พักหลังๆ นี้มือถือหรือสมาร์ทโฟนกลายเป็นแพลตฟอร์มการเล่นเกมที่มาใหม่และมาแรงมากๆ แรงไปจนผู้พัฒนาเกมทั่วโลกต้องหันมามองและหันมาพัฒนาโปรเจ็กต์เกมบนสมาร์ทโฟนกันยกใหญ่ ด้วยตลาดและเม็ดเงินที่หวานหอมแบบนี้มีหรือในไทยจะไม่มีคนเหลียวแล นั่นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไมค่ายเกมหลายๆ ค่ายทั้งในไทยและต่างประเทศจึงพร้อมใจกันกระโดดเข้ามาเล่นตลาดนี้กันโดยมิได้นัดหมาย
แต่ทว่าแพลตฟอร์มสมาร์ทโฟนนั้นเป็นเรื่องใหม่ มีวิธีการนำเสนอแบบใหม่ มีวิธีการปล่อยดาวน์โหลดแบบเข้าถึงเนื้อเข้าถึงตัวผู้เล่นมากกว่าเดิม ประสบการณ์การทำเกมที่ค่ายเกมเคยมีมาก็อาจใช้ไม่ได้ 100% เราไปดูปัญหา 4 อย่างของไทยกันว่าทำไมเกมมือถือจึงทำตลาดได้ยากกว่าที่อื่น
1. ปล่อยเกม iOS และ Android ไม่พร้อมกัน
ในกรณีที่เกมนั้นมีทั้ง 2 แพลตฟอร์มคือ iOS และ Android แน่นอนว่าส่วนใหญ่แล้วฝั่งของ Android จะใช้เวลาในการเอาขึ้น Google Play Store พร้อมให้คนดาวน์โหลดได้เร็วกว่า ส่วนทาง App Store นั้นต้องรอทาง Apple ตรวจสอบพิจารณาตัวเกมนานกว่ามาก จึงทำให้หลายๆ เกมปล่อยออกมาในเวอร์ชั่น Android ก่อน
บางเกม iOS มาก่อน Android ก็มี อย่างเช่นเกม POP Mobile ที่ตอนนี้มีเฉพาะ iOS คนที่มี Android อยากเล่นก็ต้องรอต่อไป
สิ่งที่เกมเมอร์ไทยบางส่วนเป็นก็คือเมื่อเขาเห็นการโฆษณาหรือการโปรโมทเกมนั้นแล้ว คนที่อยากเล่นจะหยิบมือถือมาโหลดเพื่อลองทันที แต่เมื่อเขาโหลดไม่ได้ชื่อเกมเกมนั้นก็อาจไม่ได้อยู่ในสมองเขาอีกต่อไป อย่าลืมว่าเกมบนสมาร์ทโฟนมีมากเต็มมายมหาศาล เขาพร้อมจะเลือกเกมใหม่ๆ ที่เล่นได้ ณ ตอนนั้นทันที ในกรณีปัญหานี้บางเกมเวอร์ชั่น iOS ถูกปล่อยหลังจาก Android ทิ้งช่วงกันเป็นเดือนหรือหลายเดือนก็มี ก็จะทำให้ทำตลาดและเอาใจผู้เล่นได้ยากยิ่งขึ้นไปอีก
2. ไม่มีบัตรเครดิต
เกมมือถือทุกเกมจะต้องจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิต เช่น การซื้อไอเทม การอัพระดับ VIP ต่างๆ เป็นต้น แต่ปัญหาที่ในไทยประสบพบเจอก็คือเกมเมอร์และผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนจำนวนมากไม่มีบัตรเครดิต บัตรเครดิตหมายถึงอะไร บัตรเครดิตหมายถึงคุณต้องเป็นคนทำงานถึงจะมีบัตรเครดิต เพราะคงไม่มีธนาคารไหนออกบัตรเครดิตให้กับผู้ที่ไม่พร้อมจะมีหนี้สิน มันสวนทางกับกลุ่มเป้าหมายของเกมบนแพลตฟอร์มนี้ โดยเฉพาะหลายๆ เกมที่ใช้ภาพการ์ตูนเอาใจเด็กช่วงมัธยมหรือมหาวิทยาลัยกันเต็มที่ แม้ว่าพวกเขาจะโหลดเกมมาเล่นได้ แต่โอกาสจ่ายเงินเป็นศูนย์ ปัญหาก็ตกอยู่กับผู้ให้บริการเกมแหละครับ
3. ความแตกต่างของตัวเกมใน iOS และ Android
เกมที่ทำลง 2 แพลตฟอร์มต้องยอมรับเรื่องความแตกต่างของประสบการณ์การใช้งานที่จะเกิดขึ้น เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นก็คือส่วนใหญ่แล้วเกมเดียวกันเมื่อเล่นใน iOS มักจะลื่นกว่า ไม่กระตุก ส่วนใน Android นั้นต่อให้สเป็กเครื่องดีแค่ไหนตัวเกมก็ยังหน่วงๆ และกระตุกนิดๆ หากเทียบกับ iOS อยู่ดี ปัญหานี้จะไม่มีผลเลยหากเกมของคุณเป็นการ์ดเกม หรือเป็นเกมที่ไม่ต้องใช้การควบคุมที่ซับซ้อน แค่จิ้มๆ ก็ฟินแล้ว กระตุกหรือไม่นั้นแทบไม่มีผล
ถ้าเป็นเกมที่ต้องควบคุมแบบ Realtime เหมือนคุกกี้รันล่ะก็ iOS กับ Android ต่างกันแน่นอน
4. เติม Serial Code ไม่ได้
คนไทยชอบของฟรี เกมเมอร์ไทยก็ชอบของฟรี โดยเฉพาะแนวทางการทำตลาดเกมออนไลน์ที่เคยเป็นมา มักจะจัดกิจกรรมแจกไอเทมกันแทบทุกค่าย แน่นอนครับมันได้ผล เพราะใครๆ ก็อยากได้ไอเทมฟรี แต่เกมบนมือถือมีปัญหาอยู่บ้าง เพราะหลายๆ เกมไม่สามารถใส่ระบบเติม Serial Code เข้าไปในเกมได้ จะด้วยเหตุผลทางผู้พัฒนาหรืออะไรก็แล้วแต่ หรือบางเกมใส่ระบบเติม Serial Code เข้าไปได้เฉพาะเวอร์ชั่น Android ส่วนคนที่ใช้ iOS ถ้าได้ Item Code จากกิจกรรมของค่ายเกมมาก็ไม่สามารถเอาไปเติมได้อยู่ดีต้องไปนั่งหาวิธีซับซ้อนวุ่นวาย นี่ทำให้การจัดกิจกรรมของเกมบนมือถือทำได้ลำบากกว่านั่นเอง
ตัวอย่างจากเกม Kung Fu House ที่เมนูเติม Serial Code จะมีให้เห็นเฉพาะบน Android ส่วนใน iOS ปุ่มนี้จะหายไป
แม้ว่าปัญหาเหล่านี้จะยังมีอยู่ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีวิธีแก้หรือวิธีบรรเทา หลายๆ เกมแก้ปัญหาการที่ผู้เล่นไม่มีบัตรเครดิตด้วยการประสานงานกับผู้ให้บริการด้านการเติมเงินรายอื่น และหาทางมาทำให้ใช้กับในเกมได้ หากจัดการปัญหาเหล่านี้ได้ก็น่าจะมีโอกาสที่เกมจะประสบความสำเร็จมากขึ้นครับ