แม้จะไม่เคยแตะเกม Assassin’s Creed Shadows ด้วยตัวเองเลย แต่คุณ Sachi Schmidt-Hori อาจารย์ด้านวรรณกรรมญี่ปุ่นจากมหาวิทยาลัย Dartmouth กลับกลายเป็นเป้าหมายของกระแสดราม่าหนัก หลังมีชื่อโผล่เป็นที่ปรึกษาเนื้อเรื่องของเกมภาคล่าสุดจาก Ubisoft
เหตุการณ์เริ่มบานปลายตั้งแต่มีการปล่อยเทรลเลอร์ของเกมช่วงเดือนพฤษภาคม 2024 ซึ่งเผยว่าตัวเกมจะมีสองตัวเอกหลัก ได้แก่ Naoe นักฆ่าสาวญี่ปุ่น และ Yasuke นักรบผิวดำจากต่างแดน ทำเอาแฟนเกมบางกลุ่มไม่พอใจ บอกว่าเกม “ตื่นรู้เกินไป” แถมลาก คุณ Schmidt-Hori ไปโจมตีในโซเชียล ตั้งแต่รีวิวงานวิชาการของเธอแบบมั่ว ๆ จนถึงส่งอีเมลด่าทออย่างหยาบคาย และขุดข้อมูลส่วนตัวมาโจมตี
หลายคนกล่าวหาว่าเธอ “เขียนประวัติศาสตร์ปลอม” บางคนถึงขั้นเรียกเธอว่า “SJW มืออาชีพ” แต่ความจริงก็คือหน้าที่ของเธอมีแค่ให้คำแนะนำด้านวัฒนธรรมและตรวจสอบบทพูดในเกมเท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้สร้าง เสนอ หรือออกแบบตัวละครแต่อย่างใด
“ฉันรู้ตัวว่าต้องเผชิญหน้าคนเดียว ไม่มีใครปกป้อง เลยเลือกทำในสิ่งที่ฉันเชื่อว่าจะได้ผล” เธอบอกกับสื่อ “มันยากที่เราจะเกลียดใครสักคน ถ้าได้คุยกับคน ๆ นั้นจริง ๆ จัง ๆ”
แทนที่จะเงียบเฉยและปล่อยให้ผ่านไป เธอจึงเลือกตอบกลับบางข้อความด้วยน้ำเสียงสุภาพ บางคนถึงกับขอโทษ ยกเลิกโพสต์โจมตี หรือแม้แต่ขอลบข้อความแย่ ๆ ที่เคยพูด
กรณีหนึ่งที่น่าสนใจคือ Anik Talukder หนุ่มชาวอังกฤษวัย 28 ปีที่เคยโพสต์แสดงความไม่พอใจที่ยาสึเกะเป็นตัวเอก แถมยังแปะรูปของ Schmidt-Hori พร้อมข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือของเธอใน Reddit เขาไม่ได้ด่าโดยตรง แต่โพสต์ของเขาถูกแชร์ต่อไปในฟอรั่มต่าง ๆ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระแสโจมตี
เมื่อ Schmidt-Hori ทักไปชวนคุยผ่าน Zoom เขาลังเลในตอนแรก แต่สุดท้ายทั้งสองก็ได้พูดคุยกันอย่างจริงจัง รวมถึงประเด็นที่ตัวละครเอเชียมักไม่ได้รับบทบาทเด่นในสื่อฝั่งตะวันตกด้วย และยังติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
“ผมได้บทเรียนครั้งใหญ่” Talukder บอก “ผมไม่ควรทำให้เธอต้องกลายเป็นเป้าโจมตีแบบไม่มีเหตุผล”
ฝั่ง Ubisoft แม้จะปฏิเสธให้สัมภาษณ์ตรง ๆ แต่ก็ออกแถลงการณ์ปกป้องการตัดสินใจของทีมงาน พร้อมยืนยันว่าบริษัทไม่สนับสนุนการกลั่นแกล้งออนไลน์ และรู้สึกขอบคุณ Schmidt-Hori ที่กล้าพูดถึงประเด็นนี้ตรง ๆ
นักวิชาการด้านการสื่อสารสาธารณะจากมหาวิทยาลัย Vermont บอกว่า วิธีของ Schmidt-Hori คือการ “เบรกความเกลียดด้วยเมตตาธรรม” และเป็นตัวอย่างที่ดีของการทำให้โลกออนไลน์หยุดมองคนเป็นแค่เป้าหมาย แล้วดึงสติกลับมาให้เห็นว่าอีกฝ่ายก็เป็น “มนุษย์” เหมือนกัน
เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าแม้ Assassin’s Creed Shadows จะมีผู้สร้างหลายคน ซึ่งบางคนก็ผลักดันแนวคิดบางอย่างจนทำให้หลายฝ่ายไม่พอใจ จนบางส่วนที่ไม่ได้รับผิดชอบโดยตรงก็ติดร่างแห ถูกเล่นงานไปด้วย แต่สุดท้ายก็สามารถเปลี่ยนใจผู้ที่ไม่ชอบได้ ด้วยความใจเย็นและเข้าใจ แทนที่จะใช้วิธีตอบโต้ด้วยถ้อยคำรุนแรงและตราหน้าเป็นพวกหัวรุนแรง ทำให้เกิดการพูดคุยที่มีประโยชน์กับทั้งสองฝ่ายแทน
แปลและเรียบเรียงจาก
AP
ติดตามข่าวเกมพีซี/คอนโซลอื่น ๆ ได้ที่ Online Station