ช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้มีดราม่าเกิดขึ้นที่จังหวัดโอคายามะ ประเทศญี่ปุ่นครับ ซึ่งแต่เดิมนั้นระบบรถบัสสาธารณะของที่จังหวัดดังกล่าวได้ดำเนินการโดยบริษัทเรียวบิ (Ryobi) มาเป็นเวลานาน กระทั่งวันที่ 27 เมษายน 2018 ก็ได้มีบริษัทเมกุริน (Megurin) ได้เปิดให้บริการรถบัสเพิ่มขึ้นมาอีกเจ้า มิหนำซ้ำยังเก็บค่าโดยสารถูกกว่าบริษัทเรียวบิด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ดีไซน์ตัวถังรถของบริษัทเมกุรินยังมีสีเขียวสะดุดตา แถมยังตกแต่งลวดลายบนรถให้ชวนน่าขึ้นอีกเช่นกัน
ทีนี้ พนักงานเดินรถของบริษัทเรียวบิก็เริ่มรู้สึกไม่มั่นคงกับชีวิตแล้วครับ เพราะเหมือนกำลังโดนคุกคามเซฟโซนของตัวเอง ซึ่งพวกเขาก็ได้ร้องเรียนไปยังบริษัทให้มีมาตรการรับมือกับคู่แข่งเป็นการด่วน แต่ดูเหมือนว่าบริษัทเรียวบิจะไม่ค่อยมีความกระตือรือร้นที่จะขยับตัวอะไร ด้วยเหตุนี้ เหล่าพนักงานของเรียวบิจึงเริ่มทำการสไตรค์ทันที โดยปกติแล้ว ภาพที่เราได้เห็นจนชินตาคือ เวลาพนักงานในองค์กรทำการสไตรค์กัน ก็มักจะพากันหยุดงาน จนงานไม่เดิน เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปทั้งบริษัท แต่ในเคสของบริษัทเรียวบิกลับไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากบรรดาพนักงานยังคงออกเดินรถกันตามปกติ ทว่าที่พิเศษกว่านั้นคือ พวกเขาเลือกที่จะไม่เก็บค่าโดยสารตลอดทางแทน หรือพูดง่ายๆ ก็คือขับฟรีนั่นเอง
และจากการกระทำของพนักงานบริษัทเรียวบิ ก็ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากชาวเน็ตในญี่ปุ่นกันมากมาย ดังต่อไปนี้ครับ
"ไม่เข้าท่าเอาซะเลย พวกเขาเลือกที่จะทำงานฟรีๆ เนี่ยนะ!?"
"ฉันคิดว่าประท้วงหยุดการเดินรถพร้อมกันไปเลยน่าจะทำให้บริษัทกดดันมากกว่านะ"
"ไอเดียเยี่ยมเลย ฉันชอบตรงที่เขาพยายามจะทำอะไรให้มันดูแตกต่างเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่พวกเขาต้องการนะ"
"เคยได้ยินเหมือนกันว่ามีคนทำแบบนี้ที่ออสเตรเลีย และมันก็ได้ผลดีซะด้วย"
"ฉันคิดว่าการทำแบบนี้มันเป็นการปกป้องภาพลักษณ์ของบริษัทในระยะยาวนะ แต่สงสัยว่าการทำแบบนี้จะส่งผลกระทบกับทั้งสองฝ่ายยังไง"
ดูๆ แล้วก็แปลกไปอีกแบบนะครับ กับการนัดกันสไตรค์ของพนักงานด้วยวิธีนี้ ซึ่งอย่างน้อยก็น่าจะดีกว่าปัญหารถแท็กซี่กับอูเบอร์ในบ้านเรา ที่ถึงขั้นไปล้อมรถและพยายามหาเรื่องทำร้ายร่างกายกัน จริงๆ แล้วในโลกของธุรกิจ ถ้าคู่แข่งเขาเข้ามาด้วยความสดใหม่และราคาที่ถูกกว่า ทางฝ่ายที่อยู่มาก่อนก็ต้องหาวิธีแก้ทางกันเอาเอง บ้างก็อาจจะเป็นการปรับลดราคาให้ทัดเทียมคู่แข่ง หรือไปพัฒนาด้านบริการให้สมกับราคาที่แพงกว่าอีกเจ้า เป็นต้น ถ้าคนในองค์กรคิดบวกกันได้ ปัญหาเหล่านี้อาจจะน้อยลงตามมาเอง
เครดิต: Soranews24