รีวิวเกมเก่า Dragon’s Dogma: Dark Arisen เกม RPG ที่ถูกออกแบบมาอย่างยอดเยี่ยม

Dragon’s Dogma คือความพยายามของค่าย Capcom ที่ต้องการจะแหวกจารีตเดิมๆ ของเกม RPG ฝั่งญี่ปุ่นโดยการทำเกม RPG ไสตล์ตะวันตกดูบ้าง ทั้งรูปลักษณ์และเกมเพลย์ของมันจึงมีกลิ่นอายของทีมพัฒนาฝั่งญี่ปุ่นอยู่น้อยมาก แต่ความลุ่มลึกและความคิดสร้างสรรค์อันเป็นเอกลักษณ์ของฝั่งตะวันออกก็ยังคงถูกบรรจุลงไปในเกมอย่างครบถ้วน ทำให้ได้เกม RPG ลูกผสมที่มีข้อดีจากทั้งสองฝั่งขึ้นมา คุณภาพของเกมนี้ก็ยังอยู่ในระดับที่เทียบชั้นกับเกมฟอร์มยักษ์ในปัจจุบันนี้ได้ไม่ยากเลย มาดูกันดีกว่าว่าอะไรที่ทำให้เป็นเช่นนั้น

เรื่องมันมีอยู่ว่า
จ้าวมังกรนามว่า Grigori มันก็ได้ปรากฏตัวขึ้นอีกครั้ง (หลังจากการสาปสูญหลายร้อยปี) มันเข้าโจมตีหมู่บ้านชาวประมงอันแสนสงบแห่งหนึ่ง เป็นจังหวะที่ตัวเอกของเราซึ่งเพิ่งจะเล่น Skyrim จบเดินผ่านมาพอดี (555+) จึงคว้าดาบของทหารที่หล่นอยู่บนพื้นแล้ววิ่งลงไปสู้กับมังกรที่มาบุกหมู่บ้าน (ผมนึกเหตุผลอื่นไม่ออกจริงๆ ว่าทำไมพี่แกถึงทำแบบนั้น) แน่นอนว่าต้องโดนตบเกรียนไปตามระเบียบ แต่ความกล้านั้นก็สร้างความประทับใจให้กับมังกรจนคิดจะเล่น ‘เกม’ กับเขาเกมหนึ่ง โดยมันได้ทำการช่วงชิงหัวใจของเขาไป (หัวใจที่เป็นอวัยวะจริงๆ ไม่ใช่คำเปรียบเปรย) และท้าให้ตัวเอกของเราตามไปฆ่ามันเพื่อแย่งชิงหัวใจของตัวเองกลับไปให้ได้ เป็นการเริ่มต้นของมหากาพย์แห่งการล่ามังกรครั้งนี้

ต้องบอกว่าเนื้อเรื่องของ Dragon’s Dogma นั้นเป็นอะไรที่ค่อนข้างธรรมดา และไม่มีความดึงดูดเท่าไหร่ แถมตัวเนื้อเรื่องหลักก็สั้นมากด้วย การเล่าเรื่องก็ทำได้แบบเรียบๆ ตัวละครก็ค่อนข้างขาดมิติและไม่น่าจดจำ จนอาจเรียกได้ว่าเป็นจุดอ่อนหนึ่งของเกมก็ว่าได้ ยังดีที่ช่วงท้ายเกมนั้นถูกออกแบบมาอย่างพิถีพิถันจนให้อรรถรสราวกับเป็นหนังคนละม้วนจึงพอจะช่วยปิดท้ายการผจญภัยด้วยความรู้สึกในแง่บวกได้ แต่สำหรับคนที่คิดจะเสพเนื้อเรื่องกลางทาง หรือหาความสนุกจากเนื้อเรื่องรอง คงต้องทำใจกันสักหน่อย

รายละเอียดตัวละครที่มีผลกับการเล่น
เราสามารถสร้างตัวละครในเกมโดยปรับแต่งรายละเอียดได้หลากหลาย ทั้งหน้าตาและรูปร่าง แต่สิ่งที่น่าประทับใจคือรูปร่างของตัวละครที่เราเลือกนั้นจะส่งผลต่อการเล่นจริงด้วย ไม่ใช่ให้เลือกมาเพื่อดูโก้เก๋หรือเอาตามความพอใจแค่เพียงอย่างเดียว เช่น ตัวละครที่รูปร่างสูงใหญ่จะแบกของได้มากกว่า, กระโดดได้สูงกว่า แลกมาด้วยการเคลื่อนไหวที่เชื่องช้ากว่าและพลังกาย (Stamina) ที่ฟื้นฟูช้ากว่า ส่วนตัวละครร่างเล็กก็จะกลับกัน คือ รวดเร็วกว่า, ฟื้นฟูพลังกายได้เร็วกว่า แต่กระโดดได้ไม่สูงนัก และคุณสมบัติทางกายนี้ยังแสดงให้เห็นในระหว่างต่อสู้ด้วย เช่น เวลาที่มังกรใช้ท่ากระพือปีกสร้างแรงลมปะทะ

ตัวละครร่างใหญ่จะปักหลักต้านเอาไว้ได้ หรือถูกดันให้ถอยไปไม่มาก แต่ตัวละครร่างเล็กจะกลิ้งตามแรงลมไปเป็นลูกขนุน หรือเวลาที่กระโดดเกาะแล้วปีนขึ้นตามส่วนต่างๆ ของมอนสเตอร์ น้ำหนักตัวของตัวละครร่างใหญ่จะกดให้อีกฝ่ายทรุดตัวลงหรือบินไม่ขึ้นได้ แต่ตัวละครร่างเล็กแม้จะไม่มีผลแบบนั้นก็จะถูกสลัดให้หล่นลงมายากกว่าแทน นับเป็นรายละเอียดทางด้านกายภาพที่ตอบสนองกับเกมเพลย์ได้อย่างสมจริง ไม่ใช่แค่มีไว้เพื่อความพอใจทางสายตาแต่เพียงอย่างเดียว

ระบบคลาสที่เปิดกว้างและหลากหลาย
เกม RPG ย่อมมาคู่กับระบบคลาสอยู่แล้ว ซึ่งคลาสในเกมนี้จะถูกแบ่งออกเป็นสามสายหลักก่อน คือ นักดาบ, นักธนู และนักเวท ซึ่งผู้เล่นสามารถพัฒนาคลาสเหล่านี้ขึ้นไปสู่คลาสระดับสองของแต่ละสายเพื่อใช้งานทักษะที่สูงขึ้นได้ แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถผสมผสานการใช้งานของแต่ละคลาสเข้าด้วยกันแล้วเลื่อนขั้นเป็นคลาสผสมแทนได้ เช่น หากเลือกนักดาบผสมกับนักเวท ก็จะเป็นมิสติกไนท์ หรืออัศวินเวทมนตร์ ซึ่งใช้เวทมนตร์ช่วยสนับสนุนในการต่อสู้ระยะประชิดได้ หรือถ้าเลือกนักธนูผสมกับนักเวท ก็จะได้เมจิคอาเชอร์ นักธนูเวทมนตร์ซึ่งเสริมการโจมตีด้วยเวทมนตร์อันหลากหลายและสร้างการโจมตีมหาประลัยด้วยธนูขึ้นมาได้ รึถ้าผสมนักรบกับนักธนู ก็จะได้แอสซาซิน มือสังหารผู้มีท่าโจมตีอันรุนแรงทั้งของมีดและธนูอยู่ในตัว 

รวมเบ็ดเสร็จแล้วในเกมจะมีคลาสทั้งหมดอยู่เก้าคลาสด้วยกัน แต่ไม่ใช่ว่าคลาสระดับแรกจะเป็นแค่ทางผ่านไปยังคลาสระดับสูง เพราะแต่ละคลาสต่างก็มีเอกลักษณ์และจุดเด่น จุดด้อยเฉพาะตัว และมีไสตล์การเล่นแตกต่างกันออกไป แถมทักษะบางอันก็สามารถนำมาให้คลาสอื่นๆ สวมใส่ได้ ทำให้หลังจากปลดล็อกทักษะของคลาสระดับสองแล้วบางคนอาจย้อนกลับมาเล่นคลาสแรกแทน เพราะมีไสตล์การเล่นเหมาะมือกว่านั่นเอง

Pawn ที่ไม่ใช่แค่ตัวหมาก
ในเกมจะมีผู้ติดตามที่เรียกว่า Pawn ซึ่งเป็น NPC จากต่างมิติที่จะคอยคิดตามผู้ถูกเลือกที่เรียกว่า Arisen (ตัวเรานี่แหละ) ในการทำภารกิจปราบมังกร โดยเราจะมี Pawn หลักหนึ่งคน และ Pawn เสริมอีกสองคน รวมเป็นปาร์ตี้สี่คน ซึ่งเราสามารถออกแบบและกำหนดรายละเอียดของ Pawn หลักได้ตามใจชอบเหมือนกับการสร้างตัวละครขึ้นมาอีกตัวหนึ่ง ส่วนพวกตัวเสริมเราก็สามารถสวมใส่อุปกรณ์และปรับแต่งทักษะต่างๆ ให้ได้เช่นกัน ทำให้การต่อสู้ในเกมนี้จะออกไปในแนว Squad-Base RPG นิดๆ คือเราต้องบริหารจัดการเพื่อนร่วมทีมให้สอดรับกับการต่อสู้เป็นกลุ่มด้วย

ในแง่ของการต่อสู้แล้ว AI ของ Pawn ยังทำได้ไม่ดีเท่าไหร่นัก คือมีจังหวะทำอะไรโง่ๆ และไม่เหมาะสมกับสถานการณ์อยู่เยอะ แถมยังพูดมากจนน่ารำคาญ แต่ที่น่าชื่นชมคือนอกเหนือจากการต่อสู้แล้ว ตัว AI ก็มีพัฒนาการหรือมีการตอบสนองต่อการกระทำของผู้เล่นในแนวทางที่คาดไม่ถึง หรือหาไม่ได้ในเกมอื่นๆ เช่น หากคุณก้มลงเก็บผักเก็บหญ้าตามทาง พวก Pawn ก็จะก้มลงช่วยคุณเก็บด้วย หรือถ้าคุณมีนิสัยชอบทุบกล่องทุบข้าวของเพื่อหาไอเท็มที่ซ่อนอยู่ พวก Pawn ก็จะช่วยคุณทุบด้วยอีกแรง นับเป็นระบบ AI ที่ไม่เลวเลยทีเดียว

ระบบ Pawn ยังมีลูกเล่นอีกอย่างหนึ่งคือ มิติของ Pawn นั้นจะเป็นระบบออนไลน์ให้คุณสามารถยืม Pawn หลักของผู้เล่นคนอื่นๆ มาใช้งานได้ และผู้เล่นคนอื่นๆ ก็สามารถยืม Pawn หลักของคุณไปใช้งานได้เช่นกัน (จะยืมกันได้เมื่ออีกฝ่าย offline) ซึ่ง Pawn ที่ไปช่วยผู้เล่นคนอื่นก็จะได้ทั้งไอเท็มและค่าประสบการณ์ติดตัวกลับมา ที่เด็ดคือหากมันถูกพาไปทำเควสใหม่ๆ ที่เรายังไม่เคยทำ เมื่อเรารับเควสนั้นมา ตัว Pawn ที่เคยไปทำเควสนี้กับคนอื่นมาแล้วจะช่วยนำทางเราในการทำเควส หรือหากมันเคยตามคนอื่นไปฆ่าบอสมาแล้ว มันก็จะบอกจุดอ่อนของบอสตัวนั้นๆ ให้กับเราด้วย เป็นระบบที่สร้างสรรค์มากๆ

ตัวชูโรงที่แท้จริงคือระบบต่อสู้
ระบบต่อสู้ในเกมจะเป็นแนว Action-RPG ทั่วไป ซึ่งตรงนี้ต้องขอชมว่าระบบควบคุมถูกออกแบบมาให้กระชับและใช้งานง่าย แถมการพอร์ทมายังพีซีครั้งนี้ยังทำได้ดี การเล่นด้วยเมาส์ + คีย์บอร์ด จึงสามารถทำได้อย่างลื่นไหลไม่มาสะดุด (แต่ถ้าเล่นสายประชิดก็ควรใช้จอยแพดจะดีกว่า) ทว่าจุดที่น่าสนใจจริงๆ คือการสู้บอส ซึ่งมีระบบ ‘ปีนป่าย’ ให้คุณสามารถปีนขึ้นไปบนตัวของเหล่าบอสร่างยักษ์พวกนั้นแล้วเล่นงานจุดอ่อนของมันที่ปกติพวกคลาสระยะประชิดจะไม่สามารถโจมตีโดนได้ เช่น ปีนขึ้นไปบนหัวของไซคลอปซ์เพื่อโจมตีดวงตามัน หรือกระโดดเกาะติดไปบนตัวมังกรเพื่อโจมตีมันอย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องห่วงว่ามันจะบินหนีไปไหน

ช่วงเวลาแบบนั้นเป็นอะไรที่ให้ความรู้สึกสุดยอดมาก และนี่คือรูปแบบที่ควรจะเป็นของการต่อสู้กับศัตรูร่างยักษ์ ไม่ใช่แค่การเอาดาบเอาหอกไปจิ้มๆ ตามข้อเท้ามันจนกว่ามันจะตายเหมือนในเกมอื่นๆ ทำให้การต่อสู้กับเหล่าบอสร่างยักษ์ใน Dragon’s Dogma นั้นเป็นประสบการณ์อันยอดเยี่ยมซึ่งหาไม่ได้ง่าย ๆ 

หนึ่งในทีมพัฒนาอาจเคยเป็นนักวิ่งมาราธอนมาก่อน
จุดด้อยที่นับว่าเป็นปัญหาใหญ่ของเกมอย่างหนึ่งก็คือไม่มีระบบ Fast Travel ให้คุณไปยังที่ต่างๆ ที่เคยไปมาแล้วได้เหมือนใน Skyrim ทั้งที่พื้นที่ของเกมมีความกว้างไม่ด้อยไปกว่ากันเลย แถมยังไม่มีพาหนะให้ขี่ด้วย คุณจึงต้องวิ่ง วิ่ง และวิ่ง เพื่อเดินทางไปยังที่ต่างๆ แม้ในเกมจะมีผงวิเศษที่ช่วยให้วาร์ปกลับไปเมืองหลวงได้ แต่มันก็แค่ช่วยในการเดินทางไปยังเมืองหลวงเท่านั้น หากคุณต้องการจะไปที่อื่นๆ ก็ต้องวิ่งลูกเดียว ซ้ำร้ายกว่านั้น มอนสเตอร์ในเกมยังเกิดใหม่เรื่อยๆ ในจุดเดิมตายตัว ทำให้คุณต้องทำการต่อสู้ฟันฝ่ากันมอนเตอร์กลุ่มซ้ำๆ ทั้งขาไปและขากลับเพื่อผ่านทาง นับเป็นการเสียเวลาโดยใช่เหตุ และทำให้อรรถรสในการเล่นดรอปลงอย่างมาก

โดยรวมแล้ว Dragon’s Dogma จัดเป็นเกม RPG ชั้นยอดที่ถูกออกแบบมาอย่างยอดเยี่ยมและมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ตัวเกมได้นำกลิ่นอายของ RPG ไสตล์ตะวันตก มาผสานเข้ากับความลุ่มลึกและการใส่ใจในรายละเอียดของ RPG ฝั่งญี่ปุ่นได้อย่างลงตัว แม้จะมีข้อเสียอยู่บ้าง แต่มันก็ยังจัดเป็นเกมที่ยอดเยี่ยมและควรค่าต่อการลิ้มลอง ใครที่เป็นคอเกม RPG และต้องการจะสัมผัสกับประสบการณ์อันแปลกใหม่ที่หาไม่ได้ในเกม RPG ทั่วไป ห้ามพลาด Dragon’s Dogma ด้วยประการทั้งปวงครับ 

คะแนน 8.8
ข้อดี: เกมเพลย์อันลุ่มลึก, ฉากสู้บอสสุดเร้าใจ, ระบบยืม Pawn ที่แปลกใหม่สร้างสรรค์
ข้อเสีย: เนื้อเรื่องจืดชืด, AI เพื่อนร่วมทีมห่วย, ไม่มี Fast Travel

โดยรวม: ความจริงข้อเสียต่างๆ นั้นได้มาฉุดอรรถรสในการเล่นให้ตกต่ำลงไปพอสมควร แต่ถึงแม้จะหักลบกับข้อเสียแล้ว ตัวเกมก็ยังจัดเป็นเกมที่สนุกสุดๆ อยู่ดี นั่นแหละครับคือ Dragon’s Dogma

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้