ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องเกมแนว RPG และเกมแอ็คชั่นระดับตำนานมากมาย ทว่าเกมยิงมุมมองบุคคลที่หนึ่ง (First Person Shooter หรือ FPS) กลับไปไม่ค่อยรุ่ง แทบไม่มีโอกาสได้แจ้งเกิดแบบปัง ๆ ในหมู่เกมเมอร์ชาวญี่ปุ่นเลย แม้แต่ค่ายใหญ่ก็ยังล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่า

วันนี้ Doekuramori นักพัฒนาเกมอินดี้ผู้สร้าง Beyond Citadel หนึ่งใน FPS สัญชาติญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จ ได้ออกมาแชร์ทฤษฎีที่น่าสนใจผ่านบัญชี X (Twitter เดิม) ของตน ว่าทำไมค่ายเกมใหญ่ของญี่ปุ่นถึงไม่สามารถสร้าง FPS ที่ "เวิร์ก" ได้เหมือนฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะกับแนวสงครามแบบ Call of Duty
"เพราะพวกเขาต่างพยายามจะลอก Call of Duty กัน ก็เลยพังกันหมดนั่นแหละ” Doekuramori กล่าว
Doekuramori อธิบายว่า ปัญหาหลักของ FPS จากค่าย AAA ญี่ปุ่นคือการพยายามสร้างเกมที่ลอกเลียนแบบสูตรสำเร็จของซีรีส์ Call of Duty โดยไม่เข้าใจแก่นแท้ว่าอะไรทำให้เกมสนุก เขาเชื่อว่าทีมพัฒนาในญี่ปุ่นขาดความรู้พื้นฐานด้านประวัติศาสตร์ทหารและวัฒนธรรมสงคราม ขณะที่ฝั่งตะวันตกคุ้นชินกันแล้ว ทำให้สร้างเกมแนวนั้นออกมาแล้วดูไม่สมจริง หรือขาดเสน่ห์แบบที่ CoD มี

อย่างไรก็ตามเขายังชี้ด้วยว่า แม้แต่ผู้พัฒนาฝั่งตะวันตกเองยังเคยล้มเหลวในการเลียนแบบ CoD มาแล้ว ดังเช่นเกม Medal of Honor: Warfighter ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จ ทั้ง ๆ ที่ซีรีส์ Call of Duty เกิดขึ้นมาได้ด้วยฝีมือของผู้พัฒนาดั้งเดิมของเกม Medal of Honor หากผู้พัฒนาจากฝั่งตะวันตกยังลำบากกันแทบแย่ ฝั่งญี่ปุ่นก็ต้องลำบากแบบสาหัสแน่นอน!

Doekuramori มองว่าสิ่งที่ทำให้ CoD โดดเด่น ไม่ใช่ระบบเกมเพลย์ที่ล้ำเลิศ แต่เป็นการนำเสนอที่ "โคตรเท่" โดยเขาเปรียบเทียบว่า CoD สามารถกลบจุดอ่อนต่าง ๆ ของเกมด้วยโปรดักชันสุดมันส์ได้ แต่เมื่อค่ายญี่ปุ่นพยายามทำแบบเดียวกันโดยไม่ถนัด ก็ล้มเหลว เพราะอ่อนทั้งด้านโปรดักชัน และด้านเกมเพลย์ไปด้วย ทำให้มองหาข้อดียาก
"การเล่าเรื่องแบบ CoD ต้องปล่อยให้ผู้เล่น ‘จับใจความเอง’ ไม่ใช่เล่าให้ฟังหมดทุกอย่าง” Doekuramori กล่าว พร้อมเสริมว่า "ค่ายญี่ปุ่นมักอธิบายเยอะเกินจนเกมดูน่าเบื่อ” แม้แต่ Kojima Productions ที่เกือบจะจับทางโปรดักชันแบบฝรั่งได้ ก็ยังติดกับดักการเล่าเรื่องแบบญี่ปุ่นอยู่ดี
Doekuramori เสนอว่า ถ้าอยากสร้าง FPS ที่ประสบความสำเร็จจริง ค่ายญี่ปุ่นควรหยุดพยายามเลียนแบบให้เป็น CoD แล้วหันมาโฟกัสกับสิ่งที่ตัวเองถนัดจริง ๆ เช่น กลไกเกมที่ดี มีระบบที่เข้าใจง่ายแต่ลึก สร้างความสนุกผ่านการเล่น มากกว่าการพยายามจะ "หล่อเท่” แบบหนังฝรั่ง

เขายกตัวอย่างว่า Resident Evil 7 และ Resident Evil Village คือตัวอย่างของ FPS หรือเกมมุมมองบุคคลที่หนึ่งจากญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จ โดยไม่จำเป็นต้องยัดโปรดักชันแบบฝรั่งเข้าไปมากมาย เพราะมันยังคงรักษาเอกลักษณ์ของเกมญี่ปุ่นไว้ได้
"ถ้าคุณจะทำเกมที่สนุกด้วยการเล่าเรื่องแบบเท่ ๆ คุณต้องยอมทิ้งเกมเพลย์ไปบ้างแต่ถ้าจะทำให้สนุกด้วยเกมเพลย์ คุณต้องอธิบายให้ชัดเจนว่าเล่นยังไงและนั่นแหละคือสิ่งที่ผู้พัฒนาญี่ปุ่นถนัดที่สุด”
เขาจึงสรุปว่าญี่ปุ่นมีศักยภาพในการสร้าง FPS ที่เป็นของตัวเองและแข่งขันในตลาดได้ ถ้าเลิกพยายามลอกรูปแบบพิมพ์นิยมของฝั่งตะวันตกแล้วกลับมาทำในสิ่งที่ตัวเองเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะการสร้างเกมที่ "สนุกเพราะการเล่น” ไม่ใช่ "สนุกเพราะเท่” แบบที่ Call of Duty ทำไว้ และให้ข้อคิดไว้ว่า "การที่บางอย่างเป็นที่นิยม ไม่ได้แปลว่าจำเป็นต้องทำตาม"
แปลและเรียบเรียงจาก
Automaton Media
ติดตามข่าวเกมพีซี/คอนโซลอื่นๆ ได้ที่ Online Station