วันที่ 6 พฤษภาคม 2003 หรือวันนี้เมื่อ 22 ปีที่แล้ว เป็นวันวางจำหน่ายของเกม Castlevania: Aria of Sorrow บนเครื่อง Game Boy Advance ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยภาคนี้ถือเป็นภาคที่ 3 ที่ลงให้กับเครื่อง Game Boy Advance ถัดจากภาค Circle of the Moon และ Harmony of Dissonance ซึ่งยังมีคุณโคจิ อิการาชิ (Koji Igarashi) ผู้ที่พลิกโฉมซีรีส์ตั้งแต่ภาค Symphony of the Night มาเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับภาคนี้ด้วย
(ล่าง) ปกเกมเวอร์ชั่นอเมริกาและญี่ปุ่น
เรื่องราวของภาค Aria of Sorrow เกิดขึ้นในปี 2035 โดยเล่าถึงการผจญภัยของ โซมะ ครูซ (Soma Cruz) ชายหนุ่มผู้ที่เดินทางมายังญี่ปุ่นในฐานะนักเรียนแลกเปลี่ยนและอาศัยอยู่ใกล้กับศาลเจ้าฮาคุบะ วันหนึ่งขณะที่โซมะไปที่ศาลเจ้าพร้อมกับมินะ ฮาคุบะ (Mina Hakuba) เพื่อนสาวสมัยเด็กก็ได้เกิดเหตุการณ์สุริยุปราคา ทำให้ทั้งคู่ถูกดูดเข้าไปโผล่ที่ปราสาทลึกลับแห่งหนึ่ง และที่นั่นโซมะก็ได้พบกับเก็นยะ อาริคาโดะ (Genya Arikado) ที่เปิดเผยว่าปราสาทดังกล่าวคือปราสาทแดร็กคูล่า
พอคุยไปได้ไม่นานก็มีศัตรูกลุ่มหนึ่งโผล่มาโจมตีทั้งสาม ซึ่งอาริคาโดะสามารถกำจัดพวกมันได้ทั้งหมด ทว่ามีวิญญาณของศัตรูตัวหนึ่งลอยเข้าร่างของโซมะโดยอัตโนมัติ อาริคาโดะจึงทราบได้ทันทีว่านี่คือพลังพิเศษที่โซมะมีอยู่ และแนะนำให้โซมะบุกเข้าไปในปราสาทเพื่อค้นหาความจริงเกี่ยวกับที่มาของพลังที่ว่านี้
รูปแบบการผจญภัยของภาคนี้ยังมีความเป็นสไตล์ Metroidvania เหมือนที่ภาค Symphony of the Night เคยบุกเบิกจนประสบความสำเร็จมาก่อน นั่นคือลุยผ่านมุมมองด้านข้างแบบ 2D พร้อมกับแบ่งพื้นที่เป็นห้องและโซนต่าง ๆ พ่วงด้วยการผสมผสานองค์ประกอบของเกมแนวแอ็กชั่น-ผจญภัย-RPG เข้าไว้ด้วยกัน โดยมีการเก็บค่าประสบการณ์จากการปราบศัตรูเพื่ออัปเลเวล มีการไขปริศนาในบางห้อง เป็นต้น
นอกจากนี้ ตัวเกมยังได้แนะนำระบบใหม่ที่ชื่อว่า Tactical Soul โดยเวลาที่โซมะปราบศัตรูได้ จะมีโอกาสที่วิญญาณ (โซล) ของพวกมันจะลอยเข้าร่างโซมะ ทำให้โซมะได้รับทักษะหรือสกิลจากโซลนั้นได้ บางสกิลจะเป็นท่าโจมตี บ้างก็เป็นสกิลที่ใช้เดินทางไปยังจุดที่ไปด้วยวิธีปกติไม่ได้ หรือบางสกิลก็ช่วยเพิ่มค่า Stat ให้กับตัวโซมะเอง ซึ่งอัตราการดรอปโซลจะค่อนข้างต่ำเอาเรื่องและต้องอาศัยดวง แต่ก็จะมีเครื่องประดับบางชนิดที่สวมใส่แล้วช่วยเพิ่มอัตราการดรอปโซลได้ อย่างไรก็ตาม ผู้เล่นสามารถ “เทรด” โซลระหว่างกันกับผู้เล่นคนอื่นที่มีเกมนี้ได้ ด้วยการใช้สาย Link Cable เชื่อมต่อระหว่าง Game Boy Advance ของกันและกันครับ
ช่วงแรกของการพัฒนาภาค Aria of Sorrow ทางทีมงานได้เริ่มต้นโปรเจกต์ควบคู่ไปกับการทำภาค Harmony of Dissonance นั่นจึงทำให้เกมทั้งสองภาคนี้มีการใช้เอนจิ้นและรูปแบบเกมเพลย์คล้ายกัน อย่างระบบทักษะหรือสกิลที่ได้จากโซลก็จะคล้ายกับอบิลิตี้ที่ได้จากเครื่องรางในภาค Harmony of Dissonance แต่คุณอิการาชิเลือกที่จะให้เนื้อเรื่องและเซ็ตติ้งของภาค Aria of Sorrow อยู่ในยุคอนาคตมากกว่า เพื่อให้ดูมีลุคของความทันสมัยบ้าง (แม้อาวุธส่วนใหญ่ในภาคนี้จะค่อนข้างไปในทางยุคกลางซะเยอะก็ตาม)
กรณีของภาค Harmony of Dissonance นั้น ตัวเกมได้รับเสียงวิจารณ์ด้านลบในเรื่องของดนตรีประกอบ และนั่นเลยทำให้คุณอิการาชิตัดสินใจดึงคุณมิชิรุ ยามาเนะ (Michiru Yamane) ผู้ประพันธ์เพลงที่ได้รับคำชมมากมายจากภาค Symphony of the Night มาเป็นตัวหลักในการทำเพลงให้ภาค Aria of Sorrow ด้วย
เป็นที่น่าสังเกตครับว่าภาคนี้ทำยอดขายในญี่ปุ่นได้ไม่ดีนัก โดยขายที่ญี่ปุ่นได้ประมาณ 27,000 ชุดในช่วง 1 เดือนแรก แต่กลับทำยอดขายในสหรัฐอเมริกาได้ดีกว่ามาก โดยมีรายงานว่าสามารถทำยอดขายได้กว่า 158,000 ชุดในช่วง 3 เดือนแรกเลยทีเดียว
และจากความสำเร็จของภาค Aria of Sorrow ทำให้ทาง Konami ตัดสินใจทำภาคต่อของภาคนี้ออกมาในชื่อ Dawn of Sorrow โดยลงให้กับเครื่อง Nintendo DS ในปี 2005 และมีการต่อยอดระบบ Soul ในภาคดังกล่าวด้วย
ภาคนี้มีฉากจบทั้งสิ้น 3 แบบโดยการจบแต่ละแบบต้องทำเงื่อนไขดังนี้
- Worst Ending – ปราบ Graham โดยไม่ได้สวมใส่โซล Flame Demon, Succubus และ Giant Bat
- Bad Ending – ก่อนเข้าไปสู้กับ Graham ให้สวมใส่โซล Flame Demon, Succubus และ Giant Bat แล้วสู้กับ Graham ให้ชนะ จากนั้นประตูหมอกสีดำจะเปิดออกและจะได้สู้บอสที่ชื่อ Chaos ในนั้น ถ้าเราแพ้มันก็จะเจอฉากจบนี้
- Good Ending – ทำเงื่อนไขเหมือน Bad Ending แต่ให้สู้ชนะ Chaos แทน
ติดตามข่าวเกมพีซี/คอนโซลอื่น ๆ ได้ที่ Online Station