เป็นเวลานานมาแล้วที่ซีรีส์ Tales of ดำรงอยู่ในฐานะเกมแอ็กชั่น RPG ชั้นนำจากฝั่งญี่ปุ่น Tales of Arise นับว่าเป็นภาคหลักภาคที่ 17 ของซีรีส์ที่มีความสำคัญในหลาย ๆ ความหมาย ไม่ว่าจะเป็นเกมภาคฉลองครบรอบ 25 ปีของซีรีส์ เป็นภาคที่พยายามปรับเปลี่ยนแนวทางการเล่นเพื่อกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้น เป็นครั้งแรกที่ Bandai Namco หันมาใช้ Unreal Engine 4 ในการพัฒนาเกม แทนที่จะใช้เอนจิ้นเฉพาะของตัวเองเหมือนกับทุกภาคที่ผ่านมา รวมถึงเป็นภาคแรกบนคอนโซลเจนใหม่อย่าง PS5 และ Xbox Series X ด้วย
เรื่องราวของ Tales of Arise จะกล่าวถึงดาวเคราะห์ Dhana ที่ถูกชาว Rena ผู้เหนือกว่าด้วยเทคโนโลยีรุกรานเพื่อช่วงชิงทรัพยากรและจับประชากรมาเป็นทาส Alphen ทาสชาว Dhana ผู้ไร้อดีตเนื่องจากอาการความจำเสื่อมได้เข้าร่วมกับกลุ่มต่อต้าน และมีเป้าหมายคือการปลดแอกให้ชาว Dhana เป็นอิสระจากการปกครองของผู้รุกราน ระหว่างการเดินทางเขาจะได้พบกับทั้งมิตรและศัตรูที่บางทีก็รู้หน้าไม่รู้ใจ ตลอดจนเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่มีเบื้องหลังมากกว่าที่ตาเห็น อันจะนำพาให้ Alphen และพวกไปสู่เรื่องราวที่ยิ่งใหญ่กว่าที่เคยคาดคิด
ในแง่ของเนื้อเรื่อง ภาพใหญ่ของมันอาจมีการแบ่งฝ่ายดีร้ายที่ค่อนข้างชัดเจนในช่วงแรก แต่สิ่งที่ทำให้เนื้อเรื่องสเกลใหญ่นี้มีความลุ่มลึกขึ้นมาได้ก็คือตัวละครต่าง ๆ ที่เราจะได้พบเจอระหว่างทาง แม้ว่าหลาย ๆ ตัวละครจะปรากฏตัวเข้ามาเพื่อให้เนื้อเรื่องมีประเด็นที่จะสามารถดำเนินต่อไปได้แล้วก็หายไป
แต่แรงผลักดันและเนื้อเรื่องเบื้องหลังของแต่ละคัวละครในปาร์ตี้ของเรากลับจะเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้เล่นรู้สึกเชื่อมโยงไปกับเนื้อหาได้ เพราะพวกเขาและเธอต่างมีบุคลิกเฉพาะตัวที่ค่อนข้างชัดเจน ประกอบกัวเหตุการณ์และบทสนทนาต่าง ๆ ก็เกื้อหนุนให้ตัวละครเหล่านี้มีเสน่ห์น่าติดตาม ช่วยให้ทั้งประเด็นส่วนตัวและประเด็นของเนื้อเรื่องหลักสามารถดำเนินควบคู่กันได้อย่างมีอรรถรส
กระนั้น สิ่งที่โดดเด่นที่สุดของ Tales of Arise กลับไม่ใช่เนื้อเรื่อง แต่เป็นระบบการต่อสู้ที่ถูกออกแบบและเชื่อมโยงระบบต่าง ๆ เข้าด้วยกันได้เป็นอย่างดี อย่างการใช้ Arte หรือสกิลที่มีเกจคูลดาวน์แทนที่จะเป็น MP เหมือนเกม RPG ทั่ว ๆ ไปก็ทำให้เราโฟกัสกับการต่อคอมโบได้มากขึ้น ประกอบกับท่า Boost ที่เราจะสามารถกดปุ่มทิศทางเพื่อให้ตัวละครอื่น ๆ ในปาร์ตี้มาช่วยโจมตีก็ทำให้การต่อสู้สนุกขึ้น พลิกแพลงกลยุทธ์ได้หลากหลายขึ้น
เพราะท่า Boost ของแต่ละตัวละครจะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไป บางตัวแคนเซิลการร่ายเวทย์ของศัตรู บางตัวทำลายเกราะ เป็นต้น ตลอดจนการเพิ่มเข้ามาของ CP หรือ Cure Points ที่เป็นแต้มสำหรับร่ายสกิลประเภทฟื้นฟูและสนับสนุน รวมถึงใช้ในการเคลียร์อุปสรรคระหว่างทางเพื่อเข้าไปเก็บไอเทม
ทั้งหมดนี้ช่วยให้ระบบการต่อสู้ของ Tales of Arise มีความน่าตื่นเต้นแบบเกมแอ็กชั่น และมีพื้นที่ให้ผู้เล่นได้วางกลยุทธ์แบบเกม RPG ที่เข้ากันได้ดีที่สุดภาคหนึ่งของซีรีส์เลยก็ว่าได้
การตั้งแคมป์เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่เกี่ยวโยงทั้งกับการดำเนินเรื่องและการต่อสู้ เพราะไม่เพียงแต่ผู้เล่นจะได้ใช้มันเพื่อฟื้นฟูทั้ง HP และ CP แล้ว มันยังเป็นจุดซื้อขายไอเทม คราฟต์อาวุธยุทโธปกรณ์ รวมถึงเลือกเมนูทำอาหารเพื่อให้ได้บัฟชั่วคราวที่จะเอื้อประโยชน์ในการต่อสู้ด้วย
ดังนั้นแทนที่จะกดใช้ไอเทมฟื้นพลังรัว ๆ ระหว่างการต่อสู้ การเดินทางกลับมาที่แคมป์เพื่อปรับกลยุทธ์จึงคุ้มค่ากว่ามากในหลาย ๆ ด้าน เพราะนอกจากมันจะเอื้อในด้านการต่อสู้แล้ว เรายังสามารถพูดคุยสร้างความสัมพันธ์กับตัวละครในปาร์ตี้ รวมถึงกดดู Skit หรือบทสนทนาสั้น ๆ ระหว่างตัวละครในประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของซีรีส์ได้ด้วย
จากที่เคยเป็นแค่กรอบใบหน้าและข้อความ Skit ในภาคนี้ถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างมีชั้นเชิงมากขึ้นในรูปแบบของกราฟิกโนเวล หรือช่องหนังสือการ์ตูนที่ผสมกับแอนิเมชั่นเบา ๆ พร้อมกับเสียงพากย์ที่เลือกปรับได้ทั้งภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษ การนำเสนอในรูปแบบนี้จึงทำให้เราเห็นถึงแนวคิดและบุคลิกของตัวละครต่าง ๆ ในปาร์ตี้ได้ดีขึ้นมาก
แต่ข้อเสียเล็กน้อยของ Skit แบบใหม่นี้ก็คือมันจะปรากฏขึ้นได้ตลอดเวลา และบางทีก็มาหลาย Skit ในช่วงเวลาไม่นาน ดังนั้นมันจึงอาจทำให้เราที่กำลังเพลิดเพลินกับการเก็บเลเวลหรือสำรวจแผนที่ต้องอารมณ์สะดุดกับการกดดู Skit เหล่านี้ได้ แต่ถึงอย่างนั้นเกมก็มีทางเลือกให้ผู้เล่นสามารถมาเลือกดู Skit ที่เคยข้ามไปหรือดูซ้ำได้ผ่านหนุ่งในหลาย ๆ เมนูของแคมป์สารพัดประโยชน์ที่กล่าวถึงไปในก่อนหน้านี้
ในด้านของภาพลักษณ์ Tales of Arise ยังคงมีความเป็นอนิเมะคล้ายกับภาคก่อน ๆ ของซีรีส์อยู่ แต่มันก็ดูจริงจังขึ้นด้วยกราฟิกแบบ Cel-shade สไตล์คล้าย ๆ สีน้ำที่ไม่ฉูดฉาดเกินไป สัดส่วนและการออกแบบตัวละครก็ดูสมจริงขึ้น หากจะบอกว่าภาพลักษณ์ของมันดูมีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นก็คงไม่ผิดนัก และที่สำคัญคือเราไม่พบปัญหาทางเทคนิคใด ๆ จากการเล่นบนเครื่อง PS5 เลย แม้ว่าจะเป็นครั้งแรกของทีมงาน Bandai Namco ที่ใช้ Unreal Engine 4 กับเกมซีรีส์ Tales of แต่พวกเขาก็สามารถใช้งานมันได้เป็นอย่างดี
แม้ว่าองค์ประกอบสำคัญหลายอย่างของเกมจะถูกออกแบบและนำเสนอได้ค่อนข้างดี แต่ตัวเกมก็ยังมีจุดที่สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นกว่านี้ได้ เช่นเนื่องจากเกมมีการสอนแกมบังคับให้ผู้เล่นต้องเรียนรู้ระบบต่าง ๆ ไปทีละขั้นตลอดการเล่นหลายชั่วโมงแรก ดังนั้นผู้เล่นใหม่ที่ไม่เคยสัมผัสเกมแนวนี้มาก่อนอาจรู้สึกว่ามันหนักไปทางเป็นการเรียนเพื่อจดจำมากกว่าเป็นการเล่นเพื่อประสบการณ์ ฉะนั้นหากเกมจะมีรูปแบบในการสอนที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น เช่นเพิ่มกรอบวิดีโอสาธิตสกิลนั้น ๆ แทนที่จะเป็นข้อความมาให้อ่านล้วน ๆ ก็อาจจะทำให้มันเป็นการเรียนรู้ที่สนุกมากกว่านี้ได้
นอกจากนี้ เอฟเฟกต์ของสกิลที่กินพื้นที่บนหน้าจอเยอะเกินไปในบางจังหวะที่อาจเกิดขึ้นเมื่อทั้งตัวละครในปาร์ตี้ของเราและศัตรูใช้สกิลในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน รวมถึงการตะโกนชื่อท่าซ้ำ ๆ ทุกครั้งที่โจมตีที่อาจฟังดูน่าตื่นตาในความเป็นอนิเมะ แต่เมื่อได้ยินมันซ้ำ ๆ ตลอดการเล่นหลาย 10 ชั่วโมงก็อาจทำให้เราเอียนได้เหมือนกัน ดังนั้นหากเกมจะมีออปชั่นให้เราสามารถเลือกปรับได้ทั้งการแสดงเอฟเฟกต์มากน้อยหรือความถี่ของการตะโกนชื่อท่าก็อาจเป็นการดีกว่านี้
อย่างไรก็ตาม แม้เกมจะมีหลายจุดที่น่าจะปรับปรุงได้ดีกว่านี้ แต่มันก็มีหลายองค์ประกอบสำคัญที่ทั้งออกแบบและนำเสนอและเกื้อหนุนกันและกันได้ดีอีกเป็นจำนวนมาก หากใครที่ไม่เคยสัมผัสซีรีส์ Tales of มาก่อน เกมภาคนี้ก็นับว่าเป็นภาคเริ่มต้นที่น่าจะเป็นมิตรกับผู้เล่นหน้าใหม่ และมีแนวทางใหม่ ๆ ที่น่าสนใจและน่าจะเป็นที่ยอมรับได้สำหรับแฟนขาประจำของซีรีส์ ดังนั้นแล้ว Tales o Arise จึงนับว่าเป็นเกมแอ็กชั่น RPG ที่ดีมาก ๆ เกมหนึ่ง และเป็นเกมภาคที่คู่ควรกับการฉลองครบรอบ 25 ปีของซีรีส์ได้อย่างเต็มภาคภูมิ
VERDICT
8.5/10
รีวิวโดย อาร์ม Pirawits