10 สัตว์ยุคดึกดำบรรพ์ที่อายุมากที่สุดในโลก และยังมีชีวิตอยู่ในยุคปัจจุบัน

สัตว์ดึกดำบรรพ์

เพื่อนๆ คงจะทราบกันดีแล้วว่าไดโนเสาร์นั้นได้สูญพันธุ์ไปกว่า 65 ล้านปีแล้ว แต่มีบางทฤษฎีได้บอกว่าไดโนเสาร์นั้นไม่ได้สูญพันธุ์ไปทั้งหมดหรอกแต่มันได้วิวัฒนาการไปเป็นสัตว์ปีกหรือนกนั้นเอง แต่ทั้งนี้ยังมีสัตว์อีกหลายชนิดที่มีอายุมากกว่าพวกไดโนเสาร์ซะอีกและพวกมันสามารถอยู่รอดมาได้จนถึงในปัจจุบันและแทบจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงรูปร่างของมันเลย ในวันนี้เราจะพาเพื่อนๆ ไปดูกันว่ามีสัตว์อะไรบ้างที่ยังมีชีวิตอยู่จากในยุคดึกดำบรรพ์และแต่ละตัวมีอายุเท่าไหรกันบ้างไปชมกันเลยครับ

1. ปลาสเตอร์เจียน

ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่ : ครีเตเชียส-ปัจจุบัน
อายุประมาน : 145 ล้านปี

ปลาสเตอร์เจียน มีรูปร่างคล้ายปลาฉลาม มีหนามแหลมสั้น ๆ บริเวณหลัง หัว และเส้นข้างลำตัวไว้เพื่อป้องกันตัว มีหนวดทั้งหมด 2 คู่อยู่บริเวณปลายจมูก ปลายหัวแหลม ปากอยู่ใต้ลำตัว ลำตัวไม่มีเกล็ด ภายในปากไม่มีฟัน ตามีขนาดเล็ก ซึ่งหนวดของปลาสเตอร์เจียนนี้มีหน้าที่สัมผัสและรับคลื่นกระแสไฟฟ้าขณะที่ว่ายน้ำ เนื่องจากมันไม่สามารถมองเห็นวัตถุที่อยู่ใต้ของลำตัวได้ และมันมีขนาดใหญ่ได้ถึง 5 เมตรเลยทีเดียวและมีน้ำหนักได้ถึง 600 กิโลกรัม โดยปลาสเตอร์เจียนนั้นเป็นปลา 3 น้ำ คือสามารถอยู่ได้ทั้งน้ำเค็ม น้ำจืดและน้ำกร่อย นี้อาจเป็นสาเหตุให้มันมีชีวิตรอดมาถึงในปัจจุบันนั้นเอง แต่น่าเสียดายที่เจ้าสเตอร์เจียนนั้นกำลังจะสูญพันธุ์จากการล่าของมนุษย์เพื่อนำไข่ไปทำไข่ปลาคาร์เวียร์

ซากฟอสซิลปลาสเตอร์เจียน


2. แมลงสาบ

ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่ : คาร์บอนิเฟอรัส – ปัจจุบัน
อายุประมาน : 145 ล้านปี

แมลงสาบเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ใกล้ตัวมนุษย์มากที่สุดและมนุษย์ก็เกลียดมันมากที่สุดด้วยเช่นกัน มันมีลักษณะลำตัวยาวรีเป็นรูปไข่เป็นสีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม มีส่วนหัวซ่อนอยู่ใต้อก มีหนวดยาวคล้ายเส้นด้าย ขายาวมีหนามคลุม ตัวเต็มวัยมีทั้ง มีปีกและไม่มีปีก เป็นแมลงที่หากินตามพื้นดินเป็นหลักตามที่มืด ๆ หรือในเวลากลางคืน ไม่ชอบที่จะบินแต่ถ้ามันบินเมื่อไหร่ละก็นรกเกิดทันทีเพราะมันจะบินแบบไร้ทิศทาง และมันเป็นแมลงที่อึดและตายยากสุดๆ ถึงกับมีคำพูดติดตลกว่าหากเกิดสงครามนิวเคลียร์เจ้าแมลงสาบเนี่ยแหละจะเป็นสิ่งมีชีวิตสุดท้ายบนโลก

ซากฟอสซิลของแมลงสาบ


3. ไทรออปส์

ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่ : คาร์บอนิฟอรัส-ปัจจุบัน
อายุประมาน : 300 ล้านปี

ไทรออปส์ หรือ ที่เรียกกันว่ากุ้งไดโนเสาร์ เป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์เกิดในยุคคาร์บอนิฟอรัสหรือเมื่อ 300 ล้านปีที่แล้ว ถูกยกให้เป็นฟอสซิลที่ยังมีชีวิต มันไม่มีกระดูกสันหลัง อาศัยในน้ำจืด และมีขนาดเล็กประมาณ 1-3 นิ้วเท่านั้นเจ้าไทรออปส์นั้นมี 2 เพศ สามารถผสมพันธุ์ได้ในตัวเองแต่พบไม่บ่อยนัก ส่วนใหญ่เป็นเพศผู้ หรือเพศเมีย อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งไทรออปส์ตัวเมียจะใช้ขาสร้างถุงใส่ไข่ โดยไข่จะถูกหุ้มด้วยเปลือก ทั้งนี้เพื่อรักษาตัวอ่อนให้มีชีวิตอยู่ได้ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการฟักตัว เช่น ร้อนจัด หนาวจัด ไข่จะถูกฟักเป็นตัวเมื่อไข่แห้งเต็มที่ แล้วกลับมาเปียกน้ำอีกครั้งในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และนี้อาจเป็นสาเหตุว่าทำไม ตระกูลมันจึงอยู่รอดได้มาจวบจนทุกวันนี้

ซากฟอสซิลไทรออปส์


4. หอยงวงช้าง

ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่ : ไทรแอซซิค-ปัจจุบัน
อายุประมาน : 350 ล้านปี

เจ้าหอยงวงช้างนี้อยู่บนโลกมาก่อนที่จะมีไดโดนเสาร์ซะอีก มันใช้ชีวิตอยู่ในทะเลอันดามันและในแถบมหาสมุทรอินเดีย โดยร่างกายของมันปกคลุมไปด้วยเปลือกหลายชั้น และมีหนวดยาวเกือบ 100 เส้นใกล้ๆ กับปาก พวกมันจะใช้หนวดในการต่อสู้และป้องกันตัวจากพวกนักล่า โดยหอยงวงช้างมีการเคลื่อนที่แบบเดียวกับปลาหมึกด้วยการพ่นน้ำออกไปทางท่อไซฟอน ในปัจจุบันประเทศไทยสามารถเพาะเลี้ยงหอยงวงช้างได้แล้ว

ซากฟอสซิลหอยงวงช้าง


5. ปลาซีลาแคนท์

ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่ : ดีโวเนียน-ปัจจุบัน
อายุประมาน : 409 ล้านปี

ปลาซีลาแคนท์นั้นเป็นหนึ่งในปลาที่มีความเสี่ยงใกล้จะสูญพันธุ์มากที่สุดในปัจจุบัน พวกมันมีอยู่ด้วยกันสองสายพันธุ์โดยมันอาศัยอยู่ในระดับความลึกถึง 2,300 ฟุตใต้ท้องทะเลบริเวณชายฝั่งแถบแอฟริกาและอินโดนิเซีย ปลาพันธุ์นี้มีขนาดของลำตัว6.5 ฟุต มีน้ำหนักสูงสุดถึง 90 กิโลกรัม และมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 60 ปี พวกมันใช้เซ็นเซอร์ในการหาอาหารและสามารถขยายกรามให้กว้างขึ้นเพื่องับเหยื่อที่มีขนาดใหญ่ได้

ซากฟอสซิลปลาซีลาแคนท์


6. ปลาแลมป์เพรย์

ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่ : ดีโวเนียนตอนปลาย-ปัจจุบัน
อายุประมาน : 419.2 ล้านปี

ปลาแลมป์เพรย์นั้นเป็นปลาที่ถูกจัดว่าไม่มีขากรรไกร ลักษณะคล้ายปลาไหล ไม่มีเกล็ด ปากจะอยู่ลงมาทางด้านท้อง มีลักษณะเป็นวงกลมใช้สำหรับดูด มีฟันแหลมคมจำนวนมากอยู่ในอุ้งปาก มีลักษณะเพศแยกออกเป็นเพศผู้และเพศเมียชัดเจน ปลาแลมเพรย์แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ แบบธรรมดา กับ แบบปรสิต โดยแบบธรรมดานั้น จะอาศัยอยู่ตามลำธาร ช่วงชีวิตส่วนใหญ่จะเป็นระยะตัวอ่อนที่กินอาหารแบบกรอง ตัวเต็มวัยมีชีวิตอยู่ได้ 3-4 สัปดาห์หลังจากวางไข่ และแบบนั้นปรสิตจะใช้ฟันและลิ้นครูดเอาเนื้อของเหยื่อออก เพื่อให้เลือดของเหยื่อไหลผ่านได้สะดวก ปลาแลมป์เพรย์จะสร้างสารป้องกันการตกตะกอนของเลือดส่งไปที่แผลเพื่อดูดเลือดของเหยื่อจนตัวเหยื่อแห้งและตายไป

ซากฟอสซิลปลาแลมป์เพรย์


7. แมงดาทะเล

ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่ : ออร์โดวิเชียน–ปัจจุบัน
อายุประมาน : 485.4 ล้านปี

แมงดาทะเลนั้นอาศัยอยู่ในเขตทะเลน้ำตื้นเราสามารถพบมันได้ทั่วโลก ลักษณะของเจ้าแมงดาทะเลนั้นมีเปลือกแข็งคล้ายกับกระดอง และมันเป็นสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังและมีหางที่ยาวแหลม ในบางสายพันธุ์นั้นมีพิษร้ายแรง นอกจากนี้มันยังมีดวงตามากถึง 9 ดวง โดยมีดวงตาหลักสองดวงในการทำหน้าที่มองเห็น ส่วนที่เหลือจะทำหน้าที่ในการรับแสงเพื่อการเคลื่อนที่ สิ่งที่น่าทึ่งก็คือในช่วงระยะเวลากว่า 485 ล้านปีที่มันอยู่บนโลกมานั้นมันแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ของมันเลย

ซากฟอสซิลแมงดาทะเล


8. แมงกะพรุน

ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่ : แคมเบรียน – ปัจจุบัน
อายุประมาน : 505 ล้านปี

เจ้าสิ่งมีชีวิตรูปร่างเหมือนเยลลี่นี้ มันอาศัยอยู่ในทะเลมานานถึง 505 ล้านปีแล้ว โดยแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ของมันเลย โดยแมงกะพรุนเป็นสัตว์ที่ไม่มีสมองและระบบประสาท 90% ในร่างกายของมันประกอบไปด้วยน้ำ และพวกมันยังมีต่อมพิษว่า 5,000 ต่อมบนหนวดเพื่อไว้ป้องกันตัวและจับเหยื่อ ด้านล่างตอนกลางเป็นอวัยวะทำหน้าที่กินและย่อยอาหาร เราสามารถพบแมงกะพรุนได้ในทะเลทุกแห่งทั่วโลก

ซากฟอสซิลแมงกะพรุน


9. ฟองน้ำ

ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่ : อีดีแอคารัน – ปัจจุบัน
อายุประมาน : 635 ล้านปี

ฟองน้ำเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในทะเล โดยหลายๆ คนมักเข้าใจผิดว่ามันเป็นพืชชนิดหนึ่ง ฟองน้ำนั้นเป็นสัตว์หลายเซลล์ที่มีวิวัฒนาการต่ำสุด มีรูปร่างคล้ายแจกันที่มีรูพรุนเล็ก ๆ ทั่วตัว ซึ่งเป็นช่องทางให้น้ำผ่านเข้าไปในลำตัว และมีเซลล์เรียงกันสองชั้นแต่ยังไม่มีเส้นประสาทและกล้ามเนื้อที่แท้จริง ไม่มีอวัยวะและทางเดินอาหาร และมันมีความสามารถในการสร้างอวัยวะใหม่ขึ้นมาเพื่อทดแทนในส่วนที่ถูกตัดหรือหายไปอีกด้วย

ซากฟอสซิลฟองน้ำ


10. ไซยาโนแบคทีเรีย

ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่ : ทุกยุค
อายุประมาน : 3500 ล้านปี

ไซยาโนแบคทีเรียนั้นเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดบนโลกใบนี้ ซึ่งมันเป็นแบคทีเรียที่สังเคราะห์ด้วยแสงได้โดยมันเป็นสาหร่ายชนิดหนึ่งที่มีโครงสร้างของนิวเคลียสคล้ายคลึงกับนิวเคลียสของแบคทีเรีย และบางชนิดยังมีคุณสมบัติตรึงไนโตรเจนในอากาศได้ นอกจากนั้นยังมีคุณสมบัติทางชีวเคมีคล้ายแบคทีเรียด้วย แต่ต่างจากแบคทีเรีย เพราะสาหร่ายชนิดนี้มีคลอโรฟิลล์และมีการปล่อยออกซิเจนออกสู่สิ่งแวดล้อมจากกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง ซึ่งไม่พบในแบคทีเรีย เรียกง่ายๆ ว่ามันคือผู้ผลิตออกซิเจนให้เราได้หายใจนั่นเอง

ซากฟอสซิลไซยาโนแบคทีเรีย


เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับสิ่งมีชีวิตในยุคดึกดำบรรพ์ ที่พวกมันสามารถรักษาเผ่าพันธุ์เอาไว้ได้จนถึงปัจจุบัน ในบางตัวนั้นเป็นสัตว์ที่อยู่ใกล้ตัวเรามากๆ เช่นเจ้าแมลงสาบ และในบางตัวเราก็ล่ามันเพื่อนำมาเป็นอาหารจนแทบจะสูญพันธุ์กันไปเลยทีเดียว จะเห็นได้ว่าสัตว์เหล่านี้แทบจะไม่ได้วิวัฒนาการตัวเองเลยแต่พวกมันกลับมีชีวิตรอดมาได้เป็นล้านๆ ปี ซึ่งก็คงต้องหาข้อพิสูจน์กันต่อไปว่าพวกมันสามารถมีชีวิตรอดมาได้อย่างไร และนี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเท่านั้นนะครับ หากมีตัวไหนตกหล่นไปก็สามารถคอมเม้นต์ไว้ได้นะครับ


เรียบเรียงจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Cambrian
https://en.wikipedia.org/wiki/Sturgeon
https://en.wikipedia.org/wiki/Triops
https://en.wikipedia.org/wiki/Nautilus
https://en.wikipedia.org/wiki/Cockroach
https://en.wikipedia.org/wiki/Lamprey
https://en.wikipedia.org/wiki/Coelacanth
https://en.wikipedia.org/wiki/Horseshoe_crab
https://en.wikipedia.org/wiki/Jellyfish
https://en.wikipedia.org/wiki/Sponge
https://en.wikipedia.org/wiki/Cyanobacteria

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้