ตอนที่ Clair Obscur: Expedition 33 เปิดตัวครั้งแรกในงานโชว์เคสของ Microsoft เมื่อสักราวๆ ปีก่อน นอกจากความว้าวและชวนให้ตื่นตาในช่วงแรก มันก็ยังนำมาซึ่งความสงสัยและ “กังขา” อยู่มากมาย ไม่ว่าจะการเป็นเกมตะวันตกที่พยายามจะทำสไตล์ JRPG, นำเสนอ Turn-based แต่ดันมี QTE และยังเป็นเกมแรกของทางสตูดิโอที่มีทีมงานเพียง 30 คน ไม่ว่าจะมองมันมุมไนก็ดูจะเป็นงานที่เสี่ยงและอาจจะเกินมือไปเสียทุกภาคส่วน คือเกมน่าสนใจก็จริง แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะวางใจในคุณภาพ
ทว่ามันก็คงเหมือนกับนักสำรวจหรือเหล่าขบวน Expedition ระลอกแล้วระลอกเล่าในเกม ที่หากไม่ยอมออกไปท้าทายกับความเสี่ยง พวกเขาก็คงไม่ได้เจอความหวังครั้งใหม่ ฉันใดก็ฉันนั้น ทุกความขัดแย้งจากหลากองค์ประกอบของเกมที่ยังให้เราคิดกังขาและกังวลไปกันเองนั้น ถูกลบล้างไปจนแทบหมดสิ้นเพียงแค่เล่นเกมจบ Act แรก และทำให้ผู้เล่นรับรู้ได้ทันทีว่า Clair Obscur: Expedition 33 ไม่ใช่แค่เกมที่ทำมาเพื่อลองผิดลองถูกโดยผู้พัฒนาหน้าใหม่ แต่เป็นเกมที่ถูกคิดมาอย่างดีและมุ่งมั่นว่าว่าพวกเขาอยากจะมาในหนทางที่แหวกจากขนบเดิมๆ และบรรจงลงมือทำอย่างตั้งใจด้วยแพสชั่นอันเปี่ยมล้น
ในทุกการสำรวจ ย่อมมีสิ่งที่ผู้มาก่อนต้องส่งต่อถึงคนรุ่นหลัง และ Clair Obscur: Expedition 33 คือผลของการตกตะกอน Genre เกม JRPG ในอดีต ผสมผสานความเป็นตะวันตกและตะวันออกได้อย่างลงตัวน่าทึ่งที่สุดเกมหนึ่ง
นี่คือผลงานชิ้นแรกของ Sandfall interactive ผู้พัฒนาหน้าใหม่ไฟแรงจากฝรั่งเศสที่สถาปนาตัวเองขึ้นเป็นหนึ่งในทีมสร้าง RPG ชั้นเยี่ยมน่าจับตามองของศักราชนี้แล้วเรียบร้อย
เนื้อเรื่อง
“วันพรุ่งนี้เธอจะตื่นขึ้นมาและเขียนเลข 33 ลงไป”
ปีแล้วปีเล่า “ผู้ขีดเขียน” จะตื่นขึ้นจากการหลับไหลและเขียนเลขต้องสาปใหม่ลงไปบนเสา Monolith แต่ละปีตัวเลขจะลดลงเรื่อยๆ ผู้ที่มีอายุตรงกับเลขบน Monolith จะสลายหายกลายเป็นอากาศธาตุไป และในวันนี้ หลังจาก 67 ปีผ่านไป กลุ่มสำรวจที่ 33 จะออกปฏิบัติภารกิจสุดท้ายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของพวกเขา
“ทำลายล้าง “ผู้ขีดเขียน” เพื่อที่เธอจะไม่อาจเขียนความตายของพวกเราได้อีกต่อไป”
เป็นเรื่องย่อที่เรียกความสนใจให้กับผู้เล่นได้ตั้งแต่ตัวอย่างแรกๆ กันเลยครับ สำหรับ Clair Obscur: Expedition 33 ที่นำเสนอโลกในรูปแบบที่ความตายสำหรับมนุษย์นั้นอยู่แค่เอื้อมจริงๆ แค่อยู่เฉยๆ ในปีหนึ่งที่ตื่นขึ้นมาก็สามารถตายได้โดยไม่มีเหตุและผล และกลายเป็นว่าทางรอดเดียวคือการล่องเรือออกทะเลไปพบกับอันตรายที่ยิ่งใหญ่กว่าเพียงเพื่อจะเสาะแสวงหาหนทางทำลายล้างคำสาป ซึ่งแม้หากทำไม่สำเร็จ ก็จะต้องส่งองค์ความรู้ให้คนรุ่นหลังต่อไปดั่งคำขวัญของพวกเขา “แม้นหากมีใครล้มลง คนที่เหลือจะต้องก้าวต่อไป”
Expedition 33 คือปฏิบัติการณ์ของขวบปีในเกม ไม่ใช่ครั้งที่ 33 แต่มันคือตัวเลขล่าสุดที่ผู้ขีดเขียนได้วาดลงบนเสายักษ์กลางมหาสมุทธ จุดหมายสุดท้ายที่เหล่าคณะสำรวจต้องฝ่าไปให้ถึง ทั้งนี้การสำรวจจะมีขึ้นในแทบทุกๆ ปี ดังนั้นแล้วผู้เล่นอาจอนุมานได้ว่าเหตุการณ์ในเกมคือการออกสำรวจครั้งที่ 68 ครับ ซึ่งแน่นอนว่าออกปฏิบัติการณ์ไปมากมายขนาดนี้แล้วยังไม่สำเร็จ ผู้คนจะเหนื่อยหน่ายหรือปลงตกก็คงไม่แปลก และฉากแรกของเกมก็ทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวของภาวะการณ์ไร้ความหวัง และไม่คาดหวังของผู้คนได้เป็นอย่างดีภายในไม่ถึงชั่วโมงแรกของเกม จากการให้ผู้เล่นได้เดินผ่านตัวเมืองในวันที่ “ผู้ขีดเขียน” กำลังจะตื่น ขณะที่ในเมืองกำลังจัดสิ่งที่คล้ายๆ เทศกาลส่งวิญญาณสำหรับผู้ที่อายุ 33 ปี
ผู้เล่นจะได้พบกับลูกๆ ที่มาส่งพ่อแม่, น้องที่รอส่งพี่, กิจกรรมรื่นเริงสุดท้ายก่อนความตายจะมาเยือน, การที่บางคนยังไม่มีลูกกลายเป็นเรื่องเห็นแก่ตัวเพราะถือว่าไม่สานต่อเผ่าพันธุ์ มีแม้กระทั่งคนที่กลายเป็นลัทธิบูชาผู้ขีดเขียนก็มี เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของการนำเสนอโลกทัศน์ในช่วงแรกของเกม ซึ่งค่อนข้างฉายให้เห็นภาพชัดเจน แต่กับผู้ที่ชอบคุยหรือสำรวจก็จะได้รับรู้เกร็ดต่างๆ มากมายยิ่งขึ้น
ตัวเกมเริ่มต้นด้วยความซึมเซาด้วยซีนดังกล่าว แต่ก็ปลุกเร้าผู้เล่นด้วยกลุ่มตัวเอกในซีนถัดมาที่แม้จะไม่มีใครคาดหวัง แม้ว่าจำนวนคนจะน้อยลงในทุกๆ ปี แต่พวกเขาก็ยังอยากยึดมั่นในภารกิจจากรุ่นสู่รุ่น เพื่ออนาคตของคนข้างหลังจะไม่ต้องเผชิญคำสาปอีกต่อไป จากนั้นเกมจะพาเราไปเจอกับความสูญเสีย มิตรภาพ การต่อสู้ การเอาชนะตัวเอง สายสัมพันธ์ที่แกร่งขึ้นของเพื่อนๆ และครอบครัวก่อนจะจบ Act 1 ด้วยความหักมุมแบบแทบตบหัวเราทิ่ม! จำได้ว่าตอนเล่นจบ Act 1 แล้วต้องปิดเกมไปนอนเพราะดึกมากแล้ว เล่นเอาแทบนอนไม่หลับ เพราะคำถามมากมายที่วนเวียนในหัว แต่นั่นก็ทำให้เรามั่นใจได้ว่าแค่ Act 1 ก็เอาเราอยู่หมัด มันมีความอีโมชันแนล ความเอาใจช่วย แม้พวกเราจะรู้จักพวกเขาได้ไม่นาน เอาเป็นว่าทำถึงแบบไม่คิดว่าจะเอาเรื่องขนาดนี้
ตัวเกมมีให้เล่น 3 Act และต้องบอกว่าทั้ง 3 Act ไม่ใช่แค่มีเรื่องราวต่อเนื่องกัน แต่เกมเล่าแยกธีมโดยที่คงความเป็นเนื้อเดียวกันได้อย่างน่าสนใจ ในแต่ละ Act ผู้เล่นอาจจะมีการตั้งคำถามที่ต้องการคำตอบไม่เหมือนกัน ซึ่งสุดท้ายตัวเกมก็สามารถขมวดปมทุกอย่างได้อย่างน่าประทับใจ และคำพูดบางคำที่ตัวละครเหมือนจะพูดปัดๆ ในทีแรกก็กลายเป็นแก่นเรื่องหลักได้อย่างคมคาย
ส่วนหนึ่งส่วนใหญ่ก็อาจจะให้เครดิตส่วนของการนำเสนอครับ เราอาจจะรับรู้เรื่องราวหรือเซ็ตติ้งของโลกจากบทสนทนาของตัวละคร และเข้าใจมันมากยิ่งขึ้นเมื่อไล่อ่านบันทึกของหน่วยสำรวจยุคก่อนหน้าซึ่งถูกทิ้งไว้ตามฉากต่างๆ แต่สิ่งที่ทำให้การเล่าเรื่องของเกมนี้สมบูรณ์ไปอีกระดับคือคัตซีนคณภาพสูงระดับที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า RPG แฟรนไชส์ใหญ่ๆ เลย คือลำพังภาพก็สวยอยู่แล้ว แต่คัตซีนเกมนี้มีการกำกับมุมกล้องอย่างประณีต โดยเฉพาะซีนเผด็จศึกศัตรูตามเนื้อเรื่องบางตัวคือจะเท่ไปไหน ขณะที่สีหน้าตัวละครก็ทำได้ดี แสดงอารมณ์ได้ชัดแม้ไม่ต้องคุย ทุกภาคส่วนล้วนควบรวมออกมาทำให้การเล่าเรื่องของ Clair Obscur: Expedition 33 มีคุณภาพสูงจนก้าวข้ามความคาดหวังของหลายๆ คนได้อย่างสวยงาม
พูดถึงความคาดหวัง เกมนี้ยังเล่าความสัมพันธ์ในปาร์ตี้ของตัวเอกได้ดีจัดจนคาดไม่ถึงเหมือนกัน คือในเวลาที่ไม่ได้มากมายเมื่อเทียบกับเกม RPG อื่นๆ แต่ทุกตัวละครก็ชัดเจนในความเป็นตัวเอง มีซีนที่แสดงถึงตัวตน ความนึกคิดต่อปมในใจ และการปฏิบัติตัวกับคนในปาร์ตี้ที่แตกต่างกันไป Gustave ที่แม้กล้าหาญ แต่ก็ยังกลัวจะสูญเสีย, Maelle ที่คิดว่าออกมาตายข้างนอกคงดีกว่าอยู่รอความตายที่เมือง, Lune ที่หมกมุ่นกับภารกิจเพราะปมของพ่อแม่, Sciel ที่ชิลๆ และใจเย็นได้กับทุกเรื่องเพราะตระหนักถึงความตายที่ใกล้ตัว, Monoco ที่อยากผจญภัยกับ Verso อีกสักครั้งแต่ทำซึนฯ, Verso ที่งำความลับบางอย่างและทำตัวมีพิรุธเกือบตลอดเกม และ Esquire ตัวละครพาหนะของทีมเราที่น่ารักนุ่มฟูและฮีลใจสุดๆ เป็นตัวละครที่ผมชอบมากๆ พ่อถังไวน์ไมโครเวฟที่พร้อมปลอบโยนทุกคนด้วยอ้อมกอดในวันที่ปาร์ตี้มีแต่เรื่องร้ายๆ
ทั้งนี้ตัวละครแต่ละตัวก็จะมีค่าความสัมพันธ์ครับ ซึ่งยิ่งค่าความสัมพันธ์สูงก็จะมีการปลดล็อคบางอย่างของตัวละครนั้นๆ มาเป็นรางวัล ระบบนี้จะคล้ายกับ Persona เลย แค่ไม่ซับซ้อนเท่า แต่ก็มีการเล่าเรื่องเสริมในประเด็นรองๆ ของแต่ละคนได้ดีไม่แพ้กัน
น่าเสียดายที่แม้โลกเกมจะน่าสนใจ แต่เราสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้แค่บันทึกของเหล่านักสำรวจจากอดีตครับ ผมอาจจะต้องการ Lore ของสถานที่ต่างๆ ตัวเมือง ตัวละครเสริม หรือเหล่ามอนสเตอร์ให้อ่านในเกมมากกว่านี้ เพราะในเมื่อโลกทัศน์ทำออกมามาได้ดีมากๆ แล้ว มันจึงน่าเสียดายที่ไม่มีอะไรให้เราสามารถหาอ่านและอินเข้าไปเพิ่มเติมได้มากกว่าที่มีอยู่
เสียง
Clair Obscur: Expedition 33 มีเสียงพากย์ 2 ถาษาคืออังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิดของทีมพัฒนาครับ สำหรับใครที่กังวลเห็นราคาขายเกมไม่แพงแล้วกลัวว่าจะเป็นเกมทุนต่ำไม่ลงทุนด้านต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องเสียงพากย์ ผมก็บอกเลยว่าหายห่วงครับ แม้ตัวเกมอาจจะไม่ได้ฟูลว็อยส์ทุกส่วนแต่ก็เรียกได้ว่าเกือบจะฟูลว็อยส์แล้วครับ มีแค่เควสต์เล็กๆ บางจุดเท่านั้นที่ไม่มีการพากย์ นอกนั้นเควสต์หลัก เควสต์รอง คัตซีน คุยกับ NPC ตามทางล้วนมีเสียงพากย์ให้ทั้งสิ้น แล้วก็นักพากย์ไม่ใช่ไก่กาอาราเล่นะครับ ถ้าลองไปดูเครดิตจะเห็นชื่อของนักพากย์เบอร์ใหญ่อย่าง Ben Starr (Clive – FF16) หรือมีแม้กระทั่งดาราดังอย่าง Andy Serkis (Gollum) และ Charlie Cox (Daredevil) มาให้เสียง Gustave ตัวเอกของเรื่องราวอีกด้วย
ซึ่งนั่นทำให้เกมนี้งานพากย์เสียงออกมายอดเยี่ยมแทบจะไร้ที่ติ ยิ่งเมื่อรวมกับงานกราฟิกชั้นเลิศด้วยแล้ว มันก็ช่วยส่งทั้งอารมณ์และความรู้สึกของเรื่องราวและตัวละครถึงผู้เล่นได้แบบไร้รอยต่อ ลื่นไหล ไม่มีติดขัด ตัวเกมยังมีงาน Soundtrack ระดับชวนว้าวอีกหลายแทรค ที่ไม่ใช่แค่ส่งเสริมอารมณ์เกม แต่เปิดฟังเพียวๆ ก็ยังสุนทรีย์ได้ไม่ยาก แบบว่าเอามาขายแยกยังได้ ของดีจริงๆ
จะมีติดอยู่อย่างเดียวสำหรับเรื่องเสียงคือเพลงประกอบ บางครั้งจู่ๆ มันจะขาดช่วงและหายไปดื้อๆ แบบไม่มีเหตุผล เจออยู่ 4-5 ครั้ง แม้อาจไม่ได้ส่งผลกับเกมขนาดนั้น เพราะพอโหลดเข้าพื้นที่ถัดไปเพลงก็จะกลับมาเอง แต่มันก็ชวนให้ความเพลินมันขาดช่วงไปมาและติดขัดในใจอยู่สักหน่อย
กราฟิกและเพอร์ฟอแมนซ์
ถ้าจะมีเกมไหนที่ผมอยากจะฝืนเล่น Quality Mode บน PS5 เครื่องไม่ Pro ของผมมากที่สุดล่ะก็ Clair Obscur: Expedition 33 คือเกมนั้นเลยครับ โอเคแหละว่าภาพบน Performance Mode ก็ไม่ได้แย่ สวยงามตามยุคสมัยอยู่เน้นเล่นเอาเฟรมเรตเป็นหลัก เล่นได้ลื่นๆ แม้มีวูบบ้างบางช่วงแต่ภาพรวมก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่พอลองปรับภาพเป็นโหมด Quality แล้ว แทบจะไม่อยากปรับกลับมาเลยครับ มันต่างกันขนาดนั้นเลยแหละ ทั้งแสงเงา ทั้งความคมชัด รายละเอียดของเท็กซ์เจอร์ ราวฟ้ากับเหว ติดอย่างเดียวตรงที่รันไม่น่าถึง 30 เฟรม คือหากเป็นเกม Turn-Base ที่ไม่ได้ต้องแอคชั่นอะไรมาก ผมคงฝืนเล่น Quality Mode ไปเลย เพราะมันสวยบาดตางามบาดใจจนไม่อยากเปลี่ยนกลับไปจริงๆ ดังนั้นแล้วหากใครมีเครื่อง PS5 Pro หรือ PC สเป็คแรงๆ รันเกมได้ลื่นๆ แนะนำให้เล่น Quality Mode หรือปรับสุดเท่าที่จะทำได้ครับ
แต่คุณภาพกราฟิกจาก Unreal Engine 5 ก็เรื่องหนึ่ง สิ่งที่ทำให้งานภาพของเกมนี้เข้าสู่อีกขั้นของเขตขัณฑ์ก็คืองานอาร์ตไดเรคชั่นอันเด็ดขาดของตัวเกมครับ โดย Clair Obscur: Expedition 33 ได้รับแรงบันดาลใจด้านงานศิลป์ในเกมมาจากฝรั่งเศสยุค Belle Époque อันเป็นหนึ่งในยุคที่ศิลปวัฒนธรรมเฟื่องฟูที่สุดของฝรั่งเศสนั่นเองครับ ผสมผสานความเป็นแฟนตาซีเข้าไป จนได้โลกเกมที่ทั้งงดงามและเปี่ยมมนต์เสน่ห์แบบขลังๆ ออกมา
ไม่ใช่แค่องค์ประกอบศิลป์เท่าทั้นที่เป๊ะปัง แต่การออกแบบฉากยังเน้นให้เห็นถึงความโอ่อ่ากว้างไกลใหญ่โตของสถานที่ต่างๆ รวมถึงฉากในเกม ที่มีธีมแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะป่าเขา, ถ้ำที่น้ำลอยอยู่บนหัวเรา, เมืองที่ถูกทำลายล้างด้วยดาบแสงขนาดยักษ์ หรือกระทั่งเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์… เอ๊ย! คาสิโนลอยฟ้า ไม่ว่าจะเข้าไปผจญภัยในฉากไหน ก็ล้วนน่าประทับใจ หรือกระทั่งฉากแผนที่โลก ก็ยังถูกทำออกมาอย่างดี มีมิติ ดูพิศวงและงดงาม
ปัญหาของมันมีไม่กี่อย่างนอกจากเฟรมเรตที่อาจไม่ได้นิ่งนักแม้เล่นบน Performance Mode (แต่ไม่เป็นปัญหาขนาดนั้น) ก็จะมีเรื่องของการเดินติดออบเจ็คล่องหน หรือติดหลุมเล็กๆ จากการพยายามออกแบบพื้นของฉากให้เต็มไปด้วยรายละเอียด หรือออบเจ็คเพื่อไม่ให้ฉากโล้นโล่งเกินไปนั่นเอง
เกมเพลย์
มาว่ากันด้วยเรื่องที่สำคัญที่สุดคือเกมเพลย์ครับ ในการเปิดตัวเกม รวมถึงการให้สัมภาษณ์ แม้กระทั่งรายละเอียดเกมบนหน้าร้านค้า Steam ตัวเกม Clair Obscur: Expedition 33 ไม่เคยเหนียมอายที่จะบอกว่าตัวเองเป็น Genre ของ JRPG ขณะที่ตัวผู้ก่อตั้ง Sandfall Interactive เองก็พูดชัดๆ ว่าเกมนี้สร้างโดยมี Final Fantasy และ Persona เป็นแรงบันดาลใจหลัก เช่นนั้นแล้วในทางทฤษฎีคนชอบ JRPG ก็ควรจะชอบเกมนี้ได้ แต่จริงๆ มันอาจไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป เพราะ JRPG ยุคใหม่ย่อมมีการปรับตัวตามยุคสมัยไปเพื่อหาจุดที่ลงตัว บ้างเลือกปรับตัวแบบประณีประนอมคงความคลาสสิคไว้ แต่ปรับจังหวะกับลูกเล่นให้มากขึ้น ผู้เล่นอาจจะใส่คำสั่งแล้วนั่งดูผลได้เหมือนเดิม
แต่นั่นไม่ใช่ทิศทางที่ Clair Obscur: Expedition 33 เลือกจะไป แม้จะเรียกตัวเองว่าเป็น JRPG Turn-Base แต่เกมนี้ตัดสินใจใส่ความแอคชั่นที่อาจจะแหกขนบมากเกินจะรับไหวสำหรับบางคนเข้าไปแทน กล่าวคือผู้เล่นไม่อาจจะนั่งชิลรอดูตัวละครออกท่าตามคำสั่งแล้วทำดาเมจตามที่เราปั้นมาได้เฉยๆ อีกแล้ว เพราะเกมนี้ใส่ QTE มาให้กดตาม เพื่อเพิ่มโบนัสให้สกิล รวมไปถึงในเฟสศัตรูที่เราไม่สามารถละสมาธิได้เลย เพราะหากคุณไม่กดหลบ, กระโดดหนี, หรือพยายามจะแพรี่ท่าโจมตีของศัตรู มันก็ยากเหลือเกินที่ทีมสำรวจของคุณจะไปได้ตลอดรอดฝั่ง ต่อให้ปั้นตัวมาดีขนาดไหน ศัตรูฉากท้ายๆ จะคิลทีมคุณในเทิร์นเดียวได้ง่ายๆ อยู่ดีด้วยท่าชุดเวอร์วังของมัน
โอเคแหละว่าตัวเกมมีให้ปรับ QTE เป็นแบบออโต้ หรือลดความยากลงเพื่อให้เล่นแบบคลาสสิคพอได้ แต่เชื่อเถอะว่าเกมมันถูกออกแบบมาในแนวทางนี้ และทีมพัฒนาวางแผนมาไว้แล้วว่าจะจัดการกับผู้เล่นในแต่ละช่วงด้วยศัตรูแบบไหน หรือมีเมคานิคใดที่ต้องปลดล็อคให้ใช้ได้แล้วบ้าง ทุกระบบมันโยงใยผ่านการบิลด์ Pictos ซึ่งเป็นเหมือนกับสกิลเสริมของแต่ละตัวละคร หากปิดการใช้บางฟีเจอร์ไป มันก็ไม่อาจพูดได้ว่าคุณสัมผัสกับเกมนี้แล้วครบทุกซอกมุม
นั่นจึงเป็นเหตุให้คอ JRPG ฉบับคลาสสิคที่ชอบความชิลหลายๆ คนอาจจะไม่ซื้อกับความที่เกมเป็นแบบนี้ หรือรับกับความเรียลไทม์แอคชั่นที่ใส่เข้ามาไม่ไหว เพราะเอาเข้าจริงมันก็พอเข้าใจได้ เรียลไทม์แอคชั่นเหล่านี้ทีมงานไม่ได้ใส่เข้ามาเพื่อแค่ให้มันมี แต่เล่นกับความจดจ่อ และความแม่นยำในการกดปุ่มของผู้เล่นในระดับที่ท้าทายไม่เบา อย่างการหลบก็จะมีทั้งหลบเฉยๆ กับหลบเพอร์เฟ็ค, การกระโดดแล้วกดสวนกลางอากาศอาจทำได้ง่ายสักหน่อยเพราะมีสัญญะบอกชัดเจนและเกมจะสโลว์ให้
แต่ระบบที่รับบทเป็นทั้งพระเอกและตัวร้ายในตัวคือการแพรี่แล้วสวนครับ คือการกดแพรี่ในเกมนี้ต้องแม่นระดับหนึ่ง ผิดจังหวะนิดเดียวอาจพลาดไปเลย High risk, High return คุณอาจฆ่ามอนสเตอร์ด้วยการแพรี่แล้วสวนอย่างเดียวก็ได้ แต่หากแพรี่ไม่ทันก็รับดาเมจไปเต็มๆ หรือบางครั้งถ้าแพรี่การโจมตีศัตรูไม่ครบทุกฮิตที่มันโจมตีมาเกมก็จะไม่สวนให้เช่นกัน นอกจากนี้หลังๆ ยังมีการแพรี่ท่าที่โจมตีทีเดียวอาจถึงตายได้อีกด้วยแถมกดกันคนละปุ่มอีกต่างหาก เพราะงั้นในเฟสโจมตีศัตรู คือช่วงเวลาที่ผู้เล่นชิลไม่ได้แล้วต้องมีสมาธิกับเกมสุดๆ ครับ และผมบอกเลยว่าทีมงานเดาทางผู้เล่นไว้หลายขยักมาก ช่วงกลางจนถึงปลายเกมผู้เล่นจะได้เจอศัตรูที่มีอัตราการกวนโอ๊ยสูงสุดๆ ท่าโจมตีมีหลายมูฟ แต่ละมูฟ มีหลายฮิต แต่ละฮิตจังหวะเร็วบ้างหน่วงบ้าง กลายเป็นว่าเราต้องมาพยายามจำมูฟศัตรูให้ได้เพื่อรับมือกับมัน โดยเฉพาะพวกบอสที่หากจับทางไม่ได้ก็จะร้อนเอาเรื่องครับ แต่ถ้าจับทางแล้วสวนได้รัวๆ แล้วคือสนุกสะใจสุดๆ ไปเลย
อย่างที่บอกครับ Clair Obscur: Expedition 33 อาจไม่ใช่เกมที่คอ JRPG สนุกสนานกับมันได้ทุกคน แต่หากคุณรับมือกับเรียลไทม์แอคชั่นของเกมไหว ผมบอกเลยว่านี่คือเกมที่มีระบบต่อสู้ลงตัวสุดๆ เกมหนึ่งเลยครับ
เพราะนอกจากที่กล่าวมา ในแง่ของระบบต่อสู้ เกมยังมีส่วนที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง ระบบ Pictos ที่เป็นสล็อตสกิลที่มาพร้อมสเตตัสก็เจ๋งดี คุณใส่ให้ตัวละครใดก็ได้ไปสู้ชนะ 4 ครั้ง สกิลนั้นจะกลายเป็นพาสซีฟในพูลกลางที่ตัวละครไหนจะหยิบไปใช้ก็ได้ทันที โดยคิดตัดจากแต้ม Lumina ที่แต่ละตัวละครมี เพียงแต่ค่าสเตตัสจะไม่ตามมาด้วย และอยู่กับตัวละครที่ใส่ Pictos ชิ้นนั้นเท่านั้นครับ แถมทั้งค่า Lumina ที่แต่ละสกิลต้องการก็ไม่เท่ากันและยังมีจำกัด ก็ทำให้ผู้เล่นต้องบริหารจัดการส่วนนี้ดีๆ ครับ
อีกสิ่งหนึ่งที่เกมนี้ทำออกมาได้ดีคือการออกแบบเมคานิคของตัวละครทั้ง 6 ตัวที่มีรูปแบบการเล่นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง คือไม่เหมือนกันเลย และทุกตัวมีความลึกในการเล่นที่น่าสนใจเอามากๆ อย่าง Gustave ที่จะเป็นการตีเพื่อสะสมพลังชาร์จ, Maelle ที่มีระบบ Stance กำหนดแนวทางการเล่น, Lune ที่ดูเผินๆ เหมือนเป็นนักเวททั่วๆ ไป ทว่าสกิลแต่ละอย่างกลับมีเงื่อนไขต่างกัน, Sciel กับพลังไพ่ตะวันจันทรา, Monoco ที่ต้องพาไปตบมอนสเตอร์อื่นๆ เพื่อเอาสกิลเลียนแบบ และ Verso กับระบบเกรดที่ขึ้นอยู่กับการโจมตีและถูกโจมตี
แต่ละตัวละครล้วนมีวิธีเล่นแตกต่างกันไป และที่สำคัญคือเล่นสนุกทุกตัวละครเลย มันถูกออกแบบมาอย่างดีมากๆ และน่าทึ่งยิ่งขึ้นเมื่อทีมงานใช้ระบบเลเวลสกิลของอาวุธมาเสริมความเป็นไปได้ในการปั้นแต่ละตัว เพราะอาวุธก็จะมีเรื่องธาตุ และสกิลที่จะเสริมหรือปรับรูปแบบการใช้งานสกิลของตัวละครอีกที อย่างเช่น ตัวละคร Verso ที่ปกติแล้วต้องใช้การโจมตีเพื่อเพิ่มเกรดตัวเองจาก D ไปสู่ S ซึ่งเป็นระดับสูงสุด (และจะตีแรงที่สุด) แต่กลับมีอาวุธชิ้นหนึ่งที่จะทำให้เขาอยู่ในเกรด S ตั้งแต่เทิร์นแรกเลย แลกกับการที่ตัวเขาจะไม่สามารถถูกฮีลหรือใส่โล่ให้ได้ อะไรประมาณนี้ อ้อ! แล้วก็อาวุธเมื่อถึงเลเวล 20 ก็จะมี 3 สกิลต่อชิ้นนะครับ บิลด์ตัวละครกันสนุกสนานเลยทีนี้!
ในส่วนอื่นๆ นั้น Clair Obscur: Expedition 33 ไม่ได้เป็นเกมโลกเปิดแบบเต็มระบบ อาจจะมีให้เดินทางไปไหนก็ได้บนแผนที่โลก แต่ผู้เล่นก็ต้องเลือกจุดที่จะไปอยู่ดี แต่ที่ผมค่อนข้างชอบอีกอย่างคือการไล่ระดับความเข้มข้นของเกมเพลย์จาก Act 1-3 คือจบ Act แรก ผู้เล้นจะคุ้นกับเกมระดับหนึ่งแล้ว และเริ่ม Act 2 ด้วยการบิลด์ตัวละครให้แตกแตนที่สุด จนเมื่อใกล้จบ Act 2 ผู้เล่นจะพบกับข้อจำกัดบางอย่างที่อาจทำให้ต้องมาทบทวนบิลด์กันใหม่ จนขึ้น Act 3 ที่เกมจะมีแนวทางในการปลดข้อจำกัดบางอย่างออก คราวนี้ผู้เล่นก็จะรื้อบิลด์กันอีกรอบ และพร้อมมุ่งสู่ความเป็นที่สุดโดยไร้ลิมิตอีกต่อไป ผมว่าเกมทำเคิร์ฟตรงนี้ได้ดีมากๆ และเรารู้สึกว่าเกมมีอะไรใหม่ๆ มาพรีเซนต์อยู่เสมอๆ เลย
ถ้าจะมีเรื่องที่เกมควรทำได้ดีกว่านี้สักหน่อยก็คงเป็นอินเตอร์เฟสในหน้าปาร์ตี้ตัวละครและการเลือกติดตั้ง Pictos ที่คิดว่ายังใช้งานยากไปสักหน่อยครับ โดยเฉพาะช่วงท้ายเกมที่คุณมี Pictos เป็นร้อยอยู่ในคลัง แม้จะมีระบบจัดเรียงมาให้ แต่ก็คิดว่าควรจะมีวิธีนำเสนอที่ใช้งานง่ายกว่านี้อยู่เหมือนกัน แล้วก็มีเรื่องที่เกมโหลดจนเครื่องค้างไปหนึ่งครั้ง อันนี้คิดว่าอาจจะมีแพตช์ Day One ออกมาแก้ แต่เล่นแล้วเจอก็ต้องบอกตามนั้นครับ
สรุป
ผมใช้เวลากับ Clair Obscur: Expedition 33 ไปเกือบๆ 60 ชั่วโมงในการจบเกมหลักและไซด์เควสต์ส่วนใหญ่เท่าที่หาเจอ ตลอดช่วงเวลานั้นแทบไม่มีความน่าเบื่อเลย และมันเต็มอิ่มไปด้วยความเพลิดเพลินสนุกสนาน, เนื้อเรื่องที่ชวนให้ติดตาม, การหัวเราะ, ซึมเซา, พร้อมอยากเอาใจช่วยไปกับตัวละครทีม 33 ของเรา เกมนี้ไม่ใช่แค่งานเดบิวต์ชั้นเยี่ยม แต่มันยังเป็นเกม IP ใหม่ในสไตล์ JRPG ที่ครบเครื่องที่สุดเกมหนึ่งเท่าที่เราจะหาได้หรือนึกออก และน่าทึ่งยิ่งขึ้นไปอีกที่ทีม Sandfall Interactive สร้างเกมที่เต็มเปี่ยมไปด้วยแพสชั่นที่ลุกโชนนี้ด้วยทีมงานเพียง 30 คน พวกเขาโชว์ให้เห็นแล้วว่าใจใหญ่พอที่จะสร้างงานระดับนี้ออกมาได้ งานที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะไม่ยอมให้ใครมาดูถูกความรักที่มีต่อผลงานของพวกเขา และกับงานแบบนี้ก็สมควรเหลือเกินที่มันจะถูกรักตอบอย่างไม่มีเงื่อนไขหรืออะไรที่ติดค้าง
สำหรับผมแล้วคำชมสุดท้ายที่จะมอบให้กับเกมนี้ได้ก็คือ Clair Obscur: Expedition 33 เป็นเกม RPG ที่มีลุ้นเข้าชิงรางวัลช่วงปลายปีอย่างไม่ต้องสงสัยเลยครับ
VERDICT
9/10
Clair Obscur: Expedition 33 มีกำหนดวางจำหน่าย 24 เมษายนนี้บน PC, PS5 และ Xbox Series ครับ มีบน Game Pass ด้วยนะเออ
ติดตามข่าวเกมพีซี/คอนโซลอื่น ๆ ได้ที่ Online Station