GTA V เกมทลายฝันแห่งอเมริกันชน

แชร์เรื่องนี้:
GTA V เกมทลายฝันแห่งอเมริกันชน

ถ้าพูดถึงเกมที่ได้รับการอัญเชิญให้ขึ้นหน้าหนึ่งบนสื่อวงการเกมบ่อยที่สุดในช่วงนี้ แน่นอนว่าคงจะหนีไม่พ้นเกม Grand Theft Auto V (GTA V) อย่างแน่นอน แม้แต่หนังสือพิมพ์ในไทยเองก็ยังต้องหยิบชื่อเกมนี้ไปใช้กันอยู่บ่อยๆ (ถึงแม้มันจะไม่ใช่ในด้านดีเลยก็ตาม) แต่นั่นก็แสดงให้เห็นในระดับหนึ่งแล้วว่า ตามมุมมองของคนภายนอกที่ไม่ได้เล่นเกมบ่อยนัก หรือแม้แต่ในสายตาของเกมเมอร์บางคนเอง เกมตระกูล GTA นี้จัดว่าเป็นเกมตระกูลที่มีเนื้อหาค่อนข้างรุนแรง รวมไปถึงมีเนื้อหาบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศอย่างโจ่งแจ้งปะปนอยู่ด้วย จนถึงขั้นที่ว่ามีการจัดเรตให้เกมนี้สามารถเล่นได้เฉพาะผู้ที่มีอายุบรรลุนิติภาวะแล้วเท่านั้นเลยทีเดียว

แต่หากผู้เล่นคนไหนที่เคยสัมผัสกับเนื้อเรื่องของเกม GTA อย่างละเอียดมาแล้ว จะพบว่าตัวเกมนั้นไม่ได้มีดีแค่ความรุนแรงเพียงอย่างเดียว เพราะเนื้อเรื่องแทบทุกส่วนของตัวเกมกลับแฝงไปด้วยประเด็นสังคมต่างๆ มากมาย ชนิดพูดกันไม่จบในสองหน้า ตั้งแต่ประเด็นปัญหาระดับโลกอย่างเรื่องการเหยียดสีผิว การเหยียดชนชั้น รวมไปถึงเรื่องของมาเฟียหรืออำนาจลึกลับ และกลโกงทางธุรกิจต่างๆ ที่ยังคงแฝงตัวอยู่ในมุมต่างๆ บนโลกของเราด้วย ซึ่งประเด็นหลักๆ ที่เหล่าผู้พัฒนาเกม GTA ต้องการจะสื่อให้ผู้เล่นได้นำไปขบคิดกันนั้น ส่วนมากมักจะเป็นประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาซะส่วนใหญ่ ถึงขั้นที่มีการตั้งกระทู้วิพากษ์วิจารณ์กันในเว็บบอร์ดต่างประเทศแบบนับจำนวนไม่ถ้วนว่า จริงๆ แล้วเกม GTA นี้จงใจจำลองอเมริกามาใช่หรือไม่? และมันมีความสมจริงขนาดไหน? ที่สำคัญ เรื่องนี้ไม่ได้มีการพูดถึงกันแค่ในระดับผู้เล่นเท่านั้นนะคะ แม้แต่บุคคลระดับหัวเรือใหญ่ของซีรีส์ GTA อย่างคุณ Dan Houser ยังเคยกล่าวเอาไว้ด้วยตัวเองว่า “GTA นั้นก็คืออเมริกา” อีกด้วย

ทว่าในบทความนี้เราจะไม่ได้มาถกกันถึงเรื่องความเป็นอเมริกาของเกม GTA หรอกค่ะ แต่เราจะมาลองด้อมๆ มองๆ ประเด็นที่แฝงอยู่ในตัวเกม GTA V กันแทน ซึ่งเนื้อเรื่องของตัวเกมในภาคนี้ถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน 3 มุม 3 ตัวละครด้วยกัน นั่นก็คือ อดีตโจรปล้นธนาคารผู้ที่ผันตัวมาเป็นหัวหน้าครอบครัวอย่าง Michael De Santa (ไมเคิล เดอ ซานต้า), หนุ่มผิวสีคนเดียวในก๊วน Franklin Clinton (แฟรงคลิน คลินตัน) และสุดท้าย ไอ้หนุ่มจิตป่วน Trevor Phllips (เทรเวอร์ ฟิลลิปส์) สามสหายที่ต้องมาตกกระไดพลอยโจนร่วมผจญกับชะตากรรมที่เหมือนจะเล่นตลกกับพวกเขาไม่มีหยุดไปด้วยกันภายในเมือง Los Santos (ลอสซานโตส) เมืองที่จำลองมาจากมหานครอันยิ่งใหญ่ภายในรัฐแคลิฟอร์เนียอย่างลอสแอนเจลิสค่ะ

แค่ชื่อเมืองก็ชัดเจนขนาดนี้แล้วว่าทีมงาน Rockstar นั้นต้องการเปรียบเทียบเมืองลอสซานโตสกับอเมริกามากแค่ไหน แต่การเปรียบเทียบแค่ตัวเมืองอาจจะดูน้อยเกินไปหน่อย จะเปรียบเทียบทั้งอเมริกาก็ดูจะเป็นคอนเซ็ปต์ซ้ำกับภาคที่แล้วไปนิด ดังนั้นภาคนี้ทีมพัฒนาเลยเปลี่ยนจากการจิกกัดประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง มาเป็นการจิกกัด “อุดมคติ” แบบฉบับอเมริกันชนแทน ซึ่งก็ไม่ใช่อะไรเลยนอกจากเรื่องของ “ความฝันอเมริกันชน” หรือ American Dream นั่นเอง

สำหรับคนไทยที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองร้อนนั้น คำว่าความฝันอเมริกันชนอาจจะไม่ใช่คำที่ได้พบเห็นกันบ่อยเท่าไหร่ แต่ถ้าได้รู้ความหมายของมันแล้ว บางทีพวกเราทั้งหลายอาจค้นพบตัวเองโดยบังเอิญก็ได้ว่า “เออ ตัวเราเองก็เป็นอีกคนหนึ่งที่มีความฝันแบบอเมริกันชนที่ว่านี้เหมือนกันนี่หว่า...” ซึ่งก็ขอบอกเลยว่าไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรค่ะ เพราะอุดมคติหรือความฝันแบบอเมริกันนี้แทบจะกลายเป็นความฝันที่คนไทยเกือบทั้งประเทศหวังอยากได้อยากโดนอยู่ลึกๆ ไปแล้วก็ว่าได้

ตามนิยามของเมืองลุงแซม ความฝันอเมริกันชนหรือ American Dream หมายถึง “ความเท่าเทียมทางโอกาสและเสรีภาพที่เอื้อให้พลเมืองได้บรรลุถึงเป้าหมายในชีวิตด้วยการทำงานหนักและด้วยความมุ่งมั่น” หากแปลอีกรอบให้เป็นภาษาที่อ่านง่ายๆ จะได้ใจความว่า มนุษย์เรานั้นมีความสามารถที่จะทำตามความฝันที่ตัวเองตั้งไว้ได้โดยปราศจากอุปสรรคต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็น ความไม่เท่าเทียมกันของระบบชนชั้น ฐานะ หรือเชื้อชาติที่เราเป็นอยู่ สิ่งที่จำเป็นต่อการเดินตามความฝันนั้นมีเพียงแค่ความขยัน ความอดทน และความมุ่งมั่นแบบไม่รู้จักท้อถอยเท่านั้น หรือพูดง่ายๆ อีกรอบก็คือ ถ้าอยากมีชีวิตที่ดีก็จงขยันและมุ่งมั่นเข้านะตัวเธอว์

ซึ่งความฝันที่ว่านี้ก็ไม่ได้มีนิยามตายตัวสักเท่าไหร่หรอกค่ะ คำว่าความฝันอเมริกันชนนั้นเป็นอะไรที่ดิ้นดุ๊กดิ๊กไปตามประวัติศาสตร์อยู่ตลอด หากเป็นยุคเริ่มแรกที่มีการใช้คำนี้กัน American Dream อาจหมายถึงการอพยพย้ายถิ่นฐานจากประเทศอื่นๆ มายังอเมริกาเพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ๆ หรือชีวิตใหม่ๆ ตามคอนเซ็ปต์ที่อเมริกาเคยโปรโมทเอาไว้ว่าดินแดนของตนนั้นเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ เป็นดินแดนแห่งโอกาส และเป็นดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์ แต่ถ้าหากพูดถึงนิยามแบบทันสมัยหน่อยล่ะก็ ความหมายของคำว่า American Dream อาจหมายถึงความฝันที่จะมีรถสักคัน มีครอบครัวเล็กๆ ที่อบอุ่นสักครอบครัวนึง มีบ้านสวยๆ สักหลัง มีหน้าที่การงานที่มั่นคง และมีเงินทองเอาไว้ให้จับจ่ายใช้สอยอย่างพอเหมาะ ซึ่งถ้าได้ครบถ้วนตามความฝันแบบนี้แล้วล่ะก็ ชีวิตนี้ก็คงไม่ต้องการอะไรอีกต่อไปแล้ว

จุดนี้เองแหละค่ะที่ตัวเกม GTA V ได้เข้ามามีบทบาทในการกระทืบความฝันที่ว่าจนแหลกไม่มีชิ้นดี ตัวเกมนั้นต้องการจะจิกกัดเหล่าผู้คนที่เชื่อในความฝันแบบอเมริกันชน และบอกเป็นนัยๆ ให้พวกเขาเหล่านั้นได้รับรู้ว่า “ถึงยูจะมีทุกอย่างตามนั้นแล้ว แต่ชีวิตยูก็ใช่ว่าจะดีหรอกนะ” และตัวอย่างที่ช่วยสนับสนุนการจิกกัดในครั้งนี้ก็ไม่ใช่อะไรอื่นเลย นอกจากเนื้อเรื่องของตัวเกมเอง ซึ่งก็คงเป็นใครไปไม่ได้นอกจากชีวิตของนายไมเคิล เดอ ซานต้า หนึ่งในตัวเอกทั้ง 3 ของภาคนี้นั่นเอง

ชีวิตนายไมเคิลนั้นแทบจะเรียกได้ว่ามีครบทุกปัจจัยตามนิยามของคำว่าความฝันแบบอเมริกันชนค่ะ เขามีทั้งบ้านหลังใหญ่พร้อมเฟอร์นิเจอร์หรูหรา พ่วงสระว่ายน้ำและเก้าอี้อาบแดดเรียงราย มีรถคันหรูพร้อมด้วยเรือยอร์ชส่วนตัว มีภรรยาและลูกอีกสองคน และมีเงินในกระเป๋าให้ผลาญไปวันๆ ได้อย่างสบายอารมณ์ เรียกได้ว่าเป็นชีวิตในอุดมคติแบบที่ใครหลายคนเฝ้าฝันถึงอยู่แน่นอน แต่แทนที่ไมเคิลจะได้ใช้ชีวิตแบบหรูหราปลอดภัยไร้กังวล เขากลับต้องเผชิญหน้ากับปัญหาสังคมหลากหลายรูปแบบที่ประดังประเดกันเข้ามาไม่มีหยุด และทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เขามีกลายเป็นเพียงแค่เครื่องประดับบารมีที่ไร้ความหมายไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งเรื่องที่ อแมนด้า ภรรยาของเขาลักลอบคบชู้กับทั้งครูสอนเทนนิสและครูสอนโยคะจนแทบจะไม่สนใจใยดีเขาอีกต่อไป หรือแม้แต่เรื่องของลูกสาวสุดสวยอย่าง เทรซี่ ที่อยากเด่นอยากดังจนถึงขั้นยอมเอาตัวเข้าแลกกับความดังที่ว่า และสุดท้ายก็เกือบจะต้องเสียตัวให้กับโปรดิวเซอร์รายการแบบฟรีๆ

ในขณะที่ จิมมี่ ลูกชายคนโตของไมเคิลเองก็ไม่ได้น้อยหน้าสมาชิกคนอื่นของครอบครัวเลย เอาเข้าจริงๆ ชีวิตของจิมมี่อาจจะเป็นชีวิตแบบที่เกมเมอร์หลายๆ คนใฝ่ฝันกันอยู่เลยด้วยซ้ำ จิมมี่นั้นแทบจะทุ่มชีวิตของเขาทั้งหมดอยู่กับหน้าจอทีวีและเครื่องเกมคอนโซลสุดรัก และชีวิตที่ไม่ต้องทำอะไรนอกจากนอนเล่นเกมไปวันๆ แต่สิ่งที่เขาได้รับกลับกลายเป็นชีวิตแบบคนตกอับไม่มีที่ไป ทำอะไรไม่เป็น ไม่มีงานทำ และมีชีวิตอยู่เหมือนคนไร้ค่าที่ไม่มีใครสนใจไปวันๆ กระทั่งสุดท้ายเขาก็ทนความตกอับของตัวเองไม่ไหวจนต้องมาลงกับพระเอกของเรานี่แหละค่ะ

ชีวิตของครอบครัวเดอ ซานต้านั้น แทบจะเรียกว่าเป็นอะไรที่สะท้อนสังคมอเมริกาในขณะนี้ได้อย่างสมจริงสุดๆ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว คำว่าความฝันแบบอเมริกันชน หรือความคิดที่ว่าอเมริกาเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ เป็นดินแดนแห่งความศิวิไลซ์นั้น อาจจะไม่ใช่ความจริงอีกต่อไป เนื่องจากในขณะนี้อเมริกาต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจ ภาวะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ค่อนข้างรุ่งริ่ง รวมไปถึงปัญหายิบย่อยภายในประเทศอีกมากมาย แม้แต่ปัญหาอันธพาลครองเมืองแบบที่เราสามารถพบเห็นได้ทั่วในภายในเกม GTA ทุกภาค ก็ยังคงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ และไม่มีท่าทีว่าจะทุเลาลงเลยสักนิด

อย่างไรก็ตาม เนื้อหาของตัวเกม GTA V ก็ไม่ได้ตั้งใจจะวิพากษ์วิจารณ์แต่สังคมอเมริกาเพียงอย่างเดียว แต่พี่แกดันลากรวมไปถึงแนวคิดของคนในสังคมต่างๆ ทั่วโลกด้วย ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงพี่ไทยบ้านเกิดของเราด้วยเช่นกัน หากลองมองดูดีๆ แล้ว สังคมไทยเองก็มีค่านิยมที่ไม่ได้แตกต่างไปจากสังคมแบบอเมริกาสักเท่าไหร่ คนไทยหลายคนยังคงยึดค่านิยมที่ว่าหากเรียนสูงๆ ทำงานหาเงินให้ได้เยอะๆ แล้วชีวิตของเราจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีและมีความสุขไปตลอดกาลอยู่ สำหรับใครที่ตั้งความฝันเอาไว้แบบนี้ก็ไม่ได้ผิดอะไรหรอกค่ะ ตัวเกมเองก็ไม่ได้ต้องการจะสื่อว่าชีวิตของเราจะต้องย่ำแย่เสมอไป พวกเขาเพียงแค่ต้องการจะสื่อว่า ปัญหานั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่รวยล้นฟ้าหรือมีครบทุกอย่างแล้วก็ตามที ดังนั้นแล้ว จงอย่าหยุดพยายาม และอย่าหยุดฝันโดยเด็ดขาด เหมือนอย่างที่นายไมเคิลยังคงพยายามเปลี่ยนชีวิตของตัวเองให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิมนั่นแหละค่ะ

จริงๆ แล้วคำว่าความฝันอเมริกันชนเองก็ไม่ใช่คำที่แย่อะไรเลย ถึงแม้มันจะฟังดูเหมือนเป็นคำปลอบใจที่สวยหรูไปหน่อยก็ตาม แต่เอาเข้าจริงแล้ว หากคนเรามีความพยายาม ขยันหมั่นเพียร เราย่อมต้องบรรลุเป้าหมายอะไรบางอย่างในชีวิตได้อย่างแน่นอน อย่างน้อยๆ ชีวิตมันก็ต้องดีขึ้นไม่มากก็น้อยอยู่ดีแหละน่า หรือคุณผู้อ่านคิดว่าไม่จริงคะ?

แชร์เรื่องนี้:
Vesper
About the Author

Vesper

เซเว่นที่ว่าแน่ ก็ยังหารักแท้มาขายไม่ได้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ