SDGs Game Fest จุดเริ่มต้นที่น่าจับตา เปลี่ยนคนไทยจากผู้เล่นให้เป็นผู้สร้าง

SDGs Game Fest โครงการประกวดไอเดียสร้างและพัฒนาเกมโดยบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ภายใต้แนวคิด “การพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ใกล้ถึงเวลาหมดเขตรับสมัครและส่งแนวคิดเกมสำหรับผู้เข้าร่วมและผู้ที่สนใจจะสร้างเกมของตัวเองเข้ามาทุกขณะแล้วนะครับ

SDGs Game Fest
SDGs Game Fest

เช่นเดียวกับคอนเทนต์แนะนำโครงการของเราซึ่งก็ใกล้จะหมดวาระลงด้วยแล้วเช่นกัน แต่สำหรับสัปดาห์นี้เราจะมาพูดถึง “โอกาส” ในตลาดของอุตสาหกรรมเกมกันบ้าง ซึ่งในฐานะของการเป็นประเทศของผู้บริโภคนั้น เราไม่อาจได้รับประโยชน์จากมันอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แม้ตลาดจะกว้างขวางขึ้นทุกวันก็ตาม

เหตุเพราะความเป็นผู้เล่นไม่ใช่ผู้สร้าง เรามักจะเป็นฝ่ายที่ต้องเดินหาสินค้าแต่ไม่อาจกำหนดอะไรได้อยู่ตลอด ทว่าปีนี้ก็ 2021 แล้วครับ ถึงเวลาที่เราอาจจะต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างบ้างแล้ว ได้เวลาแปลงร่างจากผู้เล่นเป็นผู้สร้าง และโครงการ SDGs Game Fest ก็น่าจะเป็นโอกาสอันดีที่จะปะทุเชื้อไฟแห่งการเริ่มต้นนั้น

อย่างที่บอกว่าปีนี้ก็ปี 2021 แล้ว โลกของวิดิโอเกมนับวันจะใหญ่โตขึ้นมาก เรารับรู้ข่าวตั้งแต่ทศวรรษก่อนแล้วว่าอุตสาหกรรมเกมกำลังมา เม็ดเงินลงทุนหมุนเวียนไม่ยิ่งหย่อน (หรืออาจจะมากกว่า) วงการภาพยนตร์เสียด้วยซํ้าไป อีกทั้งการเกิดใหม่ของแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ รวมทั้งยุคสมัยที่ค่อยๆ แปรเปลี่ยน ความเหลื่อมลํ้าในอุตสาหกรรมก็ยิ่งถูกลดทอนลง กลายเป็นว่าผู้สร้างหน้าใหม่ๆ สามารถแจ้งเกิดจนกลายเป็นยักษ์ได้หากงานดีพอ หรือเกมฟอร์มยักษ์จากบริษัทใหญ่ก็อาจร่วงได้ด้วยฝีมือของเกมอินดี้ที่มาพร้อมไอเดียสุดบรรเจิด

และยิ่งเมื่อผ่านปี 2020 มาก็ยิ่งตอกยํ้าเด่นชัดถึงความใหญ่โตและแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมเกม เพราะรายงานจากหลายสื่อเป็นที่ตรงกันว่าแม้จะเป็นปีที่เกิดโรคระบาดอย่าง Covid-19 จนสื่อบันเทิงกระแสหลักอย่างภาพยนตร์โดนผลกระทบอย่างหนักหน่วง อุตสาหกรรมเกมกลับยิ่งผงาดมากกว่าเดิม จากการเข้าถึงที่ง่ายดายและเงื่อนไขซึ่งน้อยกว่ามาก เช่นในสหราชอาณาจักรที่มีรายงานว่าปี 2020 เป็นครั้งแรกที่เม็ดเงินหมุนเวียนในอุตสาหกรรมเกมมีมูลค่าทะลุ 4 พันล้านปอนด์ ซึ่งมากกว่ามูลค่าธุรกิจทีวี, ภาพยนตร์ และสตรีมมิ่งมัดรวมกันเสียอีก

ขณะที่อีกรายงานที่น่าสนใจก็มาจากเว็บไซต์ superdataresearch ของ Nielsen Company ที่พาดหัวตัวโตๆ ว่าเกมและสื่ออินเตอร์แอคทีฟมีรายรับเพิ่มขึ้น 12% ในปี 2020 กับตัวเลข 140 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือแปลงเป็นเงินไทยราวๆ 4.2 ล้านล้านบาทนั่นเองครับ

superdataresearch
superdataresearch

ในรายละเอียดยังมีเนื้อหาน่าสนใจที่อาจให้ไอเดียหรือชี้ช่องทางโอกาสอยู่พอสมควร เช่นหัวข้อแรกที่บอกว่าเกม Free-to-Play นี่แหละคือตัวขับเคลื่อนเม็ดเงินในวงการคิดเป็นตัวเลขถึง 78% ขณะที่หัวข้อถัดมาก็สำทับต่อว่าตลาดเกมมือถือเป็นเจ้าของส่วนแบ่งรายรับในตลาดกว่า 58% ดังนั้นแล้วเราอาจอนุมานได้ว่าการเริ่มพัฒนาเกมบนแพลตฟอร์มมือถือก่อนก็ถือเป็นเรื่องดี เพราะลงทุนน้อยกว่า ใช้เวลาสร้างน้อยกว่า ทว่าถ้าทำดีๆ ก็มีโอกาสกวาดรายรับแบบเป็นกอบเป็นกำ เป็นต้น

ตัวเลข 4.2 ล้านล้านบาท อาจเป็นอะไรที่จินตนาการถึงความมหาศาลของมันไม่ออก แต่ในความมหาศาลนั้นก็ย่อมมีโอกาสที่มากมายคอยอยู่ และแน่นอนว่าเด่นชัดขนาดนี้ใครๆ ก็ต้องเห็น นับวันตลาดนี้ก็ยังมีผู้มาใหม่มากมายเข้ามาต่อสู้ขอส่วนแบ่ง และประเทศเราเองก็ปล่อยให้โอกาสผ่านมาหลายปีดีดักจนน่าเสียดาย

แต่น่าเสียดายแล้วไง ไม่สายที่จะเริ่มใช่ไหม และแม้อาจไม่ได้ดูว่าจะกลายเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ในเร็ววัน แต่ไม่กี่ปีมานี้ ผู้พัฒนาเกมไทยก็เริ่มตั้งไข่ปล่อยของกันบ้างแล้ว มีเกมที่ถูกส่งขึ้นขายในสเกล Global บน Steam อย่าง Home Sweet Home ที่สร้างปรากฎการณ์ให้กับวงการเกมบ้านเราในหลายๆ อย่าง หรือย้อนกลับไปก่อนหน้าในยุคที่เกมออนไลน์บนพีซีบูทสุดๆ เราก็เคยมี 12 หางออนไลน์ ที่ได้รับความนิยมพอสมควร

Home Sweet Home
Home Sweet Home

นอกจากนี้ในยุคที่เกมมือถือมากมายเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน เราก็ได้เห็นงานเกมของคนไทยที่มากขึ้นเป็นเงาตามตัว ซึ่งก็เป็นเรื่องดีที่มีแพลตฟอร์มให้เลือกเข้าถึงง่ายกว่าแต่ก่อน นั่นแหละคือโอกาสที่เปิดกว้างขึ้นมากอยู่ที่เราจะเริ่มลงมือทำและไขว่คว้ามันเมื่อไหร่

เช่นนั้นแล้วทำไม SDGs Game Fest จึงมีความสำคัญ ทั้งๆ ที่นักพัฒนาก็เริ่มเองมาสักพักแล้ว? ผมคิดว่าโครงการนี้มีส่วนสำคัญในการยํ้าชัด “ภาพ” ของวงการนักพัฒนาในไทย กล่าวคือเป็นโครงการใหญ่โดยบริษัทใหญ่ เป็นการแข่งขันที่จะได้เห็นฝีไม้ลายมือและแนวคิดของเหล่านักพัฒนาจำนวนนับร้อยที่ลงชิงชัยกันในเวทีเดียวกัน ที่สำคัญคือนอกจากเงินรางวัลของผู้ชนะ ก็ยังมีทุนจำนวน 15 ล้านบาทสำหรับพัฒนาโปรเจคต่อด้วย

ซึ่งเรื่องของทุนเองก็เป็นส่วนสำคัญ ที่หลายๆ ครั้งมันก็เป็นตัวที่คอยขัดแข้งขัดขาไอเดียดีๆ ไม่ให้ถือกำเนิดขึ้นมา อีกทั้งทางโครงการยังมุ่งหวังด้วยว่าถ้านักพัฒนาหลายๆ คนได้ลองลงมือทำ หรือลองตามฝันแบบจริงๆ จังๆ ดู ถึงแม้จะเป็นเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง หรืออาจจะไม่ชนะในรายการ หรือกระทั่งไม่อาจเข้ารอบลึกๆ พวกเขาก็จะได้เห็นว่าตัวเองสามารถคิดหรือทำอะไรได้บ้าง หวังว่าจะสามารถจุดไฟหรือปลดล็อคความรู้สึกบางอย่างที่กระตุ้นให้พวกเขาอยากลองเดินหน้าในหนทางของนักพัฒนาเกมต่อไป ซึ่งก็จะเป็นส่วนช่วยให้อุตสาหกรรมเกมในบ้านเราเติบโตขึ้นได้

ส่วนตัวผมเองเคยเดินทางไปต่างประเทศเพื่อทำงานเกี่ยวกับเกมอยู่บ่อยครั้ง และได้เห็นว่าการเป็นประเทศผู้ผลิตนั้นสามารถก่อเกิดประโยชน์ทั้งกับอุตสาหกรรมในประเทศรวมไปถึงผู้บริโภคได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยขนากไหน อย่างสิงคโปร์หรือญี่ปุ่นที่บริษัทเกมจากทั้งยุโรปและอเมริกาก็ต้องมาตั้ง HQ ประจำภูมิภาค ก่อเกิดการจ้างงานคนในแวดวงเกมเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ตลาดของเกมเมอร์ในพื้นที่ก็ยังจะได้รับการปฏิบัติที่พิเศษกว่า ทั้งยังสามารถกำหนดทิศทางบางอย่างได้

ขอยกตัวอย่างบริษัท Ubisoft ซึ่งผมได้ร่วมงานค่อนข้างบ่อย แม้พวกเขาจะมีหลายสตูดิโอ แต่สมัยที่ทำ Assassin’s Creed III หนึ่งในระบบที่ได้รับการสรรเสริญมากที่สุดก็คือการเดินเรือ และสตูดิโอที่รับผิดชอบในส่วนนี้พวกเขาอยู่ที่สิงคโปร์ ซึ่งจากนั้นสตูดิโอนี้ก็ได้รับการไว้วางใจมอบหมายงานใหม่ๆ ให้อย่างต่อเนื่อง หรือการที่ Rainbow Six Siege เป็นเกมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของค่ายในญี่ปุ่น ก็ทำให้พวกเขาสามารถออกสินค้าพิเศษเพื่อเสิร์ฟความนิยมภายในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว เพราะมี HQ ช่วยดันไอเดียและโอเปอร์เรตอีกแรง

เอาเข้าจริงแค่ยกตัวอย่างประเทศเหล่านี้มาก็น่าจะนึกออกกันง่ายๆ แล้วว่าการกลายเป็นประเทศผู้ผลิตนั้นส่งผลต่ออุตสาหกรรมและความพัฒนาภายในประเทศขนาดไหน ผมเองก็อยากเห็นวันที่ประเทศเรากลายเป็นแบบนั้น แต่แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนผ่านย่อมต้องใช้เวลา และหวังเป็นยิ่งว่าโครงการ SDGs Game Fest จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการเปลี่ยนคนไทยจากผู้เล่นให้กลายเป็นผู้สร้างมากขึ้นในอนาคตครับ

สมัครเข้าร่วมโครงการ: https://sdgsgamefest.com/register
เว็บไซต์: https://sdgsgamefest.com
Facebook: https://www.facebook.com/sdgsgamefest

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้