เพื่อน ๆ เคยสงสัยกันไหมว่า เกมราคาเต็มที่เราซื้อวันนี้ จะยังเล่นได้อยู่หรือไม่ในอีก 5 หรือ 10 ปีข้างหน้า หากเป็นสมัยก่อนก็คงจะหยุดที่แค่ไม่สามารถเล่นออนไลน์ผ่านเซิร์ฟเวอร์เท่านั้น ทว่าต่อมาเกมเริ่มมีการบังคับให้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตขณะที่เล่น ทำให้เริ่มมีความกังวลว่าถ้าสักวันหนึ่งผู้ให้บริการเลิกสนับสนุน จะไม่สามารถเล่นได้แม้แต่ส่วนเดียวของเกมอีกต่อไป
ล่าสุด กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อผู้บริโภคในวงการเกม "Stop Killing Games" ได้เผยผลสำรวจที่ตอกย้ำความกังวลในเรื่องนี้ ว่าเกมกว่า 70% ที่บังคับให้ต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในการเล่น มีชะตากรรมที่จะ "ตาย" หรือกลายเป็นแค่ 'เศษซากโปรแกรม' ที่เปิดเล่นไม่ได้อีกเลยในอนาคต!

กลุ่ม Stop Killing Games ได้ทำการสำรวจและวิเคราะห์เกมกว่า 700 เกม และพบว่าในกลุ่มตัวอย่าง 425 เกมที่ต้องต่อเน็ตนั้น มีถึง 299 เกม (หรือประมาณ 70%) ที่ปัจจุบันไม่สามารถเล่นได้อีกต่อไปแล้ว โดยคำว่า “เกมตาย” ในที่นี้หมายถึง เกมที่ไม่สามารถเข้าเล่นได้อีกต่อไป เพราะผู้พัฒนาปิดเซิร์ฟเวอร์ และตัวเกมจำเป็นต้องเชื่อมต่อเซิร์ฟเวอร์ตลอดเวลา แม้แต่โหมดเล่นคนเดียวก็เปิดไม่ได้ เท่ากับว่าเกมนั้นได้กลายเป็นเพียง "ที่ทับกระดาษดิจิทัล" ในคลังเกมของเราไปโดยปริยาย
ผลสำรวจได้ยกตัวอย่างเกมเช่น Battlefield Bad Company 2 และ Crysis 3 ที่แม้โหมดมัลติเพลเยอร์จะถูกปิดไปแล้ว แต่ยังเล่นโหมดเนื้อเรื่องหรือ 'Offline Component' ที่ยังคงเล่นได้ต่อไป ต่างจากเกมยุคใหม่ที่เกือบทั้งเกมเป็นบริการแบบ 'Online-Only' ไม่มีโหมดออฟไลน์เลย หากปิดเซิร์ฟเวอร์ก็เล่นไม่ได้ทันที จบกันแค่นี้
สิ่งที่น่าใจหายยิ่งกว่า คือความหวังที่ริบหรี่ในการแก้ปัญหานี้จากฝั่งผู้พัฒนาเอง ผลสำรวจชี้ว่ามีเกม น้อยกว่า 5% เท่านั้น ที่ผู้พัฒนาจะยอมเสียเวลาและทรัพยากรในการออกแพตช์ เพื่อปรับให้เกมสามารถเล่นแบบออฟไลน์ได้หลังจากที่ตัดสินใจปิดเซิร์ฟเวอร์ไปแล้วแบบ Suicide Squad: Kill the Justice League ขณะเดียวกันก็มีเกมเพียง 26% เท่านั้นที่แฟน ๆ ร่วมใจกัน 'สานต่อ' จากผู้พัฒนา และเปิดให้บริการเล่นต่อไปกันเอง เท่ากับว่าเกมส่วนใหญ่ 70% ต้องถูก "ลอยแพ" ปล่อยให้ตายไปพร้อมกับเซิร์ฟเวอร์นั่นเอง (เช่น Concord เป็นต้น)
ทั้งนี้ใครที่สนใจสามารถดูรายชื่อเกมต่าง ๆ ได้ที่นี่ ว่ามีเกมใดบ้างที่มีความเสี่ยงถูกลอยแพจนเล่นไม่ได้ เนื่องจากผู้พัฒนาไม่มีแผนรับรองในอนาคต มีเกมใดบ้างที่ผู้พัฒนาช่วยรักษาไว้ เกมใดบ้างที่แฟน ๆ ช่วยบำรุงรักษากันเอง และเกมใดบ้างที่ถูกทอดทิ้ง 'ตายสนิท' ไม่สามารถเล่นได้อีกต่อไป

เรื่องนี้จุดประเด็นสำคัญให้เราต้องครุ่นคิดว่า เมื่อเราซื้อเกมดิจิทัล โดยเฉพาะเกมที่ต้องต่อเน็ตตลอดเวลา เรากำลัง “ซื้อสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของเกมที่ซื้อมา” จริง ๆ หรือแค่ “สิทธิ์ชั่วคราวในการเข้าถึง” เท่านั้น? เมื่อผู้จัดจำหน่ายถอดเกมออกจากร้านค้าหรือปิดเซิร์ฟเวอร์ลง เงินที่เราจ่ายไปก็แทบจะสูญเปล่าทันที ถือเป็นระเบิดเวลาที่ซ่อนอยู่ในคลังเกมดิจิทัลของใครหลายๆ คน มีน้อยมากที่ฝั่งผู้พัฒนาให้หรือผู้จัดจำหน่ายเกมจะให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เป็นประเด็นที่เกมเมอร์อย่างเราๆ ควรตระหนักถึงความไม่แน่นอนนี้ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อเกมที่มีลักษณะการให้บริการแบบ Online-Only ในอนาคต
แล้วเพื่อน ๆ ะครับ คิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้ ผู้พัฒนาควรมีข้อบังคับทางกฎหมายให้ต้องรับผิดชอบต่อเกมที่พวกเขาขายหรือไม่ หรือนี่คือความจริงของโลกยุคดิจิทัลที่เราต้องยอมรับ มาแชร์ความคิดเห็นกันได้เลยครับ!
แปลและเรียบเรียงจาก
Tech4Gamers