น การเหยียดชาติพันธุ์ หรือแม้แต่คำถามที่ว่า การเป็นมนุษย์นั้นคืออะไรกันแน่ เราจะใช้สิ่งใดมาตัดสินว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้านี้คือมนุษย์ที่มีชีวิต ลมหายใจ เลือดเนื้อ? หรือเพียงแค่ความรู้สึกก็เพียงพอแล้ว แม้กระทั่งตัวเลือกตามฉากต่างๆ ก็จะเป็นตัววัดศีลธรรมและจริยธรรมที่เรามี ในบางครั้ง คุณอาจจะต้องตัดสินใจลงมือทำอะไรบางอย่างที่อาจไม่ใช่สิ่งที่ดีหรือถูกต้องนัก แต่กลับจำเป็นสำหรับการรักษาชีวิตของตัวละครหรือคนที่เรารักก็ได้

อีกสิ่งที่น่ายกย่องเกี่ยวกับเนื้อเรื่องของเกมนี้เลยก็คือพัฒนาการของตัวละครค่ะ ตัวละครที่เราจะได้เจอแต่ละตัวจะมีเอกลักษณ์และสีสันเป็นของตัวเองแตกต่างกันไป โดยเฉพาะตัวละครหลักทั้งสามที่มีการพัฒนามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จนในท้ายที่สุด คุณก็อดที่จะตกหลุมรักตัวละครบางตัวแบบหัวปักหัวปำไม่ได้ แต่ด้วยความที่เกมนี้มีฉากทางเลือกหลายแบบมากๆ ทำให้ในหลายๆ ครั้ง คุณอาจจะได้พบกับตัวละครที่เจอในช่วงต้นเกมเพียงแค่ครั้งเดียว จนอดรู้สึกไม่ได้ว่าเฮ้ย นี่มันใช้ตัวละครแล้วโยนทิ้งเยอะไปหรือเปล่าหว่า แต่ก็ไม่ได้ชวนให้รู้สึกขัดใจอะไรขนาดนั้น


เกมเพลย์

ขึ้นชื่อว่า Quantic Dream แล้ว ระบบการเล่นหลักๆ ก็ยังคงความเป็นเอกลักษณ์เหมือนเกมรุ่นพี่ของค่ายอย่าง Beyond: Two Souls และ Heavy Rain ทุกประการ ทั้งการที่เราต้องบังคับตัวละครเพื่อสำรวจและใช้งานสิ่งของต่างๆ ตามฉาก รวมไปถึงระบบ QTE ตามฉากแอ็กชั่นหรือฉากที่ต้องตัดสินใจเร็วๆ ซึ่งก็มีความกดดันและระดับความยากเป็นของตนเอง โดยหากผู้เล่นเลือกระดับความยากแบบ Experienced การกด QTE นั้นจะไม่ได้มีแค่การกดปุ่มต่างๆ บนจอยเพียงอย่างเดียว แต่จะมีทั้งการดันอนาล็อกไปในทิศทางต่างๆ รวมถึงการเขย่าจอยเข้ามาผสมด้วย ซึ่งก็ต้องขอยอมรับตรงนี้เลยว่าบางทีก็ยากและกดไม่ทันจริงๆ เพราะช่วงเวลาสำหรับการกดนั้นมีน้อยเอามากๆ แถมรูปสัญลักษณ์ที่เป็นตัวบอกว่าเราต้องทำอะไรนั้นก็ชวนสับสนเอาได้ ที่สำคัญ หากกดปุ่มพลาดติดกันหลายครั้งเข้า ความผิดพลาดในครั้งนั้นๆ จะส่งผลต่อเนื้อเรื่องของคุณอย่างแน่นอน กรณีที่ร้ายที่สุดก็อาจจะทำให้ตัวละครตายได้ในทีเดียว… แต่สำหรับใครที่อยากเสพเนื้อเรื่องฟินๆ ก็สามารถหันไปหาระดับความยากแบบ Casual แทนได้นะคะ ความแตกต่างระหว่างระดับความยากนี้กับแบบ Experienced ก็คือในระดับความยากนี้จะไม่มีการดันอนาล็อกหรือเขย่าจอยมาเกี่ยวข้องด้วยเลย สิ่งที่คุณจะต้องกดมีเพียงแค่ปุ่มบนจอยคุณเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ระดับความยากและโอกาสในการสูญเสียตัวละครลดลงไปมากทีเดียว

ระบบการเลือกคำตอบและการสำรวจข้าวของหรือหลักฐานตามฉากเองก็เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ในเกม Detroit นี้เช่นกัน หากพูดถึงเกมก่อนๆ ของค่ายนี้ การสำรวจข้าวของตามฉากต่างๆ อาจเป็นเพียงการปลดล็อคบทสนทนาพิเศษหรือการเรียนรู้เรื่องราวเบื้องหลังต่างๆ เท่านั้น แต่ในเกมนี้ การสำรวจสิ่งของต่างๆ จะส่งผลต่อตัวเลือกของเราในอนาคตด้วย อย่างเช่นในฉากช่วยตัวประกันใน Demo ที่ใครหลายคนน่าจะได้เล่นกันไปแล้วนั้น เราจะพบว่าการสำรวจข้าวของภายในห้องจะช่วยให้ตัวเลือกในการเจรจามีเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม ทำให้โอกาสในการเจรจาสำเร็จเพิ่มมากขึ้นไปด้วย ซึ่งทางเลือกที่เราปลดล็อคมานี้ก็ใช่ว่าจะมีผลแค่เฉพาะในฉากนั้นๆ นะคะ บางตัวเลือกอาจมีผลยาวไปจนถึงช่วงท้ายเกมเลยทีเดียว โดยเฉพาะในส่วนเนื้อเรื่องของคอนเนอร์ที่มีความพิเศษกว่าใครเพื่อน เพราะด้วยความที่เป็นแอนดรอยด์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสืบหาข้อเท็จจริงโดยเฉพาะ พ่อแอนดรอยด์หน้ามนคนนี้เลยมีความสามารถพิเศษในการตรวจสอบและสำรวจหาหลักฐานต่างๆ รวมถึงความสามารถในการวิเคราะห์สถานการณ์ได้อย่างดีเยี่ยม หากใครนึกไม่ออก ให้นึกถึงระบบสืบสวนในเกมตระกูลแบทแมนทั้งในซีรีส์ Arkham และของค่าย Telltale เลยค่ะ แบบนั้นเลย

แต่ก็ใช่ว่าการจะสำรวจสิ่งของในฉากต่างๆ ให้ครบจะเป็นเรื่องง่ายนะเออ เพราะตัวเกมจะมีการจับเวลาเราอยู่ตลอด หากเรามัวแต่กินลมชมวิวอยู่ล่ะก็ อาจส่งผลให้สถานการณ์แย่หนักลงกว่าเดิม ดังนั้นในขณะที่เราบังคับตัวละครนั้น จะมามัวเสียเวลาเอ้อระเหยลอยชายไม่ได้เป็นอันขาด ซึ่งก็ขอยอมรับเลยว่าไอ้ระบบแบบนี้แหละที่เป็นตัวสร้างบรรยากาศกดดันให้กับผู้เล่นได้เป็นอย่างดี

ยัง… ยังไม่หมด สิ่งที่จะส่งผลต่อตัวเลือกและเนื้อเรื่องของเราไม่ได้มีเพียงแค่การสำรวจสิ่งของต่างๆ ตามฉากเท่านั้น ในเกมนี้จะมีการใส่ระบบความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครเข้ามาด้วย ทุกๆ คำตอบ ทุกๆ การกระทำ ทุกๆ การตัดสินใจของเรา จะส่งผลต่อค่าความสัมพันธ์หรือทัศนคติที่ตัวละครรอบข้างมีต่อตัวเรา ทำให้ผู้เล่นต้องคิดแล้วคิดอีกเวลาจะเลือกตอบคำถามหรือตัดสินใจทำอะไร เพราะหากตอบผิดหรือตอบได้ไม่ถูกใจคู่สนทนา ย่อมส่งผลต่อค่าความสัมพันธ์และทางเลือกที่จะโผล่มาในช่วงหลัง รวมไปถึงฉากจบที่คุณจะได้เห็นอย่างแน่นอน ตรงตามคำโปรยที่ตัวเกมมักจะพูดอยู่เสมอว่า “Every choice matter” หรือทุกๆ ตัวเลือกนั้นมีความหมาย นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่ม Replay Value ให้กับตัวเกมอีกด้วย เพราะการตัดสินใจที่แตกต่างกันเพียงครั้งเดียว หรือแม้แต่การตายของตัวละคร อาจส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ที่แตกต่างกันได้หลายสิบแบบ ชนิดที่ว่าในการเล่นเพียงรอบเดียว พนันได้เลยค่ะว่าคุณจะไม่มีทางไขความลับของตัวเกมหรือเห็นฉากต่างๆ ได้หมดเป็นอันขาด ขนาดตัวผู้เขียนเองเล่นจนจบเกมแล้ว ยังมีคำถามที่สงสัยอยู่อีกมากมาย ไว้เขียนเสร็จเมื่อไหร่ก็จะย้อนกลับไปเล่นใหม่อีกรอบแน่นอนค่ะ~

อีกระบบที่ถือเป็นจุดเด่นของเกมนี้ และเป็นระบบที่โดดเด่นที่สุดก็คือระบบ Flowchart ค่ะ ซึ่งระบบ Flowchart นี้จะทำหน้าที่เป็นแผนผังที่จะคอยบอกให้ผู้เล่นได้รู้ว่า ตัวเกมมีความเป็นไปได้ทั้งหมดกี่แบบ แต่ก็ไม่ต้องห่วงว่ามันจะเป็นการสปอยล์คนเล่นนะคะ เพราะคำอธิบายในรากต่างๆ ของ Flowchart นั้นจะไม่ปลดล็อคออกมาให้เห็นเลยหากเราไม่เคยเล่นผ่านจุดนั้นมาก่อน

หน้าที่ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของ Flowchart ก็คือการเป็นจุดเซฟให้เรานั่นเอง หากเป็นเกมแนว Interactive drama เกมอื่นๆ คุณจะพบว่าหากเลือกพลาดแม้แต่ครั้งเดียว อาจส่งผลให้ต้องย้อนกลับไปเล่นตั้งแต่ตอนเริ่มฉากใหม่เลย แต่เกม Detroit ไม่ใช่แบบนั้นค่ะ เพราะเจ้า Flowchart นี้เองจะทำหน้าที่สร้าง Checkpoint เอาไว้ตามจุดสำคัญๆ ในแต่ละตอน ทำให้ผู้เล่นสามารถย้อนกลับไปเลือกคำตอบหรือแก้ตัวใหม่ได้อย่างสะดวกสบาย อีกทั้งทำให้การเก็บโทรฟี่ง่ายขึ้นกว่าเดิมเป็นเท่าตัวด้วย

ระบบเล็กๆ อีกอย่างที่ตัวเกมในภาคนี้มีก็คือระบบคะแนนค่ะ แต่คะแนนที่ว่าไม่ใช่คะแนนที่เราจะนำไปใช้แข่งขันหรือจัดอันดับกับผู้เล่นอื่น แต่เป็นคะแนนหรือแต้มที่เราเอาไว้ใช้ปลดล็อค Artwork หรือคลิปเทรลเลอร์และเบื้องหลังการพัฒนาเกมในเมนู Extra ซึ่งคะแนนหรือแต้มที่ว่านี้ก็จะได้มาจากการปลดล็อคทางเลือกต่างๆ บน Flowchart ดังนั้น ใครที่ชอบเสพงานศิลป์หรืออยากเห็นเบื้องหลังการพัฒนาของเกมนี้ก็อาจต้องยอมเสียเวลาไปเล่นตัวเกมหลายรอบหน่อยนะจ๊ะ


กราฟิก / การนำเสนอ

ขึ้นชื่อว่าเป็นเกมที่ใช้เวลาในการพัฒนาถึง 4 ปีเต็ม กราฟิกและการนำเสนอของเกมนี้ย่อมไม่ธรรมดาอยู่แล้ว การนำเสนอภาพและตัวละครต่างๆ นั้นสามารถทำออกมาได้อย่างดีเยี่ยมสมกับชื่อ Quantic Dream ทั้งท่าทาง การขยับเคลื่อนเคลื่อนไหวต่างๆ แม้แต่จุดเล็กๆ อย่างการขยับของดวงตาและริมฝีปากก็ถ่ายทอดออกมาได้อย่างไม่มีติดขัด และยังสามารถทำให้เราสามารถจำแนกระหว่างหุ่นแอนดรอยด์และมนุษย์ได้อย่างชัดเจนอีกด้วย เช่นเดียวกับสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่รีดศักยภาพของเครื่อง PS4 ออกมาได้เต็มที่ แม้ในบางฉากอาจจะมีเฟรมเรตตกอยู่สักหน่อย แต่ก็ไม่ได้บ่อยจนทำให้เสียอรรถรสค่ะ ถ้าจะมีการหักคะแนนในเรื่องของกราฟิกหรือการนำเสนอล่ะก็ ก็ต้องไปว่ากันที่เรื่องการโหลดฉากนี่ล่ะค่ะ เพราะตัวเกมนั้นใช้เวลาโหลดฉากต่างๆ นานมากๆ แต่ก็พอเข้าใจได้หากได้เห็นฉากต่างๆ ภายในเกมที่ละเอียดยิบและกว้างพอสมควรเลย…

ด้านการนำเสนอของตัวเกมเองก็ออกมาได้อย่างดีเยี่ยมไม่แพ้ภาพยนตร์ระดับรางวัล นอกจากภาพกราฟิกที่สวยงามอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว การใช้แสงเงาและการเลือกเพลงประกอบเองก็มีการคัดสรรมาอย่างดีเยี่ยม โดยเฉพาะด้านเพลงที่จะช่วยขับอารมณ์ร่วมของผู้เล่นออกมาได้เป็นอย่างดี ชนิดที่ว่าถ้าเป็นฉากกดดันก็กดดันเสียจนสมองตึง ถ้าเป็นฉากที่มีพลังก็มีพลังเสียจนขนลุกไปทั้งตัว หรือถ้าเป็นฉากเศร้าก็เสียดหัวใจจนแอบมีน้ำตาไหลตามเลยล่ะค่ะ

เรื่องสุดท้ายที่อยากพูดถึงก็คือตัวละคร Chloe ที่จะทำหน้าที่เป็นแอนดรอยด์ที่คอยให้ความช่วยเหลือเราอยู่ที่หน้าเมนูค่ะ แม้ในช่วงแรกๆ เธอจะดูไม่มีความสำคัญอะไรนอกจากคอยอธิบายเมนูต่างๆ ให้เรา แต่หากเนื้อเรื่องดำเนินต่อไปเรื่อยๆ คุณจะได้รู้ว่าแอนดรอยด์ผู้ช่วยของเรานี้ก็มีชีวิตเหมือนกัน เพราะในบางครั้ง เธออาจจะถามคำถามอะไรบางอย่างกับเราในตอนที่เราเลือกโหลดเกมกลับมาที่หน้าเมนู หรือในบางทีก็อาจจะโยนแบบสอบถามมาให้เราทำกันตรงนั้นเลย ซึ่งถึงแม้จะเป็นจุดที่ไม่มีผลอะไรกับเนื้อเรื่อง แต่ก็ชวนให้รู้สึกทึ่งไปกับความละเอียดของทีมพัฒนาได้เหมือนกัน


จุดเด่น

  • เนื้อเรื่องที่บีบคั้นหัวใจและเข้มข้นจนคุณอาจวางจอยไม่ลง อีกทั้งยังมีการจัดวางจังหวะและบรรยากาศได้อย่างลงตัว และตัวละครต่างๆ ก็มีเอกลักษณ์ มีพัฒนาการจนอดหลงรักไม่ได้
  • ประเด็นต่างๆ ที่แฝงอยู่ในเนื้อเรื่องล้วนแต่เป็นประเด็นที่ชวนให้ขบคิดทั้งสิ้น
  • กราฟิกที่พัฒนาขึ้นจากเมื่อสมัยเป็นเกมของ PS3 มาก
  • ระบบการเล่นที่ถูกพัฒนาขึ้นจากเกมก่อนๆ ถึงแม้จะยังมีรูปแบบเดิมๆ แต่ก็มีลูกเล่นใหม่ๆ ออกมาให้สนุกไปด้วยได้ เช่นระบบการสืบสวนที่ผู้เล่นต้องอาศัยทักษะการสังเกตและปะติดปะต่อเรื่องราวให้ดี
  • มีระบบ Flowchart ที่ช่วยให้ผู้เล่นสามารถย้อนกลับไปเล่นฉากต่างๆ ได้สะดวกขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาย้อนกลับไปเล่นตั้งแต่เริ่มฉากใหม่
  • ทางเลือกที่สามารถแยกออกไปได้มากมาย ทุกๆ การตัดสินใจสามารถก่อให้เกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ ได้มากกว่าสิบแบบ ทำให้ตัวเกมมี Replay Value ที่สูงมาก


จุดด้อย

  • แม้จะจัดเรียงจังหวะเกมได้อย่างลงตัว แต่หากลงลึกกันจริงๆ แล้ว เนื้อเรื่องของเกมแทบจะไม่มีอะไรใหม่เลยนอกจากเรื่องของหุ่นยนต์ที่มีความรู้สึกเท่านั้น ซึ่งเป็นประเด็นที่ค่อนข้างจะตามสูตรหนังหุ่นยนต์ทั่วไปพอสมควร
  • หากเป็นฉากที่มีความละเอียดสูง สำหรับเครื่อง PS4 รุ่นธรรมดาก็อาจจะมีเฟรมเรตตกอยู่บาง แต่ถ้าเล่นบน PS4 Pro ก็อาจจะช่วยให้สามารถรันเกมได้ลื่นขึ้น
  • ฉากโหลดที่ค่อนข้างนานเมื่อเทียบกับเกมอื่นๆ
  • อาจไม่เหมาะกับคนที่อ่านภาษาอังกฤษไม่แตกฉานนัก เนื่องจากเป็นเกมที่เน้นทักษะในการอ่านและคิดวิเคราะห์มากพอสมควร แต่ก็ไม่ยากเกินไปสำหรับใครที่อยากเรียนรู้ เพราะในระหว่างที่เลือกตัวเลือก เราสามารถกดหยุดเกมเพื่อหาความหมายของตัวเลือกในแต่ละข้อก่อนได้


สรุป

แม้จะเป็นเกมแรกที่ Quantic Dream สร้างขึ้นมาเพื่อลงให้กับเครื่อง PS4 แต่ก็ถือได้ว่าเป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซ และเป็นม้ามืดในวงการเกมที่ไม่อาจมองข้ามได้ หากคุณเป็นคนชอบเสพเนื้อเรื่อง ชอบดูหนังดีๆ เรื่องหนึ่ง หรืออยากลองสัมผัสกับเกมที่เล่นแล้วทิ้งตะกอนความคิดเอาไว้ในใจคุณ เกมนี้เป็นอีกหนึ่งเกมที่คุณต้องมีไว้ในครอบครองค่ะ

คะแนน 9 / 10

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้