ใครฝันอยากมีบ้านสวยๆ กลางทะเลสีฟ้าใส วันนี้โครงการบ้านกลางทะเลของดูไบทำให้ฝันของคุณเป็นจริงแล้ว! กับโครงการหมื่นล้าน "หมู่เกาะต้นปาล์ม (The Palm Islands)" โครงการบ้านกลางทะเลของดูไบนั่นเอง แต่ก่อนไปดูภาพที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ เราไปทำความรู้จักกับดูไบ รัฐเล็กๆ ที่ติดอันดับเขตปกครองที่ร่ำรวยที่สุดในโลกกันก่อนดีกว่า
ประวัติดูไบ
ครั้งหนึ่งยังมีชีค (หัวหน้าเผ่าชาวอาหรับ) ผู้มีฝันอันยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่ง ทรงปกครองเมืองอันเงียบเหงากลางแสงแดดร้อนระอุริมฝั่งอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งเป็นที่พักพิงของเหล่านักงมหอยมุก ชาวประมง และพ่อค้าผู้จอดเรือใบและเรือหาปลาผุๆอยู่ริมลำธารเล็กๆที่ไหลผ่านหมู่บ้าน ขณะที่คนทั่วไปเห็นธารสายนี้เป็นเพียงลำน้ำเล็กๆที่ไหลลงสู่ทะเล แต่ชีคเราะชีด บิน ซาอีด อัล มัคตูม กลับทรงเห็นว่า นี่คือถนนสู่โลกกว้าง
เมื่อปี 1959 พระองค์ทรงยืมเงินหลายล้านเหรียญสหรัฐฯ จากคูเวต เศรษฐีน้ำมันเพื่อนบ้าน เพื่อนำมาขุดขยายลำธารให้กว้างและลึกพอที่เรือจะผ่านได้พระองค์ทรงสร้างท่าเรือและโกดัง วางแผนสร้างถนน โรงเรียน และบ้านเรือน บางคนคิดว่าพระองค์เสียสติ หรือไม่ก็คงทำไม่สำเร็จ แต่ชีคเราะชีดทรงเชื่อมั่นในพลังแห่งการเริ่มต้นใหม่ ในยามอรุณรุ่ง พระองค์กับมุฮัมมัด โอรสองค์เล็ก จะออกไปเดินเล่นริมฝั่งอันเวิ้งว้างและวาดฝันไปด้วยกัน และพระองค์ก็ทรงทำฝันนั้นได้สำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้
ปัจจุบันดูไบอยู่ภายใต้การปกครองของ ชีคมุฮัมมัด บิน เราะชีด อัล มัคตูม โอรสของพระองค์ผู้ทรงสร้างความฝันมากมายของตนรอบลำน้ำนั้นเช่นกัน พระองค์ทรงเปลี่ยนขอบฟ้ายามรุ่งอรุณของพระบิดาให้เป็นวิมานสูงเสียดฟ้า ที่ส่องแสงสว่างไสว และเย็นฉ่ำด้วยเครื่องปรับอากาศ ซึ่งเป็นโลกในฝันของผู้คนนับล้าน รัฐเล็กๆ ที่ชื่อดูไบแห่งนี้เนืองแน่นด้วยตึกระฟ้าประหนึ่งเกาะแมนฮัตตัน เพียบพร้อมด้วยท่าเรือระดับโลกและห้างปลอดภาษีขนาดมหึมา ทุกวันนี้ดูไบมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยือนมากกว่าอินเดีย มีเรือสินค้าเทียบท่ามากกว่าสิงคโปร์ และดึงดูดนักลงทุนต่างชาติมากกว่าประเทศในยุโรป ผู้คนจาก 150 ประเทศหลั่งไหลเข้ามาพักอาศัยและทำงาน อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของดูไบคือร้อยละ 16 ซึ่งสูงเกือบเป็นสองเท่าของจีน ปั้นจั่นแท่งสูงมากมายโผล่เหนือเส้นขอบฟ้าราวกับเครื่องหมายอัศเจรีย์
ดูไบเป็นตัวอย่างความสำเร็จที่หาได้ยากยิ่งในตะวันออกกลาง ภูมิภาคซึ่งเคยประสบแต่ความล้มเหลวและซบเซา ทุกวันนี้ยังมีคำถามว่า ขณะที่โลกมุสลิมกำลังดิ้นรนอยู่ในกระแสโลกาภิวัฒน์ ดูไบเป็นความผิดปกติที่ดูหรูหรา หรือเป็นต้นแบบให้ชาติอาหรับอื่นๆเจริญรอยตามกันแน่ อับดุลเราะห์มาน อัล รอชิด นักข่าวชาวซาอุดีอาระเบียและผู้อำนวยการสถานีข่าวอัลอาเราะบียะฮ์ บอกว่า "ดูไบกำลังสร้างแรงกดดันให้โลกอาหรับและโลกมุสลิมอื่นๆครับ ประชาชนเริ่มตั้งคำถามกับรัฐบาลของตนว่า ถ้าดูไบทำได้ ทำไมเราจะทำบ้างไม่ได้"
อาจกล่าวได้ว่าดูไบไม่เหมือนที่ใดในโลก นี่คือศูนย์กลางความหรูหราฟู่ฟ่า ทั่วทั้งเมืองกรุ่นไปด้วยกลิ่นอายแห่งโอกาสและความมั่งคั่งที่พร้อมปะทุขึ้นทุกเวลา นี่คือเมืองที่โทรศัพท์มือถือฝังเพชรเครื่องละ 10,000 เหรียญสหรัฐขายดีเป็นเทน้ำเทท่า และนี่เมืองที่ในปีหนึ่งๆ มีผู้คนหลายล้านคนบินเข้ามาเพื่อช็อปปิ้งเพียงอย่างเดียว
กว่าทศวรรษที่ผ่านมา ผมเดินทางไปดูไบบ่อยครั้งและเริ่มเข้าใจการผสมผสานทางวัฒนธรรมที่แปลกประหลาดของเมือง เราสามารถรับประทานอาหารอิตาลีในภัตตาคารที่มีเจ้าของเป็นชาวอียิปต์ หัวหน้าพ่อครัวเป็นชาวอินเดีย และมีบริกรชาวฟิลิปปินส์คอยร้องเพลงแนวโอเปร่าขับกล่อมทุกครึ่งชั่วโมง หรือในยามเช้าตรู่ ก็จะเห็นชาวอังกฤษที่เดินทางเข้ามาทำงานที่นี่หลายคนเดินโซซัดโซเซออกจากผับกลับบ้าน ในเวลาเดียวกับที่เสียงระฆังส่งสัญญาณการทำละหมาดเช้าดังขึ้นในท้องถนน
ดูไบเป็นหนึ่งในเจ็ดรัฐที่ประกอบกันเป็นสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ชาวอเมริกันหลายคนเริ่มรู้จักเมืองนี้เป็นครั้งแรกเมื่อดูไบพอร์ตสเวิลด์ รัฐวิสาหกิจของดูไบ ซื้อกิจการของบริษัทสัญชาติอังกฤษที่บริหารท่าเรือหกแห่งในสหรัฐฯ สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ บางคนมีปฏิกิริยาต่อต้านโดยอ้างว่า ผู้ก่อเหตุวินาศกรรมเมื่อวันที่ 11 กันยายน ปี 2001 อาจใช้ดูไบเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายเงิน ขณะที่อีกฝ่ายสนับสนุนการซื้อกิจการดังกล่าวโดยชี้ว่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ซึ่งเป็นที่ตั้งกองเรือที่ห้าของกองทัพเรือสหรัฐฯ ได้พิสูจน์ตัวเองว่าเป็นพันธมิตรในการทำสงครามต่อต้านการก่อเหตุวินาศกรรมครั้งนั้น แต่ในที่สุดดูไบก็ยกเลิกความคิด สุลต่าน บิน สุไลยัม ผู้บริหารดูไบพอร์ตสเวิลด์ บอกว่า "เราไม่มีเวลามาเล่นการเมืองหรอกครับ คนอเมริกันไม่ต้องการให้เราเข้าไปทำธุรกิจนี้ก็ไม่เป็นไร ยังมีธุรกิจอีกมากมายให้เราทำครับ"
ดูไบคือแหล่งธุรกิจที่มีพลวัตที่สุดแห่งหนึ่ง อาลี อัล ชิฮาบี ผู้อำนวยการธนาคารเพื่อการลงทุนชั้นนำแห่งหนึ่งซึ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน บอกว่า "ไม่ใช่แค่อาคาร เกาะ หรือโรงแรมเท่านั้น แต่เรายังมีกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ และสภาพสังคมที่เสรีด้วยครับ" ดูไบทำให้คติของชีค เราะชีดที่ว่า "สิ่งใดที่ดีต่อพ่อค้า ก็ดีต่อดูไบเช่นกัน" เป็นจริง โดยการยกเว้นภาษีการค้าและภาษีเงินได้ สร้างระบบธนาคารชั้นเลิศ และออกกฎหมายที่เอื้อประโยชน์เรื่องอสังหาริมทรัพย์และกรรมสิทธิ์
โครงการบ้านกลางทะเลของดูไบ
ประวัติดูไบเพิ่มเติม
ดูไบ : การพัฒนาชายฝั่งทะเลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
นี่คือเรื่องราวของสุลต่านอะห์เหม็ด บิน สุลาเย็ม แห่งประเทศดูไบ ผู้ที่ได้รับกล่าวขานว่า "เป็นผู้เปลี่ยนแผนที่โลก รวมทั้งเป็นผู้สร้างสิ่งมหัศจรรย์อันดับที่ 8 ของโลก"
สุลต่านอะห์เหม็ด บิน สุลาเย็ม วัย 53 ปี นักธุรกิจผู้มีบทบาทอย่างโดดเด่นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐดูไบ ผู้ที่โลกต้องจาลึกชื่อลงไปในประวัติศาสตร์ทั้งทางด้านการประกอบธุรกิจ การพัฒนาประเทศ และสถาปัตยกรรมการก่อสร้าง ผู้ซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท Dubai World ซึ่งมีอาณาจักรธุรกิจครอบคลุมกิจการแทบทุกสาขา ทั้งอสังหาริมทรัพย์, คมนาคม, โลจิสติกส์, การท่องเที่ยว, บริการทางการเงิน, การเดินเรือสมุทร, โรงพยาบาลและการแพทย์, สินค้าอุปโภคบริโภคและค้าปลีก ฯลฯ ด้วยบริษัทในเครือเกือบ 100 แห่ง ที่มีการลงทุนอยู่ทั้งในดูไบ ต่างประเทศ รวมถึงประเทศไทย โดยประมาณการว่ามีมูลค่าสินทรัพย์กว่า 100,000 ล้านเหรียญ
นอกจากนั้นยังดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาบริหารด้านเศรษฐกิจแห่งดูไบ (Board of Executive Economic Council) และสภาบริหารแห่งรัฐดูไบ (Dubai Executive Council) ซึ่งเทียบเท่ากับคณะรัฐมนตรีของรัฐดูไบและรายงานตรงต่อผู้ปกครองรัฐดูไบ คือ เชค โมฮะห์เหม็ด บิน ราชีด อัล มัคห์ตุม (Shiekh Mohammed Bin Rashid Al Maktoum)
สุลต่านอะห์เหม็ด บิน สุลาเย็ม เป็นผู้บริหารที่เปี่ยมด้วยพลังแห่งการสร้างสรรค์ ในวัยเพียง 30 ปี เขาเป็นผู้เสนอแนวคิดเรื่องการเปิดเขตการค้าเสรี (Free Trade Zone) ต่อผู้ปกครองรัฐดูไบ เชค โมฮะห์เหม็ด โดยเชื่อมั่นว่านี่คือกุญแจแห่งความสำเร็จของดูไบ ผลสำเร็จของการเปิดเขตการค้าเสรีครั้งนั้นสร้างความคึกคักให้กับภาคเศรษฐกิจและเป็นการพลิกโฉมธุรกิจท่าเรือของดูไบ และเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่ทำให้ต่อมา รัฐดูไบพัฒนากลายเป็นศูนย์กลางทางการค้า (Gate Way) ของประเทศกลุ่มตะวันออกกลาง รวมถึงแอฟริกาบางประเทศ ปัจจุบันดูไบถือเป็นเมืองท่าสำคัญแห่งหนึ่งของโลก และบริษัท Dubai Ports World (DP World) P&O เป็นบริษัทชั้นนำ 1 ใน 3 ของบริษัทด้านการบริหารจัดการท่าเรือทะเลของโลก
ไม่เพียงเท่านั้น เขายังเป็นเจ้าของไอเดียสะท้านโลก หมู่เกาะต้นปาล์ม (The Palm Islands) ถมทะเลเพื่อสร้างหมู่เกาะจำลองเป็นรูปต้นปาล์ม ล้อมรอบด้วยเสี้ยววงกลมเพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่อยู่อาศัย โรงแรม และรีสอร์ท ซึ่งถือเป็นโครงการสร้างเกาะใหญ่ที่สุดในโลก โดยจะมีการก่อสร้างทั้งหมด 3 โครงการ คือ The Palm Jumeirah, The Palm Jebel Ali และ The Palm Diera โดยโครงการ The Palm Jumeirah ได้รับการขนานนามว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์อันดับแปดของโลก
จากดินแดนที่แห้งแล้งเต็มไปด้วยทะเลทราย ปัจจุบันดูไบดารดาษด้วยอาคารและตึกสูงระฟ้า ตึกสูงที่สุดในโลก ‘เบิร์จดูไบ’ ที่มีความสูง 818 เมตร ก็ตั้งอยู่ที่เมืองแห่งนี้ ดูไบเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการค้าการลงทุนที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดในตะวันออกกลาง มีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติหรือจีดีพี (Gross Domestic Product) สูงถึง 11 เปอร์เซ็นต์ (ข้อมูลปี 2550) ดูไบเพียบพร้อมด้วยท่าเรือระดับโลก ห้างปลอดภาษีขนาดมหึมา เป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนจากบริษัทนับพันแห่งจากทั่วโลก ซึ่งทั้งหมดนี้ดูไบใช้เวลาพัฒนาตัวเองภายในเวลาไม่ถึง 30 ปี
สุลต่านอาห์เหม็ด บิน สุลาเยม เกิดเมื่อปี ค.ศ.1955 ที่ดูไบ การศึกษาจบทางด้าเศรษฐศาสตร์ จาก Temple University ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นนักธุรกิจเลือดใหม่ของดูไบ มีธุรกิจในความดูแลหลายประเภท และหลายประเทศทั่วโลก ผลงานสร้างสรรค์มาแล้ว เป็นต้นว่า ภายใต้ บริษัทชื่อ นัคฮีล พร็อบเพอร์ตี้ ได้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 3 โครงการคือ The Palm Jumeirah, The Palm Jebel Ali และ The Palm Deira
ทั้ง 3 โครงการนี้ ประกอบด้วยบ้านพักอาศัย ศูนย์การค้า สถาน บันเทิงพร้อมสรรพ สามารถดูดคนจากประเทศต่างๆทั่วโลกเข้าอยู่อาศัย แต่ผลงานที่โลกตะลึงคือ โครงการเนรมิต เดอะ ปาล์ม ไอร์แลนด์ สร้างเกาะรูปต้นปาล์มขนาดใหญ่ใกล้ชายฝั่งประเทศดูไบ ด้วยเงินประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เกาะนี้ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ อันดับ 8 ของโลก เกาะมหึมาแห่งนี้เหมือนอยู่ๆ โผล่ขึ้นมาจากทะเล ทำให้ แผนที่โลกที่เคยใช้กันอยู่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงใหม่ อย่างมิต้องสงสัย
นอกจากนี้ ยังเคยซื้อกิจการท่าเรือของ พี แอนด์ โอ ในราคา 6.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จากบริษัทท่าเรือของอังกฤษ และยังมีบริษัทในเครือชื่อ ดูไบ ดรายด็อกซ์ ที่เข้าครองหุ้นกว่า 84 เปอร์เซ็นต์ ในบริษัทต่อเรือซึ่งจดทะเบียนในตลาดหุ้นของสิงคโปร์
ปัจจุบัน สุลต่าน อาห์เหม็ด บิน สุลาเยม เป็นประธานกรรมการ บริษัท ดูไบ เวิลด์ และบริษัทในเครือข่ายอีกมากมาย ตัวอย่างเช่น บริษัท ดีพี เวิลด์ ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับกิจการท่าเรือ ดำเนินกิจการในดูไบ จีน และอีกหลายประเทศ ได้รับการยอมรับว่าเป็นบริษัทผู้ดำเนินการด้านท่าเรื อชั้นนำของโลก มีธุรกิจการพนัน มีหุ้นใหญ่ในลาสเวกัสและในบ่อนอื่นๆ
ท่าเรือดูไบ แต่เดิมเรือสินค้าจอดได้แค่ 2 ลำเท่านั้น ต่อมารัฐบาลได้พัฒนาพื้นที่ สร้างท่าเรือขึ้นรองรับเรือสินค้าจากทั่วโลกเป็น 200 ลำ และปัจจุบันดูไบมีท่าเทียบเรือถึง 46 ท่า มีบริษัทเข้ามาดำเนินกิจการ เกิน 5,000 แห่ง
กล่าวคือบริษัทในมือของสุลต่านมีธุรกิจครอบคลุมทุกสาขา ทั้งอสังหาริมทรัพย์ คมนาคม การท่องเที่ยว บริการทางการเงิน การเดินเรือสมุทร โรงพยาบาล การแพทย์ สินค้าอุปโภคบริโภค และการค้าปลีก มีบริษัทในเครือนับ 100 แห่งทั่วโลก ประมาณการว่ามีทรัพย์สินกว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ และพนักงานกว่า 1 แสนคน