ใครที่ติดตามข่าวการเปิดตัวเครื่องเล่นเกม Nintendo Switch 2 น่าจะสังเกตเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนในเรื่องระบบการขายล่วงหน้า เพราะในขณะที่ฝั่งอเมริกาใช้วิธี “มาก่อนได้ก่อน” หรือ First-come First-served ซึ่งเป็นระบบปกติที่หลาย ๆ ประเทศใช้กัน แต่ที่ญี่ปุ่นกลับใช้ระบบ “จับสลาก” หรือ Lottery ที่ดูแล้วซับซ้อนกว่ามาก
ล่าสุดมีงานวิจัยจากศูนย์วิจัยของมหาวิทยาลัยโอซาก้าและ Mercari ได้ออกมาอธิบายถึงแนวคิดว่าทำไมญี่ปุ่นถึงมักเลือกใช้ระบบนี้ สาเหตุเป็นเพราะอาจจะดู "แฟร์กว่า" สำหรับคนญี่ปุ่นนั่นเอง!
งานวิจัยนี้มีชื่อว่า “A Comparison of Nintendo Switch 2’s Launch Strategy in the US and Japan: Economic, Ethical, and Social Perspectives” (ชื่อแปลไม่เป็นทางการ) โดยทีมวิจัยไม่ได้เกี่ยวข้องกับ Nintendo และยืนยันว่าไม่มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ ในการสั่งซื้อเครื่องมาก่อน

ตามรายงานระบุว่า ในญี่ปุ่นนั้น Nintendo เปิดให้สมาชิก Nintendo Switch Online (NSO) ที่มีเงื่อนไขเรื่องชั่วโมงการเล่นเกมและระยะเวลาการเป็นสมาชิกเข้าลงทะเบียนลุ้นจับสลากซื้อเครื่อง Switch 2 ผ่าน My Nintendo Store ตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา และยังคงดำเนินการต่อไปเรื่อย ๆ แม้เครื่องจะวางจำหน่ายแล้วก็ตาม โดยเฉพาะรุ่นราคาประหยัดที่เป็น Region-lock ทำให้มีอัตราการลุ้นสลากที่ต่ำมาก ตรงกันข้ามกับที่สหรัฐอเมริกาที่ใช้วิธีขายแบบใครมาก่อนได้ก่อนผ่าน My Nintendo Store เช่นกัน แต่มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นสมาชิก NSO มานานกว่า 1 ปี และมีชั่วโมงการเล่นมากกว่า 50 ชั่วโมง ถึงจะได้รับสิทธิ์เชิญไปสั่งจองตามลำดับการสมัคร
งานวิจัยวิเคราะห์ว่าทั้งสองประเทศต่างก็เจอกับปัญหาเดียวกันคือความต้องการซื้อที่สูงกว่าจำนวนเครื่องที่มี แต่แทนที่ Nintendo จะใช้วิธีทางเศรษฐศาสตร์แบบทั่วไปอย่างการปล่อยให้กลไกตลาดตัดสินด้วยราคา (แบบที่ยอมให้เกิดการขายต่อหรือขายแบบ Dynamic Pricing) แต่พวกเขากลับเลือกวิธีที่ดู “ไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติ” และมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าอย่างการจัดระบบจับสลากสำหรับที่ญี่ปุ่น ซึ่งแม้แต่ผู้ที่ต้องการซื้อจริงๆ ก็อาจพลาดโอกาสไป ขณะที่คนที่ไม่ได้สนใจมากก็อาจโชคดีได้สิทธิ์ขึ้นมา แต่การกำหนดให้ต้องมีชั่วโมงการเล่นขั้นต่ำ 50 ชั่วโมง ก็แสดงให้เห็นว่า Nintendo ตั้งใจจะให้ความสำคัญกับ “ความตั้งใจที่จะเล่น” มากกว่า “ความเต็มใจที่จะจ่าย”

หนึ่งในสมมติฐานที่งานวิจัยตั้งขึ้นคือ เกมคอนโซลไม่จำเป็นต้องทำกำไรจากการขายเครื่องเพียงอย่างเดียว เพราะรายได้ส่วนใหญ่มาจากยอดขายเกม, การสมัครสมาชิก และบริการดิจิทัลต่างๆ ในระยะยาว ดังนั้น การที่ลูกค้ามีประสบการณ์ที่ไม่ดีในช่วงเปิดตัวอาจส่งผลเสียต่อชื่อเสียงของแบรนด์และกำไรในระยะยาวได้ ซึ่งนี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไม Nintendo ถึงเลือกใช้ระบบจับสลากที่ญี่ปุ่น เพื่อลดความไม่พอใจของลูกค้าและลดความเสี่ยงด้านชื่อเสียงลง นอกจากนี้ ชาวญี่ปุ่นยังมีความคาดหวังที่เข้มงวดกับบริษัทมากกว่าชาวอเมริกัน โดยคาดหวังให้บริษัทออกมาตรการที่แข็งแกร่งเพื่อจัดการกับปัญหาพ่อค้าคนกลางหรือ Scalper ด้วย
นอกจากเรื่องเศรษฐกิจแล้ว งานวิจัยยังเจาะลึกถึงมุมมองด้านจริยธรรมและสังคม โดยชี้ว่าชาวญี่ปุ่นมองว่าระบบจับสลากมีความยุติธรรมกว่า เพราะผลลัพธ์ขึ้นอยู่กับ “โชค” อย่างแท้จริง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกอย่างความเร็วในการกด, การจับจังหวะ หรือความเร็วอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมการขายสินค้าความต้องการสูงอย่างตั๋วคอนเสิร์ตในญี่ปุ่นถึงนิยมใช้ระบบจับสลากกันเป็นปกติ ขณะที่ในสหรัฐฯ จะให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบและความพยายามของแต่ละคนมากกว่า ระบบมาก่อนได้ก่อนจึงสอดคล้องกับความเชื่อที่ว่า “คนที่ลงมือเร็ว, เตรียมตัวดี, และพยายามมากกว่าสมควรได้รับชัยชนะ” แม้จะมีปัจจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตหรือเวลาว่างเข้ามาเกี่ยวข้องก็ตาม และการไปเข้าคิวรอซื้อของในวันเปิดตัวก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่นั่นด้วย

งานวิจัยยังทิ้งท้ายด้วยเรื่องน่าสนใจว่า โพสต์ใน X ที่ตลกๆ ของคุณ Yuichi Nakamura ซึ่งเป็นนักพากย์ชือดัง และผู้บรรยาย Nintendo Directs ที่เขาโพสต์ว่าตัวเองก็จับสลากไม่เคยได้ ทำให้ผู้คนรู้สึกคลายความไม่พอใจลง และยังเป็นการตอกย้ำว่าระบบนี้มีความยุติธรรมอย่างแท้จริง เพราะแม้แต่คนที่มีสายสัมพันธ์กับ Nintendo โดยตรงก็ไม่ได้สิทธิพิเศษใดๆ
โดยรวมแล้ว งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นถึงความคาดหวังทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงระหว่างผู้บริโภคในญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วระบบการขายแบบมาก่อนได้ก่อนที่ญี่ปุ่นก็อาจจะกลับมาใช้ในอนาคต เมื่อ Supply Chain หรือการผลิตเริ่มกลับมาสู่ภาวะปกติ
แปลและเรียบเรียงจาก
Automaton Media
ติดตามข่าวเกมพีซี/คอนโซลอื่นๆ ได้ที่ Online Station