Virtual Boy ครบรอบ 30 ปี เครื่องเกมที่แป้กที่สุดในประวัติศาสตร์ของปู่นิน

แชร์เรื่องนี้:
Virtual Boy ครบรอบ 30 ปี เครื่องเกมที่แป้กที่สุดในประวัติศาสตร์ของปู่นิน

วันที่ 21 กรกฎาคม 1995 หรือวันนี้เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เป็นวันวางจำหน่ายของเครื่องเกม Virtual Boy ครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่น สำหรับเจ้าเครื่องนี้เป็นผลงานการพัฒนาจาก Nintendo ที่โปรโมตในช่วงเวลานั้นว่าเป็นเครื่องเกมเครื่องแรกที่รันกราฟิกผ่านกล้องมองภาพแบบสามมิติได้ โดยมาในรูปแบบกล้องพร้อมขาตั้งบนโต๊ะที่ให้ผู้เล่นนั่งเก้าอี้แล้วสวมเข้าใบหน้า มีช่องใส่ตลับเกมบริเวณด้านหน้าของกล้อง ขณะที่จอแสดงผลจะเป็นโมโนโครมสีแดง ซึ่งใช้เทคนิคพารัลแลกซ์ (Palallax) ในการทำให้ภาพที่มองเห็นผ่านกล้องดูมีมิติหรือมีความลึกขึ้นนั่นเอง

ในส่วนของ Virtual Boy ได้ถูกพัฒนามานานถึง 4 ปีภายใต้โค้ดเนมว่า VR32 ซึ่งตอนแรกทางปู่นินได้ไปทำข้อตกลงด้านลิขสิทธิ์ร่วมกับบริษัทแห่งหนึ่งของสหรัฐอเมริกาเพื่อใช้เทคโนโลยีกล้องแสดงผล LED แบบสวมใบหน้าที่บริษัทดังกล่าวเริ่มมีการพัฒนามาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 80 อยู่ก่อนแล้ว กระทั่งเมื่อปู่นินต้องการจะผลักดันให้มีการทำเครื่องเกมแสดงภาพ 3 มิติอย่างจริงจัง และผลิตเพื่อจำหน่ายสู่สาธารณะ จึงเริ่มมีการตั้งโรงงานผลิตในประเทศจีน แต่เนื่องด้วยกระบวนการผลิตเครื่อง Virtual Boy ที่มีค่าใช้จ่ายที่สูงลิบ ผนวกกับได้รับคำเตือนจากหน่วยงานสาธารณสุขจากประเด็นจอแสดงผลที่ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพตาผู้เล่น รวมถึงปู่นินเองต้องแบ่งกำลังคนไปให้ความสำคัญกับการพัฒนาเครื่อง Nintendo 64 ที่หมายมั่นจะให้เป็นเครื่องผู้สืบทอดของ Super Famicom (หรือ SNES ในเวอร์ชั่นตะวันตก) ทำให้ตัวเครื่อง Virtual Boy ต้องถูกเข็นวางจำหน่ายในสภาพที่ไม่ค่อยพร้อมเท่าไหร่นัก

จากที่เกริ่นไปก่อนหน้าว่าตัวเครื่องมีค่าใช้จ่ายในการผลิตที่สูง ด้วยเหตุนี้ปู่นินจึงจำเป็นต้องตั้งราคาเครื่องเริ่มต้นไว้ที่ 180 เหรียญสหรัฐฯ (ณ ปี 1995) ซึ่งถ้าคำนวณตามอัตราเงินเฟ้อของปี 2025 ก็คือประมาณ 380 เหรียญสหรัฐฯ หรือราว 12,400 บาทเลยทีเดียว พอมารวมกับปัญหาด้านอื่น ๆ ทั้งเรื่องสภาพเครื่องที่ไม่ค่อยพร้อมนัก อีกทั้งตลอดช่วงชีวิตของมันมีเกมรองรับแค่ 22 เกม และจอแสดงผลที่ทรมานตาผู้เล่นอย่างรุนแรง ทำให้คะแนนรีวิวจากสื่อเกมและผู้เล่นเป็นไปในทางลบแทบทั้งหมด โดยข้อเสียหลัก ๆ ที่ผู้คนวิพากษ์วิจารณ์กันก็คือราคาเครื่องที่แพงเกินไป, จอแสดงผลมีแต่สีแดงกับดำที่ไม่เหมาะกับการนั่งเล่นเป็นเวลานาน ตลอดจนการออกแบบเครื่องที่ไม่สะดวกสบายขณะเล่น มิหนำซ้ำคือมีการร้องเรียนด้านปัญหาสุขภาพจากผู้เล่นที่เกิดภาวะวิงเวียน ปวดศีรษะ และปวดตา จนปู่นินต้องสั่งยุติสายการผลิตในญี่ปุ่นวันที่ 22 ธันวาคม 1995 หรือหลังวางขายมาได้เพียง 5 เดือนเท่านั้น ขณะที่ฝั่งสหรัฐอเมริกาจะมีช่วงอายุขัยนานกว่าหน่อย คือเริ่มวางขาย 14 สิงหาคม 1995 และยุติสายการผลิตในเดือนสิงหาคมของปีถัดมาครับ

สุดท้ายแล้ว Virtual Boy ก็ทำยอดขายไปได้เพียง 770,000 เครื่องทั่วโลก และสร้างสถิติเป็นเครื่องเกมที่ทำยอดขายได้แย่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของ Nintendo จนถึงปัจจุบัน โดยเครื่องที่ทำยอดขายได้แย่ติดอันดับรองบ๊วยก็คือ Wii U ที่ขายไปได้ 13.6 ล้านเครื่องทั่วโลก ซึ่งบทเรียนดังกล่าวทำให้ปู่นินเข็ดหลาบกับเทคโนโลยีสามมิติไปนานหลายปี กว่าจะกลับมาแตะอีกครั้งก็ต้องรอถึงยุคเครื่อง Nintendo 3DS ที่วางขายในปี 2011 แต่เอาเข้าจริง ๆ ผู้เล่นที่ซื้อเครื่อง Nintendo 3DS กลับมีจำนวนน้อยมากที่จะเปิดฟีเจอร์แสดงผลสามมิติขณะเล่นเกมครับ พร้อมให้เหตุผลว่าเล่นแล้วยิ่งปวดตากว่าเดิม


ติดตามข่าวเกมพีซี/คอนโซลอื่นๆ ได้ที่ Online Station

แชร์เรื่องนี้:
Vesper
About the Author

Vesper

เซเว่นที่ว่าแน่ ก็ยังหารักแท้มาขายไม่ได้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ