เซียนโอ๊ตโตะและอิ๋ว Necross แนะ! จะทำเกมอย่างไรใน SDGs Game Fest!

SDGs Game Fest โครงการประกวดไอเดียสร้างและพัฒนาเกมโดยบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ภายใต้แนวคิด “การพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ใกล้ถึงเวลาหมดเขตรับสมัครและส่งแนวคิดเกมสำหรับผู้เข้าร่วมและผู้ที่สนใจจะสร้างเกมของตัวเองเข้ามาทุกขณะแล้วนะครับ ทีนี้ผมเชื่อว่าอาจจะยังมีคนลังเลอยู่ เพราะพอเห็นโจทย์ 17 ข้อแล้วอาจจะไอเดียว่างเปล่า43จนคิดไม่ออกว่าควรทำเกมแนวไหนหรือออกมาในรูปแบบไหนดี

บทความนี้เราจึงจะมาพูดถึงคลิปที่เซียนอมรกับพี่อิ๋ว Necross พูดคุยกันถึงการนำไอเดียจากเกมยุค 90 มาสร้างเกมในปัจจุบัน ซึ่งมีความน่าสนใจอย่างมากโดยเฉพาะกับคนที่อาจสนใจจะสมัครแต่ยังคงคลำทางไม่ถูกหรือหาไอเดียไม่เจอนั่นเองครับ โดยผมเองได้แยกประเด็นและสรุปเป็นข้อๆ มาเขียนให้อ่านกัน แม้มันอาจไม่ถึงขั้นไกด์ได้ตรงๆ แต่ก็น่าจะมีประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยครับ


มาในรูปแบบเกมยุค 90 หรือเรโทร

SDGs Game Fest
Contra

เกมในยุค 90 ขวัญใจเซียนโอ๊ตโตะนั้น หากมองในสมัยนี้ก็อาจจะรู็สึกว่าเป็นเกมที่ออกแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อนอะไร แต่ในทางกลับกัน ความง่ายของเนื้อหาและระบบก็อาจหมายถึงความง่ายในการซึมซับหรือเข้าถึง บางครั้งการนำเสนอเกมแบบตรงไปตรงมาแต่เนื้อหากระแทกใจ และมีความสนุกตื่นเต้นอยู่ในนั้นก็อาจเป็นคำตอบที่คุณมองหาเช่นกัน ตัวอย่างที่เห็นชัดก็คือเกมแนวๆ แอคชั่นแพลตฟอร์มเมอร์ทั้งหลายทั้งแหล่ครับ ตรงไปตรงมา แต่ได้บู๊ และมีความสนุกสนานตื่นเต้นแฝงอยู่อย่างเต็มเปี่ยม


ไม่จำเป็นที่จะต้องมีรูปแบบการเล่นเดียว

SDGs Game Fest
WarCraft 3

ในหัวข้อก่อนหน้าเราอาจจะพูดถึงความง่ายในการนำเสนอ แต่แน่นอนว่าหลายๆ ครั้งถ้าเกมมีมิติการนำเสนอเกมเพลย์ที่ลึกขึ้นกว่าเดิมก็จะรู้สึกว่ามันเจ๋งขึ้นมาก ตัวอย่างที่ชัดๆ ก็พวก Open-World หลายๆ เกม ที่มักจะมีมิชชั่นซึ่งเปลี่ยนแนวเกมไปเลย หรือซีรีส์เกม RTS ขึ้นหิ้งอย่าง WarCraft ที่บางครั้งเอเลเมนต์ที่ใส่เข้ามาในเกมก็ทำให้กลายเป็นเกม RPG ที่สนุกสนานเกมหนึ่งได้ไม่ยาก และอาจรวมถึงเกมเก่าอย่าง Meta Fight ที่เซียนโอ๊ตโตะยกตัวอย่างขึ้นมาในคลิปก็ยังอุตส่าห์มีความคอมเพล็กซ์ในเกมเพลย์ให้เกมเมอร์ได้ว้าวเช่นกัน ถือเป็นแนวคิดและความเป็นไปได้ที่น่าสนใจมากๆ และไม่ควรมองข้ามในการทำเกมครับ


กราฟิกไม่ใช่เรื่องสำคัญเสมอไป

SDGs Game Fest
Game Dev Story

แม้กราฟิกจะเป็นเหมือนหน้าตาของเกม แต่เราก็ต้องยอมรับกันตามตรงว่าในแง่หนึ่งกราฟิกคือตัวดูดทรัพยากรไม่ว่าจะทุนรอนหรือกำลังคนครับ หลายๆ ครั้งพอทำได้แบบครึ่งๆ กลางๆ ก็กลายเป็นไม่เข้าท่าโดนด่าเสียอีก ดังนั้นแล้วเราจึงได้เห็นเกมอินดี้ส่วนใหญ่เลือกจะมีกราฟิกที่มีสไตล์ แล้วเอาเกมเพลย์ที่สร้างสรรค์รวมถึงเนื้อหาที่น่าสนใจเข้าสู้ โดยตัวอย่างที่พี่อิ๋วยกขึ้นมาก็คือเกม Game Dev Story เกมกราฟิกง่ายๆ บนมือถือ ที่ดูไม่มีพิษภัยทว่าระบบการเล่นชวนติดหนึบจัดๆ ระดับพาเสียการเสียงาน จำได้ว่าเคยบููมมากๆ อยู่พักหนึ่ง รวมไปถึงเกมจากค่ายเดียวกันอีกหลายเกม ซึ่งพิสูจน์มาแล้วว่าไม่ต้องมีกราฟิกเลิศเลอก็ขายได้ครับ (เกมค่ายนี้ขายนะฮะ ไม่ฟรี)


การออกแบบเกมให้ผู้เล่นได้ใช้ทรัพยากรที่มีจำกัด จะทำให้สามารถเข้าถึงโจทย์ได้ง่ายขึ้น

SDGs Game Fest
Cities Skylines

พี่อิ๋วได้พูดถึงเกม Chrono Trigger ซึ่งเป็นเกมแรกๆ ที่เล่นกับประเด็นกระแสเวลาได้อย่างกลมกล่อม เข้มข้น ก็อยากให้ลองไปฟังในคลิปกันดู แต่ในจุดนี้ผมอยากขอขยายความในประเด็นที่พี่อิ๋วพูดถึงการให้ผู้เล่นได้เป็นผู้สร้างและใช้ทรัพยากรสักหน่อย เพราะว่าเข้าท่ามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเกมแนว Simulation สร้างเมืองนี่คือเห็นกันตรงๆ เลย ว่าได้อย่างเสียอย่างมันเป็นอย่างไร จะให้เมืองเจริญสอดรับกับผู้คนจะต้องเบียดเบียนธรรมชาติสักเท่าไหร่ ผู้เล่นก็จำต้องพยายามรักษาสมดุลนั้นไว้ไม่ให้เมืองเกิดความวิกฤตครับ ตัวอย่างที่โดดเด่นหน่อยในยุคนี้ก็เกมอย่าง Cities Skylines เลย หรือแม้กระทั่งเกมแนว RTS หลายๆ เกมก็สามารถแฝงปัญหาเรื่องทรัพยากรได้ดี เช่นใน Red Alert 2 ที่หากแร่หมดก็ต้องย้ายจุด จนพอแร่เหลือน้อยแต่ละฝ่ายก็ต้องเปิดสงครามแย่งกันในที่สุด เห็นภาพในโลกจริงกันเลยทีเดียว


อย่ายึดติดกับคำว่าแนวเกม

SDGs Game Fest
Death Stranding

แม้โลกนี้จะมีแนวเกมที่กำหนด Genre ของมัน แต่ขอยํ้าอีกครั้งว่าอย่าไปยึดติดอะไรกับมันนัก หากคอนเซ็ปที่เรานึกออกและอยากทำไม่มีเกมแนวใดตรงโจทย์ ก็ไม่ต้องแคร์อะไร บัญญัติความใหม่ของตัวเองขึ้นมาเลย ตัวอย่างที่พี่อิ๋วยกขึ้นมาอย่าง Death Stranding ของ Hideo Kojima ก็เป็นอะไรที่ชัดเจนดี วงการเกมต้องการความคิดสร้างสรรค์และความแปลกใหม่อยู่เสมอ หากผลงานคุณมีครบทั้งความใหม่และสร้างสรรค์ โอกาสผ่านเข้ารอบก็ไม่ไกลเกินเอื้อม


สำคัญที่สุดคือต้องสนุก และต้องอยู่บนความเป็นไปได้ในการสร้าง

ถ้าถามผมเองว่าอยากสร้างเกมแบบไหน ผมคงมีคำตอบให้อย่างกว้างๆ ว่าอยากทำเกมที่สนุก ทำเกมที่ทุกคนจะยิ้มและอินไปกับมัน เพราะคิดว่าทุกคนเวลานึกถึงความเป็นเกม ก็คงต้องนึกถึงความสนุกเป็นอย่างแรก ถ้าเกมไม่สนุกจะเสียเวลาเล่นไปทำไม

แม้ว่าเวลานี้ตัวผมเองอาจจะไม่สามารถระบุได้ชัดว่าอยากทำเกมออกมาให้เป็นแบบไหน แต่หากให้พูดในฐานะคนชอบเล่นเกม ผมก็ตอบง่ายๆ เช่นกันว่าอยากได้เกมที่สนุกนี่แหละ ดังนั้นไม่ว่าจะอย่างไร เกมจะซิมเปิ้ลหรือมีเทคนิคนำเสนอพิสดารขนาดไหน ก็ต้องพยายามดึงความสนุกของมันออกมาให้ได้ครับ

และสำหรับงานประกวดที่มีงบกำหนดชิ้นงาน Final แบบนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ให้สัมภาษณ์หลายๆ คนเห็นพ้องต้องกันก็คือมันต้องตั้งอยู่บนความเป็นไปได้ที่จะผลิตออกมาจริง เพราะหากฟุ้งจนเกินขอบเขตไป จากความคิดสร้างสรรค์มันจะเหลือแค่ความเพ้อฝันเท่านั้น คุณต้องทำมันให้ได้จริงด้วย เพื่อพิสูจน์ว่าไอเดียของคุณมันคือสิ่งที่ถูกกลั่นออกมาจากจิตวิญญาณและแพสชั่นอันลุกโชนว่าอยากให้มันเกิดขึ้นมาจริงๆ บนโลกใบนี้

ขอให้โชคดีครับ

สมัครเข้าร่วมโครงการ: https://sdgsgamefest.com/register
เว็บไซต์: https://sdgsgamefest.com
Facebook: https://www.facebook.com/sdgsgamefest

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้