ผู้แปลภาษา Ghost of Tsushima ให้ความเห็นกรณีดราม่าเกม Assassin’s Creed Shadows

หลังจากที่เกม Assassin’s Creed Shadows ของ Ubisoft เปิดตัวไป ก็เกิดกระแสวิพากย์วิจารณ์ต่าง ๆ นา ๆ และหนึ่งในเกมที่ถูกนำมาเปรียบเทียบก็คือเกม Ghost of Tsushima ของค่าย Sucker Punch นั่นเอง ซึ่งมีฉากหลังเป็นญี่ปุ่นยุคศักดินา และมีแนวเกมที่สามารถบู๊และลอบเร้นได้คล้ายกัน แต่ได้รับคำชื่นชมจากหลาย ๆ ฝ่าย จึงถูกนำมาเปรียบเทียบกับ Shadows อย่างเลี่ยงไม่ได้

ด้วยเหตุนี้คุณ Daisuke “Dice” Ishidate โปรดิวเซอร์ผู้คุมงานแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาญี่ปุ่นจึงออกมาแสดงความเห็นบนบัญชี X ส่วนตัวว่าสองเกมนี้ไม่ควรนำมาเปรียบเทียบกัน เพราะจุดประสงค์ในการสร้างเกมทั้งสองต่างกัน!

โดยคุณ Ishidate เล่าว่าทีมพัฒนา Daisuke “Dice” Ishidate บอกเขาว่าอยาก “สร้างเกมที่เล่นแล้วสนุก ไม่ใช่สอนบทเรียนประวัติศาสตร์” และยังบอกด้วยว่าพวกเขาจะ “ไม่สร้างเกมที่ทำให้คนญี่ปุ่นรู้สึกว่ากำลังโดนดูถูก” และจะสร้างให้ออกมาเหมือน “ภาพยนตร์ญี่ปุ่นแนวย้อนยุค” (Jidaigeki) มากกว่าภาพยนตร์ฮอลลีวูด

ซึ่งตรงนี้เองคือจุดที่เขามองว่าคือสาเหตุที่ทำให้ Ghost of Tsushima นั้นประสบความสำเร็จ เพราะเป้าหมายหลักไม่ใช่สร้างให้ถูกต้องทางประวัติศาสตร์แบบเป๊ะ ๆ แต่มีการดัดแปลงเนื้อหา เหตุการณ์ และธรรมเนียมต่าง ๆ ให้คล้ายกับละครญี่ปุ่นย้อนยุคมากกว่า โดยเน้นที่ความบันเทิงเป็นหลัก

แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ แต่คุณ Ishidate เชื่อว่าที่ชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติชื่นชอบเกมนี้ เป็นเพราะมีจิตวิญญาณของละครญี่ปุ่นย้อนยุค และแสดงให้เห็นถึงแรงบันดาลใจจากอิทธิพลของหนังซามูไรของผู้กำกับ Akira Kurosawa อีกด้วย (ถึงกับมีโหมดภาพขาวดำในเกมเรียกว่า “Kurosawa Mode”)

assassin's creed shadows

ด้วยเหตุนี้ Ishidate จึงชี้ว่าเกม Assassin’s Creed Shadows และ Ghost of Tsushima นั้นมีจุดประสงค์ต่างกัน จึงไม่ควรจะเอามาเปรียบเทียบกัน เผลอ ๆ บางที Shadows พอวางขายแล้วอาจได้รับการสรรเสริญเป็น “เกมย้อนยุคญี่ปุ่นที่ดีที่สุด” หรือ “มีความเป็นญี่ปุ่นยิ่งกว่าญี่ปุ่นเอง” ก็ได้ จึงไม่ควรด่วนตัดสินจนเกินไป

ทั้งนี้คุณ Ishidate เข้าใจว่าหลาย ๆ คนรู้สึกกังวลในเรื่องของ “มาตรฐาน” ที่เกิดขึ้นจากเกมแนวญี่ปุ่นย้อนยุคที่เป็นฝีมือชาวต่างชาติ (เช่น Ghost of Tsushima หรือ Shadows) แต่ก็ชี้ว่าซีรีส์อย่าง Shogun นั้นเกิดขึ้นได้เพราะสร้างด้วยเงินทุนต่างชาติ ขณะที่ซีรีส์ Blue-Eyed Samurai ของ Netflix ก็ได้รับความนิยมในต่างประเทศ และอาจเป็นแนวทางใหม่ในการเล่าเรื่องญี่ปุ่นย้อนยุค วิธีเดียวที่จะเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ได้ ก็คือต้องสร้างสื่อบันเทิงสไตล์ย้อนยุคที่ฮิตจนเป็นกระแสหลักในประเทศญี่ปุ่น

assassin's creed shadows

งานนี้คุณ Ishidate ก็ไม่ได้วิพากย์วิจารณ์ Shadows อย่างชัดเจน แต่ชี้เฉย ๆ ว่าทั้งสองเกมนั้นมีจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน จึงไม่ควรนำมาเปรียบเทียบ และคิดว่าควรรอชมกันก่อน อย่าเพิ่งด่วนตัดสินในตอนนี้

แปลและเรียบเรียงจาก
Automaton Media


ติดตามข่าวเกมพีซี/คอนโซลอื่น ๆ ได้ที่ Online Station

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้