รู้จักกับงานเกม E3 2019 อลังยังไง ค่าบัตรแพงมั้ย เรามีคำตอบ!

แชร์เรื่องนี้:
รู้จักกับงานเกม E3 2019 อลังยังไง ค่าบัตรแพงมั้ย เรามีคำตอบ!

จากนี้ไปอีกเพียงเดือนเศษ ก็จะได้เวลาของมหกรรมงานเกมครั้งใหญ่ของโลกอย่าง E3 2019 ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 11-13 มิถุนายน 2019 ณ นครลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วนะครับ สำหรับปีนี้ ทางผู้จัดงานได้ประกาศเปิดให้ผู้ที่สนใจได้เข้าไปลงทะเบียนเพื่อร่วมงานดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งบัตรเข้างานสำหรับบุคคลทั่วไปจะมีทั้งหมด 2 แบบด้วยกัน คือ Gamer Badge และ Premium Badge โดยรายละเอียดของบัตรทั้ง 2 แบบมีดังนี้ครับ

Gamer Badge

- เริ่มเปิดลงทะเบียนเพื่อซื้อบัตรได้ตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2019 เวลาตีสอง (เช้ามืดของวันที่ 13) ตามเวลาประเทศไทย
- ผู้ที่ทำการลงทะเบียน 1,000 คนแรก จะสามารถซื้อบัตรได้ในราคา 149 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 4,700 บาท)
- ผู้ที่ทำการลงทะเบียนตั้งแต่คนที่ 1,001 เป็นต้นไป จะสามารถซื้อบัตรได้ในราคา 249 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 7,800 บาท)
- วันอังคารที่ 11 มิถุนายน 2019 จะสามารถเข้างานได้ในช่วงเวลา 14:00 - 19:00 น. ตามเวลาของนครลอสแองเจลิส (ช้ากว่าไทย 14 ชั่วโมง)
- วันพุธที่ 12 มิถุนายน 2019 จะสามารถเข้างานได้ในช่วงเวลา 12:00 - 19:00 น. ตามเวลาของนครลอสแองเจลิส (ช้ากว่าไทย 14 ชั่วโมง)
- วันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน 2019 จะสามารถเข้างานได้ในช่วงเวลา 9:00 - 18:00 น. ตามเวลาของนครลอสแองเจลิส (ช้ากว่าไทย 14 ชั่วโมง)

Premium Badge

- เริ่มเปิดลงทะเบียนเพื่อซื้อบัตรได้ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2019
- ราคาบัตรใบละ 995 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 31,200 บาท)
- วันอังคารที่ 11 มิถุนายน 2019 จะสามารถเข้างานได้ในช่วงเวลา 11:00 - 19:00 น. ตามเวลาของนครลอสแองเจลิส (ช้ากว่าไทย 14 ชั่วโมง)
- วันพุธที่ 12 มิถุนายน 2019 จะสามารถเข้างานได้ในช่วงเวลา 9:00 - 19:00 น. ตามเวลาของนครลอสแองเจลิส (ช้ากว่าไทย 14 ชั่วโมง)
- วันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน 2019 จะสามารถเข้างานได้ในช่วงเวลา 9:00 - 18:00 น. ตามเวลาของนครลอสแองเจลิส (ช้ากว่าไทย 14 ชั่วโมง)
- ได้สิทธิ์เข้าใช้ VIP Lounge ที่ผู้ถือบัตร Premium Badge สามารถใช้บริการอินเตอร์เน็ตภายในโซนดังกล่าวเพื่อติดต่อธุรกิจ หรือธุระส่วนตัวได้
- มีอาหารเช้าและเที่ยงบริการฟรีตลอดทั้ง 3 วันของงาน
- สามารถเข้าไปในสถานที่จัดงานได้ผ่านประตูของผู้ถือบัตร VIP (ไม่ต้องไปต่อคิวเบียดกับผู้ถือบัตรทั่วไปนั่นเอง)
- สามารถเข้าไปชมโชว์หรือพรีเซนเทชั่นแบบถ่ายทอดสดได้ตลอดเวลา
- สามารถเข้าไปในโซนพบปะผู้บริหารหรือนักพัฒนาเกมของแต่ละค่ายได้

อย่างไรก็ตาม ทว่าด้วยตัวงานที่จัดไกลถึงข้ามทวีป และอาจจะมีเกมเมอร์อยู่ไม่น้อยที่ยังไม่เคยหน้าค่าตาว่างานนี้ยิ่งใหญ่ยังไง ทำไมผู้คนในวงการเกมถึงตั้งหน้าตั้งตารอคอยงานนี้กันอยู่ทุกปี ในฐานะที่ทีมงาน OS เคยได้ไปสัมผัสความอลังการของงานนี้มาแล้วก็ขอเล่าคร่าวๆ ให้รู้จักกันถึงงาน E3 กันครับ

สำหรับ E3 (Electronic Entertainment Expo) นั้นถือเป็นงานเกมประเภท Trade Event ที่จัดขึ้นมาเพื่อเป็นการพบปะของเหล่านักพัฒนาเกม ผู้จัดจำหน่ายเกม บรรดาตัวแทนจากร้านเกมค้าปลีก และสื่อมวลชนเท่านั้น กระทั่งทางผู้จัดเพิ่งจะมาเปิดให้บุคคลภายนอกได้เข้ามาร่วมงานได้เมื่อตั้งแต่ปี 2017 ที่ผ่านมา แต่ราคาบัตรของบุคคลภายนอกก็เข้าขั้นแพงสุดกู่ โดยอยู่ที่คนละ 995 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 32,500 บาทไทยทีเดียว และหากจะได้บัตรที่ราคาถูกกว่านั้น ก็ต้องทำการลงทะเบียนจองที่หน้าเว็บไซต์ของงาน ซึ่งอย่าง E3 2018 ที่เพิ่งจะผ่านพ้นไป ได้กำหนดให้ผู้ลงทะเบียนจองในเว็บจำนวน 1,000 คนแรกจะได้บัตรในราคา 149 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 4,900 บาท ในขณะที่คนที่จองในลำดับ 1,001-10,000 จะได้บัตรในราคา 249 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 8,200 บาท

ดังนั้น ด้วยบัตรที่มีราคาแพงเช่นนี้ เกมเมอร์จากทุกสารทิศ ไม่เว้นแม้แต่คนที่มีถิ่นฐานอยู่ในนครลอสแองเจลิสเลยได้แต่มองตาปริบๆ แล้วเลือกที่จะรอดูถ่ายทอดสดอยู่กับบ้านดีกว่า ส่วนเพื่อนๆ คนไหนที่สงสัยว่าสเกลงานของ E3 นั้นใหญ่ขนาดไหน ก็ต้องบอกว่าพื้นที่ของ LA Convention Center นั้นอยู่ที่ 67,000 ตารางเมตร หรือมากกว่ารอยัล พารากอนฮอลล์ ที่ใช้จัดงาน Thailand Game Show BIG Festival ถึงกว่า 5 เท่านั่นเอง แถมสัดส่วนของบรรดาเกมที่นำมาโชว์ในงานก็เป็น พีซี/คอนโซล มากถึง 90% ครับ ส่วนอีก 10% ที่เหลือก็แบ่งยิบย่อยเป็นบูธจำหน่ายสินค้า Merchandise รวมถึงบูธเกมมือถือ ตลอดจนบูธเกมที่เล่นบน VR ฯลฯ

ทุกวันนี้ ในแวดวงการเกม โดยเฉพาะฝั่งเกมเมอร์สายคอนโซลและพีซี ต่างยกให้งาน E3 มีดีกรีความยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก ด้วยเหตุผลที่ว่ามันเป็นงานที่ทางค่ายเกมชั้นนำต่างๆ จะขนเกมใหม่มาเปิดตัว รวมถึงประกาศวันวางจำหน่าย อะไรที่เกมเมอร์ทั่วโลกรอคอยกัน ก็จะได้เห็นเป็นครั้งแรกได้ที่งานนี้อยู่บ่อยๆ (นอกเสียจากเกมไหนที่พัฒนาโดยบางค่ายที่เป็นสัญชาติญี่ปุ่นก็จะถูกนำไปเปิดตัวที่งาน Tokyo Game Show ประเทศญี่ปุ่น หรือเกมที่ถูกพัฒนาโดยค่ายฝั่งยุโรปก็จะไปเปิดตัวที่งาน Gamescom ในประเทศเยอรมนีแทน เป็นต้น)

ส่วนในเมืองไทยนั้น ด้วยความที่สภาพตลาดบ้านเราส่วนใหญ่จะนำด้วยเกมออนไลน์และเกมมือถือ เลยทำให้ภาพลักษณ์ของงานเกม Thailand Game Show ดูเป็นงานเกมมือถือเยอะหน่อย แต่นั่นก็สะท้อนถึงกลุ่มผู้เล่นในประเทศเราเองด้วยครับว่าหากจะให้มีค่ายเกมคอนโซลและพีซีสนใจมาทำตลาดหรือออกบูธในงานที่ไทยมากขึ้น เราก็ต้องให้การสนับสนุนเกมเหล่านั้นให้เยอะขึ้นด้วยเช่นกัน

แชร์เรื่องนี้:

เรื่องที่คุณอาจสนใจ