12 ประเภทของสิ่งที่เรียกว่าภาคต่อวิดิโอเกม

12 ประเภทของสิ่งที่เรียกว่าภาคต่อวิดิโอเกม

 

12 ประเภทของสิ่งที่เรียกว่าภาคต่อวิดิโอเกม – คิดว่าช่วงที่ผ่านมาสัก 2-3 ปีมานี้พวกเราได้เห็นเกมภาคต่อ ภาคแยก ภาคต้นตำรับ หรือภาครีบูตของเหล่าเกมมีชื่อออกมาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในหมู่เกมระดับ AAA ที่แทบจะมีสัดส่วนของเกมภาคต่อพอๆ กับเกม IP ใหม่เลย เพราะอย่างไรเสียเกมที่ขายดีมาก่อนก็ย่อมมีลูกค้าและตลาดที่รองรับอยู่ส่วนหนึ่ง ดังนั้นมันจึงถือเป็นการ “เซฟกว่า” ที่หากจะออกเกมอะไรก็ตามที่เกี่ยวพันกับภาคต้นฉบับของมัน 

 

ภาคต่อ

 

ซึ่งด้วยไอเดียของมนุษย์นักพัฒนาเกมก็มีความคิดแยกย่อยในการต่อยอดชิ้นงานเกมมากมาย จนกลายเป็นชื่อเรียกที่หลากหลาย หลายเสียจนบางคนเริ่มงงแล้วว่ามันมีประเภทใดบ้าง หรือสิ่งนี้มันเรียกว่าอะไร กอปรกับผมไปเจอบทความน่าสนใจจากเว็บไซต์ Kotaku เกี่ยวกับสิ่งนี้เลยลองแปลมาให้อ่านกันครับ

 

1. ภาคต่อที่เป็นภาคต่อตรงตัว

แน่นอนว่าประเภทนี้คือภาคต่อที่มีความตรงไปตรงมามากที่สุด มันคือเนื้อเรื่องตอนต่อที่หยิบเอาสิ่งที่เกิดขึ้นในภาคแรกหลายๆ ส่วนมาสานต่อ เป็นการเดินเรื่องต่อไปข้างหน้า โดยมากแล้วมักมีตัวเลขภาคเขียนต่อจากชื่อดังที่อาจจะได้เห็นกันบ่อยๆ

 

ภาคต่อ

 

ยกตัวอย่าง: เกมที่มีเลขต่อท้ายชื่อทั่วไป

 

2. ภาคต่อที่ออกช้าชิxหาย

บางครั้งบางเกมถูกปล่อยวางขายและทำได้ดีมากๆ จากนั้น อาจจะเป็นปี หลายปี บางทีเป็นทศวรรษ เวลาผ่านไปบางบริษัทเกิดพุทธิปัญญาอยากจะปลุกผีภาคต่อขึ้นมา โดยที่อาจจะต้องใช้สตูดิโอผู้พัฒนาคนละเจ้ากับภาคแรกของมัน การประกาศเปิดตัวก็จะเกิดขึ้นแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย และผลตอบรับโดยมากก็จะเป็นหัวเราะเยาะหรือไม่อยากจะเชื่อมือสักเท่าไหร่

 

ภาคต่อ

 

ยกตัวอย่าง: Red Dead Redemption, Duke Nukem Forever, Max Payne 3, Elite: Dangerous

 

3. ภาคต่อที่ดันย้อนเวลาไปก่อนภาคแรก

หรือเรียกกันง่ายๆ ว่าภาคก่อนหน้า แม้ว่าจะวางขายทีหลัง แต่เกมจะพาเราไปดูจุดกำเนิดหรือความเป็นมาของอะไรสักอย่างในไทม์ไลน์ที่บังเกิดขึ้นก่อนภาคแรกของมัน มักได้ผลกับการเล่าเรื่องเหล่าตัวละครยอดนิยมที่ดันเด๊ดซะมอเร่ไปในไทม์ไลน์หลักแล้ว การกำเนิดขึ้นของภาคก่อนหน้าจะพาผู้เล่นไปพบกับเขาหรือเธอในช่วงที่ยังคงมีชีวิตอยู่ ทั้งยังเปิดโอกาสให้คนเขียนบทหรือผู้สร้างได้สร้างรายละเอียดของโลกเกมได้มากขึ้นโดยไม่ต้องกังวลว่าจะไปป่วนไทม์ไลน์ของภาคหลักมากนัก

 

ภาคต่อ

 

ยกตัวอย่าง: Metal Gear Solid III, Metal Gear Solid V, Deus Ex: Human Revolution, Assassin’s Creed Origins

 

4. ภาคต่อที่อยู่กึ่งกลางของไตรภาค

เมืองนอกเรียก Trilogy Midpoint เป็นจุดที่แทบจะสำคัญและสร้างยากที่สุดของไตรภาค เพราะในขณะที่ภาคแรกสามารถชัดเจนในแนวทางมีจุดเริ่มต้น ไคลแมกซ์ และตอนจบ ภาคกลางจำเป็นต้องจับรอยต่อของภาคแรก และอาจจะจำเป็นต้องจบแบบ Cliffhanger เพื่อกระตุ้นให้ผู้เล่นอยากไปลุยต่อในภาค 3 แบบยิ่งลงแดงยิ่งดี

 

ภาคต่อ

 

ยกตัวอย่าง: Halo 2, Gears of War 2, Mass Effect 2

 

5. ภาคต่อภาคแรกที่ไม่มีเลขกำกับ

ส่วนใหญ่มักจะเกิดกับเกมซีรีส์ที่มีมาอย่างยาวนานหลายภาค นัยว่าทำมาเยอะแล้วรู้สึกว่าพอถึงจุดหนึ่งก็ “ไม่ต้องใส่แล้วไหมเลขเนี่ย” พอถึงจุดนี้จุดประสงค์และแนวทางของเกมจะยังไม่เปลี่ยนแปลงอะไร เพียงแค่ตัดเลขภาคออกในภาคถัดไป แล้วใส่ชื่อกำกับภาคเข้ามาแทน

 

ภาคต่อ

 

ยกตัวอย่าง: Assassin’s Creed Brotherhood (เป็นภาค 3), Super Mario World (เป็น Super Mario 4), Zelda: A Link to the Past (จริงๆ แล้วเป็น Zelda III)

 

6. ภาคต่อที่เป็นสปินออฟ

ส่วนต่อขยายจักรวาลของเกมภาคหลัก ที่มักจะไม่เข้าไปยุ่งกับเส้นเรื่องหลักของเกมนั้นๆ มันอาจอยู่คนละแพลตฟอร์มหรืออาจเป็นเกมคนละประเภทกับต้นฉบับของมัน และมักจะบอกเล่าเรื่องราวของตัวละครรองๆ ลงไป เกมเหล่านี้อาจมาจากสื่อฯ อื่นๆ เช่น ภาพยนตร์หรือทีวีซีรีส์ก็ย่อมได้

 

ภาคต่อ

 

ยกตัวอย่าง: Tales from the Borderlands, The Amazing Adventures of Captain Spirit, Star Wars: The Force Unleashed, Forza Horizon และเกมมือถือที่ได้ลิขสิทธิ์มาจากเกมหลักอีกเพียบ

 

7. ภาคต่อที่ถูกเรียกว่ารีบู๊ต

ภาครีบู๊ตโดยมากแล้วจะใช้ชื่อเดียวกับภาคต้นตำรับของมัน แต่แทนที่จะดำเนินเรื่องต่อ ก็จะเป็นการเซ็ตเนื้อเรื่องใหม่ขึ้นมาเสียมากกว่า แม้บางครั้งอาจจะเล่าเนื้อเรื่องเก่าแต่ก็จะเป็นในแนวทางที่ต่างไปจากเดิม มีรีมิกซ์บ้าง หรือเขียนแก้ใหม่บ้าง หรืออาจจะเล่าเรื่องที่แตกต่างไปโดยสิ้นเชิงเลยก็ย่อมได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังอาจใช้ชื่อเหมือนกับเกมภาคต้นฉบับ ทำให้บางครั้งสร้างความสับสนแก่ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตหลายๆ ท่านที่ต้องการหาข้อมูลภาคเก่าพอสมควร

 

ภาคต่อ

 

ยกตัวอย่าง: Prey, DmC: Devil May Cry, Doom, Bionic Commando (2009), Tomb Raider (2013), Hitman (2016), Star Wars: Battlefront (2017)

 

8. ภาคต่อที่กลายเป็นสแตนอโลน

โดยมากแล้วมักจะเป็นส่วนเสริมเติมแต่งของเกมต้นฉบับและมักจะเกี่ยวกับไทม์ไลน์หลัก บางครั้งมันอาจเคยเป็นแค่ส่วนดาวน์โหลดเสริมของเกมหลัก ก่อนจะพิสูจน์ตัวเองว่าแกร่งพอจะแยกตัว หรืออาจจะถูกสร้างแบบแยกส่วนมาตั้งแต่แรก ส่วนใหญ่แล้วเกมแบบนี้มักมาพร้อมกับการตื่นขึ้นของเรื่องราวใหญ่โตที่จะเปิดประตูไปสู่เส้นเรื่องหลัก

 

ภาคต่อ

 

ยกตัวอย่าง: Dishonored: Death of the Outsider, Uncharted: The Lost Legacy, The Last of Us: Left Behind

 

9. ภาคต่อที่เหมือนจะเป็นรีบูตแต่ก็ไม่เชิง

ในบางครั้งภาคล่าสุดของซีรีส์ก็ดูเหมือนจะเป็นเกมรีบูตเพราะมีความแตกต่างจากภาคก่อนหน้าโดยสิ้นเชิง แต่ว่ากลับมีเรื่องราวที่ดำเนินต่อ ทั้งยังคงใช้ตัวละครชุดเดิมหรือตัวเอกคนเดิม และความเปลี่ยนแปลงก็มากพอที่ทำให้ผู้เล่นรู้สึกเหมือนเป็นการเริ่มต้นใหม่ของซีรีส์

 

ภาคต่อ

 

ยกตัวอย่าง: God of War (2018), Grand Theft Auto IV

 

10. ภาคต่อที่พลิกรูปแบบไปอย่างสิ้นเชิงแต่มันยังคงเป็นภาคต่อ

ภาษาเมืองนอกเรียกอย่างยากว่า The Polarizing Re-Imagining That Is Still Technically A Sequel และใช้ตัวย่อง่ายๆ ว่า PRITISTAS หมายถึงเกมภาคต่อที่ทิ้งช่วงจากภาคแรกไปนาน กระทั่งทีมพัฒนาได้โอกาสกลับมาทำต่ออีกครั้ง พร้อมแนวความคิดที่สดใหม่ รวมถึงมุ่งเน้นไปยังผู้เล่นหน้าใหม่ที่อาจไม่เคยสัมผัสภาคแรกมาก่อน ด้วยรูปแบบนี้มันก็ไม่ได้สร้างแต่เกมแย่ออกมาเสมอไป เพียงแค่เป็นความพยายามจะแตกต่างจากเดิมก็เท่านั้น

 

ภาคต่อ

 

ยกตัวอย่าง: Fallout 3, Far Cry 2, Resident Evil VII, Homeworld: Deserts of Kharak, Command & Conquer: Rivals

 

11. ภาคต่อที่กลายเป็นผู้สืบทอดทางจิตวิญญาณ

ผู้สืบทอดทางจิตวิญญาณคือเกมภาคต่อที่รับเอาทุกสิ่งอย่างในเกมภาคเก่ามาต่อยอดเว้นแต่เพียงชื่อเกม, ฉากหลัง, คนพากย์ มันอาจถูกสร้างโดยทีมพัฒนาชุดเดิม หรือใครก็ได้ ตามประโยคที่ว่า “เราสร้างภาคต่อของเกมที่คุณชอบนั่นแหล่ะ แต่ด้วยเหตุผลทางกฎหมายเลยใช้ชื่อเดิมไม่ได้ก็เท่านั้น”

 

ภาคต่อ

 

ยกตัวอย่าง: Story of Seasons, Dark Souls, Stardew Valley, Torchlight, Cities: Skylines, Dragon Age: Origins, Prey, Bravely Default, Planet Coaster, Pillars of Eternity

 

12. ภาคต่อฉบับแฟนๆ 

หลายๆ ครั้ง เกมบางเกมไม่มีภาคต่อเพราะทีมพัฒนาไม่สะดวกหรือไม่คิดจะเดินหน้าไปต่อกับเกมนั้นๆ เหล่าแฟนเดนตายที่ชอบมากๆ จึงต้องขอลุยสร้างภาคต่อเอง อย่างไรก็ดี ผลงานจากแฟนๆ ที่เสร็จสมบูรณ์จริงๆ นั้นมีไม่มากนัก เพราะการพัฒนามีความสุ่มเสี่ยงในแง่ของกฎหมายและเต็มไปด้วยความยากลำบาก มันอาจจะกินเวลาชีวิตจนไม่อาจไปทำอย่างอื่นได้จนแม้แต่งานประจำก็อาจต้องถูกเบียดเบียนไปด้วย

 

ภาคต่อ

 

ยกตัวอย่าง: Black Mesa (อาจถือว่าเป็นแฟนรีบูตได้ด้วย), Pokémon Uranium

 

ที่มา: https://kotaku.com/the-12-types-of-video-game-sequel-1829367809

 

12 ประเภทของสิ่งที่เรียกว่าภาคต่อวิดิโอเกม

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้