Online Station

รีวิวเกม Death Stranding 2: On the Beach - กด 5 ดาวให้กับการขนส่งยอดเยี่ยมไร้ที่ติ

แชร์เรื่องนี้:
รีวิวเกม Death Stranding 2: On the Beach - กด 5 ดาวให้กับการขนส่งยอดเยี่ยมไร้ที่ติ

2025 ดูเหมือนจะเป็นอีกหนึ่งปีที่น่าจดจำของเกมเมอร์หลาย ๆ คน เพราะผ่านไปแค่ราวครึ่งปี เราก็มีเกมดี ๆ ออกมาให้เล่นแล้วเยอะแยะมากมาย และเวลานี้ก็ถึงคราวของ Death Stranding 2: On the Beach กันแล้ว

แต่ภาคต่อของหนึ่งในเกมที่ทำให้เกิดข้อถกเถียงกันมากที่สุดของปี 2019 เกมนี้จะดีขึ้นกว่าเดิมมากแค่ไหน หรือจะมีอะไรที่ด้อยลงกว่าเดิมหรือไม่ แล้วมันจะสามารถเปลี่ยนใจคนที่ไม่ชอบภาคแรกได้ไหม หลังจากที่เล่นเกมนี้ตั้งแต่ต้นจนจบด้วยเวลา 40 กว่าชั่วโมง นี่คือความเห็นของผมต่อเกมนี้ ขอเชิญไล่สายตาลงไปอ่านบทรีวิวฉบับเต็มของ Death Stranding 2: On the Beach กันได้เลยครับ

เปิดฉากสงครามส่งด่วนครั้งใหม่

11 เดือนหลังจากเรื่องราวในภาคแรกที่แผ่นดินอเมริกาเหนือถูกเชื่อมต่อเข้าด้วยกันผ่าน Chiral Network (ไครัลเน็ตเวิร์ก) Sam ตัวเอกของเราก็ปลีกวิเวกมาใช้ชีวิตเพื่อดูแลน้อง Lou (ลู) ที่เป็นเหมือนกับลูกสาวตัวน้อยของเขาทางตอนใต้ของประเทศ แต่แล้วภารกิจครั้งใหม่ก็มาเยือน Sam ถึงหน้าประตูบ้าน นั่นก็คือการเชื่อมต่อประเทศเม็กซิโกเข้าสู่ Chiral Network ก่อนที่สถานการณ์จะพลิกผันส่งผลให้ Sam ต้องเดินทางข้ามทวีปไปกับทั้งเพื่อนเก่าและเพื่อนใหม่บนยาน DHV Magellan (ดีเอชวี มาเจลลัน) เพื่อเชื่อมต่อออสเตรเลียเข้าสู่เน็ตเวิร์ก พร้อมๆ กับตามหาอดีตที่ยังเป็นปริศนาของน้อง Lou ไปในตัว

Death Stranding 2

อาจเพราะเป็นเกมภาคต่อ Death Stranding 2 จึงไม่จำเป็นต้องมีการปูพื้นเรื่องราวเบื้องหลังของโลกที่ผู้คนถูกตัดขาดออกจากกันเยอะเท่าภาคแรก ทำให้เราได้เข้าถึงเกมเพลย์พื้นฐานได้เร็วขึ้นกว่าเดิม ประกอบกับระบบ Corpus (คอร์ปัส) ที่เป็นเหมือนสารานุกรมแบบ Interactive ของเกมซึ่งมีความคล้ายคลึงกับ Final Fantasy 16 และ Avowed ได้ถูกสอดแทรกเข้ามาในบางคัตซีนเพื่อรองรับผู้เล่นที่อยากจะเข้าใจกลไกของโลกนี้เพิ่มเติม ก็ช่วยให้เกมไม่จำเป็นต้องมีบทพูดเพื่ออธิบายทุกอย่างเยอะเกินไป อีกทั้งในหลายๆ โอกาสเรายังสามารถเลือกถาม NPC ถึงข้อมูลเพิ่มเติมด้วยตัวเองได้อีกต่างหาก เหล่านี้ช่วยให้การดำเนินเรื่องของเกมมีความกระชับและฉับไวมากขึ้น ทำให้ผู้เล่นสายรีบจะได้รู้ข้อมูลเท่าที่จำเป็นโดยไม่รู้สึกตกหล่น ในขณะที่ผู้เล่นสายซึมซับทุกอย่างก็มีทางเลือกให้ขวนขวายเพิ่มด้วยตัวเองได้โดยง่าย

Death Stranding 2

การใช้นักแสดงมืออาชีพมาสวมบทบาทเป็นตัวละครต่าง ๆ ทำให้คัตซีนในเกมมีความน่าสนใจเสมอ ไม่ว่าจะเสียงพากย์ การแสดงออกทางสีหน้าและท่าทาง ตลอดจนการถ่ายทอดเรื่องราวที่น่าติดตาม แต่คัตซีนเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีความยาวอย่างมากก็แค่ราวสองถึงสามนาทีเท่านั้น และไม่ได้มีบ่อยหรือนานเกินไปจนทำให้เราถูกตัดขาดจากเกมเพลย์ไปอย่างเกินพอดี จะมีคัตซีนยาว ๆ ก็แค่ช่วงท้ายเท่านั้นที่เกมต้องขมวดปมเรื่องราวต่าง ๆ ที่ถูกโปรยไว้ระหว่างทาง ทำให้รวมๆ แล้วเนื้อเรื่องของเกมสามารถสื่อสารกับผู้เล่นได้ง่ายขึ้น ชัดเจนขึ้น แต่ก็ยังไม่ทิ้งชั้นเชิงในการนำเสนอ ช่วยให้เกมถ่ายทอดเรื่องราวที่เหนือจริงให้เข้าถึงได้อย่างไม่ยากเย็น เพราะที่สุดแล้วแก่นของมันก็คือสิ่งที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของชีวิต ความตาย ความผูกพัน และความหวัง

Death Stranding 2

แม้จะเล่นเดี่ยวแต่กลับไม่เดียวดาย

หัวใจของเกมเพลย์ในภาคนี้ก็ยังคงเป็นการเดินทางและการส่งของจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ซึ่งบางครั้งเราอาจเจอภารกิจที่มีเงื่อนไขพิเศษอย่างห้ามไม่ให้พัสดุโดนน้ำ หรือห้ามโดนแดด ทำให้เราต้องใส่ใจกับการเลือกช่วงเวลาและเส้นทางมากขึ้น ประกอบกับคราวนี้เราจะได้เข้าถึงยานพาหนะกันเร็วขึ้นกว่าเดิม จริงอยู่ที่ภาคแรกมันเคยทำให้เกมง่ายลงกว่าการเดินเท้าเพียวๆ พอสมควร แต่การออกแบบฉากและอุปสรรคต่าง ๆ ในภาคนี้ทำให้เรารู้สึกว่ายานพาหนะทั้งมอเตอร์ไซค์สามล้อและรถบรรทุกสี่ล้อถูกนำมาประยุกต์ใช้ได้ดีกว่าเดิม โดยเฉพาะหลังจากที่เราจะสามารถเลือกติดอุปกรณ์เสริมให้ยานพาหนะได้ ไม่ว่าจะเป็นแขนกลที่ใช้หยิบพัสดุตามทาง ปืนที่จะโจมตีศัตรูในรัศมีโดยอัตโนมัติ หรือล้อที่จะช่วยไต่พื้นที่ต่างระดับได้ง่ายขึ้น ทำให้การใช้ยานพาหนะดูมีมิติมากขึ้น แต่ก็ยังแพ้การเดินเท้าในบางจุดที่การใช้อุปกรณ์เสริมง่าย ๆ อย่างบันไดปีนหรือสมอโรยเชือกก็อาจทำให้เราลัดเข้าถึงพื้นที่ต่าง ๆ ได้เร็วกว่าอยู่ดีในบางกรณี

Death Stranding 2

ระบบความคืบหน้าในการเปิดแผนที่ก็ยังคงเดิมจากภาคที่แล้ว คือเราเดินทางไปยังสถานที่ใหม่ด้วยเส้นทางหรืออุปกรณ์เสริมจากหยาดเหงื่อแรงงานของเราคนเดียวเพื่อเชื่อมต่อพื้นที่นั้น ๆ เข้าสู่ Chiral Network แล้วเกมของเราก็จะเชื่อมต่อกับเกมของผู้เล่นคนอื่นที่ปลดล็อกพื้นที่นั้นๆ แล้วเหมือนกัน จากนั้นหนึ่งในเอกลักษณ์ของเกมที่ทางผู้พัฒนาเรียกว่าระบบ Social Strand ก็จะได้เฉิดฉาย นั่นก็คือการที่ผู้เล่นจะช่วยกันวางรากฐานสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เพื่อให้การเดินทางส่งของภายใต้พื้นที่ของเน็ตเวิร์กเป็นไปได้อย่างสะดวกขึ้น และเราก็จะได้เห็นว่าสะพานนั้นใครเป็นคนสร้าง บันไดนี้ใครเป็นคนเอามาวาง หรือถนนและ Monorail เส้นนี้ใครมีส่วนร่วมบ้าง แล้ววิธีการขอบคุณก็แค่การกด Like ให้กับสิ่งของต่าง ๆ เหมือนกับการกด Like ให้กับบทความนี้ที่แม้อาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่มันก็คำขอบคุณถึงผู้เขียนและผู้เล่นที่อดหลับอดนอนขอบตาคล้ำเพื่อปั่นบทรีวิวนี้ให้ทันกำหนดปลดเอมบาร์โก้นั่นเอง ในขณะที่จำนวน Like ของสิ่งปลูกสร้างในเกมก็จะถูกนำไปสะสมเป็นแต้มจัดเรตนักส่งของให้กับผู้เล่นแต่ละคน นับเป็นประสบการณ์มัลติเพลเยอร์แบบโดดเดี่ยวด้วยกันที่ทำให้เราเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้นแม้จะไม่ได้เจอหน้ากันแบบตัวต่อตัวเลยก็ตาม

Death Stranding 2

การเดินทางที่อัปเกรดคุณภาพขึ้นในทุกภาคส่วน

ภัยทางธรรมชาติต่าง ๆ ที่ถูกเพิ่มเข้ามาในภาคนี้จะทำให้เราต้องใช้ความคิดกับการวางสิ่งปลูกสร้างกันมากขึ้น โดยเฉพาะระบบน้ำหลากที่อาจซัดสะพานให้พังลงได้ในพริบตาถ้าเราเลือกตำแหน่งการวางแค่ให้มันแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ในขณะที่พายุทะเลทรายหรือพายุหิมะก็แทบจะทำให้ทัศนวิสัยกลายเป็นศูนย์ เหตุการณ์พวกนี้ทำให้เราต้องใส่ใจกับการเลือกเส้นทางระหว่างภารกิจรวมถึงการเตรียมอุปกรณ์ให้เหมาะสมกันมากกว่าเดิม แม้ว่าการประสบภัยธรรมชาติจะไม่ร้ายแรงถึงขั้นทำให้เราต้องกลับไปเริ่มใหม่ตั้งแต่ศูนย์ แต่มันก็ถือว่าเป็นบทลงโทษสำหรับผู้เล่นที่ไม่เตรียมตัวให้ดีก่อนได้เช่นกัน

Death Stranding 2

ในภาคนี้เราจะมีวิธีจัดการกับศัตรูได้หลากหลายขึ้น สะดวกขึ้น เช่นว่าเราสามารถส่องเพื่อมาร์กตำแหน่งศัตรูจากระยะไกลก่อนได้ แล้วตัวเกมก็จะบอกจำนวนของศัตรูที่เหลืออยู่ทางด้านบนของหน้าจอไว้ตลอด ไม่ว่าคุณจะชอบเล่นสายบู๊ สายลอบเร้น หรือพยายามเลี่ยงการปะทะให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเลี่ยงได้ ตัวเกมก็จะมีอุปกรณ์หรือเส้นทางให้คุณได้เลือกเดินเสมอ อีกทั้งระบบสกิลติดตัวที่เลือกเปลี่ยนได้ตลอดในทุกการเดินทางก็ช่วยให้เราสามารถเลือกเล่นด้วยแนวทางที่ชอบหรือถนัดได้อย่างลงตัวมากขึ้น ตลอดจนระบบความเชี่ยวชาญของ Sam ก็ยิ่งช่วยส่งเสริมให้ผู้เล่นแต่ละสายรู้สึกได้ถึงพัฒนาการทางความสามารถของตัวละครได้อยู่ตลอด อย่างถ้าเราลอบเร้นบ่อย ๆ Sam ก็จะย่องได้เงียบขึ้น ใช้ปืนประเภทไหนบ่อย ๆ ก็จะรีโหลดได้ไวขึ้น ซึ่งนั่นก็รวมไปถึงเกมเพลย์ในส่วนของการเดินทางด้วย อย่างเช่นเราจะรับน้ำหนักได้มากขึ้นจากการแบกของหนักบ่อย ๆ หรือยิ่งวิ่งก็ยิ่งเหนื่อยได้ยาก เป็นต้น นับว่าเป็นระบบให้รางวัลผู้เล่นที่ดี ไม่ใช่ว่าชอบทำอะไรซ้ำๆ ก็จะได้ผลลัพธ์เหมือนเดิมไปตลอด

Death Stranding 2

แม้จะบอกว่าระบบต่อสู้มีความหลากหลายมากขึ้น เลือกลุยตอนกลางวันจะเห็นศัตรูได้ง่ายขึ้น เลือกเดินทางกลางคืนก็จะซ่อนตัวได้เนียนกว่า ศัตรูประเภทผี หรือ BT ตามทางก็มีจำนวนน้อยลงเพื่อหลีกทางให้กับศัตรูรูปแบบใหม่อย่าง Ghost Mech (โกสต์เม็ค) ก็ทำให้เกมดำเนินไปด้วยความเร็วมากกว่าเดิม แต่โดยรวมเรารู้สึกว่าศัตรูในแต่ละพื้นที่เป็นเหมือนกับหนึ่งในอุปสรรคระหว่างทางเท่านั้น ไม่ใช่ความท้าทายที่จะดึงให้เรารู้สึกว่านี่เป็นเกมแอ็กชันมากกว่าเกมเดินทางส่งของ เพราะจากการเล่นทั้งเกมด้วยความยากระดับ Normal เราไม่เคยตายจากการสู้กับศัตรูเลยแม้แต่ครั้งเดียว ไม่ใช่เพราะเราเล่นเก่ง แต่เรารู้สึกว่าความยากของเกมไม่ได้อยู่ที่การสู้กับศัตรู แต่เป็นการหาวิธีรับมือกับอุปสรรคระหว่างการเดินทางมากกว่า เพราะหน้าจอ Game Over แต่ละครั้งที่เราเจอ มันมาจากความผิดพลาดระหว่างการขนส่งพัสดุล้วนๆ

Death Stranding 2

ประสิทธิภาพลื่นไหลแม้ไม่ใช่เครื่องโปร

เมื่อเทียบกับเกมภาคแรก กราฟิกของภาคนี้อาจไม่ได้ดูสวยขึ้นกว่าเดิมอย่างผิดหูผิดตา แต่จากการเล่นบนเครื่อง PS5 รุ่นปกติในโหมดเน้นเฟรมเรต นอกจากจะไม่เจอปัญหาทางเทคนิคหรือช่วงที่เฟรมเรตไม่เสถียรแล้ว เราก็ยังรับรู้ได้ถึงรายละเอียดต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้นทั้งในด้านของโมเดลของตัวละคร การเคลื่อนไหว และสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย ในยุคที่เอนจิ้นสำหรับสร้างเกมทำให้เราเข้าใกล้กับกราฟิกที่สมจริงยิ่งขึ้นทุกวัน สิ่งที่น่าชื่นชมของ Death Stranding 2 คือการออกแบบทิวทัศน์และมุมกล้องที่เอื้อต่อการนำเสนอทิศทางศิลป์ได้อย่างงดงาม และมันยิ่งน่าประทับใจมากขึ้นเมื่อความสุนทรีย์ทางสายตาเหล่านี้ถูกนำมาผนวกกับเสียงและดนตรีประกอบที่บรรเลงขึ้นมาได้อย่างเข้ากับบรรยากาศและถูกที่ถูกเวลา ไม่ว่าจะเป็นระหว่างการเล่น หรือระหว่างคัตซีน ซึ่งหนึ่งในเหตุการณ์ที่เกมสื่อสารกับเราระหว่างการเล่นได้ดีที่สุดก็คือ มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เราเตรียมตัวมาไม่พร้อม การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่ในระหว่างที่กำลังท้อ เกมก็บรรเลงเพลง Patience (เพเชียนซ์) ของ Low Roar (โลวรอร์) ที่กล่าวถึงความอดทนกับอะไรหลาย ๆ อย่างขึ้นมา นับว่าเป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมจริงๆ

Death Stranding 2

สรุป

โดยรวมแล้ว Death Stranding 2 เป็นเกมภาคต่อที่ดีกว่าเดิมในทุกๆ ด้าน การได้เห็นนักแสดงจริงๆ มาสวมบทบาทเป็นตัวละครในเกมทำให้การซึมซับเรื่องราวมีอรรถรสเป็นพิเศษ เกมเพลย์รองรับความถนัดของผู้เล่นที่หลากหลาย กราฟิกและเสียงประกอบก็ถือว่าอยู่ในชั้นแนวหน้าของเกมฟอร์มยักษ์ในยุคปัจจุบัน จริงอยู่ที่มันอาจไม่ใช่เกมที่จะเหมาะกับทุกคน 

Death Stranding 2

เพราะก็อย่างที่เราได้กล่าวไปในข้างต้นว่าหัวใจของเกมก็คือการเดินทางและส่งของจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่งอยู่ดี แต่ถึงอย่างนั้นตัวเกมก็ไม่ได้พยายามจะนำเสนอในสิ่งที่มันไม่ได้เป็น ตลอดจนเกมยังมีอีกหลายปัจจัยที่พร้อมเซอร์ไพรส์หลายๆ คนในฐานะของผู้ที่ชื่นชอบสื่อบันเทิงในหลายๆ แขนง ทั้งวิดีโอเกม เพลง ภาพยนตร์ การ์ตูน และอีกมากมาย สุดท้ายนี้ Death Stranding 2 ถือเป็นอีกหนึ่งเกมยอดเยี่ยมที่ได้ออกมาให้เล่นกันในปีนี้ และทำให้เรารู้สึกว่าปี 2025 ของเกมเมอร์นี่มันเป็นปีที่น่าจดจำไม่น้อยเลย

VERDICT
10/10

Death Stranding 2: On the Beach มีกำหนดวางจำหน่ายวันที่ 26 มิถุนายนนี้บนเครื่อง PlayStation 5 ครับ

  • บทรีวิวดั้งเดิมโดย: อาร์ม @Pirawits
  • แก้ไขและเรียบเรียง: Dark_Libra

ติดตามข่าวเกมพีซี/คอนโซลอื่นๆ ได้ที่ Online Station

Death Stranding 2: On The Beach

First Released:
26 มิ.ย. 25
Platforms:
PS5
Developed by:
Genre(s):
แชร์เรื่องนี้:
Dark_Libra
About the Author

Dark_Libra

Everything in this world comes down to the matter of ponytail

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

Online Station