ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อน ๆ คงได้ทราบกันไปแล้วถึงการปิดตัวของ Game Informer นิตยสารเกมชื่อดังจากสหรัฐอเมริกาที่มีอายุครบ 33 ปีพอดีในฉบับสุดท้าย โดยสาเหตุการปิดตัวนั้นก็น่าจะเดากันได้ไม่ยากว่าเป็นเรื่องพฤติกรรมการเสพสื่อของผู้คนที่เปลี่ยนไปอย่างมากนับตั้งแต่มีอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียเข้ามานั่นเอง
อย่างไรก็ดี ณ ปัจจุบันยังคงมีนิตยสารเกมในต่างประเทศอยู่อีกจำนวนหนึ่งที่ยังคงตีพิมพ์อยู่ และมีอายุอานามไม่ใช่น้อย ๆ ซึ่งบทความนี้เราได้รวบรวม 7 นิตยสารที่มีอายุยาวนานที่สุด และยังคงตีพิมพ์จำหน่ายอยู่ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะรูปเล่มหรือปรับตัวไปเป็น e-Book แล้วก็ตาม จะมีหัวนิตยสารไหนบ้างนั้น มาชมกันเลยครับ
PC Gamer

เริ่มกันที่นิตยสารหัวเก่าแก่ของสหราชอาณาจักรกันเลยครับ โดย PC Gamer เป็นนิตยสารรายเดือนที่มีฐานผู้อ่านคือเกมเมอร์สายพีซี ซึ่งวางจำหน่ายฉบับแรกในเดือนพฤศจิกายน 1993 หรือเกือบ 31 ปีก่อน ทั้งนี้ ตัวหนังสือเคยมีการทำออกมาหลายเวอร์ชั่น วางขายทั้งสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาควบคู่กัน และเคยมียอดขายสูงสุดในฐานะนิตยสารเกมในภูมิภาคดังกล่าวมาแล้ว นอกจากบทความทั่วไปก็จะมีเนื้อหาที่พูดถึงเรื่อง Mod ตลอดจนเก่าเก่า ๆ ของ PC และบทความอื่น ๆ จิปาถะ
ตอนแรกทางหนังสือเคยมีการแถมแผ่นเดโมเกมในเล่มด้วย แต่ยกเลิกไปในเดือนกันยายน 2011 โดยให้เหตุผลว่าทีมงานต้องการเพิ่มคุณภาพของหนังสือให้ดีขึ้นเป็นการทดแทน พร้อมกับทำตัวเล่มให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเช่นกัน
Dengeki Nintendo

นี่คือนิตยสารประเภทคอนเทนต์ Exclusive ประจำเครื่องเพียงหนึ่งเดียวที่ติดโผในบทความนี้ ซึ่งก็ตามชื่อเลยครับว่าเป็นนิตยสารที่นำเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวกับปู่นินล้วน ๆ ไม่ว่าจะฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์ เดิมทีเคยใช้ชื่อว่า Dengeki Super Famicom, Dengeki Nintendo 64, Dengeki GB Advance, Dengeki GameCube และ Dengeki DS ตามลำดับ โดยเปลี่ยนไปตามแพลตฟอร์มที่กำลังดังอยู่ในช่วงเวลานั้น ก่อนจะมาจบที่ Dengeki Nintendo ในที่สุด เพื่อให้จดจำได้ง่ายและไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย ๆ อีกต่อไป ส่วนตัวนิตยสารเริ่มตีพิมพ์ฉบับแรกในเดือนธันวาคม 1992 หรือเกือบ 32 ปีที่แล้วนั่นเอง
PC Games

นิตยสารเกมจากเยอรมนี วางแผงฉบับแรกในเดือนตุลาคม 1992 หรือเกือบ 32 ปีแล้ว โดยช่วงแรกทาง PC Games จะมีการแถมแผ่นเดโมเกมในรูปแบบฟล็อปปี้ดิสก์ขนาด 3½ นิ้วมากับตัวหนังสือ ก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้เป็นแผ่นซีดีรอมในปี 1995 (ปัจจุบันยกเลิกการแถมแผ่นเดโมเกมแล้ว) ขณะเดียวกัน ทุกวันนี้ PC Games ยังเป็นเว็บไซต์ของเกมเมอร์สายพีซีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่นำเสนอด้วยภาษาเยอรมันครับ
Pelit

ทางด้าน Pelit เป็นนิตยสารเกมของประเทศฟินแลนด์ ที่เริ่มตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1992 หรือราว 32 ปีก่อน โดยนิตยสารหัวนี้มีจุดเด่นเรื่องการปรับเปลี่ยนเลย์เอาต์การจัดหน้าหนังสือ รวมถึงโครงสร้างของคอนเทนต์ด้านในเล่มเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ตัวหนังสือมีความสดใหม่ ไม่จำเจในสายตาผู้อ่านอยู่เสมอ ต่อมาก็มีการยกเลิกบทความประเภทบทสรุปเกมหลังจากที่เทรนด์ของเกมเมอร์ในฟินแลนด์ไม่ค่อยโปรดปรานเกม RPG สไตล์คลาสสิคและเกมแนวผจญภัยอีกต่อไป และใส่คอนเทนต์ประเภทการ์ตูนคอมิคแบบสั้น ๆ เข้ามาแทน
HobbyConsolas

นิตยสารเกมเก่าแก่ที่สุดของประเทศสเปน ก่อตั้งในเดือนตุลาคม 1991 หรือเกือบ 33 ปีแล้ว โดยคอนเทนต์ด้านในจะมุ่งไปที่เกมคอนโซลเป็นหลัก แต่ก็จะมีบทความเกี่ยวกับเกมพีซีและเกมมือถือเข้ามาปนด้วยประปราย สำหรับนิตยสาร HobbyConsolas นี้เคยมีสถิติระบุว่าสามารถทำยอดขายได้เกือบ 33,000 ฉบับในเดือนมีนาคม 2014 และเว็บไซต์ของนิตยสารเองก็มีผู้เข้าชมมากเป็นอันดับ 5 ในหมวดหมู่เว็บไซต์เกมของสเปนด้วย
https://www.hobbyconsolas.com/
The Games Machine

The Games Machine เป็นนิตยสารเกมรายเดือนจากอิตาลีที่เริ่มฉบับปฐมฤกษ์ในเดือนกันยายน 1988 หรือราว 36 ปีก่อน ซึ่งเกมเมอร์ชาวอิตาเลียนจะรู้จักกันดีในชื่อย่อว่า "TGM" โดยปัจจุบัน TGM เป็นนิตยสารเกมในอิตาลีเพียงหัวเดียวที่ยังคงตีพิมพ์อยู่ เนื่องจากบรรดาคู่แข่งได้ปิดตัวไปหมดแล้ว และมีอายุยืนยาวเป็นอันดับ 2 รองจาก Famitsu ของญี่ปุ่นเพียงเจ้าเดียว
ในส่วนเนื้อหาของนิตยสารนี้จะเจาะไปยังวงการเกมพีซีและคอนโซลเป็นหลัก ประกอบไปด้วยบทความพรีวิว รีวิว รวมถึงทริคผ่านเกมทั่วไปครับ
https://www.thegamesmachine.it/
Famitsu

หากคุณเป็นเกมเมอร์สัญชาติญี่ปุ่น ย่อมไม่น่าจะมีใครที่ไม่รู้จักนิตยสารที่ชื่อ Famitsu แน่ ๆ ครับ เพราะนี่คือนิตยสารเกมระดับตำนานของประเทศที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่ปี 1986 หรือราว 38 ปีมาแล้ว และทุกวันนี้ก็ยังคงตีพิมพ์แบบรายสัปดาห์อยู่ โดย Famitsu เป็นการย่อมาจาก Famicom Tsushin ที่นำคำว่า Fami และ Tsu มาผสมกัน เนื่องจากในช่วงที่นิตยสารเปิดตัว เครื่อง Famicom กำลังบูมเป็นพลุแตกและเปรียบเสมือนเครื่องเกมคอนโซลที่แทบทุกครัวเรือนในญี่ปุ่นจะมีครอบครองกัน
เอกลักษณ์ที่ผู้คนมักจดจำเกี่ยวกับนิตยสาร Famitsu คงหนีไม่พ้นระบบการให้คะแนนรีวิวเกม ที่จะใช้คอลัมนิสต์จำนวน 4 คนมาร่วมกันให้คะแนน โดยคะแนนเต็มคือ 40 ถ้วน ซึ่งนับตั้งแต่ก่อตั้งนิตยสารมามีเพียง 30 เกมเท่านั้นที่ได้ 40 คะแนนเต็ม และเกมล่าสุดที่ได้คะแนนเต็มก็คือ Like a Dragon: Infinite Wealth ครับ
ติดตามข่าวเกมพีซี/คอนโซลอื่น ๆ ได้ที่ Online Station