INDY เกมจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ บทพิสูจน์ที่ว่า... เกมดีไม่จำเป็นต้องใช้เงินพัฒนาเป็นล้านๆ มีทีมงานเป็นร้อยๆ

แชร์เรื่องนี้:
INDY เกมจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ บทพิสูจน์ที่ว่า... เกมดีไม่จำเป็นต้องใช้เงินพัฒนาเป็นล้านๆ มีทีมงานเป็นร้อยๆ

     คุณเคยได้ยินชื่องาน Independent Game Festival หรือ “งานแสดงเกมอิสระ” มาบ้างหรือเปล่า? แล้วที่ผ่านมาคุณเคยลองเล่นเกมที่เหล่านักทำเกมอิสระเหล่านี้ได้ทำขึ้นมาอย่างตั้งใจบ้างหรือไม่? แล้วคุณได้เคยลองคิดบ้างไหมว่าอะไรที่ทำให้เกมจากค่าย (หรือบางทีก็ไม่มีค่ายเลยด้วยซ้ำ) เล็กๆ เหล่านี้ทำให้คนที่ได้ลองเล่นเกมของพวกเขาต้องร้องออกมาว่า “สนุกมาก...” และบางทีอาจจะสนุกกว่าเกมฟอร์มยักษ์บางเกมเสียอีก

    ผมขอยกตัวอย่างเกมอินดี้ที่ดังไปทั่วบ้านทั่วเมืองอย่าง World of Goo และ Audiosurf ขึ้นมาเป็นกรณีศึกษาของเกมอินดี้ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากไปทั่วโลกแล้วกันครับ และสำหรับใครที่ยังไม่รู้จักสองเกมนี้ ผมก็ขออนุญาตทำการรีวิวอย่างสั้นๆ ให้บางท่านที่ไม่เคยได้ยินให้พอรู้ว่าทั้งสองเกมนี้คือเกมอย่างไร

World of Goo

     เกมแนว Physic-Puzzle ที่คุณจะต้องวางลูกกลมๆ ที่ผู้สร้างเรียกว่า Goo ขึ้นให้ยาวหรือสูงที่สุด ขึ้นอยู่กับภารกิจในแต่ละด่านที่จะให้เราทำอะไร ซึ่งในท้ายที่สุด สุดทางของด่านก็คือท่อที่เราต้องส่งตัว Goo ลงท่อให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยที่ตัว Goo นั้นจะมีหลากหลายชนิดซึ่งทำหน้าที่แตกต่างกันออกไป นอกจากคุณจะต้องคิดหาหนทางให้ตัว Goo ของคุณลงท่อให้ได้มากที่สุดแล้ว ทุกๆ ด่านยังมีอุปสรรค เช่น กระแสลม สิ่งกีดขวางต่างๆ อีกต่างหาก

World of Goo สร้างหอคอยขึ้นจาก Goo โดยไม่ให้มันพังทลาย (รูปยาวไปนิดขออภัย)

Audiosurf

     เกมแนวดนตรีที่แหวกแนวไปจากเกมดนตรีเกมอื่นๆ แทนที่คุณจะเล่นเครื่องดนตรีจำลองบรรเลงไปตามเพลงที่มาพร้อมกับตัวเกม แต่คุณจะได้เล่นยานที่มีรูปร่างคล้ายๆ ยานอวกาศแห่งโลกอนาคต ที่จะต้องเก็บบล็อกสีให้เหมือนกันอย่างน้อยติดกันสามช่องเพื่อจะเก็บเป็นคะแนน โดยคุณสามารถเลือกเพลงใดๆ ก็ได้ที่ไม่มีระบบป้องกันการก๊อบปี้มาใช้ในการเล่น แล้วตัวเกมจะทำการสร้างช่องเลน 4 เลนที่เหมือนกับทางด่วนให้เข้าจังหวะกับเพลงที่คุณได้เลือก ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว และคะแนนที่ได้ของคุณ ก็จะสามารถอัพโหลดขึ้นไปเพื่อแข่งขันกับคนอื่นๆ ทั่วโลกที่เล่นเพลงเดียวกันกับคุณได้

โลกแล่นไปกับเสียงเพลงและลวดลายใน Audiosurf

     หากมองกันให้ดีแล้ว สิ่งที่ทำให้ทั้งสองเกมนี้เป็นที่นิยมของทุกคนที่เคยได้สัมผัสมันนั้น แยกออกได้สามประการดังต่อไปนี้... สิ่งแรกที่ทำให้ทั้งสองเกมนี้โด่งดังและมีคนเล่นเป็นจำนวนมากก็คือ ความแปลกใหม่ของทั้งสองเกม ทั้งใน World of Goo ที่ระบบฟิสิกส์มีความสำคัญในฐานะอุปสรรคที่ทำให้เราต่อตัว Goo ยากขึ้น และใน Audiosurf ที่เราได้โลดแล่นไปกับบทเพลงที่เราชอบจริงๆ ไม่ต้องคอยเล่นแต่เพลงที่ผู้ผลิตใส่มาเพียงเท่านั้น สิ่งที่ทำให้ผู้สร้างสามารถสร้างสรรค์การเล่นที่แปลกใหม่ขึ้นมานี้ ก็มาจากที่พวกเขาไม่ต้องสนใจกับการที่ต้องเร่งทำเกมให้เสร็จทันเวลา ไม่ต้องสนใจว่าจะมีใครว่าเกมของพวกมัน “ห่วย” หรือว่ากันง่ายๆ ก็คือไม่ต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของใคร นอกจากความต้องการของตัวเองที่อยากจะทำเกมที่พวกเขารักขึ้นมาให้เป็นรูปเป็นร่างในที่สุด ซึ่งส่งผลดีอีกประการหนึ่งคือ การที่ผู้พัฒนาไม่ต้องใส่ใจในการที่จะต้องใส่เนื้อเรื่องที่หรูเลิศอลังการและยิ่งใหญ่อย่างในเกม RPG พวกเขาสามารถทิ้งเนื้อเรื่องออกไปแล้วหันไปมุ่งพัฒนาแต่เพียงการสร้างระบบการเล่นที่มีความเรียบง่าย แต่มีเอกลักษณ์ได้อย่างเต็มกำลังสมองของพวกเขา

    ประการที่สองคือความสำเร็จ ทั้งสองเกมนี้เล่นไม่ยากเกินไป ซึ่งก็ทำให้ผู้เล่นทั่วๆ ไปเข้าถึงได้ไม่ยาก ในทางตรงกันข้าม ต่อให้ผู้ที่ไม่เคยเล่นเกมอย่างโชกโชนมาก่อนก็ยังสามารถเล่นได้อย่างราบลื่น และยังได้รับความสนุกอย่างเต็มเปี่ยม และถึงแม้ว่าทั้งสองเกมนี้จะเข้าถึงง่าย แต่ว่าการที่จะสามารถเล่นได้อย่างเชี่ยวชาญนั้นเป็นเรื่องที่ยากอย่างน่าแปลกใจ กลายเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของเกมทั้งสองไป

     นอกจากจะสามารถให้ความสนุกสนานกับนักเล่นทุกระดับ (ไม่ว่าจะเป็นเกมเมอร์ที่ผ่านการเล่นมาอย่างโชกโชน หรือจะเป็นมือใหม่หัดเล่นก็ตาม) เกมทั้งสองยังสามารถเป็นสื่อกลางที่ช่วยให้ผู้คนรอบข้างของเราได้รับความเพลิดเพลินไปในขณะที่เราเล่นอยู่ด้วย ลองนึกถึงตอนที่คุณกำลังต่อหอคอย Goo แล้วมันเริ่มเอียงไปทางใดทางหนึ่ง ทันใดนั้นเหล่าเพื่อนๆ ของคุณก็ตะโกนเสนอความเห็น ช่วยกันส่งเสียงเชียร์ หรือแม้แต่โห่ร้องเมื่อหอคอยที่คุณได้เพียรต่อขึ้นมานั้นล้มครืนลงมาต่อหน้าทุกคนที่อยู่ในห้อง หรือแม้แต่ตอนที่คุณนั่ง Surf ไปบนเพลงโปรดของคุณกับแฟนสาว (หรือหนุ่ม) ของคุณดูสิ นี่ล่ะสุดยอด!

     ทั้งสามสิ่งนี้ถือเป็นมาตรฐานที่ผมเห็นว่ามันมีอยู่ในเกมอินดี้เกือบทุกๆ เกมมาตลอด ทำให้เกมเล็กๆ เหล่านี้สามารถสร้างความสนุกสนานกับพวกเราได้อย่างไม่ต้องสงสัย เพียงแต่ว่าคุณจะค้นพบความสนุกของมันบ้างหรือเปล่า

     แต่สำหรับผม... ผมรักความเป็นอินดี้จริงๆ ครับ!

เกมอินดี้ดีๆ ที่น่าหามาลิ้มลอง

     ด้วยความแนวและความสนุกของเกมเหล่านี้ที่การันตีจากงาน IGF ผมแนะนำให้คุณหามาสักเกมเพื่อจะเสพความเป็นอินดี้ ไม่แน่คุณอาจจะชอบขึ้นมาก็ได้

Fez

ผู้พัฒนา: KOKOROMI
เว็บไซต์:
www.kokoromi.org/fez

     เกมแนว Side Scroll Adventure ที่มีจุดเด่นตรงที่ทั้งเกมนั้นเป็นโลกสามมิติที่คุณสามารถหมุนมุมกล้องของคุณเพื่อใช้ในการแก้ปริศนาต่างๆ ซึ่งส่วนมากมักเกี่ยวกับที่คุณต้องไปให้ถึงจุดหนึ่งที่ไกลเกินที่คุณจะกระโดดถึงได้

Crayon Physics Deluxe

ผู้พัฒนา: Kloonigames
เว็บไซต์:
www.kloonigames.com/crayon/

     แนวคิดคือ “สิ่งที่คุณวาดจะกลายเป็นจริง” ด้วยการใช้ปากกาวาดบนสไตลัสหรือแม้แต่บนจอระบบทัชสกรีน ของคุณ คุณจะสร้างวัตถุขึ้นมาในเกม (ซึ่งแน่นอน... รูปภาพในเกมจะเป็นลายเส้นแบบสีเทียนอย่างที่ชื่อเกมบอก) โดยคุณจะต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะส่งลูกบอลให้ไปถึงจุดหมายที่กำหนดไว้

The Misadventure of Mr. P.B. Winterbottom

ผู้พัฒนา: TheOdd Gentlemen
เว็บไซต์: www.winterbottomgame.com/

The Misadventure of Mr. P.B. Winterbottom เกมเล็กๆ แต่กลับตบรางวัลมามากมาย

     เมื่อผู้คลั่งไคล้ขนมพายที่กินเท่าไรก็ไม่รู้จักพอ ออกตามล่าหาพายในเกมสุดแสนจะแนวที่ฉากทุกฉากจะเป็นสีขาว-ดำ เหมือนหนังเก่าเก็บ แต่ถ้าหาก Winterbottom มาเดี่ยวเขาคงไม่สามารถบรรลุภารกิจขโมยพายได้แน่นอน ผู้สร้างจึงใส่ให้ Winterbottom สามารถเล่นกับเวลาได้ โดยการบันทึกการกระทำของเขา แล้วปล่อยให้เล่นซ้ำไปซ้ำมาเพื่อช่วยในการไขปริศนา และการข้ามอุปสรรคต่างๆ ในเกม เช่น ใช้ตัวคุณในอดีตเป็นแท่นเหยียบเพื่อขึ้นจากหลุมหนาม เป็นต้น

Frets Nice

ผู้พัฒนา: Pieces Interactive
เว็บไซต์: www.fretnice.com/

     คุณคงไม่เคยคิดว่า จอยกีตาร์จะสามารถนำไปทำอย่างอื่นได้นอกจากเล่นเกม Guitar Heroes แต่ผู้พัฒนาเกมนี้ไม่ได้คิดแบบนั้น เขาเหล่านั้นปรับแต่งจนคุณสามารถเล่นเกมแนว Side Scroll Adventure ด้วยการใช้อุปกรณ์จอยกีตาร์นี้ (น่าเสียดายที่เกมนี้บังคับให้ใช้เพียงจอยกีตาร์ในการเล่น) โดยผู้พัฒนาอ้างว่าเราจะรู้สึกเหมือน “บรรเลงเพลง” ไปในขณะที่เล่นเกมไปด้วย

แชร์เรื่องนี้:

เรื่องที่คุณอาจสนใจ