Infinity Ward นายทำเกินไปหรือเปล่า ? บทความวิเคราะห์เจาะลึกองค์ประกอบความรุนแรงใน MW 2 !!!

    ผมเชื่อว่าในขณะนี้เกมเมอร์ชาวไทยแทบทุกคนคงได้สัมผัสเกม FPS ที่มีคนรอคอยมากที่สุดในปีนี้ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งมันคงเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจาก Call of Duty: Modern Warfare 2 ที่กวาดทั้งคะแนน กวาดทั้งคะแนนยอดขาย และกวาดทั้งกระแสข่าวดีข่าวเสียจนถล่มทลาย เนื่องมาจากความเล่นแรงของทีมพัฒนาเกมที่ใส่ประเด็นล่อแหลมเข้าไปในเกมนี้มากมายทั้งฉากโหดเลือดสาด ประเด็นทางเชื้อชาติรวมถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศ มันทำให้ผมตั้งคำถามขึ้นมาว่าสิ่งที่ Infinity Ward ทำลงไปเป็นเรื่องถูกต้องหรือไม่? องค์ประกอบที่หนักและรุนแรงระดับนี้เหมาะสมจะถูกใส่เข้าไปในวิดีโอเกมหรือเปล่า ?

   ในหัวข้อนี้ผมก็ได้นำมาปรึกษาและพูดคุยกันอย่างจริงจังทั้งในส่วนของแผนก E Media และ แผนกหนังสือ Future Gamer ว่าเราควรมีบทความเกี่ยวกับเนื้อหาของความรุนแรงของเจ้าสุดยอดเกมทรงFPS อย่าง Call of Duty: Modern Warfare 2 สักหน่อยครับ ไม่ใช่ผมอยากทำตัวเป็นฮีโร่หลอกนะครับ ที่อยากจะชี้นำแสงสว่างของปัญหาอะไรต่างๆ แต่สำหระบผมนั้นหลังจากที่เล่นเกมนี้จนจบแล้ว คำถามต่างๆ มันกลับวิ่งย้อนมาที่ตัวผมมากมาย แต่งานนี้ผมก็ไม่ขอเอียวด้วยนะครับ สาเหตุที่ไม่ไปเอี่ยวในบทความนี้ เพราะตัวผมเองนั้นเป็นแฟนเกมพันธุ์ฮารด์คอแบบเข้าเส้น ด้วยเหตุนี้ผมจึงเลือกท่าน สรวิศ หนึ่งในกองบรรณาธิการนิตยสาร Future Gamer ซึ่งเป็นแฟนของซีรีย์ Call of Duty แบบเข้าเส้น มาทำหน้าที่บรรยายเนื้อหาความรุนแรงของเกมนี้ว่ามุมมองของคนที่ทำงานกับเกมอีกหนึ่งมุมนั้นว่าเค้าคิดอย่างไร อ่ะวันนี้ผมจะเปิดพื้นที่ให้กับเค้าเลยครับ เราไปชมทรรศนะของแฟน Call of Duty ที่เล่นมาทุกภาค จบทุกภาคกันเลยดีกว่าครับ

ฉากที่เร่าร้อนที่สุดจนเป็นข่าวเกือบทุกเว็บไซด์สื่อเกม

     เกมเมอร์ที่ขยันติดตามข่าวสารบนอินเอทร์เน็ตคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า Modern Warfare 2 ไปทำเรื่องงามหน้าอะไรไว้บ้าง แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่ทราบ ผมสามารถแจกแจงรายละเอียดให้ฟังได้ประมาณว่า มันอัดแน่นไปด้วยการสังหารโหด ตั้งแต่ท่าอนิเมชั่นยามถูกกระสุนของศัตรู (โดยเฉพาะการยิงโดนบริเวณจมูกและคอหอย) ฉากฆ่ากึ่งคัทซีนที่ให้เราเห็นความตายของศัตรูแบบใกล้ชิดชนิดรดต้นคอ และเหตุการณ์ตายโหดๆ อย่างการเห็นเพื่อนถูกยิงเลือดสาดกระจายข้างๆ หรือศัตรูจับมาย่างสดให้เห็นจะๆ ที่กล่าวมายังถือเป็นแค่น้ำจิ้มเพราะ Modern Warfare 2 ยังมีจานหลักเป็นฉาก No Russian ที่ให้เราเล่นเป็นผู้ก่อการร้ายสาดกระสุนปืนใส่พลเมืองที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ในสนามบิน ซึ่งแค่ฉากนี้ฉากเดียวก็ทำให้เกมโดนรุมทึ้งจากสื่อทั่วโลกจนเยิน

เลือดและร่างที่ไร้วิญญาณนั้นมีอยู่ทุกที่

    ที่กล่าวมานี้ยังไม่ได้นับรวมประเด็นทางเชื้อชาติอีกเรื่องหนึ่ง เพราะทีมพัฒนา Infinity Ward ได้อ้างฉากเหตุการณ์ในเกมให้เกิดขึ้นตามสถานที่จริงบนโลกทั้งหมด นั่นหมายความว่าเราจะได้ไล่ยิงชาวรัสเซีย ชาวบราซิล และเหล่าคนตะวันออกกลางกันจ้าล่ะหวั่น ทำให้เกมโดนแบนจากประเทศรัสเซียในทันที เนื่องจากดันยกให้ประเทศเขาเป็นตัวร้ายที่บุกสหรัฐฯ (แต่ก็ยังดีที่เป็นแค่ประเทศรัสเซียในจิตนาการ) และส่งผลให้ชาวเยอรมันพากันเบือนหน้าหนีตามเพราะรับไม่ได้กับฉากก่อการร้ายที่ทำให้พวกเขานึกถึงโศกนาฏกกรรม ณ เมือง Munich แม้แต่สื่อไทยเองยังมีหนังสือพิมพ์กล่าวถึงฉากก่อการร้ายกันแบบเผ็ดร้อนเลย

อีกหนึ่งฉากที่กระชากอารมณ์ผมเป็นอย่างมากในการเล่นรอบแรก

    สรุปแล้ว Modern Warfare 2 เหมาะสำหรับให้เกมเมอร์ ‘เล่น’ หรือไม่? หรือเราควรจะพากันแบนมันแบบไม่ให้ได้ผุดได้เกิดกันเลย? งั้นเรามาดูจุดประสงค์ของ Infinity Ward ในการใส่ฉากเหล่านี้เข้ามาก่อนดีกว่า พวกเขาทำเพื่อให้เกมตกเป็นกระแสเท่านั้นเหรอ? หรือเพื่อดึงเป็นจุดขายหลักให้เกมหรือเปล่า? คำตอบคือไม่ เพราะก่อนหน้าเกมออกแทบไม่มีข่าวเกี่ยวกับความรุนแรงในเกมนี้เล็ดรอดออกมา (รวมถึงเรื่องอ้างประเทศจริง) สิ่งที่พวกเขาต้องการจะทำคือการยกระดับ ‘อารมณ์ร่วม’ ของสื่อเกมให้สูงขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งมากกว่า ผมยอมรับเลยว่าระหว่างการเล่นฉากก่อการร้ายผมเกิดอารมณ์สลดใจและขนลุกเป็นอย่างมาก เพราะเกมเร้าอารมณ์ด้วยเสียงดนตรี ด้วยการกระทำของผู้คนที่วิ่งหนีตายกันอลหม่าน บ้างคลานด้วยความเจ็บปวด บ้างพยายามช่วยเหลือเพื่อนก่อนจะถูกยิงซ้ำ มันทำให้ผม ‘อิน’ กับเกมแบบที่ไม่เคยเกิดมาก่อนทั้งๆ ที่ผมก็ผ่านเกมโหดๆ มานักต่อนัก มันทำให้ผมได้รับรู้ถึง ‘ประสบการณ์ใหม่’ ในการเล่าเรื่องของสื่อเกมแบบที่ผมแทบไม่คาดว่าจะได้เจอในช่วงชีวิต (แห่งการเล่นเกม)

เนื้อหาสอดแทรกความเจ็บปวดตลอดการเล่น

   ในครั้งแรกที่ผมเล่นฉาก No Russian จบผมก็ค้านหัวชนฝาว่าฉากนี้มันไม่เหมาะสมจะเอามาใส่ในเกม แต่รุ่นพี่คนหนึ่งเขาก็ถามกลับว่าเรื่องฉากล่อแหลมแบบนี้สื่อภาพยนตร์ก็มีมาตั้งนานแล้ว ทำไมตอนนี้จะมีในสื่อเกมบ้างไม่ได้ ซึ่งผมก็เถียงข้างๆ คูๆ ไปว่าภาพยนตร์มันแค่มให้เราดู แต่เกมมันให้เราได้ลอง ‘ทำ’ ด้วยตัวเอง แต่หากเราลองมองอีกแง่หนึ่ง ทั้งภาพยนตร์และเกมก็เป็น ‘สื่อบันเทิง’ ชนิดหนึ่งเหมือนกัน ไม่ต่างจากหนังสือการ์ตูน เพลง สิ่งที่ต่างมีเพียงวิธีที่เราใช้ ‘เสพย์’ รับสื่อนั้น นั่นก็คือภาพยนตร์เราใช้วิธีดู เกมเราจะใช้วิธีเล่น แต่สิ่งที่เราจะใช้แยกแยะสื่อเหล่านี้คือสิ่งเดียวกัน นั่นคือ ‘สติ’ และ ‘วิจารณญาณ’ ของตัวเราเอง ว่าสิ่งไหนเป็นเรื่องจริง สิ่งไหนเป็นเรื่องสมมุติ และสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด หรือถ้าจะให้สรุปก็คือสื่อไม่ว่าจะชนิดใดก็ไม่สามารถมีผลกระทบกับเรามากมายหรือชักนำเราไปในทางที่ผิดได้หากผู้เสพย์รู้จักคิดและมีความสามารถในการแยกแยะ ดังนั้นเราไม่สามารถไปโทษสื่อว่าไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ได้ เพราะผมกล้าฟันธงเลยว่าผมเองไม่เกิดความรู้สึกอยากหยิบปืนมาไล่ยิงคนที่สนามบินเลยสักนิด หนำซ้ำยังมองว่าการก่อการร้ายเป็นเรื่องใกล้ตัวและชั่วร้ายมากกว่าเดิมอีก

ทรมาณกันเข้าไป หึหึ !!

    อาจมีหลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับการที่ผมฟันธงแบบนี้ โดยอาจยกเหตุผลขึ้นมาว่าถ้าเด็กและเยาวชนได้เล่นเกมนี้จะเกิดอะไรขึ้น? ก็ต้องเป็นผลเสียต่อสังคมแน่นอนอยู่แล้ว แต่เด็กและเยาวชนจะเล่นเกมนี้ได้อย่างไรเพราะหน้ากล่องเขาก็ติดเรตติ้งไว้อย่างชัดเจนแล้วว่าต่ำกว่า 18 ห้ามเล่น และจุดประสงค์ของทีมพัฒนาก็คือทำให้มันเป็นเกมสำหรับผู้ใหญ่อยู่แล้วตั้งแต่เริ่มพัฒนา ซึ่งผู้เล่นกลุ่มนี้ก็เป็นเกมเมอร์ที่บรรลุนิติภาวะกันหมดแล้ว แน่จะรู้จักแยกแยกความผิดชอบชั่วดีกันได้โดยง่าย หากยังมีกลุ่มเกมเมอร์ตัวน้อยๆ ที่หาทางคว้า Modern Warfare 2 มาเล่นแล้วหลงผิด ก็คงโทษตัวการอยู่ได้ 3 อย่าง นั่นคือร้านเกมลิขสิทธิ์ที่ขายเกมให้เด็กอายุยังไม่ถึง ร้านเกมแผ่นผี (เพราะคงไม่มานั่งแยกเรตติ้งเกมให้ผู้ซื้อหรอก) และโปรแกรมสำหรับโหลดไฟล์เกมละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านอินเทอร์เน็ตเท่านั้น การที่จะมาโยนความผิดทั้งหมดให้เกมและแบนเกมนั้นๆ คงจะไม่ใช่เรื่องถูกต้องนัก มันเหมือนกับการหาผู้ร้ายตัวจริงไม่ได้เลยหยิบแพะที่ใกล้มือซักตัวมาลงโทษอย่างไรอย่างนั้น

เชือดคอกันจะๆ เลือดกระฉูด -.- "

    อย่างไรก็ตามเรื่องประเด็นทางเชื้อชาติและการอ้างสถานที่จริงในเกมนี้ ผมมองว่าเป็นเรื่องไม่สมควรนัก เพราะแต่ละคนก็จะมีความรักชาติของตัวเองอยู่แล้ว ถ้าเราเป็นคนรัสเซียหรือบราซิลเราคงไม่อยากเห็นคนประเทศเดียวกับเราเรา (แม้จะเป็นเรื่องสมมุติ) ถูกยิงจนพรุนอยู่แล้ว (แต่มันก็ทำให้เนื้อเรื่องดูจริงจังและหนักแน่นขึ้นมากเลยนะ) อีกเรื่องคือผมสามารถฟันธงได้เลยว่า Modern Warfare 2 ไม่เหมาะกับเยาวชนด้วยประการทั้งปวงและควรเก็บไว้ให้ไกลมือเด็ก ถึงแม้จะมีครอบครัวไหนที่ยอมให้ลูกอายุไม่ถึง 18 เล่นและมาคอยกำกับผมก็ยังไม่เห็นด้วยอยู่ดี เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายและผู้ที่เหมาะสมจะเล่นเกมนี้มีเพียงผู้ที่โตพอจะคิดอะไรได้เองแล้วเท่านั้น ความโหดร้ายของสงครามในเกมนี้มันมากเกินกว่าเด็กจะรับรู้ว่าสนุก แต่มันจะมีรสชาติกลมกล่อมกำลังดีหากผู้เล่นเป็นผู้ใหญ่ที่รู้จักตั้งคำถามว่า ‘ฉากรุนแรงในเกมนี้มันเหมาะสมแล้วหรือยัง’ ต่างหาก

ปล.อาจยาวไปบ้าง แต่นี่คือบทความที่เราอยากให้ท่านอ่านจริงๆ ครับ

 

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้