ช่วงต้นของทศวรรษ 2000 นั้น ในวงการเกมคอนโซลเป็นการขับเคี่ยวกันระหว่าง 4 เครื่องจาก 4 ค่ายใหญ่ ได้แก่ PS2 (Sony), GameCube (Nintendo), Xbox (Microsoft) และ Dreamcast (SEGA) ครับ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็เป็น PS2 ที่ชิงความเป็นเจ้าตลาดไปได้ขาดลอยด้วยยอดขายจำนวนกว่า 155 ล้านเครื่องเลยทีเดียว
แต่ที่เราจะมาพูดถึงกันในข่าวนี้คือเครื่อง GameCube ของฝั่งปู่นินครับ ซึ่งเพิ่งจะครบรอบ 20 ปีของการวางจำหน่ายไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งตัวเครื่อง ณ เวลานั้นแม้จะทำยอดขายไปได้เพียง 21.75 ล้านเครื่อง แต่ก็ได้ฝากความทรงจำที่ดี ๆ กับเกมเมอร์ไปไม่น้อย

โดยคุณ Perrin Kaplan อดีตรองประธานของ Nintendo of America ฝ่ายการตลาดได้ให้สัมภาษณ์กับทางเว็บไซต์ Video Games Chronicle ว่าตอนที่เครื่อง GameCube ใกล้จะถึงวันวางจำหน่าย ทางพนักงานของปู่นินก็เกิดความสงสัยและไม่ค่อยมั่นใจว่าการที่ตัวเครื่องใช้สีม่วงเป็นสีหลักจะสามารถดึงดูดให้ผู้เล่นสนใจซื้อได้มากเท่าสีดำหรือสีเงินแต่อย่างใด
ซึ่งถ้าว่ากันตามเหตุผลด้านการตลาด มันไม่ใช่ว่าการที่แบรนด์คุณดังอยู่แล้วจะมานำเสนอเครื่องในสีอื่นที่แปลกตาจะเวิร์คเสมอไป อีกอย่างคือสีม่วงมันให้ความรู้สึกที่ดูเป็นผู้หญิงซะมากกว่า ไม่สื่อถึงภาพลักษณ์ที่บึกบึน แข็งแกร่งแบบเครื่องเกมที่ใช้สีดำหรือสีเงินเลย ทางคุณ Perrin เองก็จำได้ว่าทางปู่นินเองก็ประหม่าว่าจะโดนกดดันหนักตอนเปิดตัวเครื่องในงาน E3 หรือไม่

นอกจากนั้นแล้ว คุณ Beth Llewelyn อดีตผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรก็ย้อนนึกถึงไปตอนที่กังวลกันว่าการที่เครื่องเกมคอนโซลมีสีม่วงน่าจะทำให้สู้กับเครื่อง PS2 และ Xbox ได้ยากลำบากขึ้นด้วย รวมถึงคุณ Dawn Paige อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของสำนักงานในสหราชอาณาจักร (UK) ก็มองว่าเครื่อง GameCube มีภาพลักษณ์ที่ชวนให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นเครื่องเกมที่เจาะกลุ่มผู้เล่นวัยเด็กจนเกินไปเช่นกัน
ทว่าในท้ายที่สุด ปัจจัยที่ทำให้เครื่อง GameCube ไม่ประสบความสำเร็จนั้นมีหลายอย่างครับ หลัก ๆ เลยคือเรื่องของการใช้สื่อที่ไม่เป็นที่นิยมในกระแสหลัก ซึ่ง PS2 กับ Xbox เขาใช้ DVD แต่ทาง GameCube ดันไปใช้แผ่น Optical Disc ที่มีขนาดเท่า Mini DVD แทน แถมเกม 3rd Party ก็ไม่ค่อยไปลงให้มากนัก แม้จะมีเกม Timed Exclusive หลายเกมของ Capcom ไปลงให้ก็ไม่ได้ช่วยกระตุ้นยอดเครื่องได้ดีเท่าที่ควรด้วย
เครดิต: Nintendo Life
ติดตามข่าวสารอื่น ๆ ภายในเว็บไซต์ Online Station ได้ที่ https://www.online-station.net