รวม 4 ทัศนคติสุดป่วยของมนุษย์เงินเดือนญี่ปุ่นวัยกลางคน ที่บ่อนทำลายสังคมทำงานออฟฟิศ

แชร์เรื่องนี้:
รวม 4 ทัศนคติสุดป่วยของมนุษย์เงินเดือนญี่ปุ่นวัยกลางคน ที่บ่อนทำลายสังคมทำงานออฟฟิศ

ภาพลักษณ์ของญี่ปุ่นในสายตาคนไทยอย่างเราๆ มักจะมองว่าเป็นประเทศที่ให้คุณค่ากับวัฒนธรรมดั้งเดิมและให้ความสำคัญกับระบบอาวุโสและผู้มีประสบการณ์ แต่เพื่อนๆ เชื่อหรือไม่ครับว่าในความเป็นจริงนั้น บางครั้งระบบที่กล่าวมาก็เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ช่องว่างระหว่างวัยกลางคนกับวัยรุ่นขยายตัวมากขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะสังคมในที่ทำงานนี่แหละครับ ซึ่งหนุ่มสาวรุ่นใหม่ไฟแรงมักจะทำงานด้วยการนำสไตล์หรือวิธีคิดแบบใหม่ๆ มาปรับใช้ตามยุคสมัย ทว่ารูปแบบการทำงานใหม่ๆ กลับสร้างความไม่พอใจกับพนักงานรุ่นเก๋าที่อยู่มานานนมซะงั้น ซ้ำร้ายกว่านั้น ประเด็นนี้ดันค่อยๆ ลุกลามจนทำให้วัฒนธรรมองค์กรไม่ค่อยเกิดการจุดประกายอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาได้ เพราะไปเจอตอชิ้นเบ้อเร่อ ก็คือเหล่าพนักงานอาวุโสในบริษัทนั่นเอง 

และแล้วศาสตราจารย์ โทชิยูกิ ทานากะ ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยไทโช ก็ได้ออกมาให้ความรู้ว่า ระบบนี้มีชื่อเรียกคือ กฎโอสซัง หรือ กฎวัยกลางคน ถ้าหากใครที่คิดจะมาทำงานในญี่ปุ่น อย่างน้อยก็จะได้เผชิญกับวิธีคิดแบบโบราณๆ ของคนที่อยู่มานานแน่นอน ว่าแล้วเรามาดูกันดีกว่าครับ ว่า 4 แนวคิดของพนักงานรุ่นเดอะที่คนรุ่นใหม่ร้องยี้กันในแวดวงออฟฟิศจะมีอะไรบ้าง


1. แนวคิดที่ว่า "ยิ่งใช้เวลาทำงานนานมากเท่าไหร่ ประสิทธิภาพในการทำงานก็จะยิ่งสูงขึ้น และภาพรวมของบริษัทก็จะดีตามไปด้วย"

บริษัทต่างๆ ในญี่ปุ่นนั้นขึ้นชื่อเรื่องใช้แรงงานคนเกินเวลามาแต่ไหนแต่ไรแล้วครับ หลายๆ บริษัทมีการปล่อยให้พนักงานทำงานล่วงเวลานานๆ ติดต่อกันหลายวัน จนมีพนักงานทนแรงกดดันไม่ไหว เลือกจบปัญหาด้วยการฆ่าตัวตายก็เยอะอยู่ แต่ก็จะมีพนักงานรุ่นใหม่อีกไม่น้อยที่ได้รับการปลูกฝังจากคนรุ่นก่อนๆ ว่าต้องขยันทำงานเกินกว่าที่บริษัทกำหนดไว้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการก้าวหน้าในอนาคต ซึ่งจริงๆ แล้วการให้พนักงานทำงานตามกรอบเวลาปกติ ไม่มีให้ทำล่วงเวลาโดยไม่จำเป็น แล้วมอบหมายงานให้ทำอย่างหลากหลายแทน (ที่ยังไม่เกินขอบเขตของ Job Description ที่ตกลงกันก่อนเข้ามาเป็นพนักงาน) จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้พนักงานได้ดีกว่าเสียอีก


2. แนวที่คิดว่า "หลังทำงานมาทั้งวัน ต้องไปสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงาน เพื่อช่วยให้ทีมเวิร์คดีขึ้น"

ทำงานมาก็เหนื่อย เผลอๆ มีล่วงเวลาด้วย หลายคนอยากกลับบ้านไปพักผ่อนใจจะขาด แต่ก็ต้องมาเจอพวกรุ่นพี่ในบริษัทชวนไปกินดื่มข้างนอกอีก ครั้นจะปฏิเสธก็กลัวเสียมารยาท แถมเครื่องดื่มก็มีแต่แอลกอฮอล์ พอเหนื่อย + ดื่ม + นอนดึก ผสมกัน จะให้ตื่นเช้ามาทำงานในวันรุ่งขึ้นนี่แทบจะเป็นมิชชั่นอิมพอสซิเบิ้ลเลย ทางที่ดี ถ้าอยากจะพัฒนาทีมเวิร์คในการทำงานที่ดี ควรใช้วิธีเปิดอกพูดคุยกันในที่ประชุม หรือสานสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานด้วยไมตรีจิตจะเห็นผลกว่าเยอะเลย


3. แนวคิดที่ว่า "ควรอยู่ในตำแหน่งนั้นๆ อย่างน้อยสัก 3 ปี เพื่อให้เข้าใจและทำงานในหน้าที่นั้นๆ ได้ดีก่อน"

ค่านิยมนี้ค่อนข้างหนักครับ เพราะมันเหมือนเป็นการกดคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถไม่ให้เติบโตแบบก้าวกระโดด บางคนมีศักยภาพมากพอที่จะไปอยู่ระดับสูงๆ แต่ต้องมาเจอวัฒนธรรมที่บีบให้พวกเขาโดนดองอยู่ในตำแหน่งที่ทำให้เขาใช้ฝีมือได้ไม่เต็มที่ ทำให้เสียเวลาโดยใช่เหตุ หลายๆ องค์กรในญี่ปุ่นเลือกคนเข้ามาทำงานโดยดูจากชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยที่คนๆ นั้นจบมา แต่ไม่ค่อยใส่ใจสาขาที่พวกเขาเรียนมาเท่าไหร่นัก อีกทั้งยังมีค่านิยมโบร่ำโบราณที่จะเลือกโปรโมทพนักงานคนที่ทำงานอยู่ในแผนกใดแผนกหนึ่งนานๆ มากกว่าคนที่มีผลงานเด่นเป็นที่ประจักษ์


4. แนวคิดที่ว่า "การใช้เทคโนโลยีหรือเทคนิคใหม่ๆ มาปรับใช้ในการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพ ก็ไม่ต่างอะไรกับความขี้เกียจ รักสบายเกินไป"

ประเด็นนี้น่าจะหลุดมาจากยุคโครมันยองหรือดึกดำบรรพ์พอดูเลยล่ะ เนื่องจากทุกวันนี้โลกเราหมุนอยู่ตลอดเวลา สิ่งต่างๆ ถูกนำเข้ามาแทนที่เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานที่มากขึ้น การร่นระยะเวลาในการทำงานให้สั้นลง แต่ได้ประสิทธิภาพเท่าเดิมหรือดีขึ้น ผลประโยชน์ก็ตกอยู่ที่ตัวพนักงานและองค์กรเต็มๆ ครับ แต่ไหนแต่ไรมา ประเทศฝั่งตะวันตกจะพยายามชูไอเดีย Work Smart มากกว่า Word Hard มาตลอด ถ้าเราไม่สามารถปรับตัวให้ผันแปรไปตามกระแสเทคโนโลยีต่างๆ ได้ สุดท้ายเราก็จะไม่ต่างอะไรกับสิ่งมีชีวิตที่ตกยุคดีๆ นี่เอง


บทความนี้มีการเรียบเรียงใหม่จาก Rocketnews24

เครดิตรูปภาพ: Pakutaso

แชร์เรื่องนี้:
Vesper
About the Author

Vesper

เหนื่อยจากเกมก็ลองหยุดพัก แต่ถ้าเหนื่อยจากรักก็จงหยุดเถอะ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ