รีวิวเกม Capcom Fighting Collection 2 – รวมมิตรเกมไฟท์ติ้งในวันวาน

Capcom นั้นเป็นหนึ่งในค่ายเกมที่เคยสร้างปรากฏการณ์ในยุค 90 จนถึงทศวรรษ 2000 เอาไว้เพียบ โดยใครที่เคยผ่านช่วงเวลานั้นน่าจะเคยได้เล่นเกมแอ๊กชั่นหรือไฟท์ติ้งหลายซีรีส์จากค่ายนี้มาไม่น้อย ซึ่งหลังจากที่ทางค่ายเคยนำเกมไฟท์ติ้งยอดนิยมในอดีตมามัดรวมเอาใจแฟน ๆ ในชื่อ Capcom Fighting Collection มาแล้วในปี 2022 และได้กระแสตอบรับไปในทางที่ดี รอบนี้พวกเขาเลยหยิบอีก 8 เกมไฟท์ติ้งที่ตราตรึงในความทรงจำมาเขย่ากระเป๋าแฟน ๆ อีกครั้ง แน่นอนว่าทีมงาน Online Station ก็ไม่พลาดที่จะรีวิวเกม Capcom Fighting Collection 2 เพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจแก่เพื่อน ๆ ในบทความนี้ครับ

แนวเกม: ไฟท์ติ้ง
ผู้พัฒนา: Capcom
แพลตฟอร์ม: PS4, Xbox One, Nintendo Switch, PC
วางจำหน่าย: 16 พฤษภาคม 2025

(ทีมงานรีวิวเกมจากเวอร์ชั่น PS4)

ในส่วนของเกมนี้จะประกอบไปด้วยเกมไฟท์ติ้งจำนวน 8 เกม (เกมที่สู้แบบ 2D จะไฮไลท์ด้วยสีแดง) ได้แก่

  • Plasma Sword: Nightmare of Bilstein (1998)
  • Power Stone (1999)
  • Power Stone (2000)
  • Capcom vs. SNK: Millennium Fight 2000 Pro (2000)
  • Project Justice (2000)
  • Street Fighter Alpha 3 (2001)
  • Capcom vs. SNK 2: Mark of the Millennium 2001 (2001)
  • Capcom Fighting Evolution (2004)

เกมที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนมีการเพิ่มฟีเจอร์ให้สามารถเล่นแบบออนไลน์ได้ด้วย โดยการหาห้องจะมีให้เราเลือกได้ว่าอยากเจอคู่ต่อสู้ฝีมือประมาณไหน ซึ่งจากที่ทีมงานได้ทดลองหาห้องเผื่ออาจจะเจอกับสื่อสำนักอื่นที่ได้โค้ดรีวิวเหมือนกัน ปรากฏว่าต้องใช้เวลานานประมาณหนึ่ง ตรงนี้คาดว่าเวลาเล่นอาจจะไม่ตรงกัน ถ้าถึงวันวางจำหน่ายแล้วน่าจะหาห้องได้ง่ายขึ้น

เราจะเห็นได้ว่าหลายปีหลังมานี้ เกมแนวไฟท์ติ้งแทบทุกซีรีส์พยายามที่จะเข้าหาผู้เล่นที่ไม่สันทัดกับเกมแนวนี้มากขึ้น ซึ่งเกมนี้ก็มีการใส่ฟีเจอร์อำนวยความสะดวกแก่ผู้เล่นเหล่านั้นด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นฟีเจอร์ที่กดเพียงปุ่มทิศทางพร้อมกับปุ่มพิเศษก็สามารถออกท่าไม้ตายหรือซูเปอร์คอมโบได้ทันที ซึ่งเดิมทีผู้คนที่มักมองว่าเกมแนวไฟท์ติ้งเป็นแนวเข้าถึงยากนั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะพวกเขามองว่าการกดท่าไม้ตายเป็นเรื่องยุ่งยากและลำบากนั่นเอง การทำเช่นนี้เลยเหมือนเปิดกว้างให้ทุกคนกดท่าได้ง่าย เข้าใจความสนุกของเกมไฟท์ติ้งได้ดีขึ้นครับ

ขณะเดียวกัน เกมนี้ก็ยังคงธรรมเนียมของเกมประเภทมัดรวมอยู่ นั่นก็คือการใส่ฟีเจอร์ให้ผู้เล่นปรับแต่งกรอบที่อยู่ด้านข้างซ้าย-ขวาของจอแสดงผลเป็นลวดลายต่าง ๆ ของเกมที่เราเล่นอยู่ เนื่องจากเวอร์ชั่นต้นฉบับของทั้ง 8 เกมล้วนเป็นเกมที่เล่นกับทีวีหรือมอนิเตอร์ขนาด 4:3 พอนำมาเล่นบนจอ 16:9 ก็เลยต้องมีฟีเจอร์นี้เข้ามาเพื่อไม่ให้ขอบทั้งสองข้างดูโล่ง ซึ่งก็มีให้เลือกปรับอยู่ประมาณ 3-4 แบบตามความชอบของแต่ละคนเลย

ถัดมาก็เป็นการปรับฟิลเตอร์ของภาพบ้าง โดยส่วนนี้จะเลือกปรับได้ว่าจะเอาฟิลเตอร์ที่ให้ความรู้สึกแบบไหน เช่น ฟิลเตอร์เหมือนตอนเล่นบนตู้เกมอาร์เคด หรือฟิลเตอร์เหมือนตอนเล่นบนทีวีจอแก้ว (CRT) เป็นต้น ซึ่งฟีเจอร์ดังกล่าวน่าจะถูกจริตคอเกมไฟท์ติ้งอยู่ไม่น้อย เพราะมันให้ประสบการณ์เหมือนครั้งที่เรานั่งเล่นกับเพื่อนเมื่อ 20 กว่าปีก่อน หรือเวลาไปนั่งเล่นเกมตู้ตามศูนย์การค้ายังไงยังงั้น ทว่าจะมีจุดให้ติอย่างหนึ่งคือเกมไม่มีใส่ฟิลเตอร์แบบคลีนที่ตัดเอา Noise ทั้งหลายออกไปจนหมด เพราะบางคนอาจจะอยากเล่นด้วยภาพแบบปกติ ไม่มีฟิลเตอร์มาเกี่ยวบ้าง

จำนวน 8 เกมที่มีอยู่ในภาคนี้ มีอยู่ 6 เกมที่เป็นเกมแนวไฟท์ติ้งที่อาจจะแตกต่างกันตรงที่เป็นการสู้แบบ 1:1 และแท็กทีม แต่ทางด้านเกม Power Stone และ Power Stone 2 จะให้ฟีลที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง โดยเป็นแนวไฟท์ติ้งภายในห้องที่มีไอเทมและอาวุธให้หยิบมาปาใส่กัน (คล้ายกับเกม Poy Poy) และยังสามารถเล่นได้พร้อมกันสูงสุดถึง 4 คน ยิ่งเล่นด้วยกันเยอะยิ่งมันส์และมั่วสุด ๆ ถ้าใครที่อยากเจออะไรแปลกใหม่ สองเกมที่กล่าวมาก็เป็นตัวเลือกที่น่าลองครับ

สิ่งที่ดูจะเป็นข้อเสียหลัก ๆ ของเกมนี้ อย่างแรกก็คือ ทั้ง 8 เกมมีให้เล่นแค่โหมดอาร์เคด โหมด Versus และโหมดฝึกฝนตัวละครเท่านั้น ซึ่งจะไม่มีโหมดพิเศษที่เคยพ่วงมากับตัวเกมต้นฉบับแต่อย่างใด ยกตัวอย่างเช่นเกม Street Fighter Alpha 3 ที่จะมีโหมดปั้นและพัฒนาตัวละคร หรือโหมด Dramatic Battle ที่เลือก 2 ตัวละครมาช่วยกันรุม AI พอนำมาให้เล่นได้แค่ 3 โหมดจึงทำให้ขาดความหลากหลายไปพอสมควร

อีกอย่างก็คือ ด้วยความที่เกมนี้เป็นการนำเกมไฟท์ติ้งในอดีตมามัดรวม ซึ่งตัวเกมไฟท์ติ้งเองก็มีผู้เล่นเฉพาะกลุ่มอยู่แล้ว ยิ่งพอเป็นเกมเก่าด้วย ความน่าสนใจอาจจะสู้เกมใหม่ไม่ได้ ดังนั้นคนที่ซื้อเกมนี้อาจจะต้องทำใจว่าในระยะยาวอาจจะหาผู้เล่นในโหมดออนไลน์ได้ยากครับ ใครที่ชื่นชอบการประลองฝีมือผ่านโหมดออนไลน์ก็ต้องชั่งใจกันหน่อยว่านานวันไปคุณอาจได้เล่นโหมดออฟไลน์บ่อยกว่าออนไลน์แน่นอน

ข้อดีข้อเสีย
1. รวม 8 เกมไฟท์ติ้งเด็ด ๆ ของ Capcom ในช่วงปลายยุค 90 จนถึงต้นทศวรรษ 2000 ซึ่งทุกเกมล้วนมีระบบและเอกลักษณ์เฉพาะตัว1. แต่ละเกมจะมีให้เล่นแค่โหมดอาร์เคด, โหมด VS และโหมดฝึกฝนเท่านั้น ไม่มีบางโหมดเฉพาะที่มาพร้อมกับเกมต้นฉบับเมื่อ 20 กว่าปีก่อน
2. มีการเพิ่มฟีเจอร์ที่ช่วยให้ผู้เล่นมือใหม่เข้าถึงง่ายขึ้น เพียงกดแค่ปุ่มเดียวก็สามารถออกท่าไม้ตายหรือท่าไม้ตายพิเศษได้2. ฟิลเตอร์ภาพมีให้เลือกปรับ 4 แบบ แต่ความแตกต่างมีแค่โทนสีและปริมาณ Noise (ที่ทำให้ดูเหมือนตอนเล่นบนทีวีจอแก้วสมัยก่อน)
3. มีแนวโน้มหาผู้เล่นในโหมดออนไลน์ค่อนข้างนาน ควรทำใจเผื่อตอนเกมออกไว้เนิ่น ๆ ว่าคนที่เล่นเกมนี้ไม่น่าจะเยอะมากนัก

สรุป

เกมนี้เหมาะกับการหวนรำลึกความหลังสำหรับคนที่โหยหาเกมไฟท์ติ้งกลิ่นอายยุคปลาย 90 – ต้น 2000 โดยมีการเพิ่มฟีเจอร์อำนวยความสะดวกบางอย่างที่เอาใจผู้เล่นหน้าใหม่ หรือผู้ที่ไม่ถนัดเกมไฟท์ติ้ง แต่สิ่งที่ควรรู้ก่อนเล่นเลยก็คือตัวเกมจะมีแค่โหมดอาร์เคด โหมดต่อสู้กันเอง และโหมดฝึกตัวละครเท่านั้น ทำให้ความหลากหลายถูกลดทอนลงไปพอสมควร เนื่องจากบางเกมมีโหมดเฉพาะที่สนุกกว่าโหมดอาร์เคดด้วยซ้ำ กับอีกเรื่องคือด้วยความที่มันเป็นรวมเกมไฟท์ติ้ง ซึ่งเกมแนวนี้ก็อย่างที่รู้ ๆ กันว่ามีกลุ่มผู้เล่นที่ค่อนข้างจำกัดวง อีกทั้งพอไม่ใช่เกมภาคใหม่ด้วย ดังนั้นการหาผู้เล่นอื่นในโหมดออนไลน์อาจจะนานนิดหนึ่ง ขึ้นอยู่กับว่าผู้ที่ซื้อเกมนี้ไปจะยืนระยะได้นานพอที่เราจะหาห้องเจอ และไม่ท้อไปก่อนหรือไม่นะครับ

คะแนน 7.5/10


ติดตามข่าวเกมพีซี/คอนโซลอื่น ๆ ได้ที่ Online Station

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้