ถือเป็นเรื่องที่ชวนสงสัยมานานสำหรับซีรีส์ JRPG ยอดนิยมของชาวญี่ปุ่นอย่าง Dragon Quest ที่ออกมาทีไรก็ทำยอดขายงดงามในประเทศตัวเองเสมอ แต่ว่าเกมนี้กลับไม่ได้รับความนิยมในตลาดตะวันตกนัก เรียกว่าแพ้ให้กับซีรีส์ Final Fantasy ราบคาบ ถึงขนาดที่ว่าในยุคนี้การแปลภาษาอังกฤษของซีรีส์ Dragon Quest ต้องเข้าขั้นตอนพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจากบริษัทเลยทีเดียว
นิตยสาร Edge ได้สัมภาษณ์คุณ Miyage Yu ผู้เป็น Executive Producer ของซีรีส์ Dragon Quest เกี่ยวกับสาเหตุที่เกมชุดนี้ไม่ได้รับความนิยมในตลาดตะวันตก ซึ่งคุณ Miyage ก็บอกว่าทาง Square Enix บริษัทต้นสังกัดเกมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้พอสมควร โดยพยายามถกเถียงถึงปัญหา และแก้ไขกันมาโดนตลอด ซึ่งก็ได้ข้อสรุปมาระดับนึงว่า เกมเมอร์ของทั้ง 2 ชาติมีความรู้สึกที่แตกต่างกัน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ Final Fantasy VII ได้สร้างความประทับใจกับแฟนเกมชาวตะวันตกพอสมควร ทำให้เกม JRPG ถูกมองเปรียบเทียบกับเกมนี้ ซึ่ง Dragon Quest มีสไตล์ที่แตกต่างกับ Final Fantasy อย่างสิ้นเชิง ซึ่งทาง Square Enix มองว่าหากบริษัท Enix ให้ความใส่ใจในการทุ่มโปรโมท Dragon Quest มากกว่านี้ตอนสมัย Famicom อาจจะทำให้เกมได้รับความนิยมมากกว่านี้
รวมถึงประเด็นที่ใหญ่มากคือ Dragon Quest มีการเปลี่ยนแปลงสไตล์เกมที่น้อยมาก เพราะต้องรักษาแนวทางเดิมของเกมมาตลอด ทำให้ไม่ค่อยเปลี่ยนอะไรมากมายเท่าไร ซึ่งผิดกับเกมค่ายเดียวกันอย่าง Final Fantasy ที่เปลี่ยนเพื่อรับความเสี่ยงตลอดทุกภาค และอาร์ตเวิร์คที่เขียนโดยอาจารย์ Toriyama Akira ที่ทำให้ชาวตะวันตกมองว่าเป็นเกมสำหรับเด็กมากกว่า ทั้งที่จริงเนื้อหาใน Dragon Quest มีความเป็นผู้ใหญ่พอสมควร
แต่ว่าในปัจจุบันซีรีส์ Dragon Quest สำหรับชาวตะวันตกก็มีคนเล่นกันมากขึ้น ทำให้ทางค่ายมีความกล้าเสี่ยงที่จะโปรโมท Dragon Quest Builders และ Dragon Quest Heroes กว่าเดิม
คุณ Miyage ให้ความเห็นว่าซีรีส์นี้ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนตัวเกมทั้งหมด แต่เปลี่ยนวิธีการเล่นก็เพียงพอ เพื่อให้ซีรีส์นี้มีความสดใหม่เกิดขึ้นเสมอ แต่ก็ต้องเสี่ยงกับการที่ฐานแฟนเกมจะหดหายไปเช่นกัน อย่างในกรณีของภาค 10 ที่ถูกแฟนๆ โจมตีว่าไม่ควรเป็นเกมออนไลน์ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อทุกคนเล่น ก็จะรู้ว่านี้คือซีรีส์ Dragon Quest นั่นแหละ
หนทางที่จะทำให้เกมนี้ได้รับความนิยมในตลาดตะวันตกยังคงดำเนินต่อไป หวังว่าจะได้พบความสำเร็จในเร็ววันนี้นะครับ
เครดิต: nintendoeverything