ไขปม GTA กับการแบนทางกฎหมายในต่างประเทศ

แชร์เรื่องนี้:
ไขปม GTA กับการแบนทางกฎหมายในต่างประเทศ

ไขปม GTA กับการแบนทางกฎหมายในต่างประเทศ

ไม่นานมานี้ เพื่อนๆ คงได้ชมรายการของทีวีดิจิตอลช่องหนึ่ง ที่มีพิธีกรสาวกล่าวหาเกม Grand Theft Auto หรือที่เราคุ้นกันในชื่อ GTA ว่าเป็นเกมที่ส่งเสริมความรุนแรง หากผู้ปกครองคนไหนเห็นบุตรหลานเล่นเกมนี้อยู่ ให้รีบนำเกมไปเผาทิ้งกันเลย พร้อมทั้งเสริมอีกด้วยว่า เกม GTA นั้นถูกแบนมาตั้งแต่ปี 2550 ทั้งหมดทั้งมวลที่พิธีกรหญิงคนนี้ได้กล่าวออกมา ล้วนเป็นการนำเสนอข่าวที่บิดเบือนความจริงทั้งหมด ซึ่งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นการแบนเกม GTA และเกมอื่นๆ ที่มีความรุนแรง โดยเฉพาะประเด็นของเรตติ้งนั้นเป็นอย่างไรบ้าง เรามาชมกันเลยดีกว่าครับ

ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2554 ได้มีคดีที่ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกือบพลิกโฉมประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของวงการเกมเลยครับ เมื่อจู่ๆ นายเจอร์รี่ บราวน์ ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกาได้เกิดนึกครึ้มเสนอร่างกฎหมายควบคุมการขายวิดีโอเกมซะอย่างงั้น โดยเนื้อหาของตัวกฎหมายนั้นมีระบุไว้ว่า ต้องการให้จำกัดการขายเกมที่มีความรุนแรงกับเด็กและเยาวชนอย่างเคร่งครัด หากใครที่อายุไม่ถึงห้ามเล่นเด็ดขาด ซึ่งต่างจากวิธีเดิมที่เหล่าค่ายเกมต่างๆ จะส่งเกมไปให้ ESRB เป็นฝ่ายจัดเรตติ้งที่เหมาะสมให้ และคนที่เดือดร้อนในเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เหล่าเด็กๆ แต่อย่างใด แต่กลับเป็นบรรดาผู้ผลิต นักพัฒนาเกม และบริษัทผู้จัดจำหน่ายเกมและซอฟท์แวร์เพื่อความบันเทิงทั้งหลาย ที่ต่างออกมายื่นเรื่องค้านกฎหมาย ปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองอย่างเต็มที่ จนเรื่องรู้ไปถึงหูของศาลสูงสุดแห่งสหรัฐฯ เลยทีเดียว

เรื่องราวดราม่าครั้งนี้ดูท่าจะไม่จบลงง่ายๆ ศาลเลยต้องตัดสินใจใช้วิธีการลงคะแนนโหวต ซึ่งชัยชนะก็ตกเป็นของฝ่ายคัดค้านด้วยคะแนน 7 ต่อ 2 โดยศาลได้ให้เหตุผลมาว่า "วิดีโอเกมเองก็ไม่ได้มีฐานะแตกต่างอะไรจากสื่อภาพยนตร์หรือวรรณกรรมอื่นๆ ดังนั้นเกมเองจึงควรได้รับสิทธิเสรีภาพทางด้านการแสดงออกเหมือนกัน" แถมหลักฐานที่จะใช้บ่งชี้ว่า “การเล่นเกมนั้นมีผลทำให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าวมากขึ้น” ก็ยังไม่หนักแน่นพอจะใช้อ้างได้ด้วย งานนี้ทางฝ่ายบุคลากรจากอุตสาหกรรมเกมและผู้เล่นเลยเฮไปตามๆ กัน

เกร็ดความรู้เล็กน้อย

- นายเจอร์รี่ บราวน์ (ซ้าย) ที่มีคดีพิพาทกับสมาคมผู้ค้าสื่อบันเทิงนั้น เป็นผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียคนที่ 34 และ 39 (เป็นสองสมัย สมัยแรกคือคนที่ 34 และสมัยสองคือคนที่ 39 และเป็นผู้ว่าคนปัจจุบัน) โดยมีดาราฮอลลีวู้ดชื่อดังอย่าง อาร์โนลด์ ชวาร์เซเน็กเกอร์ (ขวา) เคยเป็นผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียคนที่ 38 ที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2546-2554 ครับ

"ESRB" คืออะไร

คำว่า ESRB นั้นย่อมาจากคำว่า Entertainment Software Rating Board ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลเนื้อหาของสื่อบันเทิงทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอเกม ภาพยนตร์ ฯลฯ ให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้ชมทุกวัย (อารมณ์เหมือน กบว. บ้านเราเลยครับ แต่ ESRB จะไม่อ่อนไหวไร้สาระและยังให้เสรีภาพในการเลือกรับชมสื่อต่างๆ มากกว่าบ้านเราเยอะ) โดย ESRB จะรับผิดชอบในการจัดระเบียบเนื้อหาสื่อบันเทิงในเขตอเมริกาเหนือ (สหรัฐอเมริกา, แคนาดา (ยกเว้นรัฐควิเบค) และเม็กซิโก) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2537 มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ วัตถุประสงค์หลักของ ESRB ก็เพื่อตอบสนองและรับผิดชอบในหน้าที่ของสื่อที่มีต่อประชาชนตามหลักจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อ ในแง่ของการจำแนกประเภทเนื้อหาของสื่อเพื่อให้ประชาชนได้เลือกพิจารณาในการรับสื่อนั้นๆ นั่นเองครับ

รู้จักกับระดับเรตติ้งของ ESRB

eC (Early Childhood)

เกมที่แปะป้าย eC นี้จะเป็นเกมสำหรับเฉพาะเด็กเล็กที่เนื้อหาของเกมไม่มีความซับซ้อน (บางเกมอาจไม่มีเนื้อเรื่องสอดแทรกด้วย) โดยจุดประสงค์ของเกมมักจะเป็นการเล่นตามเส้นทางที่เกมกำหนดมาให้จนจบเกม หรืออาจมุ่งเน้นแค่การเก็บคะแนนให้มากที่สุด ตัวอย่างเกมที่ได้เรต eC ก็ได้แก่ Sesame Street หรือ JumpStart Pet Rescue เป็นต้น

E (Everyone)

หากเห็นอักษร E ตัวเป้งๆ ของ ESRB ประทับอยู่ที่เกมใด มั่นใจได้เลยว่านั่นคือเกมที่ทำออกมาให้เข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัย ส่วนใหญ่เกมที่อยู่ในประเภทนี้จะมีตัวละครเป็นตัวการ์ตูนน่ารักๆ หรือตัวละครแนวแฟนตาซี เนื้อหาความรุนแรงจะอยู่ในระดับต่ำ เวลาโจมตีศัตรูจะไม่มีเลือดกระเซ็นให้เห็น ตลอดจนภาษาที่ใช้ในเกมจะเป็นคำทางการหรือศัพท์ไพเราะสวยงาม ตัวอย่างเกมที่ได้เรต E อาทิ Shovel Knight หรือ Pro Evolution Soccer 2015 เป็นต้น

E10+ (Everyone 10+)

สำหรับเกมที่มีป้าย E10+ จะเหมาะกับผู้เล่นอายุ 10 ปีขึ้นไป ซึ่งจะมีเนื้อหาที่เข้มข้นกว่า E เพียวๆ มาอีกระดับหนึ่งครับ คือเริ่มมีความสมจริงสมจังมากขึ้น ภาษาที่ใช้ในเกมจะเป็นศัพท์กึ่งทางการทั่วไปที่พบเห็นได้ง่ายตามชีวิตประจำวัน ความรุนแรงของฉากบู๊กระทบกระทั่งจะยังมีระดับใกล้เคียงกับเรต E แต่จะมีให้เห็นถี่กว่า ตัวอย่างเกมที่ได้เรต E10+ นั้นได้แก่ Super Smash Bros. หรือ LEGO Batman 3: Beyond Gotham นั่นเอง

T (Teen)

เนื้อหาของเกมที่แปะป้าย T จะเหมาะกับผู้เล่นวัยทีนที่มีอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป นอกจากจะมีฉากที่มีการใช้ความรุนแรงใกล้เคียงของจริงแล้ว (บางเกมอาจมีเลือดหรือบาดแผลให้เห็น) ก็จะมีฉากที่ตัวละครยิงมุกตลกแบบดิบๆ ห่ามๆ ภาษาที่ใช้ไม่เป็นทางการ บ้างก็จะมีฉากของการเล่นการพนัน ทั้งนี้ ธีมของเกมบางเกมอาจจะมีความลุ่มลึกหรือต้องอาศัยการตีความที่ผู้ปกครองอาจต้องให้คำแนะนำ ตัวอย่างเกมที่ได้เรต T ก็ดังเช่น Dark Souls II: Scholar of the First Sin หรือ Star Wars Battlefront เป็นต้น

M (Mature)

เกมส่วนใหญ่ที่พวกเราได้เล่นกันบ่อยๆ มักจะอยู่ในเรตนี้ครับ โดยเรต M จะเป็นเกมที่มีเนื้อหาเหมาะกับผู้เล่นอายุ 17 ปีขึ้นไป มีฉากที่ใช้ความรุนแรง เลือดสาด รวมถึงมีฉากโป๊เปลือย บางเกมอาจจะมีฉากร่วมหลับนอนของตัวละคร หรือแม้แต่ถ้อยคำหยาบคายทั่วไป ตัวอย่างเกมที่ได้เรต M ก็ได้แก่ ซีรีส์ Grand Theft Auto (ยกเว้นภาค San Andreas) หรือ Resident Evil ทุกภาค เป็นต้น

Ao (Adults Only)

นี่ถือว่าเป็นขั้นสุดของระบบเรตติ้ง ESRB แล้วครับ คือเล่นได้เฉพาะผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป "เท่านั้น" ซึ่งเกมที่ถูกแปะเรตนี้จะมีธีมเรื่องหลักที่ข้องแวะกับความรุนแรง ฉากร่วมเพศหรือโป๊เปลือยชนิดโจ่งครึ่ม การพนันแบบที่ใช้สกุลเงินเหมือนโลกความเป็นจริง ในสัดส่วนเกือบทั้งเรื่อง ตัวอย่างเกมที่ได้เรต Ao ก็ได้แก่ Manhunt 2 หรือ Hatred นั่นเองครับ

RP (Rating Pending)

เกมที่โดนแปะป้ายนี้ หมายความว่ายังไม่มีการจัดเรตอย่างเป็นทางการครับ เนื่องด้วยตัวเกมดังกล่าวอาจจะยังพัฒนาไม่เสร็จ หรือยังไม่มีการโฆษณาและแผนการตลาดที่ระบุกลุ่มเป้าหมายไว้ชัดเจน ซึ่งจะต้องรอจนเกมแล้วเสร็จหรือมีการแจ้งข้อมูลของตัวเกมมายัง ESRB เสียก่อน จึงจะลงเรตติ้งให้กับเกมนั้นๆ ได้

-------------------------------------------------------------------------

ทิ้งท้ายสำหรับบทความนี้กันสักเล็กน้อยครับ สรุปแล้วว่าร่างกฎหมายที่เสนอโดยผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียคนปัจจุบันนั้น "ไม่ผ่าน" ความเห็นชอบจากฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐอเมริกานะครับ ดังนั้นเกม GTA หรือแม้แต่เกมซีรีส์อื่นๆ ที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันจึงยังสามารถวางจำหน่ายในทวีปอเมริกาเหนือได้จนถึงทุกวันนี้ ซึ่งประเด็นนี้ก็เป็นไปตามหลักเสรีภาพของประชาชนในการใช้วิจารณญาณเพื่อเลือกรับสื่อครับ

ถ้าอธิบายแบบง่ายๆ คือ การมีอยู่ของ ESRB ก็เปรียบเสมือนการแสดงความรับผิดชอบในการจำแนกประเภทเนื้อหาให้แก่ทางประชาชนแล้ว ที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะเลือกว่าจะ "รับ" หรือ "ไม่รับ" สื่อไหน หากเล่นเกมไหนแล้วไปก่ออาชญากรรมขึ้นมา นั่นหมายความว่าต้นเหตุของปัญหาคือ ตัวผู้เล่นคนนั้นล้วนๆ ไม่ได้เกิดจากตัวเกมนั่นเอง

แชร์เรื่องนี้:
Vesper
About the Author

Vesper

อยากเป็นคนที่ถูกหวย จะได้รวยกว่าถูกรัก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ