[color=blue]บรอดแบนด์ - สนามรบสุดท้ายของไอเอสพีรายเล็ก[/color]สัปดาห์ที่แล้ว ผมนำข้อมูลจากบิซิเนส วีค มาวิเคราะห์ให้เห็นว่า เวบไซต์หรือผู้ให้บริการเนื้อหาของยุโรป (Content Providers) ส่วนใหญ่มักจะเป็นบริษัทในเครือบริษัทโทรคมนาคม หรือผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์และมือถือ ถ้าเวบไซต์เหล่านี้ ไม่รวมกับบริษัทโทรคมนาคมขนาดใหญ่แล้ว ก็จะแพ้เปรียบเวบไซต์จากอเมริกา เช่น เอ็มเอสเอ็น ยาฮู กูเกิ้ล ฯลฯ ทั้งนี้ เพราะ "ขนาดทางธุรกิจ" ของเวบไซต์อเมริกา มีขนาดที่ใหญ่จนได้เปรียบ (แม้ว่าจะทำธุรกิจเวบเพียงอย่างเดียว) อีกทั้งอยู่ใกล้ศูนย์กลางเอเยนซีโฆษณา และแหล่งเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่า ผมทิ้งประเด็นตอนท้ายว่า ประเทศไทยเองก็ตาม วันนี้เวบไซต์ต่างประเทศเริ่มบุกเข้ามาทำการตลาดโดยตรงแล้ว อีกทั้งสามารถซื้อขายโฆษณาพ่วงกับเวบไซต์ที่อเมริกาในฐานะบริษัทในเครือ เช่นนี้แล้ว เวบไซต์ไทยคงจะลำบากในระยะยาว เพราะแพ้เปรียบในเรื่องทุนและรายได้ เวบไทยขนาดใหญ่ที่จะมีรายได้และพนักงานจำนวนมาก คงอยู่ตามลำพังคนเดียวได้ลำบาก ถ้าจะอยู่รอด ต่อไป "อาจ" จะถูกซื้อโดยไอเอสพีครับ เพราะไอเอสพีต้องการเนื้อหาหรือคอนเทนท์ เพื่อตอบสนองผู้ใช้ และล็อกผู้ใช้ไม่ให้ไปอยู่กับไอเอสพีรายอื่น (เหมือนเอโอแอลล็อกผู้ใช้ โดยคอนเทนท์ของไทม์วอร์เนอร์ และคอนเทนท์จากรายอื่นๆ) นอกจากนี้ ไอเอสพีที่จะอยู่รอด ต่อไปก็ "อาจ" ถูกซื้อไปโดยบริษัทให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมโทรศัพท์ครับ (เหมือนกรณีที่ล็อกซ์อินโฟ รวมบริษัทเข้ากับซีเอสอินเทอร์เน็ต บริษัทในเครือชินวัตร ซึ่งนับว่าเป็นการมองการณ์ไกลของผู้บริหารทั้งสองฝ่าย) หากมองย้อนหลังไปก่อนปี 2000 สมัยนั้นมีผู้สนใจขอสิทธิการเป็นไอเอสพีจาก กสท เกือบ 20 ราย คล้อยหลังมาไม่ถึง 10 ปี ไอเอสพีเหล่านั้นเหลือเพียงไม่กี่รายที่ผู้คนจดจำชื่อเสียงได้ และต่อไปผมว่า จะมีเหลือรอดไม่เกิน 5 ราย ได้แก่ ทรู ซีเอสล็อกซ์อินโฟ ทศท ทีทีแอนด์ที และกสท โดยน่าจะเป็นผู้ที่ได้เปรียบและมีโอกาสอยู่รอดมากที่สุด..ในระยะหนึ่ง และต่อไปอีกไม่เกิน 10 ปี ผมเดาว่าจะเหลือแค่ 3 ราย ความได้เปรียบเชิงขนาดธุรกิจที่ใหญ่พอ ความครบวงจรทั้งคอนเทนท์ อินเทอร์เน็ต และโครงข่ายโทรคมนาคม ตลอดจนทุนทรัพย์ ความสามารถในการบริหารจัดการและการตลาด ความสัมพันธ์กับรัฐบาลและธุรกิจข้ามชาติ จะเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ไอเอสพีอยู่รอดได้ โดยเฉพาะเมื่อเปิดเสรีโทรคมนาคม ซึ่งต่างชาติสามารถเข้ามาเปิดบริการแข่งขันในไทยได้ ล่าสุด เมื่อรัฐมนตรีกระทรวงไอซีที มีนโยบายที่ดีที่ให้ไอเอสพี เปิดบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ในราคาถูก โดยให้ กสท และทศท นำร่องในเรื่องนี้ โชคดีสำหรับไอเอสพีอื่นๆ (โชคร้ายสำหรับชาวเน็ต) ที่ทั้งสององค์กรยังไม่พร้อมในเรื่องนี้ ทำให้อัตราผู้สมัครใช้บรอดแบนด์ ไม่เติบโตมากนัก แต่นั่นก็ยังเป็นเรื่องอันตรายสำหรับไอเอสพีอยู่ดี เพราะถ้าขยับตัวช้า แล้วทั้งสององค์กรพร้อมให้บริการ บวกกับโครงข่ายโทรคมนาคมที่มีอยู่แล้ว จะสามารถกวาดและตรึงลูกค้าได้อย่าง "ถาวร" และแล้ว ทรู (หรือเอเซียอินโฟเน็ต) เป็นไอเอสพีผู้พร้อมก่อน โดยเริ่มเปิดสงครามในสนามบรอดแบนด์อย่างจริงจัง เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทรูเสนอค่าอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ความเร็ว 256 กิโลบิตต่อวินาที หรือเร็ว 5 เท่าเมื่อเทียบกับโมเด็มทั่วไป ที่ราคา 590 บาท โดยไม่จำกัดชั่วโมงการใช้ และไม่จำกัดการท่องเน็ตต่างประเทศ และหากไม่มีเบอร์โทรศัพท์ที่จะใช้ต่อเน็ต ก็พร้อมที่จะให้เบอร์โทรศัพท์ฟรี ! (ไอเอสพีรายอื่น ยังเสนออัตราค่าบริการบรอดแบนด์ความเร็ว 128 กิโลบิตต่อวินาที ที่ 9,900 บาทต่อเดือนอยู่เลย) แม้ว่าราคาจะแพงกว่า ทศท ซึ่งเสนอค่าบริการเน็ต 256 กิโลบิตต่อวินาที ที่ 500 บาท แต่ด้วยบริการและการไม่จำกัดการท่องเน็ตต่างประเทศ รวมทั้งคู่สายที่ "ทรู" มีมากกว่า ทำให้ทรูกลายเป็นทางเลือกใหม่อย่างรวดเร็ว ทั้งสำหรับนักท่องเน็ตทั่วไป นักเรียน นักศึกษา และโฮมออฟฟิศ ข่าวแว่วมาจากทางเอเซียอินโฟเน็ต หรือบริษัทในเครือทรู พบว่า เพียงสัปดาห์แรกของการเปิดบริการนี้ คอลล์เซ็นเตอร์ถึงกลับรับสายไม่ทัน มีผู้สมัครใช้เฉลี่ยวันละ 600 ราย และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นทุกๆ วันไปอีก เดาว่าอีกไม่ถึง 3 เดือน เอเซียอินโฟเน็ตจะมีลูกค้าบรอดแบนด์มากกว่า 6 หมื่นราย และในจำนวนนั้น มีผมด้วย เพราะพอใจในอัตราค่าบริการ และความเร็ว 10 เท่าของเน็ตชนิด 512 K (ราคา 750 บาทต่อเดือน ซึ่งเมื่อต่อกับระบบแลนไร้สายที่บ้านแล้ว ทำให้ผมสามารถแชร์เน็ตกับครอบครัวและพี่น้องได้สะดวกมาก อนึ่ง ในสัญญาการใช้เน็ต เอเซียอินโฟเน็ต ไม่อนุญาตให้ต่อพ่วงเน็ตนะครับ !?) ปัญหาของผมตอนนี้ก็คือ ชั่วโมงเน็ตที่ซื้อมาแล้วของไอเอสพีรายอื่น และไม่ได้ใช้ จะทำอย่างไรดี ผมอาจจะต้องส่งไปให้ญาติที่ต่างจังหวัดใช้แทน เพราะที่นั่น ยังคงเป็นตลาดของไอเอสพีรายอื่นๆ ที่ยังใช้โมเด็มหมุนโทรศัพท์อยู่ ส่วนระบบเน็ตผ่านมือถือ GPRS ของ AIS ผมก็คงลดการใช้ลง เพราะนอกจากจะรับส่งข้อมูลช้า ใช้ในขณะที่รถเคลื่อนที่ไม่ได้ แถมยังใช้ได้แค่บางพื้นที่เท่านั้น (นี่ขนาดใช้ในกรุงเทพฯ แล้ว) ผมคิดว่า บรอดแบนด์ จะเป็นสนามรบสุดท้ายสำหรับไอเอสพีต่างๆ ที่ไม่มีโครงข่ายโทรคมนาคมของตนเอง กระทั่งไอเอสพีที่มีโครงข่ายโทรคมนาคมเอง แต่เป็นชนิดโมบาย "ไร้สาย" ก็ควรจะหาโครงข่ายแบบ "มีสาย" เข้ามาเกี่ยวก้อยไว้ แบบนี้จึงจะเป็นหลักประกันที่ครบวงจรและปลอดภัย ตัวอย่างเช่น เอไอเอส ก็ควรจะรวมตัวกับทรู (ดังข่าวลือ), ทศท ก็ควรจะรวมกับอินเทอร์เน็ตไทยแลนด์, ส่วนดีแทคก็ควรจะรวมตัวกับทีทีแอนด์ที เป็นต้น แล้วไอเอสพีรายอื่นๆ ที่ไม่มีโครงข่าย จะทำอย่างไรดี? ผมเองก็นึกไม่ออกจริงๆ นอกจากจะสนับสนุนให้รวมกิจการกับผู้ให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมรายอื่นๆ หรือไม่ก็เปลี่ยนแนวทางธุรกิจใหม่ดีกว่าครับ ข่าว: กรุงเทพธุรกิจ