กลุ่มผู้สร้างไวรัสคอมพิวเตอร์ออกอาละวาด ด้วยการสร้างไวรัสมือถือตัวแรกของโลกที่สามารถแพร่ระบาดสู่โทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ แต่บรรดาบริษัทผลิตโปรแกรมป้องกันไวรัสบอกว่า ไวรัสวายร้ายนี้เป็นการโจมตีผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่ได้ติดต่อจากมือถือสู่มือถือด้วยกันในยุคของโทรศัพท์มือถืออัจฉริยะ หรือ Smartphone ที่เป็นการรวมเอาเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์แบบพกพาอยู่ในเครื่องเดียวกัน ทั้งนี้ทำให้ผู้ใช้มีความกังวลว่า มือถืออาจมีโอกาสติดไวรัสเหมือนกับเครื่องพีซี แท้จริงแล้วอาจไม่ใช่ไวรัสมือถือพันธุ์แท้ เพราะไวรัสตัวนี้จะแพร่กระจายผ่านทางเครื่องพีซีที่ติดตั้งโปรแกรมอีเมลของไมโครซอฟท์ และส่งข้อมูลไปยังเซิร์ฟเวอร์ให้บริการส่ง SMS เพื่อส่งข้อความไปให้มือถืออีกต่อหนึ่ง ซึ่งก็คือเป็นการส่งระหว่างเครื่องพีซีไปยังโทรศัพท์มือถือ ไม่ใช่การติดต่อผ่านทางมือถือด้วยกัน ล่าสุดมีข่าวว่าไวรัสมือถือออกอาละวาด โดยมีการส่งไวรัสอินเทอร์เน็ตที่มีชื่อว่า Cabir ไปปรากฏตัวที่บริษัท Kapersky ผู้ผลิตโปรแกรมป้องกันไวรัสสัญชาติรัสเซีย และบริษัท Symantec ของสหรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นไวรัสอินเทอร์เน็ตตัวแรกที่สามารถถ่ายทอดไปถึงโทรศัพท์มือถือได้ โดยเฉพาะกับโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟน ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Symbian และซอฟต์แวร์ Series 60 ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้ในโทรศัพท์โนเกียหลายล้านเครื่องทั่วโลก เช่น โนเกียรุ่นยอดฮิต 6600 บริษัทผลิตโปรแกรมป้องกันไวรัส บอกว่า ไวรัส Cabir จะใช้ Bluetooth สแกนหา Smartphone ที่ใช้ Symbian และมี Bluetooth เครื่องอื่น ๆ ที่อยู่ในระยะซึ่งสามารถติดต่อกันได้ เมื่อพบแล้วมันก็จะส่งตัวเองไปกับคลื่นของ Bluetooth ไปสู่ Smartphone ที่ตกเป็นเหยื่อทันที แต่ไวรัส Cabir ไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าการแสดงข้อความและแพร่ระบาดเท่านั้น ซึ่งบริษัทป้องกันไวรัสกำลังหาทางแก้ไข อันตรายจากไวรัสมือถือจะมีมากขึ้น หากสามารถติดต่อกันระหว่างมือถือ Smartphone ด้วยกันเอง แม้ตอนนี้จะไม่น่าเป็นห่วง แต่ไวรัส Cabir เป็นเหมือนสัญญาณเตือนให้ทั้งผู้ใช้และผู้ออกแบบมือถือรู้ว่ามีไวรัสที่สามารถแพร่ระบาดผ่านโทรศัพท์มือถือแล้ว.