อารัมภบทแห่งสงครามร้อยปีระหว่างอังกฤษ-ฝรั่งเศส

แชร์เรื่องนี้:
อารัมภบทแห่งสงครามร้อยปีระหว่างอังกฤษ-ฝรั่งเศส

ข้อมูลจากนิตยสาร Future Gamer Iss.219
บทความโดย ณัฐพงษ์ วิรุฬหกุล

 

 

บนหน้าประวัติศาสตร์ของโลกคงจะไม่มีสงครามใดอีกแล้วล่ะครับที่จะยืดเยื้อยาวนานได้มากไปกว่าสงครามที่รู้จักกันดีในนาม “สงครามร้อยปี” (Hundred Years’ War) ชาวเกมเมอร์ผู้ที่ไม่สนใจในประวัติศาสตร์ยุโรปอาจจะไม่คุ้นเคยกับชื่อนี้สักเท่าใดนัก ทว่าสำหรับชาวเกมเมอร์ผู้หลงใหลในเกมแนว Grand Strategy แล้ว ชื่อของสงครามร้อยปีคงจะเป็นสิ่งที่คุณคงจะคุ้นเคยกันดี เพราะมันก็คือเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นและเป็นเหมือนจุดเชื่อมต่อระหว่างโคตร Grand Strategy 2 เกมซึ่งก็คือ Crusader Kings II และ Europa Universalis IV นั่นเองครับ แน่นอนว่าอะไรก็ได้ของเราในเดือนนี้ก็จะกล่าวถึงสงครามที่กินระยะเวลายาวนานกว่าร้อยปีนี้กัน

“สงครามร้อยปี” (Hundred Years’ War) จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่สงครามที่รบราฆ่าฟันกันตลอดหนึ่งศตวรรษเหมือนชื่อ แต่ในความเป็นจริงแล้วสงครามร้อยปีเป็นชื่อเรียกรวมๆ ของสงครามที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลากว่าหนึ่งศตวรรษระหว่าง ราชวงศ์แพนทาเจเนท (House of Plantagenet) ผู้ปกครองอังกฤษกับ ราชวงศ์วาลัว (House of Valois) ผู้ปกครองฝรั่งเศส ในช่วงปี ค.ศ. 1337-1453 โดยความขัดแย้งระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสในครั้งนี้กินเวลารวมแล้วก็นับได้ถึง 116 ปีด้วยกัน

 

 

ถึงแม้สงครามร้อยปีจะเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1337 ทว่าความขัดแย้งระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศสก็ได้เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นมานานแล้ว ซึ่งถ้าคุณได้ติดตามบทความของเรามาตลอด คุณก็น่าจะยังคงจำได้ถึงเรื่องราวของ กษัตริย์วิลเลียมผู้พิชิต (William the Conqueror) ผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นดยุคแห่งนอร์มันดีของฝรั่งเศสก่อนที่จะได้กลายมาเป็นกษัตริย์ของอังกฤษในภายหลัง การที่กษัตริย์วิลเลียมผู้เป็นดยุคแห่งนอร์มันดีได้กลายเป็นกษัตริย์แห่งอังกฤษนั้นได้ส่งผลให้ดินแดนริมชายฝั่งตอนเหนือเกือบทั้งหมดที่เป็นของพระองค์ได้เปลี่ยนมือจากฝรั่งเศสกลายเป็นของอังกฤษโดยชอบธรรม และในอีกหลายชั่วอายุคนต่อมา ก็มีดินแดนอีกหลายส่วนที่หลุดมือไปจากฝรั่งเศสด้วยเหตุผลทางการทูต นี่เองทำให้กษัตริย์ฝรั่งเศสรู้สึกขุ่นข้องหมองใจและเกิดสงครามยิบย่อยขึ้นตลอดมานับแต่นั้น (อังกฤษในช่วงกลางศตวรรษที่ 12 ถึงต้นศตวรรษที่ 13 นับได้ว่าเป็นอาณาจักรที่กว้างใหญ่และทรงอิทธิพลมาก โดยอังกฤษในช่วงนี้จะเป็นที่รู้จักกันดีโดยเหล่านักประวัติศาสตร์ในชื่อว่า “จักรวรรดิอองชู” (Angevin Empire) )

และกาลเวลาก็เปลี่ยนผ่านไปจนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1316 เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 10 แห่งฝรั่งเศส (Louis X of France) เสด็จสวรรคตและไม่มีพระราชโอรส นั่นส่งผลให้พระราชธิดาของพระองค์ควรจะได้ขึ้นเป็นราชินีแห่งฝรั่งเศสแทน ทว่าพระเจ้าฟิลิปที่ 5 แห่งฝรั่งเศส (Philip V of France) ผู้เป็นพระอนุชากลับได้ขึ้นเป็นกษัตริย์แทนโดยการใช้ข้ออ้างที่ว่า “ผู้หญิงไม่ควรมีสิทธิ์ในราชบัลลังก์” นี่เองก็คือเหตุผลที่ทำให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมา เพราะเมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ลงในปี ค.ศ. 1322 พระองค์ก็ไม่มีพระราชโอรส และพระเจ้าชาร์ลที่ 4 แห่งฝรั่งเศส (Charles IV of France) ผู้เป็นพระอนุชาและได้ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งฝรั่งเศสในอันดับถัดมาก็ไม่มีพระราชโอรสเช่นกัน ดังนั้นสิทธิ์ในบัลลังก์แห่งฝรั่งเศสจึงได้หลุดลอยไปถึงมือของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษ (Edward III of England) ผู้เป็นพระนัดดาของพระเจ้าชาร์ลที่ 4 และเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษ (Edward II of England) กับเจ้าหญิงอิซาเบลลาแห่งฝรั่งเศส (Isabella of France) ผู้เป็นพระขนิษฐาที่เหลืออยู่หนึ่งเดียวของกษัตริย์ฝรั่งเศสทั้ง 3 พระองค์ที่เรากล่าวถึงไปก่อนหน้า

 

 

แน่นอนว่าไม่มีใครหรอกที่อยากได้คนต่างชาติมาเป็นกษัตริย์ของตน ดังนั้นเหล่าขุนนางของฝรั่งเศสจึงทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะไม่ให้พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 ได้กลายมาเป็นกษัตริย์ของพวกตน ซึ่งหลังจากครุ่นคิดอยู่นาน พวกเขาก็ได้หยิบยกเอากฎหมายแซลิก (Salic Law) อันเป็นกฎหมายของพวกแฟรงก์ขึ้นมาอ้าง โดยหนึ่งในกฎหมายแซลิกก็ได้ระบุเอาไว้ว่า “ห้ามสตรีสืบมรดก โดยเฉพาะในกรณีของการปกครองดินแดนแว่นแคว้นต่างๆ” ดังนั้นเจ้าหญิงอิซาเบลลาแห่งฝรั่งเศสรวมถึงพระราชโอรสของพระนางหรือก็คือพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษจึงไม่มีสิทธิ์ในราชบัลลังก์แห่งฝรั่งเศส ด้วยเหตุนี้เองพระเจ้าฟิลิปที่ 6 (Philip VI of France) ผู้เป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าฟิลิปที่ 3 แห่งฝรั่งเศส (Philip III of France) จึงได้ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งฝรั่งเศสแทนและพระเจ้าฟิลิปที่ 6 พระองค์นี้เองก็คือปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์วาลัว

ในช่วงที่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 และพระเจ้าฟิลิปที่ 6 ขึ้นครองบัลลังก์ ช่วงนี้เองครับที่ความขัดแย้งที่ตั้งเค้ามาอย่างยาวนานระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศสดำเนินมาจนถึงจุดแตกหัก โดยในขณะที่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 ได้เข้ารุกรานสก็อตแลนด์ พระเจ้าฟิลิปที่ 6 ก็ได้อ้างสนธิสัญญาพันธมิตรระหว่างฝรั่งเศสกับสก็อตแลนด์ที่ถูกทำไว้โดยพระเจ้าชาร์ลที่ 4 ในการเคลื่อนทัพเรือเข้าสู่ช่องแคบอังกฤษในปี ค.ศ. 1336 นี่เองทำให้พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดตัดสินใจที่จะเปลี่ยนเป้าหมายหลักจากการเคลื่อนทัพขึ้นเหนือสู่สก็อตแลนด์กลับกลายเป็นยกพลขึ้นบกสู่ยุโรปแทน...
...นี่เองก็คืออารัมภบทที่จะนำไปสู่สงครามร้อยปีซึ่งเราจะกล่าวถึงกันในบทต่อไปครับ...

 

 

แชร์เรื่องนี้:
Dark_Libra
About the Author

Dark_Libra

Everything in this world comes down to the matter of ponytail

เรื่องที่คุณอาจสนใจ