ท่ามกลางความเคลื่อนไหวในโลกวงการเกม หนึ่งในสิ่งที่มักจะสร้างความฮือฮาได้อยู่บ่อยๆ ก็คือการประกาศนำเกมที่เคยโด่งดังในอดีตมารีเมคใหม่นี่แหละครับ โดยการรีเมคนั้นก็คือการเอาเกมที่ต้องการจะทำมารื้อทำกราฟิกใหม่ด้วยเอนจิ้นของยุคปัจจุบัน บางเกมก็อาจจะปรับแก้เกมเพลย์บ้างเล็กน้อยให้สอดคล้องกับเทรนด์ของยุคสมัย แต่จะไม่ค่อยไปยุ่งกับเนื้อเรื่องมากนัก เต็มที่ก็อาจจะเพิ่มเส้นเรื่องปลีกย่อยให้ดูมีมิติมากขึ้น ทว่าโครงเรื่องหลักยังใช้ของเดิมอยู่ และในรอบนี้เราจะมาแจกแจงเหตุผลกันสักหน่อยครับว่า การจะรีเมคเกมนึงเนี่ย ทีมพัฒนาเขามักจะต้องแบกรับความเสี่ยงอะไรกันบ้าง เพื่อที่เราจะได้เข้าใจหัวอกของทีมพัฒนาและค่ายเกมกันมากขึ้นครับ
1. ต้นฉบับ
เป็นสัจธรรมของโลกใบนี้ครับว่า เวลารีเมคเกมอะไรออกมาสักเกม ก็ย่อมต้องถูกผู้คนเอาไปเปรียบเทียบกับเวอร์ชั่นต้นฉบับแน่นอน ซึ่งถ้าต้นฉบับเคยทำเอาไว้ดีมากๆ ความกดดันก็ต้องตกอยู่ที่ทีมพัฒนาของเวอร์ชั่นรีเมคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ความกดดันที่ว่านี้ก็ยังพอเบาบางไปได้บ้าง ถ้าเวอร์ชั่นรีเมคมีการเปลี่ยนแปลงหลักๆ แค่ด้านกราฟิก และปรับปรุงเกมเพลย์แค่เล็กน้อย นั่นก็เพราะว่ากราฟิกเป็นปัจจัยที่เหล่าเกมเมอร์เข้าใจดีว่าจะผันแปรไปในทางที่ดีขึ้นตามยุคสมัย ยิ่งกาลเวลาผ่านไป เอนจิ้นในการทำกราฟิกก็ดีตามอยู่แล้ว แต่ถ้าไปเปลี่ยนเกมเพลย์ซะจนดูเหมือนเป็นเกมใหม่ไปเลย คนเล่นก็จะรู้สึกอีกแบบ และจะส่งผลถึงยอดขายเอาได้ครับ
2. ยุคสมัย
หากเกมเวอร์ชั่นต้นฉบับเคยวางจำหน่ายมาแล้วนานมากๆ อาจจะ 10-20 ปีขึ้นไป ก็จะมีปัญหาเรื่องรอยต่อของช่วงเวลาเข้ามาทันที เพื่อนๆ ลองนึกภาพอย่าง Final Fantasy VII (FF7) ที่เคยวางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อปี 1997 ครับ ซึ่งตัวต้นฉบับจะเป็นสไตล์ RPG แบบเทิร์นเบสที่เคยเป็นที่นิยมในหมู่เกมเมอร์มายาวนานจนถึงช่วงกลางทศวรรษ 2000 แต่พอจนถึงตอนนี้ที่เข้าสู่ปี 2019 แล้ว ตัวเกมเวอร์ชั่นรีเมคก็ยังไม่มีการเผยถึงความคืบหน้าใดๆ เลย แถมข่าวล่าสุดที่มีการประกาศอย่างเป็นทางการก็คือตัวเกมถูกรื้อทำใหม่หมดด้วย จึงมีความเป็นไปได้สูงว่ายังไงตัวเกม FF7 เวอร์ชั่นรีเมคก็คงไม่มาในแนวเทิร์นเบสเช่นเดิม เนื่องจากว่าระบบดังกล่าวได้ล้าสมัยไปแล้ว และไม่น่าดึงความสนใจบรรดาเกมเมอร์ที่เกิดตามมาในยุคหลังๆ ที่เทรนด์ของเกม RPG จะเน้นไปทาง Action-RPG มากกว่า
ยิ่งไปกว่านั้น หากเกม FF7 รีเมคยังไม่สามารถวางจำหน่ายภายในยุคของเครื่องคอนโซล PS4 / Xbox One ได้ การโยกไปลงในเครื่องเจเนอเรชั่นถัดไปก็จะเพิ่มความเสี่ยงในเรื่องรอยต่อของยุคสมัยหนักขึ้นไปอีก เพราะรสนิยมความชอบของเกมเมอร์ในยุคต่อจากนี้ก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้เรื่อยๆ ด้วย
3. เหล้าเก่าในขวดใหม่
สืบเนื่องจากข้อ 1 แม้ว่าการรีเมคโดยปรับแก้แค่กราฟิกจะช่วยลดแรงเสียดทานจากแฟนๆ เรื่องการถูกนำไปเทียบกับเวอร์ชั่นต้นฉบับก็จริง แต่การทำเพียงเช่นนั้นก็ย่อมมีความเสี่ยงที่จะโดนมองว่าตัวเกมไม่ต่างอะไรกับ "เหล้าเก่าในขวดใหม่" อยู่ดี ลองนึกถึงละครบ้านทรายทองก็ได้ครับ จะรีเมคมากี่เวอร์ชั่น บทกับโครงเรื่องก็เดิมๆ จะเปลี่ยนก็แค่ตัวละครที่ใช้นักแสดงจากยุคปัจจุบัน นอกเหนือจากนั้นก็เป็นเรื่องการถ่ายทำที่ใช้กล้องดิจิตอลแทนการใช้กล้องฟิล์มที่ได้ความคมชัดมากกว่า แต่ดูไปดูมามันก็ยังให้ความรู้สึกว่ามันก็บ้านทรายทองเหมือนเดิมนี่แหละ (แถมละครไทยก็ขยันรีเมคกันรัวๆ เหลือเกิน)
4. ยอดขาย
ปัจจัยนี้เป็นปัญหาโลกแตกที่ไม่ว่าใครก็ต้องวิตกครับ โดยเฉพาะทีมผู้พัฒนาเองที่ต้องแบกความคาดหวังทั้งจากแฟนๆ และจากผู้บริหารของค่ายเกม เกมไหนรีเมคแล้วแฟนๆ ปลื้ม ยอดขายไปได้สวย ทุกฝ่ายก็วิน-วิน แต่ถ้าทำออกมาแล้วแป้กก็ตัวใครตัวมันนะเออ เผลอๆ ซีรีส์จะพาลดับ ไม่มีภาคต่อออกมาอีกเลยก็เป็นได้